• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์ เป็นโรคโบราณที่มีผู้บันทึกในรายงานแพทย์มานับพันปี สมัยฮิปโปเครติส (Hippocrates) ซึ่งเป็นบิดาการแพทย์สากลเมื่อสองพันปีก่อน ก็ได้กล่าวถึงอาการของโรคนี้ และได้เรียกชื่อเป็นศัพท์แพทย์หลายๆ ชื่อตามตำแหน่งของข้อที่มีอาการอักเสบ

                        

                                  





คำว่า เก๊าท์ (Gout) เป็นศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่แปลงมาจากภาษาลาตินว่า Gutta ซึ่งแปลว่าหยดน้ำ โดยมีผู้สันนิษฐานว่า ข้ออักเสบชนิดนี้เกิดจากสารพิษ "หยด" เข้าไปอยู่ในไขข้อ ซึ่งปรากฏว่าเป็นจริงในการแพทย์ปัจจุบัน กล่าวคือ สารพิษที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์ก็คือ กรดยูริกในเลือดนั่นเอง

ความเข้าใจ (ผิด) ที่ว่าเวลาปวดข้อหรือมีข้ออักเสบชนิดใดๆ ต้องอด "ของแสลง" เช่น หน่อไม้ สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ เป็นต้น ก็มีต้นตอมาจากผู้สังเกตว่าอาหารดังกล่าวเป็นของแสลงทำให้โรคเก๊าท์กำเริบนี่เอง ทั้งๆ ที่โรคปวดข้อทั่วไปหรือโรคข้ออักเสบชนิดอื่นๆ (นอกจากโรคเก๊าท์) ทั้งหมด ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับอาหารแสลงดังกล่าวเลย

คำถามข้อหนึ่งของผู้ที่ป่วยมาหาผู้เขียนด้วยอาการปวดข้อหรือ "รูมาติสซั่ม" นานาชนิด ที่ถามเป็นประจำก็คือ ต้องอดของแสลงอะไรบ้าง และ หลายๆ คนก็มักจะอด "อาหารแสลง" ดังกล่าวมาแล้วด้วย จนบางรายเป็นโรคขาดอาหารขั้นรุนแรงก็มี เพราะอาหารแสลงที่ว่านั้นส่วนมากแล้วเป็นอาหารจำพวกโปรตีนอันโอชะ ซึ่งมีส่วนสำคัญมากในการเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบเรื้อรัง ซึ่งต้องการโปรตีนเสริมสร้างกล้ามเนื้อมากเป็นพิเศษ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ไม่ใช่ระดับชาวบ้านเท่านั้นที่มักมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับอาหารแสลงกับโรคปวดข้อ หมอที่รักษาผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นแผนปัจจุบัน หมอแผนโบราณ หมอจีน หมอไทย หมอไสยศาสตร์ หมอสมัครเล่น (ซึ่งได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง ของผู้ป่วยหรือคนข้างบ้าน ผู้หวังดีใดๆ) ก็พากันแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อหรือปวดเมื่อยตามตัวให้งดอาหารที่มีโปรตีนสูงดังกล่าว พลอยทำให้ผู้ป่วยเหล่านั้นเกิดทุกข์ทั้งกายและใจเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ก็คือต้องคอยระวังไม่กินอาหาร "แสลง" อยู่ตลอดเวลา ผลก็คือได้เพิ่มโรคให้แก่ผู้ป่วยเหล่านั้นอีก 2 โรค คือ โรคขาดอาหารและโรคประสาทเครียด

จากความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน ความจริงที่อยากให้ท่านผู้อ่านจำติดตาติดใจและช่วยเผยแพร่ต่อๆ ไปให้มากที่สุดมีอยู่ว่า

1. โรคหรือภาวะที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกหรือข้ออักเสบทุกชนิด
ยกเว้นโรคเก๊าท์ ไม่มีอาหารใดๆ ที่จัดว่าเป็นของแสลงสำหรับโรคเหล่านั้นเลย

การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามหลักสุขศึกษาจะมีประโยชน์เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงในทุกคน รวมทั้งผู้ป่วยโรคปวดข้อทุกชนิดด้วย

2. แม้ว่าจะเป็นโรคเก๊าท์ โรคนี้ไม่ได้เกิดจากว่าผู้ป่วยนั้นกินอาหารพวกเนื้อสัตว์ เครื่องใน หน่อไม้ สัตว์ปีก ฯลฯ มากเกินไปเลย เพียงแต่อาหารดังกล่าวอาจมีส่วนทำให้เกิดอาการกำเริบของข้ออักเสบในผู้ป่วยโรคเก๊าท์ได้บ่อยขึ้นเท่านั้นเอง

ดังนั้นรีเก๊าท์จึงเป็นโรคที่เกิดได้แก่คนในทุกชั้นวรรณะ ไม่ว่ายากดี มีจน มีสิทธิ์เป็นโรคเก๊าท์เท่าๆ กัน ที่ซ้ำร้ายก็คือคนจนๆ มักจะมีอาการโรครุนแรงมากกว่าคนรวยเสียอีกเนื่องจากขาดปัจจัยในการดูแลเอาใจใส่และรักษา

3. แม้ว่าจะเป็นโรคเก๊าท์ แต่จะมีสิทธิเสรีภาพในการกินอาหารที่มีโปรตีนสูงๆ หรืออาหารที่ถูกจัดว่า "แสลง" สำหรับโรคนี้ได้เช่นเดียวกับคนธรรมดา หากได้รับการรักษาด้วยยาที่ถูกต้อง

เมื่อท่านอ่านถึงตอนนี้ คงจะประหลาดใจไม่น้อยทีเดียวใช่ไหม เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ (ใคร่) เคยได้ยินมาก่อน

ต่อไปก็ขอให้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเก๊าท์แบบทันสมัยกันเถิด

โรคเก๊าท์เกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคนี้เกิดจากร่างกายมีกรดยูริคมากเกินไป ซึ่งกรดยูริคในร่างกายส่วนใหญ่นั้นเกิดจากขบวนการสร้างเซลล์ของร่างกาย

โดยทุกๆ วันร่างกายจะมีการสร้างเซลล์ใหม่เป็นล้านๆ เซลล์เพื่อซ่อมแซมทดแทนเซลล์ที่แก่เฒ่าหรือตายไปอยู่ตลอดเวลา กรดยูริคส่วนน้อยเกิดจากการย่อยอาหารจำพวกโปรตีนที่กินเข้าไป

กรดยูริคที่เกิดขึ้นเป็นของเสียที่ร่างกายเราจะขับถ่ายออกมาดยทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ และทางอุจจาระเป็นส่วนน้อย

ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ร้อยละเก้าสิบกว่าเกิดจากร่างกายมีการสร้างกรดยูริคมากผิดปกติ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ และเพศ (เนื่องจากกรรมพันธุ์มีส่วนควบคุมขบวนการต่างๆ ในการสร้างเซลล์ของต่างกาย) แต่การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ของโรคเก๊าท์ไม่ตรงไปตรงมาอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น จากพ่อไปยังลูก จากลูกไปยังหลานเป็นทอดๆ แต่อาจจะมีเว้นบ้างในคนบางรุ่นเช่น ผู้เป็นโรคเก๊าท์อาจมีปู่หรือลุงหรือลูกพี่ลูกน้องเป็นโรคเดียวกัน แต่พ่อแม่ หรือลูกอาจเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ ดังนั้นหากร่างกายผู้นั้นไม่ได้ผลิตกรดยูริคเกินอยู่แล้ว (หรือมีกรรมพันธุ์จะเป็นโรคเก๊าท์) การกินอาหารพวกมีโปรตีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ มากๆ ทุกๆวัน ก็ยังคงไม่มากพอที่จะทำให้ปริมาณกรดยูริคในตัวสูงขึ้นมากและนานพอถึงขนาดทำให้เกิดโรคเก๊าท์ได้

โรคเก๊าท์ส่วนน้อยเกิดจากโรคอื่น เช่น โรคไต ซึ่งทำให้ขับกรดยูริคน้อยลงจึงมีกรดยูริคคั่งในร่างกายมากขึ้นหรือโรคที่มีการสร้างเซลล์มากๆ อยู่นานๆ เช่น โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งพบบ่อยในประเทศเรา โรคผิวหนังเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคเรื้อนกวาง เป็นต้น

เมื่อมีกรดยูริคจำนวนมากในร่างกายอยู่นานๆ คือใช้เวลา 5-15 ปี กรดยูริคก็จะตกผลึกอยู่ในรูปของผลึกยูเรท (urate crystal) สะสมตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการอักเสบของอวัยวะนั้นๆ

ตำแหน่งที่มีผลึกยูเรทสะสมได้มากและบ่อยได้แก่บริเวณเส้นเอ็น พังผืดและกระดูกอ่อนของข้อต่อ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ใต้ผิวหนังและเนื้อไต จึงทำให้เกิดข้ออักเสบหรือที่เรียกว่า โรคเก๊าท์ ผลึกยูเรทที่เนื้อไต ทำให้เกิดไตอักเสบเรื้อรัง หรือมีนิ่วในกรวยไตหรือทางเดินปัสสาวะ อาการของไตวายมักจะเกิดภายหลังผู้ป่วยมีอาการข้ออักเสบ 5-20 ปี ร้อยละ 25 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะตายจากภาวะไตวาย ผลึกยูเรทที่ใต้ผิวหนังจะเห็นเป็นก้อนทูมค่อยๆ โตขึ้น บางครั้งจะอักเสบปวดบวมแดงร้อน

คนที่ตรวนพบว่ามีกรดยูริคสูงในเลือด แต่ไม่มีอาการอักเสบหรือนิ่วของไตหรือไตอักเสบจากผลึกยูเรทคั่ง เรายังไม่เรียกว่าโรคเก๊าท์ เพราะคนเหล่านี้มีประมาณร้อยละ 30 เท่านั้นที่จะเป็นโรคเก๊าท์ อีกร้อยละ 60-70 จะมีแค่กรดยูริคสูง แต่ไม่มีอาการใดๆ เลยตลอดชีวิต

ดังนั้นผู้ที่เช็คเลือดพบว่ายูริคสูงเล็กน้อยจึงอย่าวิตกกังวลว่าจะต้องเป็นโรคเก๊าท์ และไม่จำเป็นที่จะต้องกินยารักษา

เพศและวัยที่พบว่าเป็นโรคนี้ได้บ่อย
เก๊าท์พบบ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในอัตราส่วน 9-10 : 1 ดังนั้นนอกจากกรรมพันธุ์ถ่ายทอดแล้ว ฮอร์โมนเพศมีส่วนเกี่ยวกับอาการโรคเก๊าท์ คือในหญิงวัยที่ยังไม่หมดระดูแทบจะไม่พบโรคเก๊าท์เลย เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนในหญิงทำให้ไตขับกรดยูริคได้ดี จึงทำให้กรดยูริคไม่สูงมาก จนเมื่อหมดระดูจึงมีการคั่งของกรดยูริคมากขึ้น

ผู้ป่วยโรคเก๊าท์จึงมักจะเป็นชายอายุ 35 ปีขึ้นไป สำหรับหญิงมักมีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป

อาการ และโรคแทรกซ้อน
ข้ออักเสบจากโรคเก๊าท์มีลักษณะจำเพาะมาก กล่าวคือ มีอาการอักเสบของข้อเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงมากคล้ายๆกับมีฝีเกิดขึ้นที่บริเวณข้อ ข้อที่ชอบเป็นครั้งแรกมักเป็นที่ข้อเท้า ข้อเข่า หรือหัวแม่เท้า

ผู้ป่วยอาจมีประวัติไปกินเลี้ยง ดื่มเหล้า หรือกินอาหรมากผิดปกติ หรือเดินสะดุด ก่อนมีอาการปวดข้อ ตั้งแต่เริ่มมีอาการเพียง 2-3 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะปวดข้อมากจนเดินไม่ไหว ใส่รองเท้าไม่ได้ บางครั้งจะมีไข้ร่วมด้วย หากไม่รักษาอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 3-4 วัน จนหายไปเองใน 5-7 วัน

ในระยะแรกข้ออักเสบจะนานๆ เป็นครั้ง เช่น ทุก 1-2 ปี โดยเป็นที่ตำแหน่งเดิม ต่อมาจะเพิ่มความบ่อยขึ้นตามลำดับ เช่น ทุกๆ 4-6 เดือน , 2-3 เดือน จนกลายเป็นทุกเดือนหรือเดือนละหลายๆ ครั้ง จำนวนข้อที่อักเสบก็จะเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 2, 3, 4 จนเป็นหลายๆ ข้อ

ข้อที่เป็นบ่อยมักจะเป็นที่เข่า และข้อเท้า นิ้วเท้า แต่เมื่อเป็นมกจะเป็นที่ข้อมือ ข้อศอก นิ้วมือ และในที่สุดจะเป็นได้เกือบทุกข้อในร่างกาย ขณะเดียวกันข้อที่อักเสบจะหายช้าลงๆ จาก 5-7 วัน กลายเป็น 7-14 วัน จนบางครั้งเป็นตลอดเวลา

ในระยะที่มีข้ออักเสบหลายๆข้อ ผู้ป่วยมักสังเกตได้ว่ามีปุ่มก้อนขึ้นบริเวณที่เคยอักเสบบ่อยๆ และก้อนจะโตขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งอาจแตกออกมีสารขาวๆ คล้ายแป้งดินสอพองหรือยาสีฟันไหลออกมา แผลที่แตกออกจะหายช้ามาก และจะเป็นแผลเป็น ต่อไปข้อต่างๆ จะผิดรูปและใช้งานไม่ได้ในที่สุด

จากอาการที่เริ่มมีข้ออักเสบหนึ่งข้อจนถึงหลายๆ ข้อ และมีปุ่มก้อนมักกินเวลา 5-20 ปี แล้วแต่ความรุนแรง สำหรับคนไทยพบว่าบางคนเพียงแค่ 2-3 ปี เท่านั้นจะเริ่มมีปุ่มก้อนและมีอาการไตวายได้ ดังนั้นโรคเก๊าท์ในคนไทยจึงมีความรุนแรงมากกว่าชาวต่างประเทศมากทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ดีกินดีกว่าเขาเลย

ประมาณร้อยละ 25 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีนิ่วของทางเดินปัสสาวะด้วย ซึ่งครึ่งหนึ่งจะมีประวัติของนิ่งก่อนอาการข้ออักเสบ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีนิ่วของทางเดินปัสสาวะจึงควรเช็คกรดยูริคทุกราย เพื่อจะได้หาทางป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วมากขึ้น เพื่อจะได้หาทางป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วมากขึ้น หรือเป็นโรคไตวายและโรคเก๊าท์ทีหลัง

เนื่องจากโรคนี้มีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบรุนแรงถึงขึ้นทำงานไม่ได้ ผู้ป่วยจึงมักพยายามหาทางรักษาเสมอ ปรากฏว่าผู้ป่วยเก๊าท์ที่รับไว้ในโรงพยาบาลศิริราชมักจะมาด้วยโรคแผลในกระเพาะ เลือดออกในกระเพาะน้อม หรือกระเพาะทะลุ จากยาที่กินมากมาย หลายขนานเป็นเวลานานๆ บางรายมาด้วยแพ้ยารุนแรง จนถึงแก่กรรมไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ เพราะในปัจจุบันนี้เราสามารถจะรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดโรคเก๊าท์กำเริบได้อีกเกือบร้อยละ 100

การรักษาและการป้องกัน
สิ่งสำคัญเรื่องโรคเก๊าท์อยู่ที่การป้องกันไม่ให้ข้ออักเสบกำเริบบ่อย ๆจนเกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้น และป้องกันไม่ให้เกิดไตพิการในอนาคต และหลายรายเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในไตหรือทางเดินปัสสาวะ ซึ่งทรมานผู้ป่วยจนบางรายถึงขนาดต้องโดนผ่านิ่วหลายครั้งหรือถูกตัดไตทิ้งไปข้างใดข้างหนึ่งในที่สุด

แพทย์หรือร้ายขายยาส่วนใหญ่มักจะทราบยาที่รักษาข้ออักเสบของเก๊าท์แบบชั่วคราว แต่ไม่รู้จักควบคุมอาการไม่ให้กำเริบอีกโดยไม่ต้องเสี่ยงกับยาอันตรายที่ทำให้กระเพาะเป็นแผลได้

หลักการรักษาโรคเก๊าท์ต้องแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ก. การรักษาข้ออักเสบ
ในระยะเฉียบพลัน และเป็นนานไม่เกิน 48 ชั่วโมง อาจให้โคซิซิน (Colchicine) 2-3 เม็ดต่อวัน ข้อจะหายปวดเร็วมากภายใน 2-3 วัน แล้วลดยาลงเหลือ 1 เม็ดต่อวัน ข้อดีของยาคือไม่กัดกระเพาะเป็นแผล ข้อเสียคืออาจเกิดอาการท้องเสียได้หากขนาดของยามากขึ้นไป ซึ่งหากมีอาการท้องเสียให้หยุดยานี้จนกว่าหายท้องเสียแล้วเริ่มกินยาใหม่ในขนาดที่น้อยลง

ยาอื่นๆ ที่ใช้ได้แต่ทุกตัวจะมีฤทธิ์ระคายกระเพาะอาหารมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บุคคล จึงสมควรกินหลังอาหารเสมอ และอาจกินร่วมกับยาอัลมาเจล (Almagel) หรือ อลั่มมิลค์ (Alum Milk) แต่จัดว่าเป็นยาค่อนข้างปลอดภัย ได้แก่ ไอบลูโปรเฟน (Ibuprofen) , นาโปรเซน (Naproxen) , ซูลินแดค (Sulindac) , ไพรรคิซิคาม (Prioxicam) , อินโดเมธาซิน (Indemethacin) เป็นต้น โดยให้วันละ 3-4 เม็ดจนกว่าอาการทุเลาจึงลดขนาดยาลงจนหยุดยาไปภายใน 4-7 วัน

ไม่ควรใช้ยากลุ่มฟีนิวบิวตาโซน (Phenybutazone) และออกซิเฟนบิวตาโซน (Oxyphenbutazone) เพราะเสี่ยงกับการเกิดภาวะไขกระดูกไม่สร้างเลือด (Aplastic anemia) ได้โดยไม่จำเป็น เนื่องจากมียาอื่นที่ปลอดภัยกว่า และใช้ได้ผลดีดังกล่าว แต่ปรากฏว่าในท้องตลาดเมืองไทยยากลุ่มนี้ยายดีมาก เพราะมักถูกจัดอยู่ในยาชุดแก้ปวดข้อแบบครบจักรวาล แถมขนาดยาที่ผลิตนั้นมากจนอยู่ในขั้นอันตราย คือ ยาหนึ่งเม็ดมีขนาดเท่ากับยาสองเม็ดของต่างประเทศ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมประเทศเราจึงมีผู้ป่วยโรคไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือดมากมายเช่นนี้

ข. การป้องกันไม่ให้ข้ออักเสบกำเริบอีก
ยาที่ได้ผลดีมากคือ โคชิซิน วันละ 1-2 เม็ดตลอดไป สำหรับผู้ที่ข้ออักเสบบ่อยจนไม่สามารถทำมาหากินตามปกติได้ สำหรับผู้ที่นานๆ จะมีข้ออักเสบสักครั้งให้พกยาเม็ดติดตัว พอรู้สึกว่าข้อเริ่มอักเสบให้กินยาโคชิซิน 1 เม็ดทันที และซ้ำได้วันละ 2-3 เม็ดเป็นเวลา 1-2 วัน ยานี้หากกินแต่เนิ่นๆ จะป้องกันไม่ให้เกิดข้ออักเสบรุนแรงขึ้นแบบเต็มที่และทำให้หายปวดข้อได้เร็วมาก

ค. การลดกรดยูริคให้อยู่ในระดับต่ำ

เพื่อป้องกันการตกผลึกของยูเรท และไปละลายผลึกยูเรทที่ตกตะกอนตามที่ต่างๆ ของร่างกายให้หายไปทีละน้อยๆ ดังนั้นยาลดกรดยูริคจึงควรกินติดต่อกันทุกๆ วันเป็นปีๆ หรือตลอดชีพ ทั้งนี้แล้วแต่ความรุนแรงของโรคเก๊าท์ ยาลดกรดยูริคมี 2 พวก คือ

1) พวกที่ทำให้มีการขับยูริคออกทางไตมากขึ้น เหมาะสำหับผู้ที่ไตปกติและไม่มีนิ่วในไต ยาที่ใช้คือ โปรเบเนซิด (Probenecid) 1-2 เม็ดต่อวัน การจัดยาต้องอาศัยตรวจระดับกรดยูริค ว่าต่ำลงมาอยู่ในขั้นน่าพอใจหรือไม่ ผู้ที่กินยาชนิดนี้ควรดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 1.5-2 ลิตร/วัน เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วกรดยูริคในไต ยานี้มีราคาถูกกว่าและปลอดภัยกว่ายากลุ่ม 2 แต่ห้ามใช้ในคนที่เป็นโรคไตวายหรือมีนิ่วในไต

2) พวกที่ตัดการสร้างของกรดยูริคในร่างกาย ได้แก่ แอบโลพูรินอล (Allopurinol) 200-300 มิลลิกรัมต่อวัน ยาตัวนี้มีอันตรายคือ เกิดตับอักเสบได้ แต่ที่พบบ่อยคือ เกิดการแพ้ยาอย่างรุนแรงถึงขั้นผิวหนังเป็นผื่น, พุพอง, แดงลอกหมดทั่วตัว ซึ่งมีอัตราตายสูงมาก วิธีป้องกันคือ หากกินยาแล้วรู้สึกมีอาการคันตามตัวโดยยังไม่มีผื่น หรือเริ่มมีผื่นแดง แต่ไม่รุนแรงต้องหยุดยาทันที มิฉะนั้นจะแพ้ยารุนแรงขึ้นจนเกิดภาวะดังกล่าวได้ ซึ่งแม้รับการรักษาในโรงพยาบาลก็อาจแก้ไขไม่ทัน

เมื่ออาศัยยาทำให้ลดกรดยูริคลงมาในระดับปกติแล้ว ผลึกยูเรทที่คั่งตามที่ต่างๆ จะละลายหายไป ตุ่มก้อนที่ขึ้นใต้ผิวหนังหรือตามข้อก็จะยุบหายไปในที่สุด และข้อดีก็คือผู้ป่วยจะมีอิสรเสรีในการกินอาหารพวกสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ฯลฯ หรืออาหารทุกชนิดได้เหมือนคนธรรมดาทุกประการ

ของฝากก่อนจาก
1.อาการของโรคเก๊าท์สามารถรักษาให้หายได้หรือป้องกันไม่ให้เป็นอีกได้เกือบร้อยละร้อย
2. หากใช้ยาให้ถูกต้อง ผู้ป่วยจะไม่เสี่ยงกับยากัดกระเพาะเป็นแผล หรือยาพวกสเตอรอยด์ซึ่งมีภัยมหาศาลหรือยาที่ทำให้เกิดโรคไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือด
3. ยาที่จัดถูกต้องแล้วต้องกินติดต่อกันเป็นปีๆ จนกว่าไม่มีผลึกยูเรทสะสมในร่างกายอีกจึงเลิกได้
4. โรคเก๊าท์ไม่จำเป็นต้องงดอาหารแสลงใดๆ หากควบคุมด้วยยาลดกรดยูริคในขนาดพอเหมาะ
5. โรคข้ออักเสบหรือปวดข้อชนิดอื่นไม่ต้องอดอาหาร "แสลง" ใดๆ ทั้งสิ้น ควรกินอาหรครบ 5 หมู่ ตามปกติเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง

 

ข้อมูลสื่อ

49-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 49
พฤษภาคม 2526
โรคน่ารู้
รศ.พญ.เล็ก ปริวิสุทธิ์