• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เวียนหัว มึนหัว หน้ามืด

     



อาการเวียนหัว (เวียนศีรษะ) มึนหัว (มึนศีรษะ) เมา มึนงง โซเซ โคลงเคลง บ้านหมุน ตัวหมุน หรืออาการที่คล้ายกันนี้ เป็นอาการที่มนุษย์แทบทุกคนเคยเป็น หรือเคยผ่านพบด้วยตนเองมาทั้งสิ้น อาการเหล่านี้บางครั้งก็ชัดเจน บางครั้งก็ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดเป็นลักษณะเหมือนกับแกล้ง แต่บางคนก็แกล้งจริงๆ เช่น แกล้งทำเป็นมึนเมา แกล้งเดินโซเซ หรือแกล้งบ่นว่ามึนหัวเวียนหัว เป็นต้น


การจะรู้ว่าคนไข้มีอาการกลุ่มนี้หรือไม่ และเป็นอย่างไร จึงต้องซักประวัติให้ดี ประวัติจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการวินิจฉัยภาวะนี้
จากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย อาจจะจำแนกอาการเหล่านี้ออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ
1 กลุ่มอาการหมุน (vertigo หรือ rotational sensation)
คือ ความรู้สึกว่าตัวเองหมุนหรือสิ่งรอบข้าง (เช่น บ้าน โต๊ะ เก้าอี้) หมุนหรือโคลงเคลงไปมา ถ้าเป็นมากจะคลื่นไส้ อาเจียน และเดินตรงไม่ได้ และอาจจะมองเห็นบ้านหรือสิ่งรอบข้างหมุนหรือโคลงเคลงไปมา (oscillopsia) จนทำให้ต้องหลับตาเพื่อไม่ให้เห็นลักษณะดังกล่าว
จะรู้ว่าคนไข้มีอาการหมุนจริง(ไม่ใช่แกล้ง) โดยตรวจ

ก. ตา จะพบว่าคนไข้มีอาการตากระตุก( nystagmus) โดยเฉพาะเมื่อให้คนไข้เหลือบมองไปทางซ้ายสุดและขวาสุด โดยไม่ให้หันหน้าตามไปด้วย (ดูหมอชาวบ้านฉบับที่....... ในเรื่องการตรวจตาและระบบประสาท)

ข. การเดิน คนไข้จะมีอาการเดินโซเซไปด้านหนึ่งด้านใด ถ้าไม่โซเซ เวลาเดิน แขนขามักจะเหยียดและเดินช้า (เพราะกลัวว่าจะล้ม)

ค.การยืนเหยียดแขน ให้คนไข้ยืนตรง เหยียดแขนชี้นิ้ว ตรงมาที่ผู้ตรวจแล้วหลับตา นิ้วและแขนจะเบนไปทางหนึ่ง การตรวจสอบวิธีนี้ เรียกว่า การตรวจควิกซ์ (Quix test) ถ้าคนไข้มีอาการหมุนจริง จากการตรวจพบข้อหนึ่งข้อใดข้างต้นหรือหลายข้อ แสดงว่ามีความผิดปกติที่หูชั้นใน (inner ear หรือ labyrinth และ /หรือ ระบบประสาทที่เกี่ยวข้อง ( vestibular system)

 

2. อาการหน้ามือ เป็นลม หมดสติ ( impending faint, หรือ loss of consciousness)
คือ อาการเวียนศีรษะ หน้ามืด หูอื้อ หรือมีเสียงอื้ออึงในหู ตาลาย หรือตาพร่ามัว หน้าซีด มือเท้าซีดเย็นเหงื่อแตก ถ้าเป็นมากจะล้มลงและหมดสติได้ เมื่อนอนราบให้หัว (ศีรษะ) ต่ำสักพัก คนไข้มักจะดีขึ้น ถ้าหมดสติก็จะฟื้นคืนสติได้
เมื่อตรวจคนไข้ จะพบว่าคนไข้หน้าซีด มือเท้าซีดเย็นเหงื่อแตก หรือหมดสติ (ไม่รู้สึกตัวจริงๆ หยิกทุบหรือใช้เข็มแทงก็ไม่รู้สึก) ชีพจรมักจะเต้นช้าและเบา และความดันเลือดมักจะตกอยู่สักครู่หนึ่ง (ดูวิธีตรวจภาวะหมดสติ, ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 8, วิธีตรวจชีพจรและความดันเลือดในหมอชาวบ้านฉบับที่ 16-20 )
อาการหน้ามือเป็นลม แล้วหมดสติ มักเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองทั้งหมด (ไม่ใช่สมองส่วนหนึ่งส่วนใด) ไม่เพียงพอซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

 

3. อาการโงนเงน หรือโซเซ (dysequilibrium or impaired balance )
มักเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการวิงเวียน มึนงง หรือปวดศีรษะ และมักเกิดเฉพาะเวลาที่คนไข้เดิน เมื่อนั่งหรือนอนลง อาการจะหายไป
วิธีตรวจเพื่อให้รู้แน่ว่า คนไข้มีภาวะนี้ อาจทำได้ดังนี้คือ ให้คนไข้เดินตรงไปข้างหน้าสัก 5-10 ก้าว แล้วหันหลังกลับทันทีพร้อมกับเดินต่อ(หันหลังกลับมาเดินในทิศที่ตรงกันข้ามกับที่เดินครั้งแรก) คนไข้จะเกิดอาการเซหรือล้มลง (ผู้ตรวจจะต้องเดินไปพร้อมกับคนไข้ และระวังไม่ให้คนไข้ล้มลงกระแทกกับพื้น คนไข้จะได้ไม่เกิดอันตรายขึ้น)
อาการโงนเงน หรือโซเซ เกิดจากระบบการรับรู้ หรือ ระบบการควบคุมการทำงาน ( ระบบประสาทหลายส่วนผิดปกติ ( multisensory deflicits or motor control disorder)

 

4. อาการมึน งง วิงเวียน หัวเบาๆ โหลงเหลง ( vaquo lighteadedness หรือ อื่นๆ ซึ่งไม่มีลักษณะชัดเจน และไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน 3 กลุ่มข้างต้น
การตรวจร่างการของคนไข้ในกลุ่มที่ 4 นี้ มักจะไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนที่จะอธิบายอาการมึน งง วิงเวียนหรืออื่นๆ เหล่านี้ได้

อาการในกลุ่มนี้ มักเกิดจากภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด กลุ่มอาการหายใจเกิน( hyperventilation syndrome) การขาดการพักผ่อน เป็นต้น คนไข้ที่ให้ประวัติไม่ชัดเจนพอที่จะแยกออกได้ว่าเป็นกลุ่มใด (กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3 หรือกลุ่ม 4 ) ให้ใช้วิธีการตรวจต่างๆ ที่อาจกระตุ้นให้คนไข้เกิดอาการ แล้วถามว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้น เหมือนกับอาการที่เป็นอยู่หรือไม่
ถ้าไม่ใช่ อาการที่เกิดขึ้นใหม่นั้นเป็นอาการที่เกิดขึ้นจาการตรวจ ซึ่งอาจเป็นสิ่งปกติสำหรับคนบางคน หรือเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นจากการตรวจนั้น ถ้าใช่ แสดงว่าอาการที่เกิดขึ้นจากการตรวจแบบนั้น เป็นอาการที่เหมือนกับอาการที่นำคนไข้มาหาหมอและการตรวจที่ใช้จะทำให้เรารู้สาเหตุหรือแนวทางที่จะทำการรักษาคนไข้ต่อไป เช่น

 

1. การตรวจความดันเลือดในท่าต่างๆ
ให้คนไข้นอนพักสักครู่หนึ่งแล้ววัดความดันเลือดในท่านอน หลังจากนั้น ให้คนไข้ยืนขึ้นทันที แล้ววัดความดันเลือดในท่ายืนทันที และหลังจากยืนนิ่งอยู่สัก 2-3 นาที เช่น
ถ้าวัดความดันเลือดในท่านอนได้ 130/90 แต่วัดความดันเลือดในท่ายืนทันทีได้ 90/70 แล้วถ้าวัดความดันเลือดในท่ายืนนิ่งอยู่สัก 2-3 นาทีได้ 90/70 ก็แสดงว่า ความดันเลือดตัวบนตกลง 40 มิลลิเมตรปรอท เมื่อเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่ายืน

ถ้าความดันเลือดตัวบนตกลงมากกว่า 30 มิลลิเมตรปรอท เมื่อเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่ายืน ก็แสดงว่าคนไข้มีภาวะความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่าและถ้าคนไข้มีอาการเวียนหัว โงนเงน และโซเซ เมื่อเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่ายืนด้วย ก็แสดงว่า อาการเวียนหัวโงนเงน และโซเซนั้น เกิดจากความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่า (ในบางคน ความดันเลือดอาจจะตกอย่างมากมากเมื่อเปลี่ยนท่า แต่ไม่มีอาการอะไรเกิดขั้นก็ได้)

ถ้าคนไข้มีอาการเวียนหัว โงนเงนและโซเซ เมื่อเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่ายืน แต่วัดความดันเลือดกลับไม่พบว่าความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่า ก็แสดงว่า อาการเวียนหัว โงนเงน และโซเซนั้น ไม่ได้เกิดจากความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่า

 


2. การหันหน้าไปมา ( neck twist)

ให้คนไข้หันหน้าไปทางขวาทีทางซ้ายทีสลับไปมาเป็นเวลาประมาณ 15 วินาที ถ้าคนไข้เกิดอาการเวียนหัว หรือหน้ามืด เป็นลม ก็แสดงว่า อาการเวียนหัวนั้นเกิดจาก
กระดูกคอผิดปกติ ไปกดทับหรือหักงอหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองส่วนหลัง ( vertebral artery) หรือเกิดจากหูชั้นในหรือระบบประสาทที่เกี่ยวข้องผิดปกติถ้าอาการเวียนหัวที่เกิดจากการหันหน้าไปมา ไม่มีลักษณะเหมือนกับอาการเวียนหัวที่คนไข้เป็นอยู่ ก็แสดงว่าอาการเวียนหัวของคนไข้ไม่ได้เกิดจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ต้องทำการตรวจวิธีอื่นต่อไป เพื่อดูว่าวิธีตรวจใดจะทำให้เกิดอาการเหมือนหรือคล้ายกับอาการเวียนหัวของคนไข้

 

 

3. การหายใจเร็วลึก ( hyperventilation)

ให้คนไข้หายใจลึกๆ เร็วๆ ประมาณ 2-3 นาที ถ้าคนไข้เกิดอาการเวียนหัว หรือหน้ามืด เป็นลม ก็แสดงว่า อาการนั้นเกิดจากการหายใจเกิน ( hyperventilation )

แต่ถ้าอาการนั้น ไม่มีลักษณะเหมือนกับอาการเวียนหัวที่คนไข้เป็นอยู่ก็แสดงว่า อาการเวียนหัวของคนไข้ไม่ได้เกิดจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ต้องทำการตรวจวิธีอื่นต่อไป เพื่อดูว่าวิธีตรวจใดจะทำให้เกิดอาการเหมือนหรือคล้ายกับอาการเวียนหัวของคนไข้

 

 

 

4. การนั่งยองๆ แล้วยืนเบ่ง ( Potentiated Valsalva Meneuver)

ให้คนไข้นั่งยองๆ 30 วินาที แล้วลุกขึ้นยืนทันที และเป่าลมเข้าไปในสายยางเครื่องวัดความดันเลือดให้ได้ความดันประมาณ 40 มิลลิเมตรปรอทเป็นเวลา 15 วินาที ถ้าคนไข้เกิดอาการเวียนหัวหรือหน้ามืดเป็นลม ก็แสดงว่าคนไข้น่าจะเกิดอาการนั้นจากความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด เช่น ความดันเลือดตก เลือดไม่พอ เป็นต้น

แต่ถ้าอาการนั้น ไม่มีลักษณะเหมือนกับอาการเวียนหัวที่คนไข้เป็นอยู่ ก็แสดงว่า อาการเวียนหัวของคนไข้ไม่ได้เกิดจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้นต้องทำการตรวจวิธีอื่นต่อไป เพื่อดูว่าวิธีตรวจใดจะทำให้เกิดอาการเหมือนหรือคล้ายกับอาการเวียนหัวของคนไข้

 

 

5. การหันหลังกลับขณะเดิน ( walking and turning )

ให้คนไข้เดินตรงไปข้างหน้า ( ควรเดินไปข้างๆ คนไข้ด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้ล้ม แต่ห้ามพยุงหรือจับแขนคนไข้ขณะเดิน ) เมื่อคนไข้เดินไปได้ประมาณ 5-10 ก้าวแล้วให้คนไข้หันหลังกลับทันทีพร้อมกับเดินต่อ ( หันหลังกลับมาเดินในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับที่เดินครั้งแรก) ถ้าคนไข้เกิดอาการเซ หรือล้มลง (ต้องรีบจับแขนหรือจับตัวคนไข้ ไม่ไห้คนไข้ล้มลงได้) ก็แสดงว่าคนไข้น่าจะมีความผิดปกติของระบบการรับรู้หรือระบบการควบคุมการทำงาน (ระบบประสาทหลายส่วน ) ผิดปรกติ (multisensory deficits or motor control disorders )

 

 


6. การนวดปุ่มคาโรติด
( carotid sinus massage)
ใช้นิ้วชี้กดลงตรงข้างคอด้านบนตรงบริเวณมุมขากรรไกรข้างใดข้างหนึ่งที่คลำได้ เต้นตุบๆ ( ดูรูปประ
กอบ )
ซึ่งเป็นบริเวณปุ่มคาโรติด (carotid sinus) เมื่อคลำได้แล้ว ให้กดเบาๆ และคลึงบริเวณนั้นประมาณ 5-10 วินาที ถ้าคนไข้เกิดอากรเวียนหัว หรือหน้ามีด เป็นลม ก็แสดงว่า อาการนั้นๆ เกิดจากปุ่มคาโรติดไวเกิน ( hypersensitine carotid sinus)

ยังมีวิธีตรวจอื่นๆ อีก เพื่อจะดูว่าวิธีตรวจอย่างใดสามารถกระตุ้นให้คนไข้เกิดอาการเวียนหัวเหมือนกับที่เป็นอยู่ แต่โดยทั่วไปแล้ว คนไข้มักจะบอกได้ว่า ท่าทางอย่างไร การเปลี่ยนท่าอย่างไร การทำอย่างไร จะทำให้เกิดอาการเวียนหัวที่ตนเป็นอยู่ หรืออาการเวียนหัวที่เป็นอยู่นั้นเป็นมากขึ้นหรือน้อยลง

แม้แต่อาการเวียนหัวเมื่อเปลี่ยนท่า คนไข้ส่วนใหญ่ก็จะบอกได้ว่าเมื่อเปลี่ยนท่าเช่นไร แล้วเกิดอาการหรืออาการลดลงหรือหายไป เมื่อได้ประวัติเช่นนั้นแล้ว ก็ควรจะตรวจความดันเลือดว่ามีการเปลี่ยนแปลงของความดันเลือดเมื่อเปลี่ยนท่าหรือไม่

 

ดังนั้น การซักประวัติให้ดี มักจะทำให้รู้ว่า อาการเวียนหัว มึนหัว หน้ามืด นั้นเป็นอาการเวียนหัวในกลุ่มไหน และอะไรทำให้เกิด อะไรทำให้อาการดีขึ้น อะไรทำให้อาการเลวลง ทำให้การตรวจรักษาต่อไปทำได้ง่ายขึ้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 


 

ข้อมูลสื่อ

72-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 72
เมษายน 2528
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์