• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคเอสแอลอี (ลูปุสหรือลูปัส)

  

 

⇒ ชื่อโรคประหลาดนี้มาจากไหน
ชื่อ โรคเอสแอลอี เป็นชื่อเรียกทับศัพท์ของอักษรย่อในภาษาอังกฤษของโรคนี้คือ SLE ซึ่งมีชื่อ
เต็มว่า Systemic Lupus Erythematosus ส่วนคำว่าลูปัสหรือลูปุสเป็นการเรียกเฉพาะคำกลางของชื่อเต็มตามนิสัยชอบสะดวกของคนเรา

 

⇒ ใครบ้างจะเป็นโรคนี้ได้
เอสแอลดีเป็นโรคที่พบได้ในทุกเชื้อชาติศาสนาทั่วโลก แต่คนผิวเหลืองและผิวดำพบได้บ่อยกว่าและมักจะมีอาการของโรครุนแรงกว่าคนผิวขาวจากการสำรวจคร่าว ๆ จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีผู้ป่วยโรคนี้ของโรคพยาบาลศิริราช พบว่ามีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 700 รายในช่วงระยะปี พ.ศ. 2521- 2525 ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมีมากพอ ๆ กัน กับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

เนื่องจากโรคนี้มักเป็นในหญิงสาว อายุระหว่าง 20-45 ปี โดยมีอัตราการเกิดของโรคในหญิงมากกว่าชายประมาณ 10 เท่า และเป็นโรคที่ทำให้เกิดความพิการ อาจมีอันตรายจนเสียชีวิตได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวผู้ป่วย สังคมและประเทศชาติจึงมีมากจนประมาณค่ามิได้
อย่างไรก็ดี จากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาโรคนี้ในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถมี
ชีวิตยาวนานและเป็นปกติสุข โดยปราศจากความพิการใด ๆ ได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องไปหาแพทย์
รักษาให้ทันท่วงที

  

 
⇒ โรคนี้มีสาเหตุจากอะไร
สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรคยังไม่ทราบแน่นอน จากการวิจัยค้นคว้าอย่างมากมายทั้งในคนและ
สัตว์ทดลอง พอจะสรุปได้ว่ามีเหตุปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน โดยส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
ของผู้ป่วยร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด การได้รับสารพิษหรือ
สารเคมีบางอย่าง แล้วทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยนั้นมีการตอบสนองที่ผิดปกติไป ตัวอย่างที่
เห็นได้ชัดมากก็คือการพบผู้ป่วยที่ได้รับยาบางชนิดอยู่นาน ๆ แล้วเกิดอาการทุกอย่างเหมือนโรค
เอสแอลอี แต่เมื่อหยุดยาต้นเหตุ อาการต่าง ๆของโรคจะค่อย ๆ หายไปโดยไม่เป็นอีก เราเรียก
ผู้ป่วยภาวะนี้ว่าเป็นโรคลูปัสที่เกิดจากยา ซึ่งเป็นโรคที่หายขาดได้
แต่โรคเอสแอลอีส่วนใหญ่ เรามักจะหาปัจจัยร่วมไม่พบ จึงทำให้ไม่สามารถขจัดต้นเหตุได้ ดังนั้น
จึงมีอาการแบบเป็นๆ หาย ๆ แต่ไม่หายขาด แต่ก็เป็นโรคที่รักษาให้ดีได้

  


⇒ กลไกของการเกิดโรคเป็นอย่างไร

ได้กล่าวไว้แล้วว่าโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิต้านทาน (หรือระบบอิมมูน) ของร่างกาย
ซึ่งทุกท่านคงทราบมาบ้างแล้วว่า ระบบภูมิต้านทานของร่างกายเรานั้น มีไว้กำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์หรือเป็นอันตรายแก่ร่างกาย ซึ่งเปรียบเสมือนกับระบบการรักษาความสงบทั้งภายนอกและภายในของประเทศ หากเราเปรียบร่างกายของคนคนหนึ่งเป็นประเทศประเทศหนึ่ง ระบบภูมิต้านทานที่ดีเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ร่างกายไม่มี โรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งไม่เป็นโรคมะเร็งด้วย ในผู้ป่วยเอสแอลอีพบว่าระบบภูมิต้านทานมีปฏิกิริยาต่อต้านเนื้อเยื่อและเซลล์ต่าง ๆของอวัยวะต่าง ๆ ของผู้เป็นเจ้าของ ดังนั้นจึงเปรียบเสมือนกองโจรผู้ร้ายหรือกบฏ (แล้วแต่ความรุนแรง) ที่อาละวาดทำร้าย พลเมืองดี ๆ และทำลายทรัพย์สมบัติของประเทศนั่นเอง (ขอโทษ นี่เปล่าเล่นการเมืองนะจ๊ะ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง !)

ผลที่เกิดขึ้นก็คือมีการอักเสบของอวัยวะ, ระบบต่างๆ ของร่างกายสุดแล้วแต่ว่าภูมิต้านทานของร่างกายผู้นั้นมีปฏิกิริยาต่อต้านอวัยวะระบบไหนมากน้อยเพียงใด (เห็นไหมล่ะ ก็เหมือนกลุ่มโจรหรือกบฏที่หมั่นไส้หรือชอบเล่นงานคนพวกไหนมากน้อยต่างกัน และความรุนแรงของการเล่นงานแต่ละพวกก็แตกต่างกัน) ข้อที่คล้ายคลึงกันของโรคเอแอลอีกับโจรหรือกบฏในประเทศอีกข้อหนึ่งก็คือ มันมีช่วงระยะเวลาที่โรคกำเริบมาก (โจรอาละวาดหนัก) และกำเริบน้อยหรือโรคสงบ จึงทำให้อาการเป็น ๆ หาย ๆ แต่ข้อที่ดีกว่าก็คือ หากประคับประคองผู้ป่วยให้อยู่รอดไปได้นานเกิน 5 ปี โรคมักจะกำเริบไม่รุนแรง และค่อยๆ สงบหายไปได้ นาน ๆ ครั้ง จะมีกำเริบบ้างอาการก็มักจะไม่รุนแรงเหมือนตอนต้น (แปลว่าโจรหรือกบฏกลุ่มใหญ่สลายตัวไปหรือเข้ามอบตัวเหลือแต่ผู้ที่ยังมีทิฐิไม่ยอมแพ้อยู่ไม่กี่คน พอจะออกมาก่อกวนได้บ้างเป็นครั้งคราว ไม่ทำให้บ้านเมืองสั่นสะเทือนแต่อย่างไร)

 


⇒ อาการของโรคนี้เป็นอย่างไร
เมื่อระบบภูมิต้านทานของร่างกายมีปฏิกิริยาทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ อาการที่เกิดขึ้นจึงขึ้นอยู่กับจำนวนของระบบอวัยวะวะที่มีการอักเสบ และมีความรุนแรงของการอักเสบแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยอีกด้วย อาการสำคัญที่พบได้บ่อย ได้แก่ มีไข้อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดและบวมตามข้อต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะที่ข้อมือ, นิ้วเท้า, เท้า, และข้อเท้า ทำให้ผู้ป่วยกำมือไม่ถนัด ลุกเดินไม่ค่อยไหว บางครั้งจะปวดเมื่อยตามตัวเหมือนคนเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการมักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยร้อยละ 70 จะมีผื่นแดงที่บริเวณแก้มสองข้าง บางรายมีอาการแพ้แดด หรือเวลาไปถูกแดดเพียงชั่วเวลาไม่นาน ผิวหนังจะมีผื่นแดงอักเสบเกิดขึ้น อาการไข้และปวดข้อจะรุนแรงขึ้น เป็นต้น บางรายจะมีอากรผมร่วงมาก (ซึ่งโดยปกติไม่ควรพบในหญิงวัยนี้) นิ้วมือและเท้าจะซีดขาว และเปลี่ยนเป็นเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น (Raynaud’s phenomenon)บางรายที่มือและฝ่ามือจะมีจ้ำแดง ๆ เนื่องจากหลอดเลือดฝอยอักเสบ

ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 60 จะมีไตอักเสบ ซึ่งรายรุนแรงจะมีอาการบวมตามหน้า หนังตา เท้าสองข้าง
หรือบวมทั่วตัว เวลาเอานิ้วกดผิวหนังที่บวมจะเป็นรอยบุ๋มลงไป ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้มคล้ายน้ำล้างเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาถูกต้อง อาจถึงแก่กรรมจากภาวะไตวายได้ รายที่ไตอักเสบไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการทางไต แต่จากการตรวจเลือดและปัสสาวะจะบอกได้ ซึ่งต้องรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เช่นกัน
 

  

 
การอักเสบของเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มปอดหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจ อาจทำให้ผู้ป่วยเจ็บบริเวณชายโครง เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ ผู้ที่มีเม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากจะมีอาการซีดเหนื่อยง่ายเนื่องจากโลหิตจาง การอักเสบของหลอดเลือดในสมอง จะทำให้มีอาการทางจิตหรือประสาทได้ ที่พบบ่อยคือ อาการทางจิตซึ่งคล้ายกับคนสติไม่ดี จำญาติพี่น้องไม่ได้ เอะอะโวยวาย พูดเพ้อเจ้อ หรือมีประสาทหลอน ซึ่งชาวบ้านที่ไม่เข้าใจมักเข้าใจผิดว่าถูกผีเข้าสิง ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ตาเหล่อย่างเฉียบพลัน หรือเกิดอาการชักหมดสติ ถึงแก่กรรมได้

แม้ว่าอาการต่าง ๆ จะน่ากลัว แต่จะขอเน้นว่า ผู้ป่วยเอสแอลอีทุกคนไม่จำเป็นที่จะต้องมีอาการ
รุนแรงครบทุกระบบดังกล่าว
ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดอาการของโรคจะไม่รุนแรง และไม่เสี่ยงอันตรายถึงกับเสียชีวิต พวกนี้ได้แก่ผู้ที่มีอาการแค่ปวดข้อ มีไข้ และผื่นแดงที่หน้าหรือมีไตอักเสบชนิดที่ไม่รุนแรง พวกที่มีอาการรุนแรงได้แก่พวกที่มีไตอักเสบมาก โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย และอาการทางจิตหรือระบบประสาท

 

⇒ จะมีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไร
เนื่องจากโรคนี้อาจทำอันตรายแก่อวัยวะหลายระบบ หากท่านสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยให้ถูกต้องแน่นนอนก่อน และพอจะทราบว่ามีอวัยวะระบบใดบ้างที่มีการอักเสบ แพทย์จะได้ให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไปโรคนี้ไม่ควรลองรักษาเองเด็ดขาดเพราะการล่าช้าในการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคไตวายหรือถึงแก่กรรมได้

จะขอกล่าวโดยย่อถึงแนวทางรักษาว่า สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง แพทย์จำเป็นต้องใช้ สเตียรอยด์
ขนาดสูง เช่น เพร็ดนิโซโลน ขนาด 8-12 เม็ดต่อวัน ติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ หรือหลายเดือน สุดแล้วแต่ระบบอวัยวะที่มีการอักเสบ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากยากลุ่มเพร็ดนิโซโลน ผู้ป่วยจำเป็นต้องอดทนต่อผลข้างเคียงของยาตัวนี้ ไม่ควรลดหรือหยุดยาเอง เพราะจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ยิ่งต้องเสี่ยง กับการใช้ยามากและนานยิ่งขึ้นไปอีก ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และหมั่นติดต่อกับแพทย์ตามนัด บางครั้งแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยาพวกกดระบบภูมิคุ้นกัน เช่น ยาพวก ซัยโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide)
อะซาไธอะปรีน (Azathiaprine) ซึ่งเป็นยาอันตรายควบคุมพิเศษ ยาอาจทำให้ผมร่วงหรือหัวล้านได้ แต่เมื่อโรคสงลง แพทย์ให้หยุดยาได้ ผมจะงอกใหม่ขึ้นมาเอง 
 

  


สำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงเช่น มีอาการผื่นแดงที่หน้า แพ้แดด ไขข้ออักเสบ มีไข้ แพทย์อาจใช้ยา
พวก คลอโรควิน (Chloroquin หรือ Hydroxychloroquin) 1-2 เม็ดต่อวัน จะช่วยอาการเหล่านี้ได้ดีมาก จนบางรายไม่จำเป็นต้องเสียงกินเพร็ดนิโซโลน หรือทำให้ลดขนาดของเพร็ดนิโซโลนลงได้ หากผู้ป่วยมีแค่ข้ออักเสบและอาการไข้เป็นสำคัญ การใช้แอสไพรินขนาด 60-80 มิลลิกรัม/นน.ตัว 1 กก./วัน โดยแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้งพร้อมอาหาร จะช่วยได้มาก

วัตถุประสงค์ของการรักษา ก็คือการระงับอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในระยะที่โรคกำเริบรุนแรง และเมื่ออาการทุเลาก็ค่อย ๆ หยุดยา เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการใช้ยาอันตรายให้มากที่สุด เมื่อผู้ป่วยสามารถมีชีวิตรอดจากอาการต่าง ๆของโรคนี้ และจากผลแทรกซ้อนจากยาที่ให้ได้ราว 3-5 ปีขึ้นไปผู้ป่วยมักจะมีความปลอดภัยและมีชีวิตอยู่เยี่ยงคนปกติได้มาก

เราไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่ยังหาสาเหตุแน่นอนไม่ได้ ยกเว้นในรายที่เกิดจากยา การหยุดยาต้นเหตุจะทำให้โรคหายได้สนิท
สำหรับผู้ที่เป็นโรคเอสแอลอี มีวิธีป้องกันไม่ให้โรคกำเริบได้ก็คือต้องทำจิตใจให้สบาย ไม่ให้เครียดหรือเศร้าใจท้อถอยกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับโรคนี้ ผู้ที่มีอาการแพ้แสงแดดก็ควรจะพยายามอย่าให้ผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรง อาจต้องใส่หมวก กางร่ม หรือใส่เสื้อแขนยาวเวลาที่ต้องเดินกลางแดด หลีกเลี่ยงจากการหาซื้อยากินเอง เพราะมีโอกาสแพ้ยาได้รุนแรงและบ่อยกว่าคนธรรมดา เวลาไม่สบายหรือมีไข้ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทันที หรือหากจะไปหาแพทย์อื่น ควรเอายาที่กำลังรับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง เพื่อว่าแพทย์จะได้จัดยาให้ถูกต้องและสอดคล้องกับยาประจำที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่

 

⇒ บทสรุป

1. โรคเอสแอลอี เป็นโรคที่รักษาให้ดีได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ตลอดจนครอบครัวของผู้ป่วย ในต่างประเทศ ผู้ป่วยโรคนี้กว่าร้อยละ 90 จะมีชีวิตยืนยาวเกิน 5 ปีขึ้นไป

2. อาการของโรคในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันได้มาก การรักษาและการพยากรณ์โรคจึงแตกต่างกัน ผู้ป่วยจึงไม่ควรเอาอาการโรคของตนเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพราะอาจเกิดความไม่สบายใจหรือสับสนได้

3. ในประเทศไทย พบโรคนี้ได้บ่อย และยังมีอัตราตายค่อนข้างสูง โดยสาเหตุการตายกว่าร้อยละ 80
เกิดจากภาวะติดเชื้อรุนแรงซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อน ดังนั้นการรู้จักรักษาความสะอาดในการกินอยู่และรีบไปหาแพทย์เวลารู้สึกไม่สบาย ร่วมกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและ
สม่ำเสมอ จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวและเป็นปกติสุขได้

 

 

ข้อมูลสื่อ

61-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 61
พฤษภาคม 2527
โรคน่ารู้
รศ.พญ.เล็ก ปริวิสุทธิ์