• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไอ.ซี.ยู.

 แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุข จะมีการใช้ภาษาที่เข้าใจในหมู่หมอด้วยกันเอง หากได้ทำความรู้จัก “ภาษาหมอ” ก็จะทำให้เราสื่อสารกับหมอได้ดียิ่งขึ้น คอลัมน์นี้จึงขอแนะนำ “ภาษาหมอ” เดือนละคำสองคำ

เป็นคำเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษจากคำว่า  ICU  ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Intensive Care Unit”
ตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มักจะมี “ห้อง ไอ.ซี.ยู.” สำหรับรับเอาเฉพาะผู้ป่วยหนักที่มีอันตรายร้ายแรง (มีอาการปางตาย) ไว้ดูแลรักษาอย่างพิเศษ โดยมีเครื่องมือและอุปกรณ์ครบครัน ตลอดจนมีแพทย์และพยาบาลให้การดูแลตลอดเวลา

อาจจะกล่าวได้ว่าผู้ป่วยในห้อง ไอ.ซี.ยู. จะได้รับการเฝ้าติดตามอาการเปลี่ยนแปลงแทบทุกวินาทีก็ว่าได้ จนกระทั่งแน่ใจว่าผ่านช่วงวิกฤติ หรือปลอดภัยแน่ ๆ แล้ว จึงจะย้ายออกมาพักรักษาที่ห้องพักผู้ป่วย(วอร์ด) ทั่ว ๆ ไป

ผู้ป่วยที่จะเข้าไปรักษาตัวในห้อง ไอ.ซี.ยู. จึงเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เช่น หมดสติ หายใจเองไม่ได้ เป็นต้น มักจะมีเครื่องช่วยชีวิต(เช่นน้ำเกลือ เลือด เครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ) ต่อเข้ากับตัวผู้ป่วบ ดูระโยงระยางไปทั่วร่างกาย ผู้ป่วยมักจะพูดคุยไม่ได้ ญาติ ๆที่มาเยี่ยมก็ได้แต่มอง ๆ ดูเท่านั้น

บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ไอ.ซี.ยู.คำนี้เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “I see you ” ซึ่งแปลว่า “ฉันมองเธอ” บางคนเลยล้อเล่นว่า “I see you ” (ฉันมองเธอ) และ “You see me”(เธอมองฉัน) ซึ่งความจริงสภาพของผู้ป่วยและญาติที่มาเยี่ยมในห้อง ไอ.ซี.ยู. ก็เป็นเช่นว่าจริง ๆ คือฉันมองเธอ และเธอก็มองฉัน
มีคนแปลคำว่า Intensive Care Unit (ICU) เป็น “ห้องบำบัดพิเศษ” บ้าง “ห้องบำบัดผู้ป่วยหนัก” บ้าง แต่ชื่อที่นิยมเรียกกันจนชินปากก็ยังคงเป็น " ห้อง ไอ.ซี.ยู.”

ข้อมูลสื่อ

67-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 67
พฤศจิกายน 2527
พูดจาภาษาหมอ