• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “หายใจไม่สะดวก

 

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารเรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

ในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงลักษณะ และการสังเกตคนไข้ที่มีอาการหายใจผิดปกติ ในฉบับนี้จะได้กล่าวถึงการรักษาคนไข้ที่หายใจไม่สะดวกจากภาวะทางจิตใจ

การรักษาคนไข้ที่หายใจไม่สะดวกจากภาวะทางจิตใจคือ
1. ให้กำลังใจแก่คนไข้ ให้คนไข้เข้าใจปอดและหัวใจของคนไข้ยังทำงานได้ดี ไม่มีอันตราย ไม่มีโรคอะไรที่ต้องวิตกกังวล และอาการที่เกิดขึ้นจะหายหรือทุเลาได้โดยเร็ว

2. ถ้าคนไข้มีปัญหาเกี่ยวกับครอบครัวหรืออื่น ๆ ควรให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหานั้น ๆ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวถ้าทำได้

3. ถ้าคนไข้ยังห่วงกังวลมาก ควรให้ยาไดอะซีแพมเม็ดละ 2 มิลลิกรัมครั้งละ -1 เม็ดหลังอาหารเช้า และ 1-2 เม็ดก่อนนอน

4. ถ้าคนไข้มีอาการโศกเศร้ามาก ควรให้ยาอะมิทริบตีลีน (amitripyline) เม็ดละ 10 มิลลิกรัม 1 เม็ดก่อนนอน


ถ้าคนไข้มีลักษณะการหายใจที่ผิดปกติลักษณะหนึ่งลักษณะใด หรือหลายลักษณะดังกล่าวข้างต้น ให้การตรวจรักษาดังนี้

1. ถ้าหายใจไม่ออก (chocking suffocating) ให้ขจัดสาเหตุที่ทำให้คนไข้หายใจไม่ออกโดยเร็ว เช่น
ถ้าถูกบีบคอ รัดคอ ต้องช่วยให้พ้นภาวะถูกบีบคอ รัดคอ โดยเร็ว
ถ้าถูกรมด้วยควันไฟ แก๊สพิษ หรืออื่น ๆ ให้นำคนไข้ออกจากสถานที่ที่มีควันไฟหรือแก๊สพิษโดย เร็วที่สุด ถ้าสำลักอาหารชิ้นใหญ่เข้าไปปิดกั้นคอหอย ช่องสายเสียง หรือหลอดลมทันที ซึ่งรู้ได้เพราะคนไข้กำลังกินอาหารอยู่แล้วหยุดกิน หยุดพูด หรือหยุดคุยทันที ถึงแม้จะพูดก็ไม่มีเสียงออกจากปาก คนไข้มีท่าทีตกใจเอามือล้วงคอและพยามยามไอ แต่ไอไม่ออก พยายามอาเจียนแต่อาเจียนไม่ออก ต่อมาจะเอามือกุมคอหน้าและปากเขียว หมดสติ และตายในเวลาไม่กี่นาที ดังนั้นจึงต้องช่วยคนไข้โดยเร็วที่สุด โดยการอัดยอดอก (ดูรูปที่ 1-2)

 

ถ้าผู้ป่วยยังพอรู้ตัวอยู่ เข้าทางด้านหลัง ใช้มือโอบรอบเอว ให้กำปั้นของมือหนึ่ง ซุกเข้าไปในท้องระหว่างสะดือกับลิ้นปี่ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งกุมกำปั้นนั้นไว้ แล้วออกแรงรัดและยกตัวผู้ป่วยขึ้นทันที เพื่อให้กำปั้นนั้นถูกอัดเข้าไปในยอดอกและยกขึ้น (รูปที่ 1)ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว อาจให้อยู่ในท่านอนหงาย แล้วใช้ฝ่ามือทั้งสองดันบริเวณหน้าท้องด้านบนเข้าและขึ้นข้างบนทันที เพื่อให้เกิดแรงดันกะบังลมขึ้นไปในช่องอก ผลักดันให้ก้อนที่ปิดกั้นทางเดินหายใจหลุดออก (รูปที่ 2)

ถ้าหายใจไม่ออกเพราะจมน้ำ รีบช่วยให้สิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจหลุดออก (รูปที่ 3-6) แล้วช่วยหายใจ ด้วยการเป่าปาก (mouth to mouth respiration) โดยหายใจเข้าให้เต็มที่ แล้วประกบปากลงกับปากของคนไข้ ใช้มือข้างหนึ่งบีบจมูกของคนไข้ ส่วนอีกข้างหนึ่งช้อนคอของคนไข้ขึ้นเพื่อให้ศีรษะของคนไข้เงยขึ้น และปากอ้าออก แล้วเป่าลมเข้าไปในปากของคนไข้จนหมด ขณะเป่าลมจะต้องชำเลืองดูหน้าอกของคนไข้ว่ายกขึ้นหรือไม่ ถ้าหน้าอกยกขึ้น จึงแสดงว่าลมเข้าปอดคนไข้ คนไข้จะหายใจออกเอง แล้วผู้ช่วยหายใจจึงหายใจเข้าเต็มที่ใหม่ แล้วเป่าปากคนไข้ใหม่ สลับกันเรื่อยไปเช่นนี้ ถ้ามีลูกโป่งหายใจ (self inflating bag) เช่น ลูกโป่งแอมบู (ambubag) ก็ให้ใช้ลูกโป่งนี้ช่วยหายใจให้คนไข้แทนการเป่าปากได้

 

 

ถ้าผู้ป่วยตัวเล็ก อาจจับพาดกับเข่า แล้วตบกลางหลังระหว่างสะบักแรง ๆ หลายครั้ง (รูปที่ 3) ถ้าผู้ป่วยโต อาจให้ยืนงอตัว (รูปที่ 4) หรือพาดกับโต๊ะ (รูปที่ 5) หรือจับนอนตะแคงกับพื้นให้เข่าของผู้รักษาซุกเข้าไปในท้องของผู้ป่วย (รูปที่ 6) แล้วตบกลางหลังแรง ๆ หลายครั้ง

 

2. ถ้าหายใจหยุดเฉียบพลัน (acute respiratory arrest) เช่น
ในคนไข้ที่ถูกงูพิษ เช่น งูเห่า หรืองูจงอางกัด และคนไข้เริ่มมีอาการง่วงซึม หายใจช้าและตื้น ต้องคอยปลุกคนไข้ให้ตื่น และให้คนไข้หายใจลึก ๆ ไว้จนกว่าจะสามารถฉีดเซรุ่มแก้พิษงูให้คนไข้หรือสามารถใช้เครื่องหายใจ (mechanical respirator) ช่วยหายใจให้แก่คนไข้ได้ มิฉะนั้นคนไข้จะตายเพราะหยุดหายใจ คนไข้ที่มีโรคทางสมอง จนทำให้หยุดหายใจขณะหลับ ก็ต้องคอยปลุกคนไข้ให้ตื่น และให้หายใจลึก ๆ จนกว่าจะสามารถพาคนไข้ไปโรงพยาบาล และใช้เครื่องหายใจให้


3. หายใจช้า (bradypnea) เช่น ในคนไข้ที่ได้รับยานอนหลับเกินขนาด (ได้รับยามากเกินไป) คนไข้ที่ได้รับฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน คนไข้ที่มีโรคทางสมองหรือกล้ามเนื้อ หรือได้รับพิษต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น พิษงูเห่า เป็นต้น
คนไข้ที่หายใจช้า ควรให้การรักษาโดยการปลุกหรือกระตุ้นให้คนไข้หายใจลึก ๆ จนกว่าจะใช้เครื่องหายใจช่วย ในกรณีที่หายใจช้าจากพิษผื่น มอร์ฟีน หรือเฮโรอีน ถ้ามียานาล็อกโซน (naloxone) ให้ฉีดเข้าเส้น จะช่วยพิษจากฝิ่น มอร์ฟีน หรือเฮโรอีนได้

4. หายใจเร็ว (tachypnea) เกิดจากสาเหตุมากมาย เช่น ออกกำลังกาย โกรธ ตื่นเต้น เป็นไข้ (ตัวร้อน) ปอดอักเสบ ปอดบวมน้ำ หัวใจล้ม เป็นต้น

   

อาการหายใจเร็ว ถ้าเป็นมาก จะทำให้รู้สึกหายใจไม่ทัน หรือเหนื่อย ความรุนแรงของอาการหายใจไม่ทัน (เหนื่อย) อาจแบ่งออกเป็นระดับต่าง ๆ ได้ดังในตารางที่ 1 ยิ่งรุนแรงมากยิ่งต้องรีบให้การตรวจรักษาโดยเร็ว เช่น
ถ้ามีอาการหายใจไม่ออก ให้รีบกำจัดสาเหตุ (ดูเรื่องหายใจไม่ออกในข้อ 1) 
ถ้ามีอาการหายใจหยุด ให้รีบช่วยหายใจ (ดูเรื่องหายใจหยุด ในข้อ 2)
ถ้ามีอาการหายใจเร็ว หายใจไม่ทัน หรือหอบ เหนื่อย ให้รีบช่วย โดย

4.1 ให้คนไข้อยู่ในท่าที่สบายที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่นั่งพิง หรือนั่งก้มไปข้างหน้า หรือท่าครึ่งนั่งครึ่งนอน

4.2 เอาฟันปลอมหรือสิ่งของ รวมทั้งเสมหะและน้ำมูกในปาก จมูก และคอออก ทำให้ทางเดินหายใจโล่ง

4.3 ให้ออกซิเจนถ้ามีออกซิเจนอยู่ ใช้พัดหรือพัดลมโบกลม ให้คนไข้เพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น และช่วยให้ร่างกายเย็นลง

4.4 ช่วยหายใจ ถ้าจำเป็น (ดูวิธีช่วยหายใจในเรื่องหายใจในข้อ 2)

4.5 ให้การรักษาตามอาการอื่น ๆ เช่น ถ้ามีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวคนไข้ ถ้าคนไข้ไม่หนาว (ถ้าคนไข้หนาว อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น เช็ดตัวคนไข้แทน)

   

4.6 รักษาสาเหตุ สาเหตุของอาการหายใจไม่ทันหรือหอบ เหนื่อย (จำแนกตามความเร็วช้าของการเกิดอาการ) ได้แสดงไว้ในตารางที่ 2 สาเหตุส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกจากสาเหตุ เช่น
การสำลักอาหารชิ้นใหญ่หรือภยันตรายต่าง ๆ ซึ่งต้องได้รับการรักษาทันที ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว หลังจากนั้นจึงจะนำส่งโรงพยาบาล ถ้ายังมีอาการอยู่

ภาวะทางจิตใจ ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วเกี่ยวกับวิธีตรวจรักษาคนไข้ที่หายใจไม่สะดวก จากภาวะทางจิตใจ  โรคหอบหืดและหลอดลมตีบ มักรู้ (วินิจฉัย) ได้โดยมีประวัติเป็น ๆ หาย ๆ มานาน เวลาอากาศเปลี่ยนจากร้อนเป็นหนาว หรือหนาวเป็นร้อน หรือมีประวัติแพ้อาหาร หรือแพ้ฝุ่นละออง หรืออื่น ๆ หรือมีประวัติสูบบุหรี่เรื้อรัง และตรวจร่างกาย จะได้ยินเสียงหวีด (wheeze) จากปอดทั้ง 2 ข้าง รักษาโดยให้ยาขยายหลอดลม เช่น ยาอะมิโนฟิลลีน (aminophylline) เม็ดละ 200 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น และก่อนนอน และเวลาที่มีอาการ หรือยาทีโอฟิลลีน (theophylline) เม็ดละ 200 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น และก่อนนอน และเวลามีอาการ

 

5. หายใจไม่สม่ำเสมอ (irregular respiration) ให้ช่วยหายใจแล้วรีบส่งโรงพยาบาล

 

6. หายใจลำบาก (dyspnea) รักษาแบบอาการหายใจเร็วหรือหายใจไม่ทัน ดังในข้อ 4 แล้วส่งโรงพยาบาล อาการหายใจไม่สะดวก จึงมีความหมายแตกต่างกันได้มากมายดังได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่การตรวจรักษาคนไข้เหล่านี้ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะการช่วยหายใจ และการกำจัดสาเหตุ ถ้าทำได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้คนไข้พ้นจากความตายและความพิการได้อย่างถาวร
การตรวจรักษาอาการหายใจ ไม่สะดวกอาจสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังแผนภูมิ 1

    

 

 

 

  

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

117-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 117
มกราคม 2532
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์