• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้าพเจ้าเป็นหมอรักษาโรคลมชัก

เชิญเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง ขอเชิญท่านผู้อ่านร่วมเขียนเรียงความเล่าประสบการณ์ การดูแลรักษาสุขภาพตนเอง หรือให้แก่ผู้อื่น (สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงาน) ความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ปโดยประมาณ ส่งไปยังสำนักงานหมอชาวบ้าน ก่อนวันที่ 25 ของทุก ๆ เดือน คณะกรรมการจะตัดสินเรียงความทุกเดือน โดยคัดเลือกเรียงความที่เหมาะสมที่สุด ลงตีพิมพ์ เรื่องใดที่ตีพิมพ์ลงในหมอชาวบ้าน ผู้เขียนจะได้รับสิทธิพิเศษเป็นสมาชิกหมอชาวบ้าน ฟรี 2 ปี (หรือจะสมัครให้ผู้อื่นก็ได้)

ผมสอนหนังสืออยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษา ระดับตำบลแห่งหนึ่ง ผมรับผิดชอบสอนวิชาสังคมศึกษา ชั้นมัธยมฯ ต้น และเป็นครูฝ่ายแนะแนวของโรงเรียนด้วย ต้นปีการศึกษานี้ ผมได้รับมอบหมายงานจากอาจารย์ใหญ่ให้ทำ “กรณีศึกษา” เด็กชายผู้หนึ่ง ซึ่งป่วยเป็นโรคลมชัก ข้อมูลที่ผมได้มาเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่เพียงเล็กน้อยจากอาจารย์ใหญ่ คือ  “คิดว่าเป็นการป่วยทางจิต เพราะเด็กได้รับการตรวจโดยถี่ถ้วนแล้วจากแพทย์ปริญญา และไม่พบสาเหตุทางร่างกาย” อาจารย์ใหญ่บอก “สอบถามประวัติของเด็กแล้ว เด็กเป็นลูกชายโทนของพ่อแม่ พ่อไปทำงานที่ลิเบีย ส่วนแม่เปิดร้านขายของชำอยู่กับญาติพี่น้องฝ่ายสามีในตัวจังหวัด เด็กอยู่กับแม่ เมื่อปลายปีที่แล้วถึงกำหนดที่พ่อของเด็กจะกลับ และแม่เด็กจับได้ว่าสามีของตนมีน้อยลับ ๆ อยู่คนหนึ่ง ส่งเสียกันเรื่อยมากว่า 2 ปีแล้ว ทั้งสองจึงทะเลาะกันอยู่ประจำ ผมว่าเด็กเครียดทางประสาท เลยแสดงอาการออกมาอย่างที่เห็น”

ผมได้ข้อมูลเพิ่มเติมอีก ภายหลังที่ได้มีโอกาสพบกับเด็ก และสอบถามโดยตรงกับอาจารย์ประจำชั้น เพื่อน รวมทั้งผู้ปกครองของเด็ก ตามระเบียนสะสมของเด็กนั้น อาจารย์ประจำชั้นบันทึกไว้ว่า ชื่อ “เด็กชายวรรณกร ปทุมมาศ” มีอายุ 11 ปี ป่วยเป็นโรคลมชักมาตั้งแต่ปลายปีการศึกษาที่แล้ว เด็กมีอาการตื่นตกใจง่าย การเรียนของเด็กด้อยลงโดยลำดับ เข้าใจว่าเด็กป่วยไข้ทางจิต ผมเสนอแนะแนวทางรักษาเด็กต่ออาจารย์ใหญ่ ท่านอนุมัติเห็นชอบด้วย จากนั้นผมก็เดินทางไปหาแม่ของเด็กอีกครั้งหนึ่งที่ตัวจังหวัด และขออนุญาตพาเด็กมาอยู่กับผมที่บ้านพักในโรงเรียน ผมชี้แจงให้แม่ของเด็กทราบถึงแนวทางการรักษา เธอจึงอนุญาตให้พาเด็กมาอยู่ด้วยได้  ผมคิดว่าเด็กได้รับความกระทบกระเทือนใจมากจึงเครียด และเดิมเด็กเคยได้รับความรักความอบอุ่นใจจากทั้งพ่อและแม่ ทั้งยังเคารพรักและศรัทธาพ่อแม่มาก เมื่อพ่อแม่ทะเลาะตบตีกัน เด็กจึงทนไม่ได้ที่จะเห็นภาพเหล่านั้น ใจของเด็กไหวหวามและที่สุดเมื่อความเครียดรุมเร้าหนักขึ้นการทำงานทางสรีระของเด็กจึงผิดเพี้ยนไป ทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

ในคืนแรกทีเด็กมาอยู่ด้วยกับผมที่บ้านพักนั้น ผมได้ชี้แจงวิธีการรักษาต่อเด็กว่า “ครูจะให้หนูหัดทำสมาธิ ครูเชื่อว่าวิธีนี้จะรักษาโรคร้ายของหนูได้ หนูป่วยครั้งนี้เพราะว่าหนูคุมสติของตัวเองไม่อยู่ หนูใจสั่น เมื่อมีอารมณ์มากระทบจิตใจ และใจสั่นรุนแรงขึ้นเมื่อหนูคิดว่าเรื่องที่ทำให้เกิดอารมณ์นั้นมันเป็นเรื่องใหญ่โต และที่สุดมือและเท้าของหนูก็ควบคุมไม่ได้ ครูต้องการให้หนูควบคุมสติของตัวเอง หนูต้องหัดควบคุมสติของตัวเอง หนูต้องหัดทำสมาธิ และต้องทำทุกคืน”

ผมได้แนะนำวิธีเริ่มทำสมาธิให้แก่เด็ก ตั้งแต่ท่วงท่าการนั่งขัดสมาธิเพชร การกำหนดความรู้ขณะหายใจเข้าออกให้อยู่ที่ปลายจมูก ตั้งต้นจากเวลา 5 นาที และขายเวลาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเด็กสามารถทำสมาธิได้นานถึงกว่าครึ่งชั่วโมง ต่อมาจึงเริ่มให้เด็กกำหนดสมาธิอยู่ทุกอิริยาบถบ้าง ซึ่งเด็กก็ทำได้ดีพอใช้ เด็กมาอยู่กับผมประมาณ 2 เดือนเศษ ในระหว่างนี้ผมได้ตรวจสอบดูแลอาการป่วยของเด็กโดยใกล้ชิด เป็นที่น่ายินดีว่าเด็กหายขาดจากโรคร้าย ก่อนที่ผมจะนำเด็กส่งคืนผู้ปกครอง เด็กไม่ปรากฏอาการป่วยให้เห็นอีกเลย แต่ก็นั่นแหละครับ ผมมีหน้าที่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานการณ์รอบตัวเด็กอีกชั้นหนึ่ง ผมทำใจกล้าที่จะพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็ก ให้เขาทั้งสองพึงวางตนเสียใหม่ ละเว้นการทะเลาะเบาะแว้งกันเสีย เพื่อมิให้กระทบกระเทือนใจของ “ลูกชายโทน” ของตนอีก ในที่สุดก็ได้รับคำตอบที่เป็นเรื่องน่ายินดี พ่อของเด็กบอกว่าเขาได้เลิกร้างกับ “น้อย” คนนั้นแล้ว ต่อไปจะพฤติกรรมตัวให้ดีเหมือนเดิม... ให้สมกับการเป็นสามีที่ดีของภรรยา และเป็นพ่อที่ดีของลูก

ผมเขียนรายงานบันทึกผลการรักษาเด็กชายวรรณกรถึงอาจารย์ใหญ่ ได้รับคำชมเชยกลับมาพอให้เคลิ้มใจบ้าง ผมคอยติดตามข่าวคราวของเด็กตลอดเวลา และก็รู้สึกยินดีว่าเขาไม่มีอาการของโรคลมชักให้เห็นอีกเลย ผมอดภูมิใจไม่ได้ว่า “ผมได้กลายเป็นหมอรักษาโรคลมชัก” ไปซะแล้ว
 

ข้อมูลสื่อ

118-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 118
กุมภาพันธ์ 2532
ธวัชชัย ไพโรจน์