• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกหัก การผ่าตัดยึดตรึงกระดูก

ใช้วัตถุอะไรในการยึดตรึงกระดูก
เนื่องจากร่างกายของคนเรามีคุณสมบัติในการขับและต่อต้านสิ่งแปลกปลอมทั่วไปที่ไม่ใช่ส่วนประกอบของตนเอง ดังนั้น เครื่องยึดตรึงกระดูกที่ใส่เข้าไปในร่างกาย จึงต้องเป็นวัสดุที่ร่างกายยอมรับและไม่เกิดปฏิกิริยาขับไล่

วัตถุพวกนี้ส่วนมากจะเป็นโลหะผสม เช่น ประกอบด้วย โครเมี่ยม โคบอล์ท และ มาลิบดีนั่ม เป็นต้น
นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว โลหะพวกนี้ยังต้องมีความแข็งแกร่งไม่สึกหรือหักได้ง่ายด้วย ลักษณะที่ใช้งานนั้นมีหลายรูปแบบ และกำลังมีวิวัฒนาการเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

ตัวอย่างขั้นมูลฐานได้แก่
สกรู เพื่อยึดตรึง
แผ่นยาวที่มีรูสำหรับใส่สกรู เพื่อยึดให้ติดกับผิวกระดูกโดยคร่อมรอยหักไว้
ท่อหรือแกนโลหะ สำหรับยึดชิ้นหักโดยการสอดอยู่ในโพรงกระดูก
ลวดอ่อนหรือแข็ง สำหรับรั้งหรือเสียบคร่อมชิ้นกระดูกขนาดเล็ก
และเสาเล็ก ๆ มีเดือย สำหรับค้ำหรือตรึงกระดูกสันหลังเป็นต้น

ส่วนการที่จะใช้อะไรในการยึดตรึงกระดูหักตรงไหน และมีเทคนิคในการผ่าตัดอย่างไรนั้น คิดว่าเกิดความจำเป็นที่ผมจะมากล่าวถึงในที่นี้

ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนการผ่าตัด

ผู้ป่วยที่จะรับการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกทุกคน ควรจะต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อให้การเตรียมตัวเตรียมใจในการผ่าตัดและการดมยาสลบกระทำได้อย่างถูกต้อง

                     

สำหรับการเตรียมตัวเพื่อการผ่าตัดนั้น บริเวณที่เกี่ยวข้องต้องทำการฟอกและโกนขนอย่างสะอาดเพื่อลดอัตราการติดเชื้ออันอาจเกิดมาจากความสกปรกของผิวหนังส่วนนั้น

ถ้ามีแผลสดร่วมกับกระดูกหักทิ่มออกนอกเนื้อใหม่ ๆ จะพิจารณายึดตรึงกระดูกทันทีในการผ่าตัดครั้งเดียวกับการตกแต่งบาดแผลหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ แต่ถ้าเป็นแผลติดเชื้ออยู่เดิมหากไม่มีเหตุผลพิเศษ มักจะไม่นิยมผ่าตัดยึดตรึงกระดูกจนกว่าแผลนั้นจะได้รับการเยียวยาจนหายเรียบร้อย

ในกรณีที่เป็นกระดูกหักซึ่งเกิดเหตุมานานแล้ว จะมาผ่าตัดเพื่อแก้ไขการผิดปกติ ควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการบริหารอวัยวะนั้น ๆ อย่างถูกต้องเสียแต่แรก และอาจต้องปฏิบัติจนกล้ามเนื้อแข็งแรงแล้วจึงจะลงมือผ่าตัดเพื่อให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น 

                                          

ในการนี้ อาจต้องเตรียมผิวหนังเป็นแหล่งสำหรับการเอากระดูกไปปลูกให้แก่รอยหักร่วมด้วย ซึ่งส่วนมากจะเป็นกระดูกเชิงกรานส่วนหน้าบริเวณมุมนอกสุดของรอยขาหนีบแต่ละข้าง

ถ้าการผ่าตัดนั้นกระทำที่บริเวณแขนขา ส่วนมากจะต้องใช้เครื่องมือช่วยห้ามเลือดในระหว่างที่ทำการผ่าตัดอยู่ จึงไม่ค่อยเสียเลือดจนถึงกับต้องให้เลือดทดแทน แต่ถ้าการผ่าตัดนั้นกระทำที่บริเวณอื่น ก็อาจต้องเตรียมเลือดไว้เผื่อว่าจะมีความต้องการใช้ในระหว่าง หรือหลังผ่าตัดด้วยก็ได้

สำหรับการให้เลือดก่อนผ่าตัดนั้น ส่วนมากไม่มีความจำเป็น เว้นแต่ว่าผู้ป่วยรายนั้นจะซีดมากอยู่ก่อนแล้ว ก็อาจพิจาณาให้เป็นรายๆ ไป

การเตรียมตัวสำหรับการดมยาสลบนั้น นอกจากจะต้องให้ภาวะทั่วร่างกายอยู่ในลักษณะที่ปลอดภัยแล้ว ผู้ป่วยที่จะต้องถูกทำให้สลบต้องงดสิ่งของทุกชนิดที่จะกลืนผ่านลงคอประมาณ 6-8 ชั่วโมง ก่อนการให้ยาสลบ (ยกเว้นการกลืนน้ำลาย) เพื่อให้กระเพาว่าง จะได้ไม่อาเจียนเอาเศษอาหารเข้าปอดระหว่าที่ยังไม่มีสติ

นอกจากนี้ยังต้องถูกสวนอุจจาระจนเกลี้ยง เพื่อไม่ให้ไปทำเลอะเทอะในห้องผ่าตัด เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดที่ทวารหนักคลายตัวจากฤทธิ์ยาสลบด้วย ดังนั้น ใครที่แอบกินอาหารหลังจากที่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ให้งดกินแล้ว จึงอาจมีโอกาสต้องเสียหน้า (ถ่ายอุจจาระในห้องผ่าตัด) จนแผลเน่า (จากการติดเชื้อของอุจจาระ) หรือเสียชีวิต (อาเจียนเอาอาหารเข้าปอด) ก็ได้

ควรปฎิบัติตนอย่างไรหลังการผ่าตัดยึดตรึงกระดูก

กระดูกหักที่ได้รับการยึดตรึงภายในไม่จำเป็นต้องมีความแข็งแรงตามทฤษฎีเสมอไป ผู้ผ่าตัดเท่านั้นที่จะทราบดีว่าผลงานของตนเองมีความมั่นคงเพียงใด ดังนั้น คำแนะนำจากแพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัดจึงเป็นสิ่งที่ควรยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

โดยทางทฤษฎีแล้ว ถ้าผ่าตัดได้ผลสำเร็จตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวผู้ป่วยจะต้องสามรถขยับเขยื้อนแขนขาส่วนนั้น อย่างน้อยก็ข้อต่อต่าง ๆ ซึ่งอยู่ใกล้กระดูกที่หักนั้นได้เลยด้วยความปลอดภัยและเสรีทันทีหลังผ่าตัด

                                       

ถึงแม้ว่าบางครั้งบางคราวอาจต้องใส่เฝือกประคับประคองไว้บ้าง ก็เพื่อรอเวลาให้แผลผ่าตัดหายเท่านั้น แต่ทั้งนี้ต้องขอเน้นว่า การขยับไม่ใช้การเอาส่วนนั้นรับน้ำหนักของตัวหรือใช้งานอย่างเต็มที่ทันที เพราะอาจทำให้เครื่องมือยึดตรึงหักหรือหลุดหลวมได้เช่นกัน

การรีบบริหารอวัยวะส่วนที่ได้รับการผ่าตัดนั้นไวๆ เป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการยึดตรึงกระดูกซึ่งได้เปรียบเหนือกว่าการใส่เฝือกซึ่งมักจะมีปัญหาของกล้ามเนื้อลีบ และข้อต่อแข็งตามหลังการรักษาได้เสมอ

ปัญหาที่ผมได้ประสบกับตัวเองบ่อย ๆ ในเรื่องนี้ก็คือ กรณีที่คนไข้ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำเท่าที่ควร อาจจะจากความเจ็บปวด หรือความไม่เชื่อใจว่าจะเป็นไปได้ที่กระดูกหักห้อยต่องแต่งมาก่อนเพิ่งผ่าตัดเสร็จ แล้วจะให้ขยับได้เลยก็กลัวว่าจะหลุด

สรุปแล้วถ้าไม่อดทนหรือให้ความเชื่อใจแพทย์เท่าที่ควร บางทีผลที่ได้รับอาจไม่ต่างจากการใส่เฝือกเท่าใดนักก็ได้
พระเจ้าไม่เข้าข้างคนที่งอมืองอเท้า ไม่เอาการกับตนเองก่อนหรอกครับ

แพทย์มักจะนัดผู้ป่วยมาตรวจใหม่ เมื่อเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของแผล หรือแนวการรักษาเกิดขึ้น เช่น
- เมื่อจะตัดไหม (ประมาณ 7-10 วัน) หรือถอดเฝือกที่ดาวชั่วคราว (1-2 อาทิตย์)
- เมื่อจะให้ลงน้ำหนักตัวบางส่วนหรือเต็มที่ (แล้วแต่กรณี)
- เมื่อรอยหักเริ่มติด (6-12 อาทิตย์)
- และที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อจะเอาเครื่องยึดตรึงภายในออก หลังจากที่กระดูกติดกันดีแล้ว

มีคนไข้หลายรายถามมาว่า “ทำไมใส่โลหะแล้วต้องเอาออกปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้หรือ”
ก็เลยขอถือโอกาสนี้ชี้แจงไว้เลยว่า ที่ต้องเอาออกก็ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. โลหะที่ใส่นั้น แม้ว่าจะเป็นโลหะเฉื่อยที่ร่างกายไม่ค่อยทำปฏิกิริยาต่อมัน แต่ถึงอย่างไรมันก็ไม่ใช่ส่วนประกอบของร่างกายที่แท้จริง และร่างกายต้องมีการปรับตัวเพื่อยอมรับมันด้วยการสร้างเนื้อเยื่อบางชนิดมาห่อหุ้มไว้ เมื่อเยื่อเหล่านี้มีลักษณะเหนี่ยวและแข็งไม่เป็นธรรมชาติ อาจทำให้การเคลื่อนไหวของเอ็นหรือกล้ามเนื้อรวมถึงการทำงานของข้อต่อไม่ราบรื่นได้

2. ตำแหน่งที่ใส่โลหะเป็นตำแหน่งที่เชื้อโรคอาจจะปนอยู่ในกระแสเลือดชอบมาเกาะค้างและเกิดการอักเสบเป็นหนองได้ง่าย บางทีอาจจะกลายเป็นหนองพุพองหลังการผ่าตัดไปแล้วนานนับสิบ ๆ ปีก็ได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้การผ่าเอาโลหะออก จะกระทำได้ยากมากเพราะถูกฝังอยู่ภายในกระดูกที่งอกมาพอกทับ กว่าจะ “ขุด” ออกมาได้ก็ลำบากยากเข็ญเหมือนขุดหาแร่ใต้พื้นพิภพ นั่นแหละครับ การผ่าตัดเอาออกในโอกาสที่พอเหมาะจึงเป็นวิธีที่จะหลีกเลี่ยงข้อแทรกซ้อนเหล่านี้ได้

                                            

3. กระดูกช่วงที่มีโลหะยึดตรึงไว้แข็งแรงนั้น จะมีปริมาณของเนื้อกระดูกน้อยลงจากการถูกพักการใช้งาน ซึ่งดูในภาพเอกซเรย์แล้วจะบอกได้ว่าลักษณะคล้าย ๆกระดูกผุ ดังนั้นเมื่อได้รับการบาดเจ็บ เพราะกระดูกส่วนนี้อาจจะหักได้ง่ายกว่าปกติ และมีอยู่บ่อยครั้งที่พบว่ามันจะหักผ่านรูของสกรูซึ่งเป็นจุดอ่อนพอดีด้วย

4. โลหะที่ใส่ไว้ในร่างกายนาน ๆ อาจมีการสึกกร่อน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการหักคาอยู่ในกระดูก เมือต้องการจะเอาออก การ “ขุด” เอาชิ้นส่วนที่หักคาอยู่นั้นทำได้ด้วยความลำบากเช่นเดียวกัน บางครั้งอาจต้องปล่อยทิ้งไว้ให้เสี่ยงกับการติดเชื้อหรือการหักใหม่ที่ง่ายกว่าปกติดังกล่าวแล้ว เพราะถ้าจะ “ขุด” เอาออกจริงๆ อาจต้อง “รื้อ” กระดูกและเนื้อเยื่อโดยรอบออกอย่างกว้างขวาง อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายได้มากพอสมควร

5. พวกสกรูหรือโลหะแบบอื่นที่ใส่ไว้นาน ๆ มักจะมีการหลวมหลุดออกจากตำแหน่ง ที่มีเคยอยู่หรือปลายโผล่เนื่องจากกระดูกทรุด และเป็นเหตุให้เกิดการรบเร้าเนื้อเยื่อโดยรอบได้ ที่สำคัญและพบบ่อยก็คือ การไปขีดข่วนที่กระดูกอ่อนของผิวข้อ ทำให้เกิดอาการอักเสบข้อได้

เหตุผลคร่าวๆ ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ยังไม่หมดเท่านี้ แพทย์ที่ผ่าตัดอาจมีเหตุผลอื่นๆ ที่จะต้องผ่าตัดเอาโลหะออก ผู้ป่วยที่มัวแต่คิดว่า “ช่างเถอะน่า” ก็อาจจะต้องเสียใจในภายหลัง ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วก็ได้ครับ

 

ข้อมูลสื่อ

56-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 56
ธันวาคม 2526
โรคกระดูก
นพ.วิรุฬห์ เหล่าพัทรเกษม