• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลเมื่อมีไข้

นอกจากความไม่สมดุลระหว่าง จำนวนบุคลากรทางการแพทย์กับจำนวนประชาชนแล้ว ภาวะสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันยังทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถใช้บริการของสถานพยาบาลได้ทุกครั้ง การดูแลตนเอง หรือดูแลซึ่งกันและกันเมื่อมีความผิดปกติบางอย่าง จึงมีความสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือบรรเทาภาวะวิกฤตก่อนที่จะไปสถานพยาบาลได้ และปัญหาบางอย่างต้องการเพียงพยาบาลในบ้าน

                                 



เมื่อทราบว่าร่างกาย “ มีไข้ “ คืออุณหภูมิสูงกว่า 37.5 ซ (99.5 ฟาเรนไฮต์ )ผู้ที่มีไข้ควรได้รับการดูแลดังนี้ คือ

1. เช็ดตัว

2. ให้ดื่มน้ำมากๆ

3. นอนพัก ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหรือห่มผ้าที่หนาเกินไป

4. อยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ร้อนจนเกินไป และไม่มีลมโกรกมากเกินไป

5. ให้ยาลดไข้ หรือยากันชักตามที่แพทย์สั่ง

 

การเช็ดตัว
การเช็ดตัวเป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกายด้วยน้ำที่ทำให้ผู้มีไข้ รู้สึกสุขสบายขึ้น มีวิธีการปฏิบัติดังนี้คือ

(1 ) เตรียมน้ำ จะเป็นน้ำจากก๊อกหรือจากแม่น้ำลำคลองก็ได้ แต่ถ้ารู้สึกหนาวควรใช้น้ำที่อุ่นเล็กน้อย

(2) ใช้ผ้าขนหนูหรือผ้านิ่มๆ ชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดหรือถูค่อนข้างแรง เพื่อให้เส้นเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นความร้อนจะได้ระเหยออกจากร่ายกายบริเวณที่เช็ด คือ หน้า อก หลัง มือ เท้าทั้งสองข้าง เช็ดจากปลายมือปลายเท้าเข้าหาลำตัว ส่วนบริเวณซอกคอ รักแร้ ข้อพับแขน ข้อพับขา และขาหนีบ ให้วางผ้าชุบน้ำหมาดๆ นั้นไว้จนผ้าอุ่น จึงชุบน้ำบิดให้หมาดแล้ววางพักใหม่ จนกว่าความร้อนของร่างกายจะลดลง ถ้าผู้มีไข้รู้สึกหนาวให้ห่มผ้าบางๆ ไว้ เมื่อเสร็จแล้วเปลี่ยนเสื้อผ้า (ขณะเช็ดตัวไม่ควรมีลมโกรกและไม่เปิดพัดลม ) หลังเช็ดตัวแล้วประมาณ 20 นาที วัดปรอทอีกครั้งว่าไข้ลดลงหรือไม่ เพียงไร

                                          

 

การดื่มน้ำมากๆ
ควรเป็นน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่เย็น ๆ เพื่อให้น้ำขับความร้อนของร่างกายออกทางปัสสาวะนอกจากนี้แล้วอาหารก็ควรจะมีน้ำอยู่มาก เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก

 

 

การนอนพัก
หมายถึงการลดการออกกำลังกาย ทั้งนี้เพื่อลดการเผาผลาญอาหาร จะทำให้ร่างกายมีความร้อนลดลง

 

 

เสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม
ไม่ควรหนาเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายระบายความร้อนออกได้น้อยหรือออกไม่ได้เลย ควรใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับอากาศ

 

 

บรรยากาศ
ควรอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ลมไม่โกรก ไม่อับทึบ ถ้าจะเปิดพัดลม ให้เปิดทางปลายเท้าห่างจากผู้มีไข้และให้ส่ายไปมา

                                                

 

 

 

 

 

ยาลดไข้ หรือยากันชัก
ถ้าแพทย์สั่งยาลดไข้หรือยากันชักไว้ เวลามีไข้ให้รับประทานตามขนาดที่สั่ง และถ้าไข้ยังไม่ลด สามารถให้ยาลดไข้ซ้ำอีกโดยห่างจากมื้อหลังสุด 4-5 ชั่วโมง ยาสามัญประจำบ้านที่แนะนำให้ใช้คือแอสไพริน ทั้งชนิดเด็กและชนิดผู้ใหญ่ รายละเอียดอ่านได้จากซองที่ใส่ การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ เป็นการป้องกันมิให้เด็กชัก

 

ข้อมูลสื่อ

72-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 72
เมษายน 2528
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์