• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยา


“ยา” หนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเรานั้น ก็คือ สารเคมีที่มีฤทธิ์ต่อคน ใช้ในการป้องกันรักษาโรคต่างๆ ในขณะเดียวกันยาเปรียบเสมือนดาบสองคม ถ้าใช้ถูกวิธีจะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกวิธียานั้นก็จะเปรียบเหมือนพิษร้ายที่เข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดอันตราย ดังนั้นเราควรจะทราบถึงหลักการทั่วๆ ไป ของการใช้ยาเสียก่อน เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา

หลักการทั่วๆ ไปในการใช้ยาก็คือ
1. ควรพิจารณาทุกครั้งว่า มีโรคประจำตัวอะไร และในระยะ 2-3 อาทิตย์ก่อน ได้รับยาอะไรอยู่หรือเปล่า เช่น ยาแก้ปวด ยาลดกรด หรือยาระบายเป็นต้น เป็นการป้องกันการเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยา
2. ก่อนรับการผ่าตัดทุกครั้งแม้กระทั่งถอนฟัน หรือเกิดอุบัติเหตุควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาที่ใช้ในช่วงนั้นด้วย
3. ถ้าเคยมีการแพ้ยา ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบโดยด่วน
4. ในกรณีที่มีการควบคุมอาหาร เป็นพิเศษ เช่น ควบคุมพวกเกลือหรือน้ำตาล หรือมีอาการแพ้สารชนิดใดก็ตาม เช่น สีย้อม ก่อนที่จะใช้ยาควรพิจารณาองค์ประกอบขงยาเหล่านั้นเสียก่อน
5. ในขณะที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ยาที่ใช้อาจมีผลต่อเด็กได้ จึงต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
6. การใช้ยา ควรทำให้ถูกวิธีควรกินยาในช่วงเวลาที่กำหนด ถ้าใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบปรึกษาแพทย์
7. เก็บยาในที่ซึ่งเด็กหยิบไม่ถึง และควรเก็บในที่ที่อากาศเย็นและแห้ง อย่างเก็บยาไว้ในห้องน้ำซึ่งมีอากาศร้อนและชื้น หรือเก็บไว้ในตู้เย็น ยกเว้นยาบางชนิดกำหนดให้เก็บในตู้เย็น
8. ไม่ควรเก็บยาต่างชนิดกันไว้ในภาชนะเดียวกัน ควรเก็บยาแต่ละชนิดไว้ในภาชนะเฉพาะของมัน ปิดให้แน่น อย่าดึงฉลากออก เพราะคำแนะนำในการใช้และข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ อยู่ในฉลากนั้น
9. เพื่อป้องกันความผิดพลาดอย่าใช้ยาในที่มืด อ่านฉลากก่อนใช้ทุกครั้ง และควรจะทราบวันหมดอายุของยาด้วย
10. ในกรณีที่มีอาการผิดปกติเมื่อใช้ยาแล้ว ควรหยุดทันทีแล้วให้แพทย์ตรวจอาการ
11. เมื่อแพทย์สั่งให้หยุดยา ควรถามทุกครั้งว่า ยาที่เหลือสามารถเก็บไว้ใช้ครั้งต่อไปได้ไหม และอย่าใช้ยานั้นกับผู้อื่น
12. ควรรูจักชื่อยาที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั้งชื่อทั่วไป (ชื่อแท้) และชื่อทางการค้า (ยี่ห้อ)

ยาแก้ปวด

ยาพวกแรกที่จะกล่าวถึงได้แก่ ยาแก้ปวด ลดไข้ อาการปวดแตกต่างกันไปในแต่ละคน ความเจ็บปวดเป็นอาการของโรค ดังนั้นการใช้ยาเพื่อระงับปวดจึงเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ใช่ต้นเหตุ เช่น ปวดฟัน การใช้ยาแก้ปวดเป็นเพียงการบรรเทาชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ถ้าไม่รักษาฟันอาการปวดก็จะกลับมาเป็นอีก จึงควรหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดและทำการรักษาอย่างถูกต้องด้วย

ในการใช้ยาแก้ปวดลดไข้นั้น เนื่องมาจากประเภทนี้มีมากชนิดด้วยกัน ในการเลือกใช้ยาจึงควรคำนึงถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะจากอาการข้างเคียงที่เกิดจากยานั้นๆ และเลือกใช้ยาให้ถูกต้องในการระงับอาการปวดเท่านั้น เพราะยาที่ใช้ได้ดีกับอาการอย่างหนึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ได้ดีกับอาการปวดอีกอย่างหนึ่งเสมอไป ยาแก้ปวดลดไข้ที่มีขายตามท้องตลาดมีมากมายหลายขนาน โดยส่วนผสมตัวยาต่างๆ จะเหมือนกันบ้างหรือต่างกันบ้าง ขึ้นอยู่กับบริษัทจะผลิตขึ้นมาโดยทั่วๆ ไปแล้ว แอสไพริน และพาราเซตามอล เป็นยาที่รู้จักกันแพร่หลาย เป็นยาที่มีความปลอดภัยพอสมควร เมื่อพิจารณาถึงราคาแล้วพบว่ายาทั้งสองตัวนี้เป็นยาที่มีราคาถูก เมื่อเทียบกับยาที่มีไดไพโรน และ ยากล่อมประสาทพวก ไดอะซีแพม ผสมอยู่ นอกจากนี้ยาที่มีไดไพโรนอาจมีพิษรุนแรงทำให้เป็นโรคโลหิตจางได้ ดังนั้นการเลือกใช้ยาแก้ปวดลดไข้ ควรจะทราบว่าตัวยาสำคัญเป็นอะไร ขนาดเท่าไร

อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen)
หรือที่รู้จักกันในนามของ พาราเซตามอล เป็นยาที่ใช้ระงับปวดหรือ ลดไข้ สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดที่รุนแรงเล็กน้อยและปลานกลางได้พอๆ กับแอสไพริน มีประโยชน์ในการระงับอาการปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดประจำเดือน และปวดบาดแผลหลังผ่าตัด แต่ต่างจากแอสไพรินตรงที่ว่า ไม่สามารถลดอาการอักเสบได้ และยานี้ไม่มีประโยชน์ในการระงับปวดที่เกิดจากอวัยวะภายใจ เช่น ท่อน้ำดี ลำไส้ ทำปัสสาวะ หรืออาการปวดชนิดรุนแรงมาก

การใช้ยา
1. พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อมเป็นยาลดไข้ที่ได้ผลดี และให้ความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 1 ขวบ ควรใช้ยานี้ โดยใช้ตามน้ำหนักตัวของเด็ก คือประมาณ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก ให้กินซ้ำได้ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง เฉพาะมีไข้หรืออาการปวด (ถ้าไข้ลงแล้ว ก็ไม่ต้องให้ยา) หรืออาจให้ขนาดโดยประมาณ ดังนี้
เด็กแรกเกิดถึง 3 เดือน ให้ครั้งละ 1 ใน 4 ช้อนชา
เด็ก 3 ถึง 8 เดือน ให้ครั้งละ ครึ่งช้อนชา
เด็ก 8 เดือน ถึง 3 ขวบ ให้ครั้งละ 1 ช้อนชา
เด็ก  3 ขวบ ถึง 5 ขวบ ให้ครั้งละ 1 ช้อนชาครึ่ง
เด็ก 5 ขวบ ถึง 8 ขวบ ให้ครั้งละ 2 ช้อนชา
เด็ก 8 ขวบ ถึง 12 ขวบ ให้ครั้งละ 3 ช้อนชา

2. พาราเซตามอลชนิดเม็ดสำหรับเด็ก ใน 1 เม็ด มีตัวยา 300-325 มิลลิกรัม ใช้สำหรับเด็กโตที่กลืนยาเม็ดได้ และใช้ยาตามน้ำหนักตัวด้วย คือประมาณ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวของเด็ก 1 กิโลกรัม หรือกะประมาณจากอายุได้ดังนี้
เด็ก 3-6 ขวบ ให้ครั้งละครึ่งเม็ด ทุก 6 ชั่วโมง
เด็ก 6-12 ขวบ ให้ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง
ในเด็กไม่ควรกินเกิน 1200 มิลลิกรัมหรือติดต่อกันนานกว่า 5 วัน

ส่วนขนาดของยาในผู้ใหญ่ คือ 300-1000 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 ชั่วโมง เมื่อจำเป็น หรือประมาณ 1-2 เม็ด (ชนิดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม) แต่ไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 10 วัน
 

ข้อควรระวัง
ระหว่างการใช้ยาตัวยานี้ ถ้าใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือเลวลง หรือในกรณีที่ใช้ลดไข้แล้วอาการไข้ทรงตัวอยู่ถึง 3 วัน หรือไข้ลดลงแล้วกลับมาเป็นอีก ควรปรึกษาแพทย์

ในกรณีที่ใช้ร่วมกับยาตัวอื่น ต้องระวังด้วยว่ายาตัวอื่นมีนส่วนผสมของพาราเซตามอล อยู่ด้วยหรือไม่ เพราะถ้ามีแล้วจะทำให้ได้รับยาเกินขนาดอาจเกิดอันตรายได้
ไม่ควรใช้ยาตัวนี้กับคนที่เป็นโรคไต โรคตับ หรือคนที่แพ้ยาฟีนาซิติน

อาการข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์
อะเซตามิโนเฟน หรือ พาราเซตามอล สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ อาการทั่วไปที่อาจพบได้ คือ เหนื่อยหรืออ่อนเพลียผิดปกติ ตาหรือผิวหนังเป็นสีเหลือง บางครั้งอาจมีอาการคันเป็นผื่นแดง เจ็บคอ เป็นไข้ มีเลือดออกผิดปกต หรือมีอาการเป็นจ้ำเขียวตามผิวหนัง

ในกรณีที่ได้รับยาเกินขนาด จะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน เป็นตะคริว ถ้าได้รับยาเกินขนาดมากๆ ตับและไตจะวายทำงานไม่ได้ และอาจเสียชีวิตได้ ถ้ามีอาการข้างเคียงอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ก็อาจเกิดเนื่องจากยาตัวนี้ได้

แอสไพริน (Aspirin)
เป็นยาที่ใช้ระงับอาการปวดและลดไข้ และใช้ลดอาการอักเสบในโรคข้ออักเสบ (โดยใช้ในขนาดที่มากกว่าการแก้ปวดลดไข้)

การใช้ยา

สำหรับระงับอาการปวดและลดไข้ ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ขนาดของยาที่ให้ไม่ควรเกินวันละ 3,600 มิลลิกรัม (ชนิดเม็ดสำหรับผู้ใหญ่จำนวน 12 เม็ดหรือชนิดเม็ดสำหรับเด็กจำนวน 60 เม็ด) โดยแบ่งให้ 4-6 ครั้ง ระยะห่างกัน 3-4 ชั่วโมง แต่ไม่ควรให้ติดกันเกิน 5 วัน

สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะแบ่งขนาดได้ยาก นอกจากนี้ความต้านทานของกระเพาะอาหารต่อยานี้ในเด็กเล็กยังมีน้อยเกินไปอีกด้วย ควรใช้ยาพาราเซตามอลน้ำเชื่อมแทน ในการระงับอาการปวดหรือลดไข้

เด็กควรให้ใช้ แอสไพรินชนิดเม็ด สำหรับเด็ก หรือเบบี้แอสไพริน ซึ่งมีตัวยาแอสไพริน 60-75 มิลลิกรัมใน 1 เม็ด โดยให้ยาในขนาดดังนี้
เด็ก 6 เดือน ถึง 1 ขวบให้ครึ่งเม็ดถึง 1 เม็ด
เด็ก 1-5 ขวบ ให้ยาขวบละ 1 เม็ดต่อครั้ง เช่น เด็ก 1 ขวบ ให้ครั้งละเม็ด สองขวบ 2 เม็ด สามขวบ 3 เม็ด
เด็ก 5-10 ขวบ ให้เพียง 5 เม็ด หรือให้ยาแอสไพรินชนิดเม็ดสำหรับผู้ใหญ่ 1 เม็ด ทั้งหมดนี้ให้กินซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง
ส่วนผู้ใหญ่ ครั้งละ 325-1000 มิลลิกรัม หรือ 1-3 เม็ด ทุก 3-4 ชั่วโมง ซึ่งไม่ควรที่จะใช้ยานี้เกิน 10 วัน

สำหรับการรักษาโรคไขข้ออักเสบนั้น ขนาดของยาที่ใช้จะสูงกว่าที่ใช้ระงับอาการปวดมาก ในผู้ใหญ่อาจใช้ถึงวันละ 6-8 กรัม ในเด็กใช้ประมาณ 3 กรัม โดยแบ่งให้ทุก 4-6 ชั่วโมง เนื่องจากโรคไขข้ออักเสบนี้ ผู้ป่วยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาในขนาดสูงและเป็นเวลานาน จึงควรได้รับการตรวจแนะนำวิธีการใช้และขนาดของยาที่ถูกต้องจากแพทย์ เพราะขนาดของยาที่ใช้นั้นขึ้นกับความรุนแรงของโรคด้วย

สิ่งสำคัญในการกินยาแอสไพรินควรกินพร้อมกับอาหารหรือพร้อมกับน้ำ 1 แก้วใหญ่ เพื่อลดอาการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร

ข้อควรระวัง

ไม่ควรใช้แอสไพรินในผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคหืด อานทำให้อาการของโรคเกล่านี้กำเริบได้ ในกรณีที่ใช้ยาตัวนี้ตามลำพัง ถ้าพบว่าอุจจาระมีสีดำ ควรหยุดยาทันที และควรระวังในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กินแอสไพรินเข้าไปในขนาดที่สูง ๆ อาจทำให้ผลการตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะผิดไปได้

สำหรับผู้ที่เคยได้รับยาตัวนี้แล้วมีอาการผิดปกติหรือหญิงตั้งครรภ์หรือในระหว่างให้นมบุตร หรือมีอาการของโรคโลหิตจาง โรคเก๊าท์ โรคตับ โรคไต ควรระวังในการใช้ยานี้

ถ้ากินยาตัวนี้ร่วมกับยาตัวอื่น เช่น ยาลดกรด ยาแก้อักเสบตัวอื่น ยารักษาโรคเบาหวาน และยาที่ทำให้ปัสสาวะเป็นกรดหรือด่าง ควรคำนึงถึงปฏิกิริยาต่อกันของยาที่อาจมีผลต่อกัน

ถ้าแอสไพรินนั้นมีกลิ่นคล้ายน้ำส้มสายชู แสดงว่ายาเสื่อม หมดสภาพในการใช้รักษาโรคแล้ว ไม่ควรนำมาใช้อย่างยิ่ง การกินแอสไพรินร่วมกับเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาขนาดสูงๆ และเป็นเวลานานอยู่แล้ว จะทำให้มีอาการกระเพาะอาหารอักเสบได้

ควรเก็บยาไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด และเก็บในที่แห้ง เพราะว่ายานี้สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความชื้น อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดภาชนะออกดูเห็นว่ามีเกร็ดใสๆ เป็นเส้นๆ อยู่มากมาย ก็แสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว ไม่ควรนำมาใช้

นอกจากนี้ควรเก็บแอสไพรินให้พ้นมือเด็ก เพราะการได้รับแอสไพรินเกินขนาดจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

อาการข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์

อาการที่พบได้บ่อยคือ คลื่นไส้อาเจียน อึดอัดท้อง มีอาการระคายเคืองกระเพาะอาหรได้ ในกรณีที่ใช้แอสไพรินเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ในผู้ป่วยบางคนอาจจะแพ้แอสไพรินทำให้เกิดผื่นแดง ลมพิษ และอาการแพ้มักจะทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมากกว่าปกติ

อาการพิษของแอสไพรินที่เกิดจากการได้รับยามากเกินไป จะทำให้สภาวะความเป็นกรดเป็นด่างของของเหลวในร่างกายไม่สมดุล อาจพบอาการได้ยินเสียงในหู ความคิดสับสน หายใจเร็วขึ้น หรือมีอาการปวดหัวเรื้อรังได้ ส่วนผลของแอสไพรินต่อตับพบน้อย

นอกจากยาดังกล่าวแล้ว ยังมียาผสมคือ ยาแก้ปวดรวมกับยาอื่นเช่น ยานอนหลับ คาเฟอีน ซึ่งเป็นสาระสำคัญในกาแฟ วิตามินซี เป็นอย่างไรก็ตามไม่ควรจะใช้ยาผสม เนื่องจากบางครั้งเราไม่ต้องการผลจากายาตัวอื่นที่ผสมอยู่ เราต้องการใช้ยาเพื่อระงับปวดเท่านั้น ดังนั้นการใช้ยาผสมทำให้เราได้รับตัวยาที่ไม่จำเป็นเข้าไป และยาผสมก็มีราคาแพงกว่ายาที่ไม่ผสมด้วย จึงควรใช้ยาที่มีส่วนประกอบของยาแก้ปวดแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะให้ผลในการรักษาดีกว่า และราคาถูกว่าด้วย

   
 

ข้อมูลสื่อ

59-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 59
มีนาคม 2527