• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม(ตอนที่ 3)

    


ทศพิราชธรรม กลุ่ม “ครองใจคน” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่ง กลุ่ม “พระคุณ” นั้น เราได้เห็นความละเมียดละไม จากการปฏิบัติจริงของพระพุทธเจ้าหลวงต่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นเสนาบดีคู่พระทัยของพระองค์มาแล้ว ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้เป็นผู้รับเอง แต่เราก็รู้สึกซาบซึ้งประทับใจ ในพระคุณธรรมอันวิเศษนี้อย่างล้ำลึก ใช่ไหมครับ ?

คราวนี้มาดูตัวอย่างสด ๆ ร้อน ๆ เป็นเหตุการณ์ที่ใกล้ชิดตัวเรามากที่สุดแล้วลองเปรียบเทียบดู
ขออนุญาตใช้สำนวนที่เข้าใจง่ายที่สุดว่า เนื่องในวันเกิดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเพิ่งพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาหยก ๆ วันที่ 26 สิงหาคม 2531 เวลา 16.25 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐได้พระราชทานของขวัญในวันเกิดแก่พลเอกเปรมถึง 2 ชิ้นใหญ่ ๆ คือ ชิ้นแรก ทรงแต่งตั้งให้เป็น “องคมนตรี” และชิ้นที่สอง ทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นบารณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดสำหรับสามัญชน เท่าที่จำได้ ยังไม่เคยมีใครได้รับโชค 2 ชั้นเช่นนี้มาก่อนเลย
พระปิยมหาราชได้ทรงยกย่องสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไว้ให้ปรากฏว่า “เป็นเพชรประดับมกุฎของพระองค์” ฉันใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราชก็น่าจะทรงยกย่อง พลเอกเปรม ในทำนองใกล้เคียงกันฉันนั้น

ราชธรรมข้อ “ทาน” ให้รางวัลแก่ผู้ที่สมควรให้ ซึ่งเป็นการ ‘บูชาคุณ’ นี้ ถ้านักปกครองตั้งใจปฏิบัติอย่างประณีตบรรจงแล้ว จะได้นกถึง 2 ตัว โดยเสียกระสุนเพียงนัดเดียว
นกตัวที่หนึ่ง คือผู้ที่ได้รับรางวัลโดยตรง จะรู้สึกภาคภูมิใจอย่างสูงสุด พร้อมกับอธิษฐานใจอย่าหนักหน่วงว่าจะต้องพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิผลสูงยิ่งขึ้นกว่านนี้ตราบเท่าชีวิตจะหาไม่
นกตัวที่สอง ข้าราชการจักรกลตัวอื่น ๆ เมื่อได้เห็นตัวอย่างว่า ทำดีต้องได้ดี เช่นนี้ ทุกคนก็จะมุมานะ ใคร่ที่จะแข่งขันกันสร้างผลงาน พยายามที่จะเป็นคนดีคนต่อ ๆ ไปเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมมากยิ่งขึ้น
ผลพลอยได้ที่จะติดตามมา ก็คือมหาชนจะยอมรับแซ่ซ้องสาธุการว่า ท่านเป็นนักบริหารชั้นเยี่ยมยอดจริง ๆ คุณธรรมกลุ่มครองใจคนนี้ นักปกครองจะต้องท่องคติไว้ประจำใจว่า “ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง สร้างกุศลอย่ารู้โรย”

ราชธรรมกลุ่มถัดไปก็คือ กลุ่ม “ครองงาน” หรือ “ชนะงาน” ความสามารถของคนนั้น ดูตรงที่เขาพิชิตงาน สร้างงานไว้เป็นประโยชน์แก่มหาชนได้มากน้อยเพียงใด “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” พิสูจน์ว่ามีฝีมือ หรือไร้ฝีมือ
คุณธรรมกลุ่ม “ชนะงาน-พิชิตงาน” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กลุ่มพระเดช” ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ
1. อาชวะ คือความเที่ยงตรงในการปฏิบัติงาน และเที่ยงธรรมในการปกครอง รวมถึงความซื่อสัตย์ สุ
จริตด้วย
- ในการปฏิบัติงาน คือเอาเหตุผลและความถูกต้องเป็นสำคัญ ไม่ให้ความสำคัญแก่ความคิดเห็น
ของตน จนละเลยต่อเหตุผลและความถูกต้อง
- ในการปกครอง ถือเอาความดีชั่วของคนเป็นสำคัญ, ความสัมพันธ์ในฐานะเป็นญาติมิตร และ
บริวารเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่นำมาปะปนกับการปกครองเป็นส่วนรวม
ลักษณะสำคัญของคุณธรรมข้อนี้คือ ความสัตย์ซื่อมือสะอาด ดำรงตนอยู่ในฐานะเป็นหลักธำรงความยุติธรรมทำให้คนทั้งหลายมีความอุ่นใจในความยุติธรรม

2. ตบะ คือความเด็ดขาด เคร่งครัดในการใช้อำนาจ กำจัดความชั่ว โดยเริ่มที่ตัวเองก่อน แล้วก็ถึงขั้นกำจัดคนชั่ว ทั้งหลายให้หมดสิ้นไป เพื่อให้เกินความราบรื่น เรียบร้อยในวิถีทางแห่งการปฏิบัติงาน และวิถีชีวิตที่ต้องเป็นไปร่วมกันของหมู่คนภายในเขตแห่งการปกครอง
ลักษณะสำคัญของคุณธรรมข้อนี้คือ ความเคร่งครัด เด็ดขาด และอาจหาญในน้ำใจ มุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะกำจัดขวากหนามของแผ่นดิน โดยไม่หวั่นกลัวอำนาจใด ๆ และต้องไม่ลืมว่า จะต้องกำจัดขวากหนามในตัวเองก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างด้วย

พระปิยมหาราชทรงสอนคุณธรรมข้ออาชวะ และตบะ แก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ให้เห็นชัดออกมาเป็น “รูปธรรม” ว่า
ผู้ซึ่งเป็นญาติพี่น้อง มิได้ยกย่องให้มียศศักดิ์เกินกว่าวาสนาความดีของตัวผู้นั้น ถ้าผู้นั้นทำผิด ต้องปล่อยให้ได้รับความผิด ผู้นั้นทำความดี ก็ได้รับความดีเท่ากับคนทั้งปวง มีแปลกอยู่แต่เพียงมารู้อยู่ในใจด้วยกันแต่เพียงว่า ปรารถนาจะให้ไปในทางดี เพื่อจะได้ยกย่องขึ้น เมื่อไปทางที่ผิดก็เป็นที่เสียใจ แต่ความเสียใจนั้นไม่มากนักหักล้างมิให้ยินยอมให้ผู้ผิดต้องรับความผิด

3. ขันติ คือความเข้มแข็งอดทนต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงาน ไม่ท้อถอยยอมแพ้ หาวิถีทางที่จะฟันฝ่า เอาชนะให้จงได้ รวมทั้งอดทนต่อความทุกข์ยากตรากตรำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดทนต่อความกระทบกระเทือนทางใจ และความกดดันของอำนาจกิเลสตัณหา
ลักษณะสำคัญของคุณธรรมข้อนี้คือ มีความสามารถสูงในการทนทานต่อเหตุการณ์ร้ายต่าง ๆ ซึ่งจะต้องเผชิญหน้าอยู่เสมอ

เพื่อให้หน้าตาขอขันติธรรม ดังที่พระพุทธเจ้าหลวงได้มีพระราชหัตถเลขาสอนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชว่า
“การที่เป็นเจ้าแผ่นดิน ไม่ใช่สำหรับมั่งมี ไม่ใช่สำหรับข่มเหงคนเล่นตามชอบใจ มิใช่เกลียดไว้แล้วจะได้แก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินสบายนอนสบาย...
เป็นเจ้าแผ่นดินสำหรับแต่เป็นคนจน และเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชัง อันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจ หรือมีผู้ยุยง เป็นผู้ปราศจากความเกลียดคร้าน
ผลที่จะได้นั้น มีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตายแล้วว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎร ซึ่งอยู่ในอำนาจความปกครอง
ต้องหมายใจในความสองข้อนี้เป็นหลัก มากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ถ้าผู้ซึ่งมิได้ทำใจได้เช่นนี้ ก็ไม่แลเห็นเลย ว่าจะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้”

สยามมินทร์

ข้อมูลสื่อ

114-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 114
ตุลาคม 2531
ธรรมโอสถ
พอ.(พิเศษ)ทองคำ ศรีโยธิน