• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษา อาการหน้ามืดเป็นลม

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

ในฉบับก่อน ๆ ได้กล่าวถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่พบบ่อยของอาการเป็นลมหน้ามืด เช่น เป็นลมเพราะจิตใจ เป็นลมเพราะหัวใจ ในฉบับนี้ จะได้กล่าวถึงสาเหตุของอาการเป็นลมหน้ามืดอีก 2 สาเหตุต่อจากฉบับที่แล้ว


     

 

8. เป็นลมเพราะสมองหรือระบบประสาท
เป็นลมเพราะสมองหรือระบบประสาท (neurogenic syncope) : คือ อาการหน้ามืดเป็นลมจากความผิดปกติของสมอง หรือระบบประสาท เช่น

8.1 โรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular diseases) : ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการเป็นลม แต่จะทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หลง เลอะเลือน วิงเวียน โซเซ ชัก หรือหมดสติเป็นเวลานาน ๆ มีเพียงส่วนน้อยที่ทำให้เกิดอาการเป็นลมเพียงชั่วครู่ได้ เช่น
กลุ่มอาการแขนลักเลือด (subclavian steal syndrome) ซึ่งเกิดขึ้น เนื่องจากหลอดเลือดแดงไหปลาร้า (subclavian artery) อุดตันตรงส่วนต้นก่อนถึงแยกหลอดเลือดแดงเวอร์ติบรัล (vertebral artery) ทำให้เลือดจากส่วนต้นของหลอดเลือดแดงไหปลาร้าไม่สามารถไหลมาลี้ยงแขนข้างนั้นได้ เมื่อคนไข้ใช้แขนข้างนั้น แขนข้างนั้นจะดึงเลือดจากหลอดเลือดแดงเวอร์ติบรัล (ซึ่งจะต้องไปเลี้ยงสมอง) ไปเลี้ยงแขนข้างนั้นแทน ทำให้ก้านสมองขาดแคลนเลือดไปชั่วครู่ ทำให้วิงเวียน หรือเป็นลม ในขณะใช้แขนข้างนั้น รักษาโดยการผ่าตัด
ภาวะอ่อนฟุบ (drop spells) ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดเบสิลาร์ (basilar astery) ตีบตันไปชั่วขณะ ทำให้ขาอ่อนลงทันที วิ่งล้มฟุบลง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงครู่เดียว จนบางครั้งทั้งคนไข้ และผู้ใกล้ชิดบอกไม่ได้ว่าคนไข้หมดสติในช่วงนั้นหรือไม่

8.2 โรคลมชัก (epilepsy หรือ seizure disorders) : โรคลมชักบางชนิด จะไม่มีอาการชัก มีแต่อาการไม่รู้สึกตัว หรือลืมตัวไปเพียงชั่วครู่เดียว ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ ถ้ากำลังขับรถ หรือทำงานที่เกิดอันตรายได้ คนไข้จะไม่รู้ตนว่าลืมตัวไปชั่วครู่ จะรู้ว่าคนไข้เป็นโรคนี้ก็จากความช่างสังเกตของคนใกล้ชิด ที่เห็นคนไข้หยุดกระทำในสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ และมีอาการเหม่อลอยชั่วขณะ จึงกลับรู้สึกตัวและทำต่อในสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ก่อนหน้านั้น เช่น กำลังจะตักอาหารเข้าปาก จะยกช้อนค้างอยู่อย่างนั้นสักครู่ เหม่อลอย ไม่รู้สึกตัว จนรู้สึกตัวแล้วจึงนำช้อนเข้าปากของตน กำลังพูดคุยอยู่ หยุดชะงักกลางประโยค เหม่อลอย ไม่รู้สึกตัว จนรู้สึกตัวแล้วจึงพูดต่อได้
โรคลมชักนี้อาจทำให้เป็นลม ล้มฟุบลงหรือไม่ก็ได้ พวกที่ทำให้เป็นลมล้มฟุบลง มักมีอาการกระตุกของแขนขา ใบหน้า หรือมีอาการชักเกร็งร่วมด้วย
การรักษาและป้องกัน : ให้กินยาแก้ลมชัก เช่น ยาฟีโนบาร์บิตาล แต่ถ้าสามารถไปโรงพยาบาลได้ ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจให้แน่นอนก่อนว่าเป็นโรคนี้ และจะได้รับคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติรักษาตนอื่น ๆ ให้ตรงกับชนิดของโรคลมชัก ที่เป็นอยู่ด้วย

8.3 แรงดันในกะโหลกศีรษะสูงทันที (acute intracranial hypertension) เช่น ในกรณีที่เส้นเลือดในสมองแตก หรือช่องสมอง (ventricle) ถูกอุดตันทันที คนไข้มักจะมีอาการปวดศีรษะ ชัก อัมพฤกษ์ หรืออัมพาตร่วมด้วย และมักจะหมดสติเป็นช่วงเวลานาน ๆ น้อยครั้งมากที่จะมีอาการคล้ายอาการเป็นลม คนไข้ที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวควรส่งโรงพยาบาลทันที

8.4 ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ (autonomic nervous system disorders) ปลายประสาทพิการ (peripheral neuropathy) ที่ทำให้เกิดอาการ เป็นลมธรรมดา หรืออาการเป็นลม เมื่อเปลี่ยนท่า ให้ดูในหัวข้อดังกล่าว (ข้อ 1 และ 2)

8.5 อาการหลงลืม (amnesia) : ส่วนใหญ่แล้วไม่ทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมอย่างที่พบกันทั่วไป แต่อาจจะทำให้ไม่รู้สึกตัว ลืมตัว หรือลืมทุกสิ่งทุกอย่างไปชั่วขณะ เช่น

ก. เป็นลมเพราะยาหรือสุรา (drug or alcohol blackouts) คือ อาการเป็นลม หมดสติ หรือหลงลืม ที่เกิดจากการกินยา หรือการดื่มสุราเกินขนาด มักจะร่วมกับการนอนหลับ แบบปลุกไม่ตื่น และเมื่อตื่นขึ้นแล้ว จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้
การรักษาและป้องกัน : ให้เลิกกินยาโดยไม่จำเป็นและเลิกดื่มสุราเสีย

ข. ลืมหมดชั่วขณะ (transient global amnesia) : ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมอย่างที่พบกันทั่วไป แต่เป็นภาวะที่คนไข้ลืมทุกสิ่งทุกอย่างในขณะนั้น และในระยะเวลาใกล้ ๆ กันกับขณะนั้น แต่ยังรักษาตัวเอง จำเรื่องในอดีตไกล ๆ ได้ และยังมีพฤติกรรมเหมือนคนปกติ ตรวจไม่พบความผิดปกติทางระบบประสาทอย่างอื่น ช่วงที่คนไข้ลืมก็จะลืมตลอดไป เพราะคนไข้ไม่ได้หมดสติหรือเป็นลมในขณะที่เกิดอาการลืมหมดนั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับคนวัยกลาคนหรืออายุมาก และมักจะเกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิต แต่ในบางคนก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำแล้วอีกได้ คนที่มีอาการเช่นนี้ควรไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจให้แน่นอนว่าเป็นภาวะนี้หรือไม่ มีโรคอะไรร่วมด้วยหรือไม่ จะได้ให้การรักษาและป้องกันได้ถูกต้อง

ค. หลงลืมเป็นครั้งคราว (transient amnesia) : ส่วนใหญ่ไม่ทำให้หน้ามืดเป็นลม แต่อาการหลงลืมเหตุการณ์ปัจจุบันเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่เกิดในคนสูงอายุ ควรรักษา และป้องกันเช่นเดียวกับข้อ ข.

ง. หลงลืมเพราะศีรษะถูกกระแทก (concussion or postconcussion amnesia) : อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้ ถ้าศีรษะถูกกระแทกแรง ๆ หรือเกหิดอาการเจ็บปวดมาก แต่อาการที่สำคัญคือ การหลงลืมเกี่ยวกับอุบัติเหตุ หรือ เหตุการณ์ในขณะนั้น ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจให้ละเอียดว่าสมองไม่มีความผิดปกติอย่างอื่น

8.6 สมองขาดออกซิเจน น้ำตาล หรือสิ่งอื่น : ทำให้เกิดอาการหน้ามืด และเป็นลมได้ เช่น คนที่หายใจไม่ออก จะเป็นลมหมดสติได้ คนไข้เบาหวานที่ฉีดยาหรือกินยาแก้เบาหวานมากเกินไป จนน้ำตาลในเลือดต่ำมาก จะเป็นลมหมดสติได้
การรักษาและป้องกัน : ให้รักษาและป้องกันตามสาเหตุ

 

9. เป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ
เป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic syncope) : มีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่มีอาการหน้ามืดเป็นลมแล้ว ตรวจหาสาเหตุไม่พบ (ประมาณร้อยละ 30-40) ในกรณีเช่นนี้ ให้รักษาและป้องกันเช่นเดียวกับอาการเป็นลมธรรมดา (ข้อ 1) ไปก่อน จนกว่าจะพบสาเหตุ จึงค่อยให้การรักษา และป้องกันสาเหตุไปด้วย

อาการหน้ามืดเป็นลม ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อย จึงเป็นอาการที่อาจให้การรักษาได้โดยไม่ยากเย็นนัก ถ้าคนไข้มีอาการฉุกเฉิน หรือเจ็บหนัก ให้รักษาอาการฉุกเฉินหรือเจ็บหนักก่อน โดยไม่ต้องพะวงกับอาการหน้ามืด เป็นลมนี้ เพราะอาการหน้ามืดเป็นลมจะดีขึ้นเอง เมื่ออาการฉุกเฉินหรือเจ็บหนักดีขึ้น หรือเมื่อคนไข้ล้มนอนลงกับพื้นได้

 

   

 

ข้อมูลสื่อ

113-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 113
กันยายน 2531
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์