• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคจิต/โรคประสาท


โรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ทุกวันนี้มีคนเจ็บป่วยมากมาย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนถึงขั้นที่โรงพยาบาลบางแห่ง จะมีผู้ป่วยหรือญาติมารอเข้าคิวจองบัตรกันตั้งแต่ยังไม่สว่าง
โรคทางจิตใจก็เช่นเดียวกับทางด้านร่างกาย เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้น ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ไปจนไม่สามารถปรับตัวหรือแก้ไขปัญหาได้ดังเช่นเคย และในบางรายก็อาจมีอาการรุนแรงผิดปกติ ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อตนเอง หรือผู้อื่น

ปัจจุบันเราสามารถแบ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตออกได้เป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ
ผู้ป่วยที่มีอาการทางด้านประสาท หรือที่เราเรียกกันว่า โรคประสาท ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการวิตกกังวลเป็นอาการเด่น เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล จนไม่สามารถที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างที่เคยเป็น เช่น ถ้าเป็นนักเรียน ก็รู้สึกว่าไม่มีสมาธิในการเรียน การเรียนเลวลง หรือไม่อยากไปโรงเรียน บางรายถึงขั้นหนีโรงเรียน นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย ทนอะไรได้น้อยลง ปวดศีรษะ หรือนอนไม่หลับ เป็นต้น

อีกโรคหนึ่งคือ ผู้ป่วยที่เป็น โรคจิต ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะเป็นผู้ที่ชาวบ้านเรียกว่า เพี้ยนหรือเป็นบ้านั่นเอง อาการเด่นคือ ผู้ป่วยไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และอะไรเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ผู้ป่วยมักจะมีอาการหูแว่ว เกิดภาพหลอน หวาดระแวง กลัวบางรายก็ซึมหรือแยกตัว แต่บางราย ก็เอะอะอาละวาด อาจจะทำร้ายตัวเอง หรือผู้อื่นที่อยู่ในสังคมได้ เมื่อเรามีญาติที่ป่วย เราก็จะวิตกกังวล แต่โรคภัยไข้เจ็บทางจิตใจนั้นมีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ และมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้เข้ารับการรักษาจนสามารถกลับไปทำงาน และปรับตัวอยู่ในสังคมใช้ชีวิตได้ปกติ ถ้าใครได้รับความช่วยเหลือจากญาติดังนี้คือ

1. ญาติโดยเฉพาะผู้ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ ในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก สามี หรือภรรยา ในผู้ป่วยที่สมรสแล้ว พี่หรือน้อง ในผู้ป่วยที่เป็นโสดแต่บิดามารดาเสียชีวิตแล้ว หรือแม้กระทั่งเพื่อนฝูง ผู้ร่วมงาน หรือญาติ ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อถามถึงอาการ และการรักษาผู้ป่วย เพราะการรักษาทางจิตใจในขณะนี้ทำได้หลายวิธี บางรายอาจจะต้องใช้วิธีกินยา ฉีดยา บางรายอาจจะต้องนอนอยู่โรงพยาบาล ต้องหยุดงาน หรือบางรายอาจจะต้องการการรักษาพิเศษ เช่น การทำจิตบำบัด หรือการรักษาด้วยไฟฟ้า เป็นต้น

2. ขอให้ญาติสนับสนุนการรักษา ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคจิตหรือโรคประสาท ผู้ป่วยมักจะเกิดความลังเลในเรื่องการรักษาอยู่แล้ว หลายรายไม่อยากกินยา โดยอาจจะแอบเอายาทิ้งโดยไม่บอกให้ญาติทราบ หรือบางครั้งทั้งผู้ป่วยและญาติอาจจะมีความคิด ที่แตกต่างกันออกไป เช่น การที่ญาติ อาจจะต้องการนำผู้ป่วยไปรับการรักษาด้วยวิธีแผนโบราณ เช่น การรดน้ำมนต์ การกินยาสมุนไพร หรือพิธีเข้าทรงต่าง ๆ ซึ่งถ้าเกิดความขัดแย้งระหว่างญาติกับผู้ป่วยแล้ว คนที่เสียประโยชน์ ก็คือตัวญาติและผู้ป่วยเอง เพราะจะทำให้ผู้ป่วยไม่ได้กินยาครบตามขนาดที่แพทย์กำหนดไว้ ผลการรักษาที่ออกมาก็จะไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้กลับไปเจ็บป่วยอีก และอาจจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้

โดยปกติแล้ว จิตแพทย์มักจะอนุญาตหรือผู้ป่วยที่มีศรัทธา ในทางอื่นนอกเหนือจากการรักษาในแผนปัจจุบัน นำผู้ป่วยไปรักษาได้ เช่น อาจจะไปรดน้ำมนต์ กินยาสมุนไพร หรืออาจจะรักษาได้ด้วย วิธีการต่างๆ ที่ช่วยทำให้สบายใจขึ้นได้ แต่จำเป็นจะต้องกินยาของแพทย์แผนปัจจุบันให้สม่ำเสมอด้วย ถ้าญาติเข้าใจตรงจุดนี้ดี เมื่อผู้ป่วยไม่อยากกินยา ก็จะได้ชี้แจงและสนับสนุน ทำให้โอกาสที่ผู้ป่วยไม่อยากกินยาลดลง ผลของการรักษาก็จะดีขึ้น ตามปกติ ในบรรดาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตใจ ถ้ารักษาติดต่อกันไปสักระยะหนึ่ง ประมาณ 2-3 เดือน ผู้ป่วยก็จะมีอาการสงบ สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม แต่บางรายอาจจะต้องกินยาไปเรื่อย ๆ จนกว่าแพทย์จะพิจารณาให้หยุดยา หรือลดยาลง แต่ผู้ป่วยบางคนก็อาจจะต้องกินยาไปตลอดชีวิต ซึ่งทั้งนี้ก็แล้วแต่ชนิดของโรคและดุลยพินิจของแพทย์

3. ญาติต้องไม่เพิ่มปัญหาให้กับผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตใจ ล้วนแต่เป็นผู้ซึ่งทนต่อปัญหาได้ต่ำกว่าคนปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยซึ่ง กำลังรับการรักษาอยู่ และถ้าเป็นไปได้ เรื่องบางเรื่องที่ญาติคิดว่าผู้ป่วยไม่สามารถช่วยอะไรได้ก็ไม่ควรจะให้ผู้ป่วยรู้ เพราะอาจจะทำให้ อาการเลวลง ญาติควรพิจารณาสิ่งที่พูดเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงผลดีผลเสียที่จะตามมา ถ้าเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ก็ขอให้เลือกที่จะไม่พูดดีกว่า

4. ให้กำลังใจกับผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยทางจิตใจเริ่มดีขึ้น ก็เริ่มอยากทำโน่นทำนี่ เหมือนที่เคยทำมาก่อน แต่แน่นอนเขาย่อมไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับที่ตัวเองเคยทำได้ ทั้งนี้เพราะเกิดความลังเล กังวล ขาดสมาธิ บางครั้งผลงานที่ออกมา ก็อาจจะผิดพลาด เช่น เราพบว่าเมื่อผู้ป่วยจำนวนมากที่เมื่อหายดีและกลับไปเรียนหนังสือ ระยะแรกจะไม่อยากเรียน และเกิดความท้อแท้ เพราะรู้สึกว่าสมองไม่สั่งงาน สับสน ท้อถอย คิดว่าตัวเองไม่สามารถเรียนได้ จึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปเรียนหนังสือ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ขอหยุดการศึกษาไว้สักปีหนึ่งก่อน ขอย้ายคณะหรือขอเลิกเรียนไปเลย

ในผู้ป่วยที่แพทย์พิจารณาว่าสามารถเรียนได้ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดังกล่าว ญาติจะเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องคอยให้กำลังใจผู้ป่วยให้เกิดความพยายามทีละเล็กทีละน้อย เราพบว่าถ้าผู้ป่วยได้ลองพยายามแล้ว ความสามารถของเขาจะกลับคืนมาได้ เพราะความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ ไม่ได้ทำให้ความสามารถตลอดจนเชาว์ปัญญาหรือความฉลาดของผู้ป่วยลดลงแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้ผู้ป่วยจะยังคงมีเหมือนเดิมทุกอย่าง เมื่อได้มีการรักษาที่ถูกต้อง และถ้าให้เวลากับผู้ป่วยอีกระยะหนึ่ง ผู้ป่วยก็จะสามารถทำงานหรือเรียนหนังสือได้เหมือนเดิม และในผู้ป่วยบางคนเมื่อได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถทำงานหรือเรียนหนังสือได้ดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ เนื่องจากสามารถรู้จักวิธีที่จะแก้ไขปัญหา และปรับตัวได้ดีขึ้นนั่นเอง

5. รายงานผลคืบหน้าของผู้ป่วยหรือเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นให้แพทย์ทราบเป็นครั้งคราว เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น จะเริ่มทำกิจกรรม ที่ตนเองสนใจ เช่น กลับไปทำงาน เรียนหนังสือ ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ อาจจะมาพบแพทย์เป็นระยะนาน ๆ ครั้งก็ได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ ถ้าญาติมีโอกาสมาพบแพทย์ และได้เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นข้อมูลที่ทำให้แพทย์สามารถนำมาใช้ในการรักษาได้ หรือในบางรายที่ผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ผู้ป่วยที่เคยกินยาก็กลับไม่ยอมกิน หันมาดื่มสุรา เครียดหนัก หรือมีอาการที่จะทำร้ายตัวเอง เช่น เขียนจดหมายลาตาย กินยาเกินขนาด พกอาวุธ หรือผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบ เช่น หูแว่ว หวาดระแวง เอะอะโวยวาย ไม่ยอมนอน ญาติจำเป็นที่จะต้องพามาพบแพทย์ด่วน เพื่อให้แพทย์ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะญาติเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่สุด สามารถสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วยได้เร็วกว่าแพทย์ ซึ่งโอกาสที่จะมาพบก็สั้นและมาพบนาน ๆ ครั้ง ยิ่งถ้าแพทย์ได้ข้อมูลมากเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นการช่วยสนับสนุนการรักษามากขึ้นเท่านั้น ประโยชน์ที่ได้รับก็ตกกับทั้งผู้ป่วยและญาติเอง

ปัจจุบันเราพบว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตนั้นสามารถรักษาให้อาการสงบจนกลับไปทำงาน มีการดำรงชีวิตได้ปกติอย่างที่เคยเป็นมา และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ประมาณครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้น จะมีเพียงประมาณร้อยละ 10 เท่านั้นที่ผู้ป่วยจะเป็นแล้วเป็นอีกและมีอาการรุนแรง ถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่การรักษามักจะได้ผลดี ดังนั้น ความร่วมมือจากผู้ใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการช่วยลดปัญหาสำหรับผู้ป่วยทางจิตใจ ทำให้การรักษาได้ผลดีขึ้น จนผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ปรับตัวเข้ากับสังคม และเป็นกำลังที่ดีของประเทศชาติในอนาคตต่อไป
 

ข้อมูลสื่อ

119-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 119
มีนาคม 2532
กานต์หทัย วงศ์อริยะ