• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จิตใจและกามารมณ์ในคนแก่


ผมเองก็เป็นคนแก่และเป็นจิตแพทย์ จึงมั่นใจว่าจะเขียนเรื่องนี้ได้เหมาะสมกว่าแพทย์หนุ่มซึ่งสำเร็จมาใหม่ๆ ผู้ซึ่งต้องเขียนด้วยตำราเพราะไม่มีประสบการณ์มากนัก

ผมชอบใช้คำว่า "คนแก่" มากกว่า "ผู้สูงอายุ" เพราะผมชอบการเผชิญหน้าและยอมรับความจริง อาจจะเป็นไปได้ว่า คนเรากลัวความแก่ จึงพยายามบอกตัวเองว่า ฉันเป็นผู้สูงอายุ มิใช่คนแก่ อนึ่ง ปรมจารย์ในวงการแพทย์ เช่น ท่าน ศจ.อวย เกตุสิงห์ ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่นิยมคำนี้ ส่วนผู้อื่นที่นิยมคำว่า "ผู้สูงอายุ" ก็เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของท่าน เพราะท่านอาจมีเหตุผลบางประการ มิได้หมายความว่าท่านใช้คำผิด

คนเราแก่เมื่อไหร่
ความแก่เป็นสภาพของจิตใจ มิใช่ตัวเลข ต่างอาจารย์และต่างชาติ ต่างก็มีตัวเลขของตัวเอง ตัวเลขของผมคือ 60 ปี เพราะหลวงท่านเห็นว่าแก่แล้วจึงปลดเกษียณหรือหยุดรับใช้ราชการเมื่อครบ 60 ปี จากนั้น ผมถือว่า 60-70 เป็นแก่ปานกลาง และ 70 ปีขึ้นไป เป็นแก่มาก

ส่วนสภาพจิตใจนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านอดีต ร.ม.ว.สาธารณสุขท่านหนึ่ง เคยพูดในการบรรยายเรื่อง "คนแก่ก็มีหัวใจ" ว่า ท่านอายุ 70 ก็จริง แต่จิตใจเหมือน 17 ฝรั่งเขาจึงบอกว่า "ท่านแก่เท่าๆ กับความรู้สึกของท่าน"

จิตใจคนแก่เปลี่ยนแปลงอย่างไร
การเปลี่ยนแปลงเป็นได้ 2 แบบ แบบหนึ่ง คือ เป็นไปตามธรรมชาติ คือร่างกายมีแต่ความเสื่อมโทรมทางสังขาร ส่วนจิตใจนั้น ยิ่งแก่อาจจะยิ่งมีคุณภาพมากขึ้น เพราะได้ผ่านโลกมานานแล้ว "อาบน้ำร้อนมาก่อน"

อีกแบบหนึ่ง จะเรียก แก่โรค ก็ได้ เพราะมีโรคเรื้อรังต่างๆ มาช่วยเร่งความเสื่อมโทรมนั้น เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน การติดสุรา ฯลฯ แต่ความจริงแล้ว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น บางรายก็ยากที่จะบอกว่านี่มันเป็นเพราะธรรมชาติหรือโรค เพราะกายกับใจย่อมแยกกันไม่ออก ต่างก็มีอิทธิพลต่อกันและกันแต่ทางศาสนาได้กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" และบางรายก็มีโรคอยู่ แต่ไม่มีทางรู้แน่นอน อาจปล่อยแต่เพียงอาการ "แก่เร็ว" ออกมาก็ได้

อารมณ์คนแก่เป็นอย่างไร

ก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว พวกที่มีมันสมองสมบูรณ์ดี อารมณ์มักจะสุขุมเยือกเย็น แต่คนเราเมื่อแก่แล้ว ย่อมมีโรคเรื้อรัง ทั้งที่รู้และไม่รู้ประจำอยู่ดังนั้น อารมณ์คนแก่ส่วนใหญ่จึงเป็นไปในทางใจน้อย โกรธง่าย ใจเร็ว (ต้องการอะไรก็ได้ทันที รอประเดี๋ยวรอไม่ได้) ต้องการความสนใจมากขึ้น ถ้าลูกหลานทำเฉยๆ คนแก่ก็คิดไปว่าเขาทอดทิ้ง รังเกียจเราเสียแล้ว

แต่ถ้ามีโรคอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหลอดเลือดในสมองแข็ง อารมณ์จะผิดไปอย่างเห็นได้ชัด คือ กลั้นอารมณ์ไม่ได้ เช่นเดียวกับคนที่มาถามว่า คุณลุงคุณตาสบายดีหรือเปล่า ก็จะร้องไห้เป็นคำตอบออกมา ซึ่งจะฟังแทบไม่ได้ความว่าอะไร กลั้นอารมณ์ในที่นี้ รวมถึงอารมณ์โกรธด้วย ลูกหลานจึงควรละเว้นเรื่องที่จะทำให้ท่านโกรธหรือกระทบกระเทือนอารมณ์ท่านถ้าทำได้

ในชีวิตสมรสที่อยู่กันมานาน 30-40 ปี อารมณ์คุณตาและคุณยายย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของโรคซึ่งต่างก็มีอยู่ เช่น ความดันโลหิตสูง หรือโรคอะไรในสอมองที่ซ่อนเร้นอยู่ ทั้งคู่จะมีปากเสียงกันบ่อย ขัดแย้งกันจนเป็นของธรรมดา

ดังนั้น คนแก่ทั้งผัวและเมียจึงควรเข้าใจกัน สำรวมจิตใจและคำพูดต่อกัน ฝ่ายหนึ่งเป็นไฟ อีกฝ่ายหนึ่งควรเป็นน้ำ ฯลฯ

อนึ่ง คนแก่มักจะมีความสุขอยู่กับอดีต ชอบพูดถึงแต่เรื่องตั้งแต่สมัยก่อนเมื่อยังเป็นหนุ่ม ลูกหลานจึงควรช่วยแกล้งทำเป็นสนใจด้วย

นอกจากนี้อารมณ์ของคนแก่นั้นส่วนใหญ่จะมีจิตใจไปทางเศร้า เช่นนึกว่าตนเองไม่เป็นประโยชน์ต่อใครแล้ว อยู่ไปก็เป็นภาระลูกหลานเปล่าๆ เลยทำให้เบื่อชีวิต มีอาการร้องไห้คนเดียว และ ฯลฯ
อาการเหล่านี้ ถ้าเป็นพอสมควรในคนแก่บางคน ก็เรียกว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้ามากเกินไปถึงขนาดไม่กินอาหาร ไม่นอน พยายามจะทำลายชีวิตของตนเอง ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ที่ใกล้ที่สุดโดยด่วน

ยากล่อมอารมณ์ เหมาะสำหรับคนแก่หรือไม่

ความจริงยากล่อมประอารมณ์นี้ เป็นของสมัยใหม่ มาใกล้ๆ กับโทรทัศน์สี ปู่ย่าตายาย อยู่กันมาด้วยความสุขและมีอารมณ์ดีโดยไม่รู้จักมันเลย แต่บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เฉพาะอย่างยิ่ง ทางเศรษฐกิจ เมื่อคนแก่คนนี้ (ขอชื่นชมกับอดีตหน่อย) เป็นเด็กนักเรียนอยู่ที่สวนกุหลาบ ก๋วยเตี๋ยวชามละ สามสตางค์ (ก็ยังมีเด็กแก่นๆ บางคนกินแล้ววางชามหนีไป) ทองหนักบาทละ 13 บาท แต่เดี๋ยวนี้ ขึ้นไปเป็นกี่ร้อยเท่าก็ย่อมรู้ดี

เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ อารมณ์คนแก่ก็อาจเครียดได้มากขึ้น ยากล่อมอารมณ์จึงจำเป็นในบางราย แต่ควรเป็นไปในคำแนะนำของแพทย์ เพราะกินๆ เข้าไปแล้ว มันติดได้ และแพทย์ก็มักจะแนะนำให้กินเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 2-3 วัน เท่านั้น ถ้ากินติดต่อกันเกิน 15 วัน ขึ้นไป ก็เสี่ยงต่อการติดยา ซึ่งแม้แต่หมอเองก็ไม่ถูกยกเว้น (ว่าจะไม่ติดยา กลับเป็นมากกว่าคนไข้ด้วย เพราะหยิบยาได้ง่ายกว่า)

ความจำของคนแก่
เด็กๆ ก็รู้ว่า ความจำของคนแก่ไม่ดี คุณตาคนหนึ่ง วันหนึ่งๆ ต้องหาแว่นตาหลายครั้ง เพราะไม่รู้ว่าเอาไปวางไว้ที่ไหน มีวิธีแก้ คือ ซื้อสร้อยโลหะเล็กๆ คล้องก้านแว่นทั้งสองไว้กับคอ

เรื่องความจำนี้มีมียาอะไรที่จะช่วยได้อย่างที่เขาโฆษณาขาย การมีโครงสร้างของสมองที่ดี การกินขาอาหารที่สมดุล จะช่วยได้ บางท่านว่า ธาตุเลซิธิน ในไข่แดงช่วยความจำ แต่ก็ต้องระวังไขมันในเลือดจะขึ้นสูงด้วย อาหารที่สมดุล หมายถึง ชนิดที่มีสารอาหารครบถ้วน คือ ผัก ผลไม้ อาหารแป้ง โปรตีน ไวตามิน และแร่ธาตุ อาหารแพงไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารทีดีเสมอไป

บุคลิกของคนแก่

ส่วนใหญ่คล้ายๆ กับเมื่อหนุ่มๆ แต่อาจเข้มข้นขึ้นหรือผิดปกติไปได้เมื่อแก่ เช่น บุคลิกที่ระเบียบวินัยจัดเกินไป พอแก่เข้าก็มักจะเป็นโรคประเภทซึมเศร้า ได้ง่าย

กามารมณ์ของคนแก่

มีความสนใจกันมากว่า การร่วมเพศควรจะยุติเมื่อแก่ใช่ไหม คำตอบก็คือ ไม่มีกฏทั่วไปที่จะใช้ได้กับทุกๆ คน เหมือนกัน แต่เป็นเรื่องของสุขภาพกายและจิต และการศึกษาของแต่ละคน

สำหรับชายแก่นั้น พระเจ้าท่านสร้างให้มีกามารมณ์ได้ยาวนานกว่าหญิง มีสุขภาพกายเป็นตัวกำหนด สุขภาพจิตเป็นตัวยับยั้ง ความต้องการนี้จะค่อยๆ ลดน้อยลงไปตามตัวเลขของอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ข้อยกเว้นย่อมมีเสมอ มีข่าวคนต่างประเทศแต่งงานกันเมื่ออายุ 70-80 เสมอ แต่วัฒนธรรมไทยไม่อำนวยให้ทำเช่นนั้น

สำหรับหญิงแก่ ก็คล้ายคลึงกัน แต่มักจะยุ่งยากและสับสนกว่าในชายโดยปกติแล้ว ความต้องการร่วมเพศจะค่อยๆ น้อยลงไปก่อนชาย แม้จะหมดประจำเดือนแล้วก็มีความต้องการได้ ไม่ผิดปกติแต่อย่างใด บางคนกลับต้องการมากขึ้น และได้รับความพอใจมากขึ้นเพราะหมดกังวลเรื่องตั้งครรภ์ แต่มันจะค่อยๆ หมดไปใน 2-3 ปี เพราะระดับฮอร์โมนเพศค่อยๆ ลดลงไป

เรื่อง "ตัณหากลับ" ส่วนมากจึงเป็นเรื่องกล่าวนินทากันเท่านั้น เพราะเรื่องเช่นนี้อยู่ในความควบคุมของฮฮร์โมนเพศ สุขภาพกายและจิต และการศึกษา

สำคัญอยู่ที่ว่า ผัวแก่และเมียแก่ต้องมีความเข้าใจ เห็นใจ และยกย่องให้เกียรติซึ่งกันและกัน การร่วมเพศก็เหมือนการสีไวโอลิน ถ้าจะให้เพลงซาบซึ้งไพเราะ ก็ต้องร่วมมือกันให้ดี ระหว่างคันชักกับตัวไวโอลิน ถ้าไวโอลินบอกว่าฉันรำคาญ ฉันไม่มีอารมณ์ คันชักก็ควรพักไว้ก่อน แล้วจับมือคุยกันว่ามันมีอะไรพอแก้ไขกันเองได้ไหม ถ้าไม่ได้ ควรจูงมือกันไปปรึกษาแพทย์ ทิ้งความอายไว้เสียบ้าง การไปแต่ฝ่ายเดียวไมค่อยจะได้ผล

หญิงบางคนทั้งๆ ที่ยังไม่แก่ ก็อาจเป็นโรคประเภทซึมเศร้า แล้วรังเกียจการเกี่ยวข้อง ในรายเช่นนี้ความเข้าใจและเห็นใจของฝ่ายชายเป็นสิ่งที่จำเป็นมิใช่ว่าเมื่อกินที่บ้านไม่ได้ ก็ตระเวนไปหากินนอกบ้าน รังแต่จะติดโรคและยุ่งยาก เพราะกามโรคนั้น ท่านก็บอกแล้วว่า มันเกิดมาจากความสำส่อนโดยส่วนใหญ่แล้ว ชายแก่ก็รู้กันดีแล้วว่า ควรสำรวมในเรื่องนี้ แต่บางท่านก็ยังนิยม "หญ้าอ่อน" และมีความเข้าใจผิดๆ ว่า ของบางชนิด ถ้าไม่ใช้บ่อยๆ มันจะเสื่อม ไปจนใช้ไม่ได้ ผมก็เลยนึกเล่นๆ ว่า ถ้าไม่มีชายที่ชอบไปซื้อตัวหญิงขายตัวจะมีอยู่ได้อย่างไร แต่โสเภณีเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ชายทั้งแก่และหนุ่มบางคนถึงกับยกย่องว่าโสเภณีช่องป้องกันการข่มขืน เป็นเรื่องที่แซววาทีกันได้ไม่มีจบ

ชายไทยกับสุราเป็นเรื่องที่ห้ามกันยาก แต่ก็มีหลักทั่วๆ ไปว่า คนแก่หรือใกล้จะแก่ ควรลดการดื่มลงให้มากที่สุด เหลือเอาไว้แต่ที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ยิ่งเป็นอบายมุขด้วยแล้ว คนแก่ย่อมรู้เองว่า ควรปฏิบัติอย่างไร

ความจริงการดื่มสุราเป็นดาบ 2 คน เกี่ยวกับเรื่องเพศ (และเรื่องไหนๆ ก็ตาม) คือ ดื่มเล็กๆ น้อยๆ หรือดื่มแต่พอดีจะเป็นประโยชน์ (ในนักดื่ม) ที่ช่วยกระตุ้นความอยากรบให้คึกคักมากขึ้น แต่ถ้าดื่มไปนานๆ ก็จะติด เป็นโรคติดสุรา (แอลกอฮอลิสซั่ม) ถึงตอนนี้ คุณลุงจะพบว่า อวัยวะมันทรยศเอาเสียแล้ว ถึงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็มมันสไตร๊ค์ไม่ทำงานเอาเสียเฉยๆ โดยไม่เรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ หรือมีข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้น ถ้าคนแก่มีปัญหาเรื่องทางเพศ ไม่ต้องอาย เชิญไปปรึกษาแพทย์ของท่านด้วยตนเอง การเขียนจดหมายไปปรึกษาทางหนังสือพิมพ์ก็ดีตรงที่ไม่มีใครรู้จัก แต่กว่าจะได้รับคำตอบ งาก็ไหม้เสียแล้ว นอกจากนั้น ยังไม่ละเอียดพออีกด้วย แพทย์ย่อมมีความจำเป็นที่จะทราบข้อมูลจากปากของท่านอีกมาก และคำแนะนำนี้ มิได้สงวนลิขสิทธิ์สำหรับคนแก่เท่านั้น คนที่อ่อนวัยกว่าก็ได้ใช้ เพราะมักจะมีปัญหามากกว่าคนแก่เสียอีกด้วย

อนึ่ง โปรดอย่าลืมว่า ในชายแก่นั้น ถ้าปฏิบัติการไม่ได้ทั้งๆ ที่คู่ชีวิตที่อ่อนวัยกว่ายังต้องการ ก็ใช้สิ่งอื่นทดแทนได้ อาจจะดีกว่าของจริงเสียด้วยซ้ำไป

สิ่งที่ทดแทนที่ว่าคือ ความรัก ความเข้าใจ และความเห็นใจ
นอกจากนั้นชายแก่ยังไปนอนที่บ้านเล็กได้ แต่ฝ่ายหญิงทำไม่ได้ ไม่ว่าจะแก่แล้วหรือยังไม่แก่ ท่านที่ชอบนอกใจเมีย โปรดอย่าลืมว่า หญิงทั้งแก่และไม่แก่ก็มีหัวใจ ท่านหิวได้เขาก็หิวได้เหมือนกัน
ผมขอจบด้วยข้อเขียนอันเป็นสัจธรรมของปรมาจารย์แพทย์ผู้หนึ่งว่า

".....คนไทยจำนวนไม่น้อย เมื่อแก่แล้วก็เข้าวัด ข้อนี้เป็นการกระทำที่ถูก เพราะธรรมมะจะช่วยลดทุกข์ทางใจได้ดีที่สุด พรหมวิหารธรรม เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทำให้คนแก่เป็นที่รักและนับถือของผู้อ่อนวัย ช่วยให้จิตใจของคนแก่เองโปร่งสบาย ความเข้าใจในเรื่อง ไตรลักษณ์ " อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ลดความเศร้าเสียใจในความเสื่อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัว จิตภาวนา หรือ กัมมัฏฐาน สมาธิ วิปัสสนา ช่วยลดความโลภ โกรธ หลง ทำให้ตัวเองเป็นอิสระ และมีความสบายใจ"
(ตัดตอนมาจาก "แก่อย่างมีสง่า" ของ ศจ.อวย เกตุสิงห์ สารศิริราช ตุลาคม 2523)
 

ข้อมูลสื่อ

56-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 56
ธันวาคม 2526
พ.ต.นพ.สุพจน์ ขวัญมิตร