• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การบริหาร เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพ

                             

บุคลิกภาพสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ทั้งทางกายและทางวาจา การแสดงบุคลิกภาพที่ดีทางกายนั้น เกี่ยวข้องกับท่าทางต่าง ๆ ตั้งแต่ท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน และท่าทำงาน

เรามักพบว่าผู้ที่หมดหวัง ผิดหวัง หรือมีอาการซึมเศร้า จะมีท่าทางที่พ่ายแพ้ต่อแรงโน้มถ่วงของโลก ทุกส่วนของร่างกายจะงอลง คอจะตกไหล่จะห่อเข้า หลังจะค่อม ข้อสะโพกจะงอ หัวเข่างอ ทั้งนี้ถ้ามองไปที่ใบหน้ายังอาจเห็นคิ้วดก มุมตาตก เกิดรอยตีนกามากขึ้น มุมปากตกเหมือนจะร้องไห้
สิ่งเหล่านี้โดยเฉพาะท่าทางที่อยู่ในท่างอลงนี้ไม่เพียงแต่ทำให้บุคลิกภาพของตนเองเสียไป คนที่พบเห็นไม่ชื่นชม และหมดความเชื่อถือให้ตัวเราแล้ว ยังเป็นต้นเหตุที่สำคัญของอาการปวดคอ ปวดหลัง ปวดข้อต่อ

เนื่องจากข้อต่อที่งอลงจะรับน้ำหนักของร่างกายมากกว่าข้อต่อที่เหยียดตรง ทำให้เกิดการเสื่อมโทรมของข้อต่อเร็วขึ้น จึงเกิดอาการปวดตามข้อต่อ และกล้ามเนื้อต้องทำงานมาก ถ้าข้อต่อไม่เหยียดตรง ต้องเกร็งตัวตลอดเวลา จะทำให้เกิดอาการปวดล้าตามกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อต่อนั้นด้วย

การเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดี จึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการเริ่มต้นทำสิ่งต่าง ๆ แม้กระทั่งการเริ่มต้นออกกำลังกาย ดังนั้นก่อนออกกำลังกายทุกชนิด ไม่ว่าจะเล่นกีฬา เต้นแอโรบิก หรือบริหารให้มีทรวดทรง สุขภาพดี ย่อมต้องมีบุคลิกภาพที่ดีประกอบด้วยเสมอ จึงเสนอวิธีการเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ทำได้ง่าย ๆ ในทุกสถานที่ 5 วิธี ด้วยกันคือ

การบริหารเพื่อการนี้ เริ่มต้นควรจะอยู่หน้ากระจกเงาหรือไปให้ผู้อื่น ช่วยสังเกตให้ เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจไม่ทราบว่าตนเองทำได้ถูกต้องหรือยัง จนกว่าจะฝึกฝนและเกิดความมั่นใจขึ้นจึงทำด้วยตนเอง และไม่ต้องมองในกระจกอีก กล่าวคือ จะต้องทำการบริหารจนเกิดเป็นอุปนิสัยที่ดี ตราบนั้นเราจะสามารถปรากฎกาย ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องคอยเป็นห่วงในท่าทางของตนเอง

การนั่งหรือการยืนที่ดีจำเป็นต้องให้ทุกส่วนของร่างกายอยู่ในแนวตรงเสมอ คือ ถ้ามองจากด้านหลัง กึ่งกลางของศีรษะ หลัง บั้นเอว ช่วงสะโพก และกึ่งกลางของขาทั้ง 2 ข้าง จะต้องอยู่ในเส้นตรง ทำให้ซีกซ้าย และซีกขวาสมดุลกัน และถ้ามองดูจากด้านข้าง เส้นตรงสมมตินี้ต้องผ่านหน้าหู กึ่งกลางหัวไหล่ กึ่งกลางข้อสะโพก ด้าน หน้าข้อเข่าแต่ด้านหลังของกระดูกสะบ้าและด้านหน้าของข้อเท้า

การบริหารเพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพจึงมุ่งหวังที่จะให้ร่างกายสมดุล และให้แนวดิ่งผ่านส่วนต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเบื้องต้นนี้

                               

 

การบริหาร รูปที่ 1
ท่าเริ่มต้น : ยืนตรง
ส่วนที่บริหาร : คอ
กล้ามเนื้อที่บริหาร : กล้ามเนื้อทางด้านหน้าและด้านหลังคอ
วิธีบริหาร : ก้มคอลงช้า ๆ ให้เต็มที่ เงยหน้า และยืดคอให้สูงขึ้น พร้อมกับเก็บคางชิดคอ
จำนวนครั้ง : ทำ 5-10 ครั้ง
ข้อควรระวัง : ไม่ควรทำขณะที่มีอาการเจ็บคอ

                             

 

การบริหาร รูปที่ 2
ท่าเริ่มต้น : นอนหงาย ชันเข่าโดยงอข้อเข่า ข้อสะโพกทั้งสองข้าง วางฝ่าเท้าราบบนพื้น มีทั้งสองสอดไว้ได้หลังระดับบั้นเอว
ส่วนที่บริหาร : ท้อง
กล้ามเนื้อที่บริหาร : กล้ามเนื้อหน้าท้อง
วิธีบริหาร : เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง กดหลังระดับบั้นเอวให้แนบกับพื้น ให้กระดูกเชิงกรานหมุนเข้า และยกก้นพ้นพื้นเล็กน้อยเกร็งค้างไว้ 5 วินาที แล้วปล่อย (ใช้มือสอดไว้ที่หลังระดับบั้นเอวเพื่อดูว่า หลังแนบกับพื้นจริงหรือไม่)
จำนวนครั้ง : ทำ 10 ครั้ง

 

                                           

 

การบริหาร รูปที่ 3
ท่าเริ่มต้น : ยืนตรง
ส่วนที่บริหาร : กระดูกเชิงกราน
กล้ามเนื้อที่บริหาร : กล้ามเนื้อหน้าท้อง
วิธีบริหาร : มือซ้ายวางที่หลังระดับกระเบนเหน็บ มือขวาวางที่หน้าท้อง เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องพร้อมกับให้กระดูกเชิงกรานหมุนขึ้นทางด้านหน้า ทำให้หลังแอ่นน้อยลง เกร็งค้างไว้นาน 5 วินาที แล้วปล่อย
จำนวนครั้ง : ทำ 10 ครั้ง

 

                                        

การบริหาร รูปที่ 4
ท่าเริ่มต้น : ยืนตรง ย่อเข่าทั้งสองข้างประมาณ 30 องศา แขนทั้งสองอยู่ข้างลำตัว
ส่วนที่บริหาร : ขา
กล้ามเนื้อที่บริหาร : กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า กล้ามเนื้อน่อง
วิธีบริหาร : เขย่งส้นเท้าขึ้นพร้อมกับเหยียดขาทั้งสองข้างให้ตรง ยืนค้างไว้นาน 5 วินาที กลับสู่ท่าเริ่มต้น
จำนวนครั้ง : ทำ 5 ครั้ง

 

                        

การบริหาร รูปที่ 5
ท่าเริ่มต้น
: นั่งขัดสมาธิ โดยให้ก้นหลัง และศีรษะอยู่ชิดกำแพง
ส่วนที่บริหาร : หลัง
กล้ามเนื้อที่บริหาร : กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อหน้าคอ
วิธีบริหาร : ยืดหลังตรงเต็มที่ พยายามให้ก้น หลัง และศีรษะชิดกำแพงมากที่สุด พร้อมกับเก็บคางเข้า
จำนวนครั้ง : ทำ 5-10 ครั้ง
 

ข้อมูลสื่อ

114-024
นิตยสารหมอชาวบ้าน 114
ตุลาคม 2531
บุคลิกภาพ