• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “หายใจไม่สะดวก”

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

อาการ “หายใจไม่สะดวก” มีความหมายกว้างมาก และหลายต่อหลายครั้งคนไข้ที่มีอาการเหล่านี้จะมีความรู้สึกหรือมีอาการหายใจผิดปกติที่แตกต่างกัน ทั้งที่บอกหมอด้วยอาการที่มีชื่อเดียวกัน
อาการ “หายใจไม่สะดวก” อาจจะเป็นเพียงอาการคัดจมูกเพียงเล็กน้อย ทำให้หายใจไม่สะดวก ไปจนถึงอาการหายใจลำบากที่เกิดจากมีลมในช่องอก (ลมรั่วจากปอดเข้าไปในช่องอกจนเบียดและอัดดันปอดให้แฟบลง) ทำให้หายใจไม่สะดวก เป็นต้น

ดังนั้น การตรวจรักษาคนไข้ที่มาหาด้วยอาการ “หายใจไม่สะดวก” จึงจำเป็นต้องสังเกตการณ์หายใจของคนไข้ โดยไม่ให้คนไข้รู้ตัว (ดูวิธีการตรวจร่างกายระบบการหายใจในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 37 เดือน พฤษภาคม 2525 หน้า 84-87) และการตรวจปอด โดยเฉพาะการฟังเสียงหายใจ (ฟังปอด) ของคนไข้ด้วย (ดูวิธีการตรวจในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 41 เดือนกันยายน 2525 หน้า 64-72)
 

   

อาการหายใจที่ผิดปกติจะต้องมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดหรือหลายลักษณะร่วมกันดังนี้
1. หายใจไม่ออกทันที (choking suffocating) เช่น สำลักชิ้นเนื้อ หรือสิ่งอื่นเข้าอุดคอหอยหรือหลอดลม ถูกบีบคอ รัดคอ เป็นต้น ทำให้หายใจไม่ออก แต่ยังพยายามหายใจอยู่

2. หายใจหยุดเฉียบพลัน (acute respiratory arrest) เกิดจากสมองส่วนท้าย (medulla oblongata) ถูกกดจากสมองส่วนบน หรือถูกกระแทกจากอุบัติเหตุ ทำให้หยุดหายใจ เพราะสมองไม่สั่งให้หายใจ

3. หายใจช้ากว่า 10 ครั้ง/นาที หรือเร็วกว่า 20 ครั้ง/นาที ในขณะนั่งพักหรือนอนพักอยู่ (ในเด็กเล็ก ซึ่งหายใจเร็วกว่าในผู้ใหญ่ อาจจะถือว่าผิดปกติ ถ้าหายใจช้ากว่า 15 ครั้ง/นาที หรือเร็วกว่า 30 ครั้ง/นาที) หายใจไม่สม่ำเสมออย่างชัดเจน เช่น

3.1 หายใจเร็วช้าหยุด (Cheyne-Stokes respiration) คือการหายใจที่คนไข้จะหายใจเร็วและลึก (เหมือนหอบ) อยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจะหายใจช้าลงและตื้นขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดจะหยุดหายใจไปสักครู่หนึ่ง แล้วจึงหายใจใหม่ โดยเริ่มหายใจช้า ๆ และตื้น ๆ ก่อน แล้วจะหายใจเร็วขึ้นและลึกจนหายใจเหมือนหอบอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจะหายใจช้าลงและตื้นขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดจะหยุดหายใจอีก สลับกันไปเรื่อย ๆ เช่นนี้
 

  

 

การหายใจแบบนี้ จะพบในคนที่สมองส่วนหน้า (forebrain) ผิดปกติทั้ง 2 ข้าง (รูปสมอง จำแนกเป็นส่วนหน้า ส่วนกลาง ส่วนหลัง และส่วนท้าย) มักพบในคนสูงอายุที่มีความดันเลือดสูง หัวใจล้ม (หัวใจวาย) ไตล้ม (ไตวาย) หรือเส้นเลือดในสมองแตก ตีบหรือตัน (โรคลมปัจจุบัน หรือ stroke)

3.2 หายใจไม่สม่ำเสมอโดยตลอด
(ataxic respiration) คือ การหายใจที่ถี่ห่างแรงค่อย (เร็วช้าลึกตื้น) ไม่เท่ากันโดยตลอด นั่นคือ คนไข้อาจหายใจเร็วลึกอยู่เพียง 2-3 ครั้ง แล้วกลับหายใจช้าและตื้น หรือหายใจช้าและลึก หรือหายใจเร็วและตื้น เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่แน่นอน และไม่สามารถคาดคะเนล่วงหน้าได้ ว่าจะหายใจครั้งต่อไปจะเร็ว จะช้า จะลึก หรือจะตื้น
คนไข้เหล่านี้เมื่อถูกสั่งให้หายใจแรง ๆ เร็ว ๆ ส่วนใหญ่จะยังทำตามคำสั่งได้ แต่ถ้าปล่อยไว้เฉย ๆ คนไข้มักจะหายใจไม่พอ และอาจหยุดหายใจเมื่อใดก็ได้ การหายใจแบบนี้เกิดจากความผิดปกติที่สมองส่วนท้าย (medulla oblongata) ซึ่งอาจเกิดจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออื่น ๆ

3.3 หายใจเป็นช่วง ๆ
(chester respiration) คือ การหายใจเป็นช่วง ๆ สลับกับการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงไม่เท่ากัน มักจะหายใจช้า และมักจะแทรกด้วยการหายใจเฮือก (gasping respiration) การหายใจแบบนี้เกิดจากความผิดปกติที่สมองส่วนพอนส์ (pons) และสมองส่วนท้าย (medulla oblongata) จากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออื่น ๆ

3.4 หายใจเฮือก (gasping respiration) คือ การหายใจเข้าลึกเร็ว แล้วหยุดกึกทันที มักจะหายใจช้า และมักจะร่วมกับการหายใจเป็นช่วง ๆ (chester respiration) หรือการหยุดหายใจ (การหายใจเฮือกสลับกับการหยุดหายใจ หรือ Biot’s respiration) หรือการหายใจใกล้ตาย (air hunger)
การหายใจเฮือกอาจเกิดขึ้นเองอย่างสม่ำเสมอก็ได้ แต่ไม่ค่อยพบบ่อยนักการหายใจแบบนี้เกิดจากความผิดปกติที่สมองส่วนพอนส์ (pons) และสมองส่วนท้าย (medulla oblongata) จากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออื่น ๆ

3.5 หายใจใกล้ตาย หรือหายใจพะงาบ ๆ (air hunger) คือการหายใจลึก ๆ มักจะหายใจช้า และในขณะที่หายใจเข้า ปากจะแสยะอ้า ศีรษะและหน้ามักจะผงกเงยขึ้น ตามักจะเหลือกขึ้น หน้าบิดเบี้ยว คล้ายกับว่าต้องใช้กำลังอย่างมากในการหายใจเข้า
คนไข้มักจะมีอาการแสดงอื่น ๆ ของคนไข้ใกล้ตาย เช่น ไม่รู้สึกตัว มือเท้าเย็นซีด เหงื่อแตก ชีพจรเบาเร็วหรือคลำไม่ค่อยได้ เป็นต้น
การหายใจแบบนี้ เข้าใจว่าเกิดจากสมองส่วนต่าง ๆ ขาดเลือด และ/หรือออกซิเจนจากภาวะใกล้ตาย
นั่นเอง

 

     ภาพแสดงการเคาะปอดทางด้านหลัง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

4. หายใจลำบาก (dyspnea) ในที่มีหมายถึงการหายใจที่ต้องออกแรงเพิ่มขึ้น นั่นคือ ต้องใช้กล้ามเนื้อช่วยหายใจ (accessory muscles of respiration) เพื่อช่วยกล้ามเนื้อหายใจ (muscles of respiration) คือกะบังลม(diaphragm) และกล้ามเนื้อซี่โครง (intercostals muscles) ในการหายใจแต่ละครั้งซึ่งสังเกตได้ง่าย ๆ ดังนี้

4.1 มีการเคลื่อนไหวของทรวงอกส่วนบนในขณะหายใจเข้าและออก
(ในการหายใจปกติ จะมีการเคลื่อนไหวของทรวงอกส่วนล่าง และหน้าท้องส่วนบนเพียงเล็กน้อย จนมองเกือบไม่เห็นถ้าใส่เสื้อหลวม ๆ อยู่) ถ้าเมื่อใดมองเห็นการเคลื่อนไหวของทรวงอกส่วนบน และหน้าท้องอย่างชัดเจนในขณะใส่เสื้อหลวม ๆ อยู่แสดงว่าคนไข้หายใจแรง หรือลึกกว่าปกติ ซึ่งมักจะต้องใช้กล้ามเนื้อช่วยหายใจร่วมด้วย

4.2 มีการเคลื่อนไหวของกระดูกไหปลาร้า (clavicle) ไหล่ หรือลูกกระเดือก ขึ้น ๆ ลง ๆ ขณะหายใจเข้าออก แสดงว่าต้องใช้กล้ามเนื้อคอ และไหล่ช่วยในการหายใจ

4.3 ปีกจมูกบานเข้าบานออกหรือหน้าตาบิดเบี้ยว หรือปากแสยะอ้าในขณะหายใจ แสดงว่าใช้กล้ามเนื้อคอและไหล่ช่วยในการหายใจ

4.4 ช่องซี่โครง (Intercostals pace) หรือรอยบุ๋มเหนือกระดูกสันอก (suprasternal notch) ยุบหรือบุ๋มเข้าไปขณะหายใจเข้าตามปกติ (ถ้ายุบหรือบุ๋มเข้าไปขณะหายใจลึก ๆ เร็ว ๆ ไม่ถือว่าผิดปกติ) แสดงว่ามีการอุดตัน หรือตีบตันของทางเดินหายใจ (โดยเฉพาะคอหอย ช่องสายเสียง หลอดลม) ทำให้ลม (อากาศ) เข้าปอดได้ไม่สะดวกในขณะหายใจเข้า

 

    ภาพแสดงการเคลื่อนไหวของปอด กะบังลม และซี่โครง ในการหายใจเข้าและออก

           


4.5 หายใจลำบากเมื่อนอนลง จนต้องลุกขึ้นนั่งจึงจะหายใจได้สะดวก

4.6 หายใจลำบากขณะหลับ จนต้องตื่นขึ้นเพื่อหายใจ มักเกิดจากโรคของสมองที่ไม่สั่งงานให้หายใจขณะหลับ หรือเกิดจากหัวใจล้ม (heart failure) ที่ทำให้นอนหลับไป 3-4 ชั่วโมงแล้วเกิดอาการแน่นอึดอัด หายใจไม่สะดวก ต้องลุกขึ้นนั่ง หรือเดินไปเปิดหน้าต่างแล้วสักพัก ( -1 ชั่วโมง) อาการจึงดีขึ้น หรือเกิดจากโรคหลอดลมตีบ เช่น หอบหืด ทำให้เกิดอาการหอบหืดตอนดึก ๆ หรือใกล้รุ่งเวลาอากาศเย็นลง คนไข้ที่หายใจไม่สะดวก และมีลักษณะการหายใจที่ผิดปกติลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังกล่าวข้างต้น จึงจะถือว่าคนไข้หายใจไม่สะดวกจากโรคทางกาย

ถ้าคนไข้คนใดมาหาด้วยอาการหายใจไม่สะดวก หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทัน หายใจไม่เต็มปอด หายใจขัด หายใจไม่พอ หรืออื่น ๆ โดยไม่มีลักษณะการหายใจผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ให้ถือว่า คนไข้ยังหายใจได้ปกติ แต่คนไข้รู้สึกไปเองว่าหายใจผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากสภาวะทางจิตใจ เช่น ความ เครียด ความห่วงกังวล ความกลัว ความตื่นเต้น หรืออื่น ๆ

   


การตรวจรักษาคนไข้ประเภทนี้ ควรจะตรวจร่างกายระบบอื่น ๆ ด้วย เช่น ดูว่าคนไข้ซีดไหม เหลืองไหม ตาโปน (ตาดุ) ไหม มือสั่นไหม ผอมมากไหม อ้วนมากไหม บวมมากไหม มีไข้ (ตัวร้อน) ไหม มีอาการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) ตรงส่วนใดหรือไม่ เพราะความผิดปกติเหล่านี้ อาจทำให้คนไข้รู้สึกหายใจไม่สะดวก หรือหายใจไม่ทัน หรือเหนื่อยง่ายได้ด้วย

นอกจากนั้น ควรจะฟังเสียงหายใจ (ฟังปอด) ว่าเสียงหายใจดังดีเท่ากันทั้งสองข้างหรือไม่ ถ้าเสียงหายใจดังดีและเท่ากันทั้งสองข้าง และไม่มีลักษณะการหายใจที่ผิดปกติ ลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังกล่าวไว้ในข้อ 1-4 และไม่มีความผิดปกติในการตรวจร่างกายระบบอื่น ๆ จึงจะถือว่าการหายใจไม่สะดวกของคนไข้นั้นเกิดจากภาวะทางจิตใจ 

 

( อ่านต่อฉบับหน้า )

ข้อมูลสื่อ

116-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 116
ธันวาคม 2531
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์