• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปุ๋ยฟีเวอร์

“หมอกับชาวบ้านแม้จะเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่หมอก็มีวัฒนธรรมแบบหมอ ๆ และชาวบ้านก็มีวัฒนธรรมแบบชาวบ้าน ๆ วัฒนธรรมในที่นี้ หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ ค่านิยม ความถนัด ความเคยชิน ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมทั้งภาษาในการสื่อสาร “พูดจาภาษาหมอ” มิเพียงแต่เป็นเรื่องของการอธิบายศัพท์เกี่ยวกับสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายให้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมย่อยสองระบบเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ดีขึ้นระหว่างหมอกับชาวบ้าน
หากผู้อ่านมีข้อเสนอแนะประการใด ก็โปรดเขียนถึงคอลัมน์นี้ได้เลยครับ”

                                

 

ถ้าจะถามว่า ปีมังกรทองที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ มีโรคอะไรที่ระบาดไปทั่วทุกแห่ง เกิดกับลูกเล็ก เด็กแดงไปจนคนแก่คนเฒ่า โรคนั้นก็คือโรค “ปุ๋ยฟีเวอร์” นั่นเอง คำ ๆ นี้ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในช่วงที่ คุณภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก (พี่ปุ๋ยของน้อง ๆ และน้องปุ๋ยของพี่ ๆ) นางงามจักรวาลได้กลับมาปฏิบัติภาระหน้าที่ในเมืองไทยเมื่อคราวที่แล้ว และแว่วว่าจะกลับมาระบาดในช่วงสิ้นปีนี้ คุณผู้อ่านคงเข้าใจความหมายของคำ ๆ นี้กันดีแล้วว่า หมายถึงอาการคลั่งไคล้คุณปุ๋ยนั่นเอง
ถ้าจะแปลเป็นไทย ๆ ก็อาจเป็น “โรคคลั่ง (คุณ) ปุ๋ย” “โรคตื่น (คุณ) ปุ๋ย” “โรคเห่อ (คุณ) ปุ๋ย” “โรคนิยม (คุณ) ปุ๋ย”  แต่ฟัง (อ่าน) ดูแล้วมันไม่ขลัง หรือสุภาพเท่าคำว่า “ปุ๋ยฟีเวอร์”

ในระยะใกล้ ๆ กันนี้ ก็ยังมีอาการคลั่งไคล้ของคนไทยเกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิกกับนักมวยเหรียญทองแดงโอลิมปิกของไทย คือ คุณผจญ มูลสัน หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ก็ใช้คำว่า “ผจญฟีเวอร์”
ส่วนการคลั่งกีฬาโอลิมปิก เห็นใช้คำว่า “ไข้โอลิมปิก” แทน “โอลิมปิกฟีเวอร์
นึกย้อนหลังไปสัก 3 ปีก่อน ตอนนั้นชาว กทม.เกิดอาการคลั่งไคล้ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่ลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. ที่มาในแนวแปลกกว่าผู้สมัครท่านอื่น ๆ จนเกิดโรค “จำลองฟีเวอร์” ระบาดไม่แพ้ “ปุ๋ยฟีเวอร์” ในปีนี้

คำว่า ฟีเวอร์ (fever) แปลกันตรง ๆ ก็คือคำว่า ไข้ นั่นเอง
ภาษาหมอหมายถึง อาการตัวร้อนจากโรคต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้ไทรอยด์ (ไข้รากสาดน้อย) ไข้เลือดออก ไข้อีดำอีแดง ฯลฯ
ส่วน “ไข้ปุ๋ย” “ไข้ผจญ” “ไข้จำลอง” “ไข้โอลิมปิก” อันนี้นับว่าคงอยู่นอกสาระของภาษาหมอ เพราะคนที่เป็นไข้เหล่านี้หาได้มีอาการตัวร้อนเช่นไข้ที่กล่าวข้าวต้นไม่ กลับร่าเริง แจ่มใส ตื่นเต้น คึกคัก กระฉับกระเฉง และมีความสุขสดชื่นกันถ้วนหน้า

คุณผู้อ่านสงสัยว่าทำไมจึงใช้คำว่า “ฟีเวอร์” หรือ “ไข้” นี้ แทนอาการคลั่งไคล้ของฝูงชน
ความจริงคำว่า ฟีเวอร์ (fever) ฝรั่งเขาแปลความหมายได้ 2 แง่ แง่หนึ่งเป็นภาษาหมอ หมายถึงอาการตัวร้อน แต่ในอีกแง่หนึ่งเขาหมายถึง อาการคลั่งไคล้ หรือตื่นเต้นสุดขีดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั่นเองสำหรับภาษาไทยของเรา คำว่า “ปุ๋ยฟีเวอร์” ดังที่ใช้กันอยู่นี้นับว่าเหมาะสมแล้ว แม้จะเป็นคำไทยปนฝรั่งก็ตาม

หากเป็นโรค “ไทยฟีเวอร์” (นิยมไทย) มากเกินไป ขืนแปลเป็น “ไข้ปุ๋ย” นอกจากจะฟังแปร่ง ๆ ชอบกลแล้วเดี๋ยวจะไปนึกว่า เป็นไข้ชนิดใหม่ที่แพทย์ไทยเราค้นพบก็คงสนุกพิลึก
 

ข้อมูลสื่อ

116-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 116
ธันวาคม 2531
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช