• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคปวดข้อ ปัญหาระดับชาติที่แอบแฝง


ท่านเคยมีหรือพบคนที่มีอาการปวดตามข้อ หรือรู้สึกปวดเมื่อ ปวดล้า เคล็ดขัด ยอก หรือตึงตามเส้นหรือไม่
 
รับรองว่าทุกท่านจะต้องตอบว่า เคย เพราะหากท่านไม่ได้เป็นเอง ก็ต้องเคยเห็นหรือได้ยินคนที่รู้จักบ่นหรือกำลังมีอาการดังกล่าว

ในขณะที่เรากำลังรณรงค์ต่อต้านยาชุดมหาภัยในประเทศนี้ (ดูนิตยสาร “หมอชาวบ้าน ” ฉบับที่ 54 เดือนกันยายน 2526) ท่านทราบหรือไม่ว่า ยาชุดแก้ปวดเมื่อย ปวดข้อ เคล็ดขัดตามเส้น เป็นยาที่ขายดีและแพร่หลายที่สุด เพราะอาการดังกล่าวหากไม่รู้จักหลักการรักษาแล้วก็มักจะไม่หายขาด ทำให้ต้องไปซ้อยามากินอีก เมื่อกินยาชุดบ่อยขึ้นฤทธิ์ของยาบางตัวในยาชุดจะทำให้ร่างกายติดยา คล้ายๆ กับผู้ที่ติดเฮโรอีน ผลสุดท้ายนอกจากทำให้เสียเงินจำนวนมาก เกิดโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง ทำให้สูญเสียเศรษฐกิจของประเทศ แล้วที่แย่ที่สุดคือ ผู้ป่วยได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ก่อนอื่นต้องขอกล่าวถึงความหมายของศัพท์บางคำ ซึ่งผู้เขียนถูกถามถึงบ่อยๆ เช่น

รูมาติสซั่ม
รูมาติสซั่ม
เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ Rheumatism ซึ่งหมายถึงโรคหรือภาวะต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการ ปวด เจ็บ ปวดเมื่อย ปวดล้า ของข้อต่อต่างๆ หรือของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หรือกระดูก ที่ตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นตึงเป็นคำรวมในการเรียกโรคหรือภาวะใด ๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นดังกล่าว ซึ่งโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มรูมาติสซั่มนันมีจำนวนมากนับร้อยโรค เช่น โรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบ รูมาตอยด์ กล้ามเนื้อล้า เอ็นอักเสบ กระดูกพรุน ฯลฯ เป็นต้น

ปวดข้อ
ปวดข้อ (Arthralgia) ในทางการแพทย์หมายถึงอาการปวดข้อที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีความผิดปกติในข้อต่อเท่านั้น ซึ่งจะมีลักษณะจำเพาะคือ จะปวดในทุกทิศทางที่ข้อต่อนั้น มีการเคลื่อนไหว โรคที่ทำให้เกิดการปวดข้อได้บ่อย คือ โรคข้อเสื่อม ข้อล้าจากการถูกใช้งานเกินควร

ข้ออักเสบ

ข้ออักเสบ (Arthritis) หมายถึง ภาวะที่มีการปวด บวม แดง ร้อน และกดเจ็บที่ข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ถึงการอักเสบเกิดขึ้นภายในข้อนั้น ดังนั้นข้ออักเสบจึงทำให้มีอาการปวดข้อเสมอ แต่การปวดข้อไม่จำเป็นต้องเกิดจากข้ออักเสบ

เอ็นอักเสบ หรือ เคล็ดยอก
เอ็นอักเสบ หรือ เคล็ดยอก หมายถึง การปวดที่บริเวณข้อโดยมีสาเหตุจากการอักเสบหรือความผิดปกติของเส้นเอ็นเส้นใดเส้นหนึ่งที่มายึดเกาะใกล้ชิดกับข้อต่อนั้น ๆ ลักษณะการปวดจึงมักจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่ข้อนั้นเคลื่อนไหวในทิศทางที่ทำให้เส้นเอ็นที่อักเสบถูกยึดหรือตึงรั้ง เวลาตรวจโดยใช้นิ้วกดหาจุดที่กดเจ็บ ก็จะพบที่จุด ๆ เดียวใกล้บริเวณข้อ

สำหรับชาวบ้านทั่วไป เนื่องจากไม่ทราบว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ใช้เคลื่อนไหวข้อ จากเส้นเอ็นที่ยึดใกล้ข้อ หรือจากข้ออักเสบ จึงมักจะเรียกตามความรู้สึกว่า มีอาการปวดข้อหรือปวดตามข้อ

ดังนั้น โรคปวดข้อในภาษาชาวบ้านจึงใกล้เคียงกับคำว่า โรครูมาติสซั่ม ในภาษาหมอนั่นเอง
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเกิดความเข้าใจดีขึ้น จะขอกล่าวย่อ ๆ ถึงลักษณะของข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายของเราที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดโรคปวดข้อ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

ข้อต่อชนิดที่มีเยื่อบุข้อ

ข้อต่อชนิดที่มีเยื่อบุข้อ ได้แก่ ข้อต่อต่าง ๆ ตามแขนขา มือและเท้า เช่น ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า เป็นต้น ข้อชนิดนี้ประกอบด้วยกระดูกอ่อนฮัยยาลีน เยื่อบุข้อซึ่งมีหน้าที่สร้างน้ำหล่อข้อหรือไขข้อ โดยมีพังผืดยึดหุ้มอยู่ชั้นนอกโดยรอบ ที่บริเวณใกล้ข้อ จะมีเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อต่าง ๆ มายึดติด เพื่อทำหน้าที่เคลื่อนไหวข้อนั้น หรือเป็นตัวยึดกระดูกของข้อให้มีความมั่นคงในการเคลื่อนไหว (ดูรูปประกอบที่ 1) น้ำหล่อข้อหรือไขข้อมีหน้าที่ฉาบบนผิวกระดูกอ่อนเพื่อลดการเสียดสี กระจายแรงหรือน้ำหนักทีผ่านข้อ ถ่ายเทอาหารให้แก่กระดูกอ่อน ส่วนกระดูกอ่อนมีลักษณะคล้ายฟองน้ำที่ค่อนข้างแข็งและผิวมันเรียบ เพื่อให้การเคลื่อนไหวของข้อมีความนิ่มนวล ป้องกันการกระทบกระแทกเสียดสีเวลาเคลื่อนไหวและเป็นหมอนรองรับแรงหรือน้ำหนักช่วงแบ่งเบาภาระของกระดูกแข็งที่อยู่ข้างๆ ได้

                      

ข้อต่อที่ยึดด้วยกระดูกอ่อนไฟบรัส
ข้อต่อที่ยึดด้วยกระดูกอ่อนไฟบรัส ได้แก่ ข้อต่อของกระดูกสันหลังที่เชื่อมด้วยหมอนกระดูกนั่นเอง ข้อชนิดนี้ไม่มีเยื่อบุข้อ จึงไม่มีน้ำไขข้อ แต่ประกอบด้วยกระดูกอ่อน ซึ่งล้อมรอบส่วนตรงกลางที่มีลักษณะคล้ายวุ้น มีพังผืดยึดติดกระดูกอ่อนโดยรอบและเชื่อมโยงติดกับกระดูกสันหลัง (ดูรูปประกอบที่ 2)

           

ต่อไปนี้เป็นคำถามที่รวบรวมจากผู้ที่สนใจเกี่ยวกับโรคปวดข้อในคนไทย

โรคปวดข้อหรือรูมาติสซั่มที่พบบ่อยในประเทศไทยมีสาเหตุจากอะไรบ้าง?
จากการที่ได้รักษาผู้ป่วยกว่าสี่พันราย พบว่าประมาณร้อยละ 80 เกิดจากโรข้อเสื่อม และกลุ่มที่เป็นเอ็นอักเสบ เคล็ดยอก หรือกล้ามเนื้อล้า ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง ผู้ป่วยสามารถรักษาตนเองให้หายได้ อีก้อยละ 20 เกิดจากข้ออักเสบรุนแรงชนิดต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ โรคแอสแอลอี ข้ออักเสบรูมาติค เป็นต้น

จะทราบได้อย่างไรว่าอาการปวดข้อนั้นเกิดจากโรคชนิดไหน?

ปวดข้อจากโรคข้อเสื่อมหรือกลุ่มเอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อล้า อาการมักเป็นแบบค่อยๆ เป็น โดยไม่พบลักษณะการอักเสบ เช่น บวม แดง ร้อน ของข้อที่มีอาการปวด และจะปวดเฉพาะตอนเริ่มเคลื่อนไหวข้อใหม่ๆ หรือภายหลังจากการใช้ข้อนั้นมากหรือนานเกินไป เวลาหยุดใช้ข้อนั้นก็จะหายปวด ปวดจากข้ออักเสบจะเห็นลักษณะการอักเสบชัดเจนที่บริเวณข้อ และมักมีอาการปวดตลอดเวลา แม้เวลาข้ออยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวก็ยังปวด และบางครั้งผู้ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย ผอมลงด้วย

โรคข้อเสื่อมกับกลุ่มเส้นเอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อล้า อย่างไหนจะพบมากกว่ากันและแตกต่างกันอย่างไร?
พบมากพอๆ กัน แต่อยู่กับคนละวัย และมีความผิดปกติแตกต่างกัน
โรคข้อเสื่อม มักพบในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี ขึ้นไป พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ 3 เท่า
ข้อที่เป็นโรคข้อเสื่อมได้บ่อยคือ ข้อเข่า กระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว ส่วนต้นคอ และข้อเล็กๆ ที่ปลายนิ้วมือ และกลางนิ้วมือ ตามลำดับ                    

ส่วนกลุ่มเอ็นอักเสบ เคล็ดยอกหรือกล้ามเนื้อล้า มักพบในคนอายุน้อย คือ ระหว่าง 20-45 ปี หญิงกับชายอัตราส่วนพอๆ กัน โดยผู้ป่วยชายมักเป็นพวกที่มีอาชีพทำงานหนัก หรือใช้แรงงาน เช่น กรรมกรแบกหาม ชาวนา ชาวสวน พวกนี้มักมาด้วยอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือปวดเส้นเอ็นที่บริเวณข้อศอก ส่วนผู้ป่วยหญิงอาจเป็นพวกทำงานหนักหรือพวกทำงานเบา ๆ แต่ขาดการออกกำลังกายก็ได้ โดยมีอาการปวดเมื่อยที่บริเวณหลัง ต้นคอ หรือกล้ามเนื้อส่วนอื่นแล้วแต่อาชีพ เช่น ผู้ที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูงจะปวดส้นเท้าและเมื่อยหลัง

อาการของทั้งสองพวกนี้อาจจะคล้ายคลึงกันมากตรงที่มีการปวดข้อหรือปวดตามเส้น หลังจากทำงานหนักหรือนานเกินไป แต่แตกต่างกันในแง่การรักษา และพวกที่เป็นเอ็นอักเสบกล้ามเนื้อล้า จะไม่พบการเปลี่ยนแปลงของข้อหรือกระดูกในภาพรังสี พวกที่เป็นโรคข้อเสื่อมเวลาถ่ายภาพรังสีจะพบลักษณะของข้อเสื่อมแล้วแต่ความรุนแรง เช่น กระดูกอ่อนบางลงหรือหายไป มีเดือยหรือปุ่มกระดูกงอกที่ขอบ ๆ ของกระดูก เป็นต้น (ดูภาพประกอบ)

                       

กระดูกงอกมีอันตรายหรือไม่ เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งชนิดหนึ่งใช่ไหม?
กระดูกงอกโดยทั่วไป ไม่มีอันตรายใดๆ เป็นแก่เพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของภาวะข้อเสื่อมเท่านั้นเอง เช่นเดียวกันกับผิวหนังย่น หรือผมหงอก ซึ่งอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าสังขารเสื่อมตามวัย จึงไม่ใช่เนื้องอกหรือมะเร็งของกระดูก เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยกังวลใจ แพทย์หลายท่านจะใช้คำว่าหินปูนเกาะที่ขอบๆ ของข้อ แทนคำว่ากระดูกงอก

เมื่อข้อเสื่อมเกิดจากการเสื่อมสึกหรอของข้อต่างๆ ตามอายุของการใช้งาน แปลว่าทุกคนต้องเป็นโรคข้อเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้นใช่ไหม?

ข้อนี้สำคัญมาก เป็นความจริงที่ลักษณะของข้อเสื่อม เช่น การสึกหรอของกระดูกอ่อนหรือมีหินปูนเกาะที่ขอบๆ ของข้อ จะเกิดขึ้นหรือพบได้ในทุกคนที่สูงอายุ แต่ปวดข้อจากภาวะข้อเสื่อมไม่ได้เป็นกันทุกคน เราจะเรียกผู้ที่มีอาการปวดข้อเนื่องจากข้อเสื่อมว่าเป็นโรคข้อเสื่อม ส่วนที่มีภาวะข้อเสื่อมตามวัย (ซึ่งอาจพบได้จากการเห็นปุ่มกระดูกที่ข้อนิ้วมือ หรือจากภาพถ่ายรังสี) แต่ไม่มีอาการปวดข้อไม่ถือว่าเป็นโรค ถือว่าเป็นปกติของคนวัยนั้น

มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ภาวะข้อเสื่อมกลายเป็นโรคข้อเสื่อมทำไมคนบางคนอายุ 45 ปีก็ปวดเข่าแล้ว แต่อีกคนหนึ่งอายุ 60 ปียังเดินได้เก่งมาก ไม่ปวดข้อเลย?
ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคข้อเสื่อมมีหลายประการ ที่สำคัญคือ
ความอ่อนแอของกล้ามเนื้อที่พยุงหรือเคลื่อนไหวข้อ หากกล้ามเนื้อแข็งแรง ข้อก็จะทนทนกับการใช้งานโดยไม่ปวด น้ำหนักของผู้ป่วย คนอ้วนหรือน้ำหนักมกเกิดเกณฑ์ จะปวดข้อได้บ่อยและมีอาการรุนแรงกว่าคนรูปร่างสมส่วนที่อยู่ในวัยเดียวกัน

นอกจากนี้ ผู้ที่มีรูปร่างของกระดูกผิดปกติ เช่น ขาโก่ง ขาเป๋ หรือหลังคด หลังโก่ง ย่อมจะมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม หรือกระดูกสันหลังเสื่อมมากกว่าคนที่โครงกระดูกปกติ

จะมีวิธีรักษาโรคข้อเสื่อมได้อย่างไร?
หลักสำคัญในการรักษามีสามข้อ คือ
1. ต้องรักษาอาการเจ็บหรือปวดข้อให้ทุเลาก่อน ซึ่งการใช้ยาแก้ปวดอาจใช้ พาราเซตามอล 1-2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง เฉพาะตอนที่มีอาการ หรือ แอสไพริน ขนาด 2-3 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง พร้อมกับอาหารหรือ ยาลดกรด จนกว่าอาการปวดทุเลา แล้วค่อยๆ หยดยาก็ได้ นอกจากนี้ การใช้กระเป๋าน้ำร้อน ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน หรือใบพลับพลึงอังไฟแล้วประคบบริเวณที่ปวดก็อาจช่วยได้มาก ในรายที่มีอาการปวดไม่มากและนานๆ เป็นครั้ง การพักผ่อนข้อที่ปวดสัก 2-3 วัน อาจทำให้หายได้เอง

2. พยายามขจัดปัจจัยที่มีส่วนทำให้ปวดข้อกำเริบ หรือเป็นบ่อยขึ้น เช่น คนอ้วนต้องแนะนำให้ลดน้ำหนักโดยวิธีลดอาหาร หลีกเลี่ยงการนั่งกับพื้นซึ่งทำให้ปวดเขาและปวดหลังได้บ่อย ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เช่น นั่งทำงาน 1 ชั่วโมงควรหยุดพัก ลุกขึ้นมาเดินสัก 2-3 นาที เป็นต้น

3. ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวข้อให้แข็งแรงขึ้น จะได้ทนทานกับการใช้งานโดยไม่ให้ปวดข้อต่อไป เช่น ปวดเข่า ควรบริหารกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า ปวดหลัง ควรบริหารกล้ามเนื้อที่ยึดอยู่รอบๆ กระดูกสันหลัง เป็นต้น

                

การฝึกกล้ามเนื้อต้องเริ่มทำเมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว โดยระยะแรก ฝึกครั้งละ 3-5 นาที วันละ 2-3 ครั้ง จนไม่รู้สึกปวดเมื่อย จึงเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นเป็น 3-5 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารกล้ามเนื้อเข่า ต้องฝึกจากไม่ยกน้ำหนัก จนยกน้ำหนักได้ 0.3, 0.5, 0.7, 1 กิโลกรัม โดยเพิ่มไปเรื่อยๆ ทุกๆ 2-3 สัปดาห์ จนยกได้ 2-3 กิโลกรัม แล้วเข่าจะแข็งแรงพอที่จะเดินได้ดีมาก โดยไม่มีอาการปวด

จะขอเน้นว่า แม้ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความผิดปกติของข้อเสื่อมได้ แต่อาศัยหลักการ 3 ข้อดังกล่าว เราสามารถรักษาอาการปวดข้อจากข้อเสื่อมให้หายได้ เมื่อผู้ป่วยไม่ปวดข้อแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกินยาแก้ปวดอีกต่อไป เพียงแต่ต้องรักษาตนตามข้อ 2 -3 อย่างสม่ำเสมอต่อไป ก็จะป้องกันไม่ให้โรคข้อเสื่อมกำเริบได้อีก

ผู้ที่มีอาการเอ็นอักเสบ เคล็ดยอก หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบ่อยๆ มีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง?
ปกติภาวะเอ็นอักเสบมักจะหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ สาเหตุที่มีอาการเป็นๆ หายๆ บ่อย หรือบางครั้งจนกลายเป็นปวดอยู่นานเป็นเดือนๆ ไม่ยอมหายขาดมีได้หลายประการคือ

1) เนื่องจากการใช้งานของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นส่วนนั้นไม่ถูกสุขลักษณะ และติดเป็นนิสัยทำให้เกิดความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อกลุ่มต่างๆ เช่น ปวดหลังหรือไหล่ในผู้ที่ชอบหิ้วของหนักๆ ด้วยมือเพียงข้างเดียว ปวดเส้นเอ็นที่ส้นเท้าในคนที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูงเกินไป เป็นต้น

2) งานที่ทำนั้นหนักเกินความสามารถของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นที่จะรับได้ หรือกล้ามเนื้อถูกใช้งานนานเกินไปจนเกิดความเปลี้ยหรือล้า เช่น ซักผ้าหลายๆ ชั่วโมงติดๆ กัน

3) ประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อหรืเส้นเอ็นเสื่อมลงตามอายุ (ตามสังขาร)

4) ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง เช่น การบีบนวด ดัดหรือดึงรั้งเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อที่ปวด โดยไม่ถูกวิธี หรือใช้แรงมากเกินไป หรือทำบ่อยเกินไป ผลก็คือภายหลังจากการนวด ดัด เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อจะยอกช้ำ หรืออักเสบมากว่าวเดิมอีก ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ป่วยบีบนวดแรงหรือบ่อยขึ้นอีก จนกลายเป็นภาวะเรื้อรัง

เรามีวิธีรักษากลุ่มโรคเอ็นอักเสบ เคล็ดยอก หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้อย่างไร และทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นเรื้อรัง?
ในระยะที่มีอาการปวดแบบเฉียบพลัน ควรให้หยุดพักการใช้งานสัก 3-5 วัน และทบทวนดูว่ามีสาเหตุใดที่ทำให้เกิดอาการปวดในครั้งนี้ เพื่อพยายามหาทางหลีกเลี่ยงต่อไป หากหยุดพักแล้ว ยังมีอาการปวดมากอยู่อาจกินยาพาราเซตามอล 300-500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง จนอาการทุเลาหรือจะใช้แอสไพรินขนาด 2-3 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง โดยกินหลังอาหารทันที และหรือพร้อมกับยาลดกรดในกระเพาะอาหารก็ได้ จนอาการทุเลา ในระยะ 24 ชั่วโมง แรกอาจใช้ผ่าชุบน้ำแข็งวางประคบบริเวณที่ปวด เมื่อเลย 24 ชั่วโมงไปแล้วจึงใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรือใบพลับพลึงอังไฟประคบ เมื่อพ้นระยะปวดหรืออักเสบแล้ว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน จึงค่อย ๆ เคลื่อนไหวบริหารกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นนั้นให้คืนสู่สภาวะปกติ

สำหรับผู้ที่ปวดเรื้อรังหรือเป็นๆ หายๆ เมื่อกินยาดังกล่าวติดต่อกันสัก 3-4 วัน จนอาการปวดทุเลาลงแล้ว ควรระวังให้การทำงานในอิริยาบถที่ถูกต้อง และเริ่มการออกกายบริหารให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อส่วนนั้นยืดหยุ่นได้เต็มที่ ต่อมาจึงค่อยๆ ฝึกให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นโดยใช้หลักเดียวกับการเล่นกล้าม

                                                          

ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงดี เช่นกรรมกรแบกหาม ก็ยังต้องเน้นเรื่องออกกายบริหารฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้นกว่าเดิมอีก เพราะแม้ว่าเขาจะแข็งแรงกว่าคนธรรมดา แต่เขาต้องทำงานหนักมากกว่าคนธรรมดา และงานนั้นหนักจนทำให้เกิดอาการปวดข้อหรือปวดเมื่อย หากเปลี่ยนงานหรืออาชีพไม่ได้ มีอยู่เพียงวิธีเดียวก็คือ ต้องฝึกให้กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นของผู้นั้นมีความแข็งแรงทนทานมากกว่าปริมาณงานที่เขาต้องทำ การรู้จักฝึกบริหารให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นวีเดียวที่จะทำให้อาการปวดข้อเส้นอักเสบ หรือกล้ามเนื้อเมื่อยล้าค่อยๆ หายไปหรือไม่กำเริบอีก ผู้ป่วยก็จะไม่ต้องพึ่งยาแก้ปวดชนิดใดๆ อีกต่อไป และมีสุขภาพแข็งแรงด้วย

การรักษาโดยการฉีดยาเข้าข้อหรือเข้าเส้นเอ็นที่ปวดย่อยๆ จะมีอันตรายไหม?
ยาที่ฉีดส่วนใหญ่เป็นพวกสเตียรอยด์ ซึ่งจะออกฤทธิ์แก้ปวด ลดอักเสบ ได้รวดเร็วทันใจ แต่ไม่ได้แก้ต้นเหตุ จึงมีผลเสียมากกว่าหากฉีดบ่อยๆ เพราะยาพวกนี้ฉีดเข้าข้อจะทำให้กระดูกอ่อนมีการเสื่อมหรือสลายรวดเร็วกว่าปกติ และการที่ผู้ป่วยหายปวดทันใจก็อาจจะใช้ข้อนั้นๆ มากเกินไปจนเกิดการเสื่อม และข้อหลวมชำรุดเร็วขึ้นด้วย คล้ายกับข้อต่อรถยนต์เริ่มหลวมชำรุดแล้ว เรากลับไปเร่งเครื่องและบรรทุกน้ำหนักมากเกินอีกย่อมจะทำให้เกิดการพังพินาศเร็วขึ้น การฉีดเข้าเส้นเอ็นบ่อยๆ ทำให้เอ็นเปื่อยเกิดการฉีกขาดได้ ที่พบบ่อยคือเอ็นร้อนหวายขาด ทำให้ผู้ป่วยพิการไปชั่วชีวิต

ได้อ่านหมอชาวบ้านฉบับเดือนกันยายน 2526 พอจะทราบอันตรายของชุดบ้าง มีผู้ป่วยอายุ 50 ปี คนหนึ่งกินยาชุดวันละ 2-3 ชุด มาหนึ่งปีเศษ จนขณะนี้มีอาการหน้าบวมและอ้วนขึ้นกว่าเดิม 10 กิโลกรัม และรู้สึกแขนขาอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จึงเข้าใจว่าเป็นยาพวกที่มีสเตียรอยด์ แต่ตอนนี้หยุดยาไม่ได้เลย หยุดแล้วจะปวดกระดูกและกล้ามเนื้อมากจนลุกจากเตียงไม่ได้ จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร และถ้าพยายามกินเพียงวันละหนึ่งชุดเรื่อยๆ จะมีอันตรายมากไหม?

ยาชุดหรือยาที่มีสเตียรอยด์เวลากินนานๆ จะหยุดทันทีไม่ได้ ดังอาการของผู้ป่วยรายนี้
วิธีแก้ คือต้องหายาแก้ปวดให้กินจนพอที่จะระงับปวดได้ เช่น แอสไพริน ต้องให้ขนาด 60-80 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง กินพร้อมกับอาหารหรือหลังอาหารทันที แล้วค่อยๆ ฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น ให้เลิกกินยาชุด แต่ให้ยาเพร็ดนิโซโลน ขนาด 5 มิลลิกรัมให้กินแทน วันละ 1 เม็ด ถ้าผู้ป่วยทนได้ ให้ยาขนาดนี้ไปประมาณ 1 เดือน เมื่อกล้ามเนื้อพอจะแข็งแรงขึ้นจากการบริหารทุกวัน ให้ลองกินเพร็ดนิโซโลนเป็น 1 เม็ดครึ่ง วันเว้นเว้น สลับกับครึ่งเม็ด วันเว้นวัน หากผู้ป่วยไม่มีอากรหน้ามืดเป็นลมในวันที่กินยาครึ่งเม็ด ก็ให้ยาแบบนี้ต่อไปอีก 1 เดือน จึงเปลี่ยนมาให้กินเพร็ดนิโซโลน 1 เม็ดครึ่ง วันเว้นวันอีก 1 เดือน ถ้าอาการยังดีอยู่กินเป็น 1 เม็ดวันเว้นวันอีก 1 เดือน แล้วลดเหลือครึ่งเม็ดวันเว้นวันอีก 1 เดือน จึงค่อยหยุดเพร็ดนิโซโลนในที่สุด

หากในระหว่างลดยาหรือเปลี่ยนวิธีกินยาอยู่ แล้วผู้ป่วยเกิดอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด หรือความดันเลือดต่ำ ก็ต้องกลับไปกินยาวันละ 1 เม็ดตามเดิม ตลอดเวลาที่จัดเพร็ดนิโซโลนอยู่ ยาแก้ปวดหรือแอสไพรินควรจะให้ไปเรื่อยๆ และต้องส่งเสริมการฝึกกายบริหารทุกวัน

การกินยาชุดแม่จะเพียงวันละชุดไปเรื่อยๆ ไม่ดีแน่ เพราะเราไม่ทราบว่าในนั้นมียาเพร็ดนิโซโลนหรือ เดกซาอยู่ ปริมาณเท่าใด และมียาอันตรายอย่างอื่น เช่น กลุ่มฟีนิลบิวตาโซน ซึ่งทำให้ไขกระดูกฝ่อ และแผลในกระเพาะอาหารด้วยหรือไม่ ผลร้ายจากการกินยาสเตียรอยด์นานๆ กระดูกจะผุมากขึ้น และกล้ามเนื้อจะปวดและอ่อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องเพิ่มขนาดของยาเพื่อระงับอาการที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัวคล้ายคลึงกับการติดเฮโรอีน จนสักวันหนึ่ง ผู้ป่วยจะปวดไปหมดทั้งตัว ทั้งๆ ที่ยังกินยาชุดอยู่ อาการปวดจะทรมานมากจนให้ใครถูกต้องไม่ได้ ผู้ป่วยไม่ยอมเคลื่อนไหวข้อใดๆ และการให้ยาระงับปวดขนานใดๆ ก็ไม่ได้ผล ซ้ำการที่กระดูกผุมากและน้ำหนักตัวก็มากจะเสี่ยงกับกระดูกทรุดหัก ยิ่งปวดรุนแรงไปใหญ่ ผู้ป่วยอาจร้องครวญครางอยู่ตลอดเวลาเป็นที่น่าสมเพชเวทนาแก่ทุกคนที่พบเห็น ต่อมาอาจจะมีการติเชื้อของผิวหนังเนื่องจากการเกิดแผลกดทับ และความต้านทานของร่างกายต่ำ อาจมีเลือดออกจากกระเพาอาหารหรือลำไส้ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ฯลฯ ภายหลังจากทรมานอยู่เป็นปีๆ และสิ้นค่ารักษาไปนับหมื่นหรือแสนบาท ในที่สุดก็ถึงแก่กรรมไปอย่างน่าเวทนา

ก่อนจะจบจะขอสรุปสั้นๆ ว่า
1. สาเหตุของโรคปวดข้อที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคข้อเสื่อมและเอ็นอักเสบ เคล็ดยอกหรือกล้ามเนื้อล้า ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยพิการ และกว่าร้อยละ 80 เป็นโรคที่รักษาให้หายได้หรือดีพอที่จะทำงานเป็นปกติได้ด้วยวิธีรักษาด้วยตนเอง

2. หัวใจของการรักษาและป้องกันไม่ให้ปวดข้อกำเริบอีกก็คือ การรู้จักฝึกบริหารให้กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อที่ปวดหรือเมื่อยมีความแข็งแตงและทนทานขึ้น และหลีกเลี่ยงจากการทำงานในอิริยาบถทีผิดสุขลักษณะ

3. ยาแก้ปวดควรกินเฉพาะในขณะที่มีอาการปวดรุนแรงเท่านั้น ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกินติดต่อกันหากท่านปฏิบัติตามข้อ 2 อย่างสม่ำเสมอ

4. ไม่ควรกินยาชุดแก้ปวดข้อหรือปวดเส้น อย่าให้ใครฉีดยาเข้าข้อหรือเข้าเส้นเอ็นเกินปีละ 2-3 ครั้ง อย่านวด ถู ดัด จับเส้นรุนแรงหรือบ่อยเกินไปจนติดเป็นนิสัย

5. ผู้ที่ทดลองรักษาด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วอาการไม่ทุเลาใน 3-4 สัปดาห์ หรือผู้ที่ปวดหลัง ปวดต้นคอ แล้วมีอาการปวดร้าวหรือชาตามต้นขา ปลายขา หรือแขน ควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะจากอาการดังกล่าวอาจเกิดจากหมอนกระดูกหรือปุ่มกระดูกงอกกดทับถูกรากประสาท

 

 

ข้อมูลสื่อ

57-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 57
มกราคม 2527
อื่น ๆ
รศ.พญ.เล็ก ปริวิสุทธิ์