• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นวดแก้ปวดหัวไมเกรน

การแพทย์ไทย หรือที่มักเรียกว่า การแพทย์แผนโบราณ มีบทบาทสำคัญในการบำบัดรักษาโรคของชาวไทยมาช้านานหลายชั่วอายุคน จวบจนอิทธิพลของตะวันตกได้เข้ามามีบทบาท ทำให้แพทย์ไทยถูกละเลยและทอดทิ้ง โครงการฟื้นฟูการนวดไทย กำเนิดขึ้นมาเพื่อสืบทอดของดีของบรรพบุรุษของเรา เพื่อนำมาช่วยสร้างหนทางแห่งการพัฒนาการพึ่งตนเองเพื่อความเป็นไทต่อไป

                         



สมาชิกหมอชาวบ้านท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ไปช่วยงานศพที่จังหวัด ยะลา ปรากฏว่ามีชายคนหนึ่งเป็นลม หน้าเขียว หน้าซีด หายใจเบามาก ไม่รู้ว่าจะช่วยกันอย่างไรก็เลยบีบและนวดที่ต้นแขน

มีหมอคนหนึ่งเป็นคนภาคอีสาน บอกให้นวดที่ขาและที่แขนให้มาก พอนวดไปได้ประมาณ 30 นาที คนที่เป็นลมก็รู้สึกตัว... อาจจะเป็นเพราะอดนอนจนร่างกายอ่อนเพลีย การนวดครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต”

ปวดหัวข้างเดียวนวดตรงจุดไหน

ผมคิดว่าคนที่เป็นลมหมดสตินั้น คงจะเป็นเพราะอดนอนมากเกินไป คนเป็นลมนั้นถ้าได้รับการนวดแขนหรือขาที่ไหนก็ได้ จะทำให้รู้สึกตัวดีขึ้น แต่ตามที่หมอนวดไทยนิยมนวดแก้คนเป็นลมหมดสติก็ตรงข้างตาตุ่มด้านใน ที่หมอนวดบางท่านก่อนนวดมักนิยมนวดบริเวณนั้น เรียกว่าเปิดประตูลมก่อนที่จะไปนวดบริเวณอื่น ๆ ต่อไป แต่คนจีนนิยมแก้คนเป็นลม หมดสติที่จุด “เหยินจง” จุดนี้อยู่ได้จมูกตรงร่องกลางระหว่างจมูกกับริมฝีปาก โดยให้แบ่งบริเวณนั้นออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่จะกดคือจุดส่วนที่หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้จมูก ปวดหัวข้างเดียว หรือที่แพทย์ปัจจุบันเรียกว่าไมเกรนนั้น ก็นวดตรงจุดนวดด้านหลัง 7 จุด และด้านหน้า 3 จุด (รูป 1 และรูปที่ 2)

ตำแหน่งจุดนวดแก้ปวดศีรษะ

                              


รูปที่ 1 จุดนวดทางด้านหลัง


1, 3 จุดใต้ท้ายทอยตรงรอยบุ๋ม ข้างกล้ามเนื้อด้านหลังคอ
2 จุดใต้ท้ายทอยอยู่ตรงกลาง ระหว่างจุดที่ 1 และ 3
4, 6 จุดข้างกระดูกคอชิ้นที่ 7 ห่างจากแนวกระดูกสันหลัง 2 นิ้วมือ
5, 7 จุดเหนือกระดูกสะบักตรงกึ่งกลางบ่า                                     

                                

รูปที่ 2 จุดนวดทางด้านหน้า

8, 10 จุดใต้หัวคิ้ว
9 จุดตรงกลางระหว่างหัวคิ้ว
การแก้ไขที่กล่าวมาแล้วนั้น ไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุ แต่เป็นการแก้ไปตามอาการที่เป็นเท่านั้น ถ้าจะแก้ที่ต้นเหตุจะต้องรู้สาเหตุว่าเกิดจากการแพ้กลิ่น หรือจากสาเหตุอื่น ๆ แล้วแก้ที่ต้นเหตุนั้น ๆ และที่สำคัญคือ ควรจะแก้ที่อารมณ์ด้วย เพราะโรคที่เป็นกันคนที่ยังวัยรุ่น และเป็นคนจุกจิกจู้จี้จริงจังกับชีวิตมากเกินไป ต้องทำใจให้สบาย และบริหารโดยการก้มหน้าเงยหน้าเอียงหน้าไปทางซ้าย และทางขวา และหันหน้าไปทางซ้าย ขวาด้วยการใช้ฝ่ามือดันพื้นไว้ทุกท่า ทำเป็นประจำทุกวันก็จะช่วยให้อาการปวดศีรษะนั้นดีขึ้น หรืออาจหายเลยก็ได้
 

ข้อแนะนำในการนวดทุกครั้ง

1. การกดจุดแต่ละจุดให้ค่อย ๆ เพิ่มแรงกด จนผู้ถูกนวดเริ่มรู้สึกปวด แล้วให้กดนิ่งไว้ประมาณ 10 วินาที จากนั้นจึงค่อย ๆ คลายออก
2. เมื่อนวดครบทุกจุดแล้ว ให้กลับมานวดซ้ำอีกประมาณ 3-5 รอบ
3. หลังจากนวดเสร็จแล้วอาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบตามบริเวณท้ายทอย จะช่วยให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
4. เมื่อนวดเสร็จแล้วอาจใช้นิ้วมือคลึงให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ และบ่าคลายตัว

 

ข้อมูลสื่อ

114-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 114
ตุลาคม 2531
นวดไทย
พิศิษฐ เบญจมงคงวารี