• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้ในเด็ก...เคล็ดน่ารู้


ไข้ในเด็ก เป็นเรื่องที่หลายต่อหลายครั้ง เป็นที่ร้อนอกร้อนใจของพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดเสียยิ่งกว่าตัวหนูน้อยเองเสียอีก ยิ่งเด็กอายุน้อย พ่อแม่ยิ่งร้อนใจมาก เพราะเกรงจะเป็นโรคร้ายแรง เอาล่ะครับ ลองมาทำความเข้าใจกันอีกสักครั้งว่า ไข้นั้นเป็นอย่างไรเมื่อไร ที่นับว่าสำคัญ และจะบรรเทาไข้ได้อย่างไร

1. ความหมายและกลไกการเกิดไข้
ไข้ = ตัวร้อน = การที่อุณหภูมิร่างกายสูงผิดปกติ ที่ว่าสูงผิดปกตินี้ ให้ดูว่าวัดทางปากหรือทางก้น
ถ้าวัดทางปากแล้ว ได้อุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ให้ถือว่ามีไข้
ถ้าวัดทางทวารหนักแล้วได้อุณหภูมิเกิน 38 องศาเซลเซียส ก็ให้ถือว่ามีไข้
เพราะฉะนั้นต้องระวังให้ดีว่า วัดทางไหน ก่อนจะทึกทักว่าเด็กมีไข้หรือไม่ และที่สำคัญต้องวัดอย่างถูกวิธีด้วยนะครับ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การใช้มือสัมผัสที่หน้าผาก หรือลำคอก็พอจะบอกได้คร่าว ๆ ว่า เด็กน่าจะมีไข้หรือไม่

กลไกของการเกิดไข้มีอย่างไร
ก. ถ้าไข้เกิดจากผลของการที่สมองส่วนที่เรียกว่า “ไฮโปทาลามัสส่วนหน้า” ปรับระดับการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้สูงขึ้น กล่าวคือ แทนที่สมองส่วนนี้จะสั่งการให้กลไกการลดอุณหภูมิของร่างกายทำงานเมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงถึง 37.5 องศาเซลเซียส อย่างในภาวะปกติ มันกลับปล่อยให้อุณหภูมิร่างกายสูงกินขีดนี้ แล้วค่อยสั่งการ
ภาวะนี้มีสาเหตุเนื่องจาก
1. มีการติดเชื้อจากเชื่อไวรัส, แบคทีเรีย
2. มีปฏิกิริยาเกี่ยวกับภูมิต้านทานของร่างกายต่อสารแปลกปลอมที่ไม่ใช่เชื้อโรค
ไข้แบบนี้ให้ยาลดไข้แล้ว มักจะได้ผล
ข. ไข้เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- อัตราการเผาผลาญสารพลังงานของร่างกาเพิ่มขึ้น ตัวอย่าง เช่น คนที่โรคคอพอกเป็นพิษ
- อยู่ในที่ร้อนอบอ้าว
- ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ ซึ่งพบได้ในโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง (เรียกว่า Ectodermal dysplasia)
ไข้แบบนี้ จะไม่ลดเมื่อให้ยาลดไข้ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้ยาลดไข้ในกรณีนี้

 

2. ความสำคัญของการมีไข้
คำว่า ไข้ ในข้อนี้ หมายถึง ไข้ที่เกิดจากกลไกแบบ
ก. ไข้ที่มีผลกระทบต่อร่างกาย โดยรวม 2 แง่
2.1 แง่ดี
- การมีไข้ทำให้กลไกต่อต้านเชื้อโรคทำงานดีขึ้น มีการค้นพบว่า เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น คืออยู่ระหว่าง 38-40 องศาเซลเซียส เม็ดเลือดขาวจะเคลื่อนไหวได้คล่องตัวขึ้น, จับกินเชื้อโรคดีขึ้น และมีการสร้างสารอินเตอฟีรอน (INTERFERON) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายเชื้อโรค
- ลักษณะของไข้ ช่วยบ่งชี้ถึงต้นเหตุของไข้ เช่น ไข้หนาวสั่น ช่วยบ่งชี้ว่า อาจเป็นไข้มาลาเรีย หรือกรวยไตอักเสบ เป็นต้น

2.2 แง่ร้าย
- ไข้ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำไปมาก จึงมักมีภาวะขาดน้ำเกิดขึ้นบ่อย ดังที่มักพบเห็นเสมอว่า คนมีไข้มักมีริมฝีปากแห้ง และกระหายน้ำบ่อย

- ที่น่าตกใจมากคือ ไข้ทำให้ชัก โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี เด็กมักจะชักเมื่อมีไข้สูงอย่างรวดเร็ว เด็กบางคนอาจชักที่อุณหภูมิต่ำกว่า แต่ก็ยังไม่มีวิธีการใด ที่สามารถบอกได้ล่วงหน้าว่าเด็กแต่ละคนจะเริ่มชักที่อุณหภูมิเท่าใด เท่าที่เชื่อกันคือ ยิ่งไข้สูง โอกาสชักยิ่งมาก
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันว่า การมีไข้ทำให้สมองเสื่อมคลาย ดังที่หลายคนพูดกัน

- นอกจากนี้ การมีไข้ทำให้มีอาการสั่น, ปวดข้อ, ปวดเมื่อยร่างกาย, เบื่ออาหาร โดยเฉพาะเมื่อไข้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วหรือสูงเกิน 39.5 องศาเซลเซียส

 

3. วิธีลดไข้
วิธีที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นวิธีลดอาการไข้ชั่วคราว ไม่ใช่การรักษาต้นเหตุของการเป็นไข้ และขอย้ำว่า การค้นหาสาเหตุ และแก้ไขให้ตรงกับสาเหตุมีความสำคัญมาก
1. สำหรับไข้ที่มีกลไกแบบ ก. (ดูข้อ 1) การให้ยาลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัว มักจะได้ผล (แต่อยู่เพียงชั่วคราว)
ยาลดไข้ มีให้เลือก 2 กลุ่ม คือ
1.อะซีตามิโนเฟน
หรือพาราเซตามอล ให้ครั้งละ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ไข้จะเริ่มลดภายใน 30 นาที หลังกินยา และสามารถลดไข้ได้เต็มที่ประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 องศาฟาเรนไฮด์)
ดังนั้น ถ้าก่อนกินยา ไข้สูง 39 องศาเซลเซียส หลังกินยาไข้ ควรจะลดลงเหลือประมาณ 37.5 องศาเซลเซียส ขนาดที่แนะนำนี้ไม่ก่อให้เกิดพิษต่อตับ แต่ถ้ากินยาถี่เกินไป หรือครั้งละมากเกินไปก็อาจจะเกิดพิษต่อตับได้ โดยทั่วไปอาการพิษต่อตับมักเกิดขึ้นเมื่อได้ยาตั้งแต่ 140 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมขึ้นไป ในเด็กที่กำลังป่วย ยาสะสมในร่างกายได้ง่ายขึ้น โอกาสเป็นพิษย่อมมากขึ้น จึงควรระมัดระวังเช่นเดียวกับเมื่อสงสัยว่า เด็กอาจเป็นโรคเกี่ยวกับตับหรือมีโรคตับอยู่แล้ว

2. แอสไพริน เป็นยาที่ใช้กันมานานมาก ในบ้านเรามีขายในท้องตลาดภายใต้สูตรผสมแอสไพรินกับคาเฟอีน ซึ่งได้รับความนิยมมากในชนบท และก่อปัญหาการเสพติดยา (ในผู้ใหญ่) และเป็นยาพิษในเด็กเล็ก เนื่องจากได้รับยาเกินขนาด
สรรพคุณของแอสไพริน ได้แก่ ฤทธิ์ลดไข้, แก้ปวด และต้านการอักเสบ ขนาดที่ใช้เหมือนกับพาราเซตามอล แต่เนื่องจากมีผลข้างเคียงมากกว่าจึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน
ผลข้างเคียง ได้แก่
- ระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารจนอาจทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างไรก็ดี อาจหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงนี้ได้โดยการกินยาร่วมกับอาหาร หรือดื่มน้ำมาก ๆ ทันทีหลังกินยา

- ขัดขวางการทำงานของเกร็ดเลือดซึ่งเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด หรือการห้ามเลือดให้หยุดเมื่อมีเลือดออก ในคนที่เป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีความผิดปกติในการทำงานของเกล็ดเลือด ถ้าคนไข้กินยานี้ อาการจะทรุดลง แพทย์จึงห้ามใช้ยานี้ ดังนั้น ถ้าเด็กมีไข้และสงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก ก็ไม่ควรใช้แอสไพริน

- อาการเป็นพิษเนื่องจากได้รับยาเกินขนาด เกิดได้ 2 ลักษณะคือ กินยาบ่อยเกินไป หรือกินยาครั้งละมากเกินไป
ลักษณะสำคัญอันหนึ่งของอาการพิษที่กล่าวนี้คือ “ไข้” เพราะฉะนั้นเด็กที่มีไข้แล้วเกิดอาการพิษเช่นนี้ ไข้จะยิ่งสูงขึ้น แม่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเด็กกินยาน้อยเกินไป เลยโหมให้ยากันยกใหญ่ จึงเท่ากับซ้ำเติมให้พิษมีมากขึ้น
มีอยู่สมัยหนึ่งที่คนเชื่อว่า การให้กินแอสไพรินสลับกับพาราเซตามอล ทุก 2 ชั่วโมง จะช่วยลดไข้ได้ดีกว่าการใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งโดด ๆ ความจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่การใช้ยาแบบนี้จะทำให้โอกาสเกิดพิษของพาราเซตามอลเพิ่มมากขึ้น เมื่อเกิดพิษของพาราเซตามอลแล้ว โอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตมีสูงมาก จึงไม่ควรเสี่ยงอย่างยิ่ง

 

3. นอกจากแอสไพรินและพาราเซตามอล ก็มียาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ที่มีในท้องตลาด ขณะนี้คือ บรูเฟน ไซรัป (BRUFEN SYRUP) มีฤทธิ์ลดไข้, แก้ปวด และลดการอักเสบ ได้ผลพอ ๆ กับแอสไพริน แต่ราคาแพงกว่าแอสไพริน และพาราเซตามอลประมาณ 4-5 เท่า ผลข้างเคียงจะมากกว่าพาราเซตามอล แต่น้อยกว่าแอสไพริน

 

4. การเช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำอุ่น
วิธีวิธีนี้เป็นที่นิยมปฏิบัติกันมานานก่อนที่จะมียาเก่าแก่อย่างแอสไพรินใช้ด้วยซ้ำ ปัจจุบันยังเป็นวิธีที่แพทย์และพยาบาลใช้อยู่ในโรงพยาบาล โดยเสริมกับการให้ยาลดไข้ ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัย, ราคาถูก และมีผลดีทางจิตใจต่อผู้ป่วย ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่
ที่ว่ามีผลดีทางจิตใจเพราะการเช็ดตัวเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยของพ่อแม่หรือผู้ปฏิบัติ ด้วยกาย, วาจา และใจต่อผู้ป่วย ระหว่างที่เช็ดตัวผู้ป่วยจะได้รับการสัมผัสทางกาย ได้ฟังคำประโลม และรับรู้ความห่วงใย ผ่านการสัมผัสทางสายตา การเช็ดตัวลดไข้จะให้ได้ผลเต็มที่จะต้องมีทั้งความรู้และศิลปะอันละเอียดอ่อน และที่สำคัญ คือ ความเสียสละของผู้ให้ต่อคนไข้
ความร้อนที่เกิดจากน้ำอุ่น จะไปช่วยขยายหลอดเลือดฝอยที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายได้ดีขึ้น เพราะคนที่มีไข้ หลอดเลือดของแขนขาจะหดตัว ดังจะสังเกตพบเสมอว่าเวลามีไข้ปลายมือปลายเท้ามักเย็น แต่จะร้อนที่หน้าผาก, คอและลำตัว
หลักการ
- ใช้น้ำอุ่นจัดเท่าที่ผู้ป่วยพอทนได้
- ใช้ผ้าเนื้อนุ่ม เพราะจะอุ้มน้ำได้ดี
- ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นจัดประคบตามตำแหน่งต่าง ๆ ทั่วร่างกาย แห่งละ 5-10 วินาทีสำหรับที่ที่มีอุณหภูมิสูง และ 10-20 วินาทีตรงที่ที่เย็น เช่น ปลายมือ ปลายเท้า
- การย้ายตำแหน่งผ้า ให้ทำเหมือนวิธีเช็ดด้วยน้ำเย็น
- หมั่นชุบน้ำที่อุ่นจัดอยู่บ่อย ๆ เพื่อให้ผ้าอุ่นอยู่เสมอ

 

5. อาหาร การกิน ระหว่างมีไข้
อาการเบื่ออาหาร เป็นอาการที่พบบ่อยในคนที่มีไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ในระหว่างมีไข้จึงควรให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง และเลือกอาหารที่ย่อยง่าย แต่ให้กำลังงานมาก
เนื่องจากมีแนวโน้มว่าคนไข้ อาจขาดน้ำ จึงควรให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ

 

6. หลักสังเกตระดับความรุนแรงของการเป็นไข้ในเด็ก
คุณหมอแม็กคาร์ทีและคณะ ได้ลองศึกษาและตั้งหลักเกณฑ์ในการประเมินระดับความรุนแรงของการเป็นไข้ไว้ดังนี้ (ดูตาราง)

                                                              ระดับความรุนแรง

ลักษณะอาการ

 น้อย*

 ปานกลาง**

 มาก***

การร้องไห้

เสียงดัง น้ำเสียงปกติหรืออยู่ปกติไม่ร้องไห้

 ร้องโยเย หรือสะอึกสะอื้นนาน

 เสียงค่อย ครวญคราง เสียงแหลมสูง

การตอบสนองเมื่อถูกปลุกเร้า

ร้องชั่วครู่สั้นๆ ไม่งอแงร้องไห้

ร้องๆ หยุดๆ 

 ร้องไม่หยุด หรือไม่ตอบสนองเลย

 ความรู้สึกตัว

ถ้าตื่นอยู่จะแจ่มใส รู้ตัวดี ถ้าหลับอยู่เมื่อถูกปลุกจะตื่นทันที

 ถ้าตื่นอยู่มักหลับตาเป็นพักๆ ถ้าหลับอยู่ ต้องปลุกหลายๆครั้งกว่าจะตื่น

 หลับซึมตลอดเวลา

สีผิวหนัง( ให้ดูจากปลายมือเล็บมือ เล็บเท้า ถ้าผิวคล้ำ

ชมพู 

ซีด หรือเขียวคล้ำตามปลายมือ ปลายเท้า 

 ซีด เขียวคล้ำ เป็นจุดๆลายๆหรือซีดเผือด

ความชุ่มฉ่ำของเนื้อเยื่อ

ผิวหนังตึงตามปกติ ตามีประกาย เยื่อบุตาและปากไม่แห้ง

ปากแลดูค่อนข้างแห้ง ผิวหนังและตาดูเป็นปกติ 

 ผิวเหี่ยวย่น ปากแห้งผาก ตาลึกกลวง

การตอบสนองเมื่อพูดคุยหรือยิ้มให้( ใช้สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 2 เดือน) 

ยิ้มรับ หรือท่าทีแจ่มใส

ยิ้มเล็กน้อย หรือรู้ตัวชั่วระยะสั้นๆ 

ไม่ยิ้มรับ ใบหน้าวิตกกังวล ไม่ตอบสนองหรือเซื่องซึม

                                           * ให้ 1 คะแนนสำหรับในช่องนี้ 
                                        ** ให้  3  คะแนนสำหรับในช่องนี้
                                       *** ให้  5  คะแนนสำหรับในช่องนี้

ถ้าได้คะแนน 16 แต้มขึ้นไป โอกาสที่เด็กน่าจะมีโรครุนแรงมีถึงร้อยละ 92.3 ถ้าได้คะแนนระหว่าง 11-15 แต้มโอกาสที่เด็กน่าจะมีโรครุนแรงมีร้อยละ 26.2 ถ้าได้ไม่เกิน 10 คะแนนมีโอกาสเพียงร้อยละ 2.7

ดังนั้น ถ้าลองสังเกตเด็กของคุณแล้วรวมคะแนนดูตามเกณฑ์ของหมอแม็กคาทีแล้วได้ 11 คะแนนขึ้นไป ก็ขอให้พาไปพบแพทย์ ยิ่งถ้าได้ 16 คะแนนขึ้นไป ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที ถ้าได้ไม่เกิน 10 คะแนนก็ให้การรักษาตามอาการไปก่อนได้ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วันค่อยพาไปหาหมอ
ข้อแนะนำเพิ่มเติมถ้าพบว่าเด็กอายุไม่เกิน๓เดือนมีไข้ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์เสมอเพราะโอกาสที่เด็กจะป่วยด้วยโรครุนแรงเช่นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ปอดอักเสบมีมากกว่าเด็กวัยอื่น

 

ข้อมูลสื่อ

114-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 114
ตุลาคม 2531
บทความพิเศษ