• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เชื้อราที่ผิวหนัง


ในประเทศไทยซึ่งมีอากาศร้อนชื้น ปัญหาการติดเชื้อราที่ผิวหนังจัดเป็นปัญหาโรคผิวหนังที่พบบ่อยมากจึงควรจะทำความเข้าใจและรู้จักโรคนี้ให้ลึกซึ้ง เพื่อจะได้สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นเมื่อเป็นโรคนี้ขึ้นมา

เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังมีกี่ชนิด?
เราพอจะแบ่งเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ชนิดพื้นผิว เชื้อราพวกนี้จะอยู่เฉพาะในผิวหนังชั้นตื้นๆ เท่านั้น เชื่อที่ทำให้เกิดโรคที่พบบ่อยมี 3 ชนิดคือ
- เชื้อขี้กลากหรือเดอร์มาโตฟัยต์ (Dermatophyte) ทำให้เกิดขี้กลาก เชื้อราที่ขาหนีบ และเชื้อราที่ฝ่าเท้า
- เชื้อเกลื้อน (Tinea versicolour) ทำให้เกิดโรคเกลื้อน
- เชื้อราแคนดิดา (Candida) ทำให้เกิดเชื้อราที่อับชื้น เช่น ขาหนีบ รักแร้ ฯลฯ

2. ชนิดลึก
ได้แก่เชื้อราซึ่งทำให้เกิดการอักเสบในชั้นลึกๆ เชื้อราพวกนี้มีหลายชนิด แต่พบไม่บ่อยนักจึงไม่จำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะรู้จัก

อาการแสดงของการติดเชื้อเดอร์มาโตฟัยต์
การติดเชื้อรา เดอร์มาโตฟัยต์ ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้หลายแบบ ที่พบบ่อย คือ
1. เป็นผื่นแดงตามตัว ขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดหรือตุ่มแดงคันที่ขอบซึ่งเรียกว่า ขี้กลาก
2. เป็นขุยๆ ขาวๆ ที่ง่ามนิ้วเท้า หรือฝ่าเท้า บางครั้งเกิดอาการอักเสบเป็นหนองตามง่ามนิ้ว ได้แก่ เชื้อราที่เท้า หรือที่นิยมเรียกกันว่า ฮ่องกงฟูต
3. เล็บผุร่วนเป็นสะเก็ด ซึ่งเรียกว่า เชื้อราของเล็บ
4. ผมร่วมเป็นหย่อมๆ มีสะเก็ดเป็นขุยๆ บริเวณที่ร่วง มักพบในเด็ก เรียกว่า เชื้อราของหนังศีรษะ

การวินิจฉัยให้แน่นอนได้อย่างไร?
ทำได้โดยการขูดสะเก็ดไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือการเพาะเลี้ยงเชื้อ

ถ้าสงสัยว่าเป็นเชื้อราชนิดเดอร์มาโตฟัยต์จะรักษาอย่างไร?

ถ้าเป็นที่ผิวหนังหรือฝ่าเท้า ยาที่ได้ผลดีมากคือยาทาพวก โทนาฟเตต หรือพวก โคลไตรมาโซล ทาวันละ 2-3 ครั้ง ยาเก่าๆ ชนิดอื่นๆ เช่น ขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน หรือพวก กรดอันดีซัยลินิค นั้นได้ผลไม่ค่อยดีนัก
ควรใช้ยาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ถ้าหยุดใช้ยาเร็วกว่านี้ อาจจะเกิดเป็นซ้ำๆ ได้ง่ายขึ้น

                                            

ส่วนการติดเชื้อราของเล็บหรือของหนังศีรษะนั้น ในขณะนี้ยาทาส่วนใหญ่จะไม่ได้ผล การรักษาต้องกินยา กริสีโอฟุลวิน สำหรับผู้ใหญ่ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นานประมาณ 6 เดือน สำหรับเชื้อราของเล็บ การรักษาด้วยการกินยานี้ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะยานี้เป็นยาที่อาจมีอาการแพ้ หรือเป็นพิษต่อตับได้

                                                        

มารู้จักเกลื้อนกันเถอะ
โรคเกลื้อนมักจะพบในวัยหนุ่มสาว บริเวณที่อับเหงื่อ ผิวหนังบริเวณนั้น จะเกิดผื่นซึ่งอาจมีสีได้หลายสี ตั้งแต่สีน้ำตาลจางๆ น้ำตาลแดง ไปจนกระทั่งขาว มักเป็นดวงกลมเล็กๆ ขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร แต่อาจจะมากกว่ากันจนเป็นแผ่นใหญ่ๆ ลักษณะของเกลื้อนในระยะที่เป็นใหม่ๆ ที่สำคัญ คือ ถ้าเราเอาเล็บขูดจะร่วนออกมาเป็นสะเก็ดขาวเป็นขุยๆ
การวินิจฉัยให้แน่นอนทำได้โดยเอาขุยจากผื่นไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

                                    

เราจะรักษาเกลื้อนอย่างไร?
การรักษาที่สำคัญคือ
1. การใช้ยาทาที่ได้ผล และราคาถูก ได้แก่ น้ำยาโซเดียมไธโอซัลเฟต (ฮัยโป) 20% ทาบางๆ วันละ 2 ครั้งหลังอาบน้ำ
2. อย่าใส่เสื้อผ้าที่อับหรือแฉะเหงื่อนานเกินไป ตลอดจนซักและทำความสะอาดผ้าเช็ดตัวบ่อยๆ อย่างไรก็ตามในบางคนสามารถที่จะเป็นเชื้อราชนิดนี้ได้ง่ายมาก โอกาสเป็นซ้ำๆ จึงมีได้บ่อย

อาการของการติดเชื้อราแคนดิด้า

การติดเชื้อราแคนดิด้า มักพบในบริเวณที่อับชื้น หรือในภาวะที่มีความต้านทานโรคลดลง เช่น เป็นเบาหวาน เราจะพบมีผื่นแดง มีสะเก็ดตรงขอบๆ สะเก็ดเปื่อยยุ่ย บริเวณขอบๆ ของผื่นอาจพบจุดหนองเล็กๆ อยู่ ผื่นเหล่านี้มักจะแสบมากกว่าคัน

                                                         

นอกจากนี้ เชื้อราชนิดนี้ยังให้เกิดโรคที่พบบ่อยอีก 2 ชนิด คือ
- ติดเชื้อในช่องคลอด เกิดตกขาว และผื่นคันบริเวณอวัยวะเพศ
- ติดเชื้อในปาก เกิดเป็นฝ้าขาวบริเวณเยื่อบุช่องปาก

เราจะรักษาการติดเชื้อราชนิดนี้ได้อย่างไร?
การติดเชื้อราบริเวณผิวหนัง สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาคือ
1. การใช้ยารักษา ยาที่ได้ผลดีได้แก่ ยาทาพวก โครไตรมาโซล หรือยาทา นิสตาติน
2. การดูแลให้ผิวหนังบริเวณนั้นแห้งสะอาด
3. การรักษาสาเหตุ เช่น โรคภายในที่ทำให้ความต้านทานลดลง เช่น เบาหวาน

 

ข้อมูลสื่อ

58-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 58
กุมภาพันธ์ 2527
นพ.นิวัติ พลนิกร