• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพ้สัมผัส

ฉบับที่แล้วคอลลัมน์นี้โรคผิวหนังเราได้คุยกันถึงเทคนิคการถนอมผิวซึ่งเป็นตอนที่ 1 โดยได้กล่าวถึงผิวหนัง, โครงสร้าง, หน้าที่และการถนอมผิวไปแล้ว ฉลับนี้เราจะมาคุยกันในหัวข้อเรื่องโรคแพ้สัมผัสซึ่งเป็นตอนที่ 2 กันต่อไป

โรคแพ้สัมผัส เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยมาก ประมาณว่า ประมาณ 30 %ของผู้ป่วยที่มารับการรักษาจากปัญหาโรคผิวหนังมีปัญหาเรื่องโรคแพ้สัมผัส

โรคแพ้สัมผัสคืออะไร

โรคแพ้สัมผัสคือ อาการอักเสบของผิวหนังจากการเกิดปฏิกิริยาต่อสารบางชนิด ปฏิกิริยาดังกล่าวนี้อาจเกิดได้ 2 แบบ
- อาการแพ้จากการระคายเคืองโดยตรง เกิดจากสารที่มีสารมีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างมากเกินไป และก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อผิวหนัง
- อาการแพ้จากการเกิดภาวะภูมิแพ้ไวเกินปกติ เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาต้านทานต่อสารบางอย่างมากกว่าปกติ

อาการโรคแพ้สัมผัสเป็นอย่างไร

อาการของโรคแพ้สัมผัสแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ คือ
1. ระยะเฉียบพลัน
จะมีอาการบวมแดง มีตุ่มใส ๆ ที่ผิวหนังซึ่งจะแตกออกมีน้ำเหลืองเยิ้ม มักมีอาการแสบมากกว่าคัน ต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้นอาจจะใหญ่ขึ้น แต่ไม่เจ็บ
2. ระยะเรื้อรัง
ผิวหนังจะหนา มีสีคล้ำขึ้น มีสะเก็ด มีอาการคันมาก รอยโรคจะเกิดบริเวณที่สัมผัสกับสารที่แพ้ เช่น
- เครื่องสำอาง มักจะเป็นที่ใบหน้า
- ยาย้อมผม จะเป็นที่ไรผม, หน้าผาก, ท้ายทอย
- ยาสีฟัน จะเป็นที่ริมฝีปาก
- โลหะ, สารเคมี ฯลฯ มักเป็นที่มือ
- ยางหรือหนัง มักจะเป็นหลังเท้า

วิธีรักษาโรคแพ้สัมผัส
เมื่อสงสัยว่าจะเกิดโรคแพ้สัมผัสขึ้น สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ หยุดถูกต้องสารหรือวัตถุที่สงสัย หรือถ้าจำเป็นต้องถูกต้องก็ต้องมีการป้องกัน เช่น สวมถุงมือ หยุดสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง เช่น ใช้สบู่ยา, ถูกผงซักฟอก, ถูกสารเคมี ฯลฯ

การรักษา

1. ระยะเฉียบพลัน
ใช้น้ำเกลือ หรือน้ำต้มสุกแล้วทิ้งให้เย็น ชุบผ้าสะอาดประคบบริเวณที่เป็นครั้งละประมาณ 15 นาที ทำทุก 2-3 ชั่วโมงจนกว่าอาการบวม, แดง, มีน้ำเหลืองแฉะจะแห้งลง

2. ระยะเรื้อรัง
ในระยะนี้อาการคันจะเป็นอาการสำคัญมาก ควรรับประทานยาแก้แพ้ประเภท คลอร์เฟนิรามีน ขนาด 4 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง ยานี้ใช้แล้วจะค่อนข้างง่วง คนที่ต้องขับยวดยานหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ไม่ควรใช้ อาจเกิดอุบัติเหตุได้
- ควรทราบบริเวณที่เป็นผื่นด้วย ขี้ผึ้งเบตาเมธาโซน วันละ 2-3 ครั้ง
- จะต้องหยุดเกาหรือขัดถูบริเวณที่เป็น เพราะจะทำให้มีผื่นหนาขึ้นได้
เมื่ออาการอักเสบแห้งลงแล้วถ้ายังมีอาการแดงและคันอยู่ อาจทาด้วย ครีมเพร็ดนิโซโลน หรือ เบตาเมธาโซน วันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหายสนิท

ถ้ามีอาการคันมากขึ้นอาจรับประทาน ยาคลอร์เฟนิรามีน ขนาด 4 มิลลิกรัมวันละ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร

การทดสอบหาสารที่แพ้จำเป็นไหม

การแพ้ชนิดแรกที่เกิดจากการระคาย เช่น แม่บ้านซึ่งต้องทำงานเปียกแฉะเป็นประจำ ถ้าหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ อาการมักจะดีขึ้นจนหายไปได้ การทดสอบก็ไม่มีความจำเป็น

แต่ถ้าการแพ้นั้นเกี่ยวข้องกับงานอาชีพ เช่น แพ้บริเวณมือ และต้องทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรือยาเป็นประจำ การทดสอบว่าแพ้อะไรก็อาจจะช่วยได้มาก

สำหรับการ แพ้เครื่องสำอาง เนื่องจากเครื่องสำอาง ปัจจุบันมีมากมายจนบรรยายไม่หมด และแต่ละชนิดก็มีส่วนประกอบที่แตกต่างกันไป อีกประการหนึ่งเครื่องสำอางเหล่านี้เก็บไม่ได้แสดงสูตรหรือหรือส่วนผสมไว้ให้ทราบ ดังนั้นถึงแม้จะทดสอบ ทราบว่าแพ้สารอะไร แต่ในทางปฏิบัติ แทบจะไม่มีผลเพราะไม่อาจทราบได้ว่าสารที่แพ้นั้น มีอยู่ในเครื่องสำอางชนิดไหน
เครื่องสำอางชนิดเดียวที่การทดสอบภูมิแพ้จะเห็นผลได้มาก ได้แก่ ยาย้อมผม ซึ่งมักจะมีอาการแพ้ได้บ่อย ๆ

ทำอย่างไรจึงจะป้องกันโรคแพ้สัมผัสได้
การแพ้ชนิดระคายนั้นย่อมป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นสาเหตุ เช่น ความเปียกชื้น, ผงซักฟอก , สารเคมี ฯลฯ การแพ้ชนิดนี้ที่พบบ่อยคือ ที่มือในคนที่ทำงานเปียกและถูกผงซักฟอก หรือสารเคมีเป็นประจำ การสวมถุงมือขณะทำงานดังกล่าวจะช่วยได้มาก

ส่วนการแพ้ชนิดเกิดภาวะภูมิแพ้ไวเกินปกตินั้น เราป้องกันได้ยาก เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรหาสาเหตุให้พบ อาจเป็นการสังเกตด้วยตนเอง หรือการทดสอบสารที่เป็นสาเหตุโดยการแพทย์ และหลีกเลี่ยงสาเหตุดังกล่าว ก็จะไม่เป็นอีก

สำหรับการแพ้เครื่องสำอางนั้น เนื่องจากเราไม่อาจทราบได้ว่าชนิดไหนมีสารที่เราแพ้อยู่หรือไม่ จึงควรใช้น้อยที่สุด เฉพาะท่าที่เห็นว่าจำเป็นจริง ๆ เช่น แป้ง, ลิปสติค, ก็จะช่วยลดการเสี่ยงจากการเกิดการแพ้สัมผัสลงไปได้

 

ข้อมูลสื่อ

57-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 57
มกราคม 2527
นพ.นิวัติ พลนิกร