• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รักษาดีซ่านด้วยยาแผนโบราณ


ผมเป็นผู้หนึ่งที่มีเลือดเนื้อสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษที่เป็นหมอแผนโบราณ เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ช่วยเหลือผู้ป่วยคนหนึ่งที่เป็นโรคดีซ่าน ซึ่งอาการค่อนข้างจะรุนแรงมาก เที่ยวได้รักษาเกือบจะทุกแห่งแล้ว หมดเงินทองไปเป็นจำนวนมากก็ไม่หาย เขาเล่าอาการให้ฟังว่า ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลียไม่มีแรงทำงาน แม้กระทั่งเดิน ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลือง ปากขม กินอาหารก็ขม
เมื่อได้ฟังอาการต่าง ๆ แล้ว ผมก็สันนิษฐาน ตามที่รู้มาว่าเขาน่าจะเป็นโรคดีซ่าน และนึกถึงตำรายาที่ได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงได้ต้มยาให้เขากินประมาณ 5-6 วัน อาการป่วยดีขึ้นมาก และกินติดต่อกันประมาณ 1 เดือน อาการก็หายเป็นปกติ
นี่แหละครับประสบการณ์การรักษาด้วยยาแผนโบราณของผม ผมจึงขอส่งตำรายามาให้ “หมอชาวบ้าน” เพื่อพิจารณา และเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่นต่อไป

 

ตำรายามีดังนี้

ขนานที่ 1
โม่งเถาคัน ย่านส้มออบ แกลบข้าวกล้อง เหมงผลา รากย่านนาง ต้นสามเดือนดอกแดง ต้นสามเดือนดอกขาว หัวสัปรด 2 แว่น สารส้มหนัก 2 สลึง เครื่องทั้งหมดเอาเท่ากัน


ขนานที่ 2
รากแฝกหอม จันทร์แดง จันทร์ขาว ลูกสมอเทศ ลูกสมอดีงู ลูกสมอพิเภก แก่นหาด แก่นแสมสาร แก่นขี้เหล็ก แก่นสนเทศ ลูกตูมอ่อน ลูกกระดอม 5 ลูก บริเพชร 5 องคุลี เทียนทั้ง 5 โกฐเขมา โกฐพุงปลา โกฐก้านมะพร้าว ก้านเสดา รากขัดมอน รากขี้กาแดง ย่านพังโหม ยาดี 2 บาท ผักราชพฤกษ์ 4 ผัก (ตับ) เครื่องยาทั้งหมดเอาเท่ากัน


ชวน เขียนสุวรรณ์

 

ตามที่คุณชวน เขียนสุวรรณ์ เขียนเล่าประสบการณ์การรักษาเพื่อนบ้านมายังสำนักงาน “หมอชาวบ้าน” ได้ให้ผมช่วยตรวจสอบและพิจารณาสรรพคุณของยาดังกล่าว ดังนี้คือ

ตำรายาขนานที่ 1
1. โม่งเถาคัน สรรพคุณ ขับเสมหะ แก้กระษัย ทำให้เส้นหย่อน ฟอกเลือด ขับลม แก้ฟกช้ำภายใน
2. ย่านส้มออบ ที่จริงส้มกบ สรรพคุณ กัดเสมหะ ล้างเมือกมันในลำไส้ ขับโลหิต ระดูสตรี
3. แกลบข้าวกล้อง สรรพคุณ ฟอกโลหิต
4. เหมงผลา (ตรีผลา) สรรพคุณ ระบายอ่อน บำรุงน้ำดี
5. รากย่านนาง สรรพคุณ แก้ไข แก้พิษร้อนภายในร่างกาย
6. ต้นสามเดือนดอกแดง (บานไม่รู้โรยดอกแดง) สรรพคุณ ขับปัสสาวะ แก้กามโรค แก้อักเสบภายใน
7. ต้นสามเดือนดอกขาว (บานไม่รู้โรยดอกขาว) สรรพคุณ อย่างเดียวกับดอกแดง
8. หัวสัปรด สรรพคุณ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ขับปัสสาวะ
9. สารส้ม สรรพคุณ ขับปัสสาวะ แก้สตรีตกขาว

เครื่องยาทั้งหมดเท่ากัน คือ น้ำหนักเท่า ๆ กัน ยกเว้นสารส้ม หนัก 2 สลึง เท่ากับ 7.5 กรัม และหัวสัปรดหั่น 2 แว่น ต้มรับประทานน้ำ
สรุป แล้วมีสรรพคุณ ขับปัสสาวะและระบายพิษออกทางปัสสาวะ มีผลแก้อักเสบภายในได้ และขับปัสสาวะบ่อย ๆ มีผลแก้ดีซ่านได้เล็กน้อย คือขับพิษตัวเหลือง ตาเหลืองออกทางปัสสาวะนั่นเอง

ตำรายาขนานที่สอง
1. รากแฝกหอม สรรพคุณ ขับลมในลำไส้ ลมแน่นในท้อง ปวดท้อง จุดเสียด ท้องอืด แก้ไข้ ขับปัสสาวะ
2. แก่นจันทร์แดง สรรพคุณ บำรุงตับ แก้ร้อนภายใน
3. แก่นจันทร์ขาว สรรพคุณ บำรุงตับ แก้ร้อนภายใน
4. ลูกสมอเทศ สรรพคุณ ระบายท้อง
5. ลูกสมอดีงู สรรพคุณ เป็นยาถ่าย ขับโลหิตระดูสตรี
6. ลูกสมอพิเภก สรรพคุณ ระบายท้อง บำรุงน้ำดี
7. แก่นหาดที่จริงแก่นมหาด สรรพคุณ กระจายเลือด แก้ลมในท้อง แก้กระษัย ระบายอุจจาระ
8. แก่นแสมสาร สรรพคุณ แก้กระษัย แก้ปวดเมื่อย ระบาย
9. รากขี้กาแดง สรรพคุณ บำรุงน้ำดี แก้ไข้ ถ่ายล้างโทษ
10. แก่นขี้เหล็ก สรรพคุณ แก้กระษัย แก้เหน็บชา ถ่ายพิษภายใจ
11. แก่นสนเทศ สรรพคุณ แก้เสมหะ ขับลม ทำให้สดชื่น
12. ลูกมะตูมอ่อน สรรพคุณ บำรุงธาตุ แก้จุดเสียด ขับลม
13. ลูกกระดอม สรรพคุณ บำรุงน้ำดี แก้ไข้ แก้ร้อนใน บำรุงตับ
14. บอระเพ็ด สรรพคุณ บำรุงน้ำดี แก้พิษร้อนภายใน
15. เทียนทั้ง 5 สรรพคุณ บำรุงธาติ บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต ขับลม บำรุงตับ
16. โกฐเขมา สรรพคุณ แก้จุกเสียด.
17. โกฐพุงปลา สรรพคุณ แก้ท้องเสีย
18. โกฐก้านพร้าว สรรพคุณ แก้ไข้ แก้เสมหะ แก้ร้อนใน
19. ก้านสะเดา สรรพคุณ แก้ไข้ บำรุงน้ำดี แก้พิษร้อนภายใน
20. รากขัดมอน สรรพคุณ แก้ไข้ แก้พิษร้อนภายใจ แก้น้ำดีซ่าน แก้อาเจียน
21. ย่านพังโหม สรรพคุณ แก้ดีรั่ว แก้ธาตุพิการ ขับพยาธิ
22. ยาดำ สรรพคุณ เป็นยาถ่ายอุจจาระ ถ่ายพิษภายใน
23. ฝักราชพฤกษ์ 4 ฝัก สรรพคุณ ระบายอุจจาระ ระบายพิษไข้
น้ำหนักตัวยาหนักเท่า ๆ กัน ยกเว้น ลูกกระดอม บอระเพ็ด ยาดำ ฝักราชพฤกษ์ ตามจำนวนดังกล่าวนั้น ต้มรับประทาน
สรุปสรรพคุณ แก้อาการของดีซ่าน ขับปัสสาวะ ระบายน้ำดีซ่านได้ แก้อ่อนเพลีย แก้ไข้ บำรุงตับ แก้ปากขม กินอาหารขมได้


และตามที่ผมได้วินิจฉัยตัวยาแต่ละตัวดังกล่าวมานี้ ยา 2 ตำรับ ตำรับที่ 2 คงจะมีสรรพคุณดีกว่า
ขนานแรก .
 

ข้อมูลสื่อ

68-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 68
ธันวาคม 2527
ประเสริฐ พรหมณี