• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้ปวดอันตราย


ยาอันตรายในท้องตลาดมีมากมายก่ายกอง ไม่เข้าใจว่าทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่ดำเนินการอะไรเลย ผมเคยทำงานในต่างจังหวัด เห็นยาแก้ปวดที่เป็นซองจำนวนมากมาย วางขายตามร้านชำทั่วไป ที่เห็นบ่อย ๆ คือ ยาทัมใจ ยาบวดหาย เอ.เอน.ที ปวดบูรา และอื่น ๆ ผมเคยได้ยินเภสัชกรที่ร้านยาบอกคนซื้อว่า ยาซองแก้ปวดไม่ควรกินบ่อย ๆ กินแล้วจะติด แล้วทำไมปล่อยให้มีล่ะครับ ไม่มีใครคุ้มครองกันเลยหรือ ผมเคยเห็นชาวบ้านติดซองยานาน ๆ ปวดท้องไปนอนซมที่โรงพยาบาล เขาว่าต้องผ่าตัดกระเพาะ เศร้าจริงชีวิตคนไทย


อรุณชัย/กรุงเทพ

 

ตอบ คุณอรุณชัย
เรื่องเศร้า ๆ ชีวิตคนไทย เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เกิดแล้วล่ะครับ ก็อย่าเพิ่งท้อถอยครับ อย่างน้อยที่สุดคุณอรุณชัยก็ให้ความสนใจเขียนเล่ามา ก็ถือว่าเป็นประโยชน์มากแล้ว
ก่อนอื่นต้องบอกให้คุณทราบว่า ยาซองที่ถามมานั้นไม่ใช่ยาอันตราย ถือเป็นยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งสามารถมีขายตามร้านขายของทั่วไป

ยาสามัญประจำบ้านถือว่าเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยที่ประชาน สามารถซื้อขายกันได้โดยไม่ต้องให้เภสัชกรหรือเป็นเป็นคนสั่งจ่าย แต่ไม่ใช่บอกว่า ค่อนข้างปลอดภัย ก็เลยกินแบบไม่บันยะบันยังนะครับ เพราะอย่างไรก็ควรจะใช้ยาเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น สำหรับเรื่องเภสัชกรแนะนำว่า ไม่ควรกินยาซองแก้ปวดบ่อย ๆ กินแล้วติดก็เนื่องจากสาเหตุต่อไปนี้ครับ คือ ยาซองแก้ปวดที่คุณบอกชื่อมานั้น ส่วนใหญ่เป็นยาที่มีส่วนประกอบของตัวยา 2 ตัว (ดูตาราง)

 

 


คือ ยาแอสไพริน และคาเฟอีน แอสไพริน เป็นยาระงับปวดลดไข้ จัดเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ถ้าใช้ในขนาดที่กำหนด และกินอย่างถูกวิธี คือ กินหลังอาหาร หรือดื่มน้ำตามมาก ๆ เพราะแอสไพรินมีอาการที่ไม่พึงประสงค์หลายอย่าง ที่สำคัญคือระคายเคืองกระเพาะ หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า “กัดกระเพาะ”
ส่วนยาคาเฟอีนนั้น ที่เรารู้จักกันดีคือ มีอยู่ในกาแฟ เราคงเคยเห็นคนติดกาแฟเวลาไม่ได้กินแล้วมักบอกว่าคิดอะไรไม่ออก หรือหงุดหงิด แต่พอได้กินสักแก้วจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า
ตรงนี้แหละครับคือปัญหา
ถ้าเวลาเรามีอาการปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ แล้วกินยาดังกล่าวเพื่อรักษาอาการก็คงไม่เป็นไร
ทีนี้ที่พบทั่วไปคือ คนที่กินยาซองจำนวนไม่น้อย ไม่ได้กินยาเพราะมีอาการดังกล่าว แต่กินด้านจิตใจ คือรู้สึกว่ากินแล้วมีแฮง (มีแรงภาษาอีสาน)
เอาเข้าแล้วซิ...สมมุติถ้าอยากมีแรงแล้วกินกาแฟ(คาเฟอีน) เปล่าๆก็คงพอทำเนา (แต่ก็เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง) แต่ทีนี้ถ้าติดคาเฟอีนจากยาซองเหมือนติดกาแฟ เมื่อกินยาซองก็เท่ากับกินคาเฟอีน และมียาแอสไพรินอยู่ด้วย ซึ่งถ้ากินบ่อยๆแล้วไม่ระมัดระวังในการกิน กินมากเกิน หรือกินบ่อยเกิน หรือกินไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะจนต้องไปนอนที่โรงพยาบาลเหมือนกับคนที่คุณเล่ามา
นี่จึงเป็นจุดหนึ่งที่นักวิชาการมักแนะนำให้กินยาตัวเดียว หรือเรียกร้องให้มีการยกเลิกการผลิตยาที่มีตัวยามากกว่าตัวเดียวในยาหนึ่งเม็ด เพื่อป้องกันพฤติกรรมในการกินยาที่ไม่ถูกต้องของประชาชน หรือกินยาอื่นโดยที่ไม่มีอาการเข้าไป

ยาที่มีตัวยามากกว่า 1 ขึ้นไปนั้น ในแง่นักวิชาการพบว่าส่วนใหญ่เป็นยาที่ไม่เหมาะสม เขาก็เลยติงเตือนกันครับ ถ้าถามว่ายาที่คุณถามมานั้นกินได้ไหม ก็ขอตอบว่า กินนะกินได้ แต่ควรจะกินเมื่อมีอาการของโรค และกินให้ถูกวิธี คือกินหลังอาหาร หรือดื่มน้ำตามมาก ๆ
ถ้าเมื่อใดรู้สึกกินพร่ำกินเพรื่อ ไม่ได้กินแล้วรู้สึกไม่มีแรงทำงาน หรือขนาดฉีกซองกรอกปากโดยไม่ได้กิน น้ำตามอย่างที่คนเขาทำกันล่ะก็ บอกได้คำเดียวว่า...เสียวครับ
จะไม่ให้เสียวได้อย่างไร กระเพาะจะทะลุเอาซิครับ

 

ข้อมูลสื่อ

118-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 118
กุมภาพันธ์ 2532
108 ปัญหายา
อาหมอ