• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บิด

คอลัมน์นี้ได้รับความร่วมมือจากชมรมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่เราจะนำความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคต่างๆในประเทศลงตีพิมพ์ติดต่อกัน โดยจะครอบคลุมไปถึงลักษณะของโรคที่ควรรู้ในฤดูกาลต่าง ๆ กัน ตลอดจนวิธีการป้องกันโรคนั้น ๆ ด้วย โดยหวังว่าความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชุมชน เป็นการเสริมทรัพยากรระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อควบคุมและป้องกันโรค หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับบทความ หรือมีคำถามเกี่ยวกับวิธีการควบคุมและป้องกันโรคใด ๆ ก็ตาม กรุณาเขียนถามมาได้

 

โรคบิด โรคที่ชื่อสั้น ๆ แต่ว่าเป็นโรคที่นับว่ามีความสำคัญทางสาธารณสุขมากโรคหนึ่งของประเทศไทย บิดเป็นโรคที่ชาวบ้านคุ้นเคยมานานแล้ว เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องเกร็งเมื่ออยากถ่ายหรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด ผู้ป่วยมักจะเรียกอาการอย่างนี้ว่าบิดได้เกือบทุกคน
ไม่ได้เป็นการกล่าวเกินเลยที่ว่า โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของเรา ทั้งนี้ก็เพราะถ้าเราลองเอาสถิติการรายงานโรคของกองระบาดวิทยาที่รับรายงานผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ซึ่งก็รวมทั้งโรคบิดด้วยนี้ จากทั่วประเทศก็จะเห็นว่าโรคมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นการเพิ่มในอัตราที่น่าตกใจทีเดียวคือ

ในปี พ.ศ. 2528 เราได้รับรายงานผู้ป่วยโรคบิดเพียง 65,198 ราย และเพิ่มเป็น 82,005 ราย ในปีถัดมา และในปีกลายคือปี 2530 จำนวนผู้ป่วยที่เราได้รับรายงานมีถึง 128,939 รายทีเดียว เป็นการเพิ่มตั้งเกือบ 1 เท่าตัวในช่วงเวลาเพียง 2 ปี
อย่างไรก็ตามจะไม่น่าแปลกใจกับตัวเลขอันนี้เลย ถ้าเราทราบต่อไปว่า เมื่อปีกลายนี้โรคบิดเกิดการระบาดใหญ่ทั่วไป และภาคที่ถูกเล่นงานหนักที่สุดก็คือ ประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด จึงเป็นสาเหตุที่ผมเลือกเอาโรคนี้มาเขียนในคอลัมน์นี้

 

⇒โรคบิดมีกี่ชนิด
โรคบิดแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
บิดมีตัวที่เกิดจากอะมีบาที่ชื่อว่า เอนตามีบา ฮิสโตไลติกา
ส่วนบิดชนิดที่สองชื่อก็ตรงข้ามกันคือเรียกว่า บิดไม่มีตัว ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ชิเกลล่า นั่นเอง

 

⇒ทำยังไงถึงจะรู้ว่าเป็นโรคบิด
ก่อนจะทราบว่าผู้ป่วยเป็นโรคบิด เราก็ต้องเริ่มมาจากการซักประวัติการเจ็บป่วยก่อน โรคบิดมักจะมีอาการนำคือ อุจจาระร่วงหรือท้องเสีย หรือท้องเดินก่อน อาการที่ว่ามักจะเกิดร่วมกับอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งหน้าท้องหรือปวดเบ่ง (ปวดเบ่งคือ การปวดที่เกิดในขณะเบ่งอุจจาระ) ในรายที่มีอาการชัด ๆ ที่เรียกว่าอาการแบบคลาสสิกนั้น อุจจาระมักมีเลือด มูก หรือหนองปนออกมา
การแยกระหว่างบิดมีตัวและไม่มีตัว คือกลิ่นของอุจจาระ ถ้าเป็นบิดมีตัว อุจจาระจะมีกลิ่นคล้ายกลิ่นหัวกุ้งเน่า ส่วนในรายบิดไม่มีตัวกลิ่นจะรุนแรงน้อยกว่า การวินิจฉัยให้รู้แน่ชัดต้องอาศัยการตรวจอุจจาระ บางครั้งอาจต้องเพาะเชื้อจากอุจจาระร่วมด้วย

 

⇒ใครมักจะเป็นโรคบิดและเป็นช่วงไหน

ขอเอาข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคบิดมาพูดอีกที เราพบว่าผู้ป่วยชายและหญิง พบในอัตราใกล้เคียงกันมาก แต่ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบจำนวนสูงที่สุด รองลงมาคือผู้ป่วยสูงอายุมากกว่า 65 ปี และในขณะเดียวกันผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม อายุนี้ ก็มักจะมีอาการรุนแรงที่สุดด้วยเช่นกัน
จำนวนผู้ป่วยจะขึ้นสูงมากในช่วงฤดูฝน โดยมียอดสูงสุดประมาณเดือนมิถุนายน จากนั้นก็จะมีสูงขึ้น อีกครั้งหนึ่งในช่วงต้นปี แต่ไม่มากเท่าในช่วงฤดูฝน เร็ว ๆ นี้มีการติดต่อผ่านจากการปนเปื้อนของอุจจาระที่มีเชื้ออยู่ในอาหารหรือน้ำ โดยเชื้อจะปนเปื้อนกับน้ำ อาหาร นม เครื่องดื่ม ผักสด ผลไม้ เป็นต้น แมลงวันและแมลงสาบ จะช่วยกระจายการแพร่เชื้อได้
นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเป็นได้จากบุคคลสู่บุคคล เช่นผู้ดูแล เด็กที่เปลี่ยนผ้าอ้อม เมื่อเด็กมีอาการป่วยก็อาจมีการปนเปื้อนติดเล็บมือ แล้วล้างมือไม่สะอาด เคยมีการศึกษาการคงอยู่ของเชื้อ พบว่า เล็บมือที่แห้งแล้ว 3 ชั่วโมงก็ยังสามารถพบเชื้อได้ เป็นต้น

 

⇒จะป้องกันได้อย่างไร
เราอาจป้องกันผู้ป่วยไม่ให้มีอาการรุนแรงได้โดยการให้ดื่มเกลือแร่ผสมน้ำ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และสารเกลือแร่อันเป็นสาเหตุของช็อก (ข้อปฏิบัตินี้สามารถใช้ได้กับโรคอุจจาระร่วงทุกชนิด) ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงโดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงต่ออาการรุนแรงคือ เด็กและผู้สูงอายุก็ควรจะไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เฉพาะต่อโรคต่อไป อย่างไรก็ตาม เราย่อมได้ประโยชน์มากกว่า ถ้าหากดำเนินการป้องกันขึ้นต้นคือ การป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้ออันเป็นสาเหตุป่วย อันจะปฏิบัติได้ดังนี้ ผู้ที่เป็นแม่ครัวจะต้องปฏิบัติให้เป็นนิสัยคือ ล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ห้องส้วม ตัดเล็บมือให้สั้น และไม่ประกอบอาหารเมื่อมีอาการอุจจาระร่วง

ส่วนสมาชิกในครอบครัวก็สามารถป้องกันการแพร่โรคไปยังผู้อื่น โดยถ่ายอุจจาระในส้วม หรือถ้าผู้ป่วยเด็กถ่ายอุจจาระเรี่ยราด ก็ต้องล้างพื้นให้สะอาด นอกจากนี้ ทุกคนต้องล้างมือฟอกสบู่ ก่อนกินอาหารด้วยมือ ก่อนการให้นมบุตร หลังเข้าส้วมหรือการปรุงอาหารที่ไม่ได้ใช้ความร้อนฆ่าเชื้อโรค
การป้องกันขั้นต่อมาคือ การปรับปรุงอนามัยสิ่งแวดล้อมอันประกอบด้วย การดื่มน้ำสะอาด, การมีส้วมสะอาด, ไม่ถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลอง, การกำจัดแมลงวัน แมลงสาบ และกำจัดขยะอย่างถูกต้อง ปกปิดอาหารให้มิดชิดใช้ภาชนะที่สะอาด
ทำได้เช่นนี้ทุกท่านก็จะปราศจากการกล้ำกรายจากโรคบิดหรือโรคอุจจาระร่วงอื่น ๆ แล

 

                   การติดต่อของโรคติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร 

  

ข้อมูลสื่อ

112-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์