• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอน อิทธิพลของอุณหภูมิต่อการออกกำลังกาย

                                    
 

ในระยะนี้ นักกีฬาที่ดีที่สุดคงไม่พ้น นักมวยแชมเปี้ยนโลกนามว่า สด จิตรลดา เป็นแน่ สิ่งหนึ่งที่คนไทยทั้งชาติเป็นห่วงมาก ว่าคุณสดจะสามารถชกได้ดีเท่ากับเมื่อตอนฝึกอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ เพราะความหนาวเย็นของอากาศในประเทศอังกฤษขณะนั้นต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส หลายๆท่าน โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์กับความหนาวเย็นในตอนเหนือของประเทศไทย หรือผู้ที่เคยไปเมืองนอกมาแล้วย่อมรู้ดีว่า เมื่ออากาศหนาวเย็น การออกกำลังกายมีแต่เพียงขยับแขนขา ก็ทำได้ค่อนข้างลำบาก และต้องพยายามอยู่ใกล้กองไฟ หรือใส่เสื้อผ้าให้หนาเพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อน
 

ทำไมเป็นเช่นนั้น ?
ทำไมเมื่ออากาศหนาวเย็นการเคลื่อนไหวจึงลำบากขึ้น แต่เมื่ออากาศร้อนอบอ้าวมาก การเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายก็ไม่สู้ดีนัก ถ้าเช่นนั้นอุณหภูมิใดจึงจะเหมาะที่สุดสำหรับการออกกำลังกาย?
เราทราบดีว่า มนุษย์เป็นสัตว์เลือดอุ่น เนื่องจากอุณหภูมิของร่างกายค่อนข้างคงที่ คือ ประมาณ 37 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเหล่านี้เกิดขึ้นจาการเผาผลาญอาหารของร่างกายในภาวะอยู่นิ่ง และเกิดจาการหดตัวของกล้ามเนื้อด้วย

การเผาผลาญอาหารเกิดขึ้นเมื่อเรากินอาหารเข้าไป หลังจากผ่านขบวนการย่อยของระบบทางเดินอาหารแล้วอาหารถูกนำไปโดยระบบไหลเวียนเพื่อนำไปให้เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ภายในเซลล์จะทำการแปลงสภาพอาหารแต่ละชนิดให้เกิดเป็นพลังงานขึ้น เสมือนหนึ่งเราเผาเชื้อเพลิงเช่น ถ่าน แก๊สหุงต้ม ให้เกิดพลังงานเพื่อนำมาใช้งาน พลังงานที่ได้นี้ก็คอ ความร้อนนั่นเอง

ความร้อนจึงเกิดขึ้นได้ แม้ขณะที่เราอยู่นิ่ง ๆ แต่ความร้อนจะเพิ่มขึ้นเมื่อเราออกกำลังกาย การออกกำลังกายเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อและการหดตัวของกล้ามเนื้อก็ต้องการพลังงาน ดังนั้นจึงเกิดการเผาผลาญอาหารมากขึ้น ถ้าความร้อนเกิดมากและสะสมในร่างกายมากเกินไป เราก็จะเป็นไข้ ทำให้เราไม่สบาย ดังนั้นร่างกายจึงจำเป็นต้องมีวิธีระบายความร้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงไว้ที่ 37 องศาเซลเซียส
การระบายความร้อนที่สำคัญคือการระบายความร้อนออกมากับเหงื่อและเมื่อเหงื่อเกิดการระเหยก็นำเอาความร้อนส่วนหนึ่งออกจากร่างกายไปตัวเราจึงเย็นลง

นอกจากนี้ร่างกายเราอาจเย็นลงได้จากการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่เย็น เช่น ใต้ต้นไม้ ใต้หลังคาเรือน เปิดพัดลม หรือเข้าไปในห้องปรับอากาศ ในรถติดแอร์
เราอาจจะอาบน้ำเย็น ไปว่ายน้ำในคลอง หรือเราจะอยู่เฉย ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความร้อนเพิ่มขึ้น คงไม่มีใครเมื่อรู้สึกร้อนแล้วยังเต้นแร้งเต้นกา ทนวิ่งต่อไป หรือออกกำลังกายให้หนักขึ้น ถ้าทำเช่นนั้นแล้ว ความร้อนจะเพิ่มขึ้นในร่างกายจนถึงสภาวะเป็นไข้ เมื่อนั้นร่างกายก็จะเกิดปฏิกิริยาต่างๆ มากมายจนทำให้รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวไม่สบายขึ้นมา

เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่หลายๆ ท่านยังเข้าใจผิดอยู่มาก ภายใต้แดดที่แผดร้อน นักวิ่งวิ่งบนถนนเที่ยงวันอากาศร้อนอบอ้าว มีการซ้อมเต้นแอโรบิค ภายในโรงงานที่ร้อนระอุ คนงานถูกบังคับให้ทำงานแข่งกับเวลา ในโรงเรียนต่างๆ ให้ทำกายบริหารหรือเรียนพละศึกษาภายใต้แสงแดดที่เจิดจ้า ท่านเหล่านี้คิดว่า ถ้าอากาศยิ่งร้อน การเผาผลาญพลังงานก็ยิ่งเกิดมาขึ้น และท่านจะสามารถลดน้ำหนักลงได้ดี
แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่ออากาศรอบตัวร้อนมาก ร่างกายจะเฉื่อยชาลงเพื่อไม่เพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกาย และสมองจะเรียกร้องให้ร่างกายเคลื่อนไหวช้าลง เราจึงรู้สึกง่วงนอน และอยากจะอยู่เฉย ๆ ในวันที่อากาศร้อนอบอ้าวมาก

ในกรณีการสูญเสียเหงื่อ ถ้ามากไป ร่างกายก็จะอ่อนเพลียเนื่องจากสูญเสียเกลือแร่ออกไปมากและเกิดภาวะขาดน้ำ ถ้าไม่มีการทดแทนเข้าไปและถึงแม้ช่วงเหงื่อออกน้ำหนักจะลดลงแต่เมื่อดื่มน้ำเข้าไป น้ำหนักก็กลับเข้าสู่สภาพเดิมอีกจึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะทำงาน หรือออกกำลังกายในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ร้อนมาก

มีนักวิจัยหลายท่านทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ทำการศึกษาว่าอุณหภูมิเท่าไรจึงจะเหมาะสมกับการออกกำลังกายมากที่สุด ท่านเหล่านี้พบว่าที่ 28 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิปกติในบ้านเราจะออกกำลังกายได้ดีกว่าที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส และถ้าอากาศเย็นลงกว่าปกติ คือที่ 19 องศาเซลเซียส การออกกำลังกายจะได้ผลดีเยี่ยม

ดังนั้น เวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับออกกำลังกายจึงควรจะเป็นตอนเช้าตรู่ หรือในตอนกลางคืน สำหรับกีฬากลางแจ้ง ส่วนกีฬาในร่มถ้าอุณหภูมิในห้องไม่ร้อนเกินไป หรือมีการปรับอากาศให้เย็นลงก็ไม่เป็นปัญหาว่าจะออกกำลังกายในช่วงไหนของวัน
ทำนองเดียวกัน ในฤดูที่มีอากาศเย็น เช่น ฤดูฝน ฤดูหนาว (ของประเทศไทย  ก็เป็นฤดูที่ออกกำลังกายได้ดีกว่า โรงเรียนต่างๆ ให้ทำกายบริหารหรือฤดูร้อน ในหน้าร้อนจึงเหมาะที่จะเล่นหรือกีฬาในร่ม มากกว่าการวิ่ง หรือกรีฑาชนิดต่างๆ


การออกำลังกายในสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อน ยังควรคำนึงถึงเครื่องแต่งกายของนักกีฬาหรือผู้ทำการออกกำลังกายด้วย เพื่อให้เหงื่อออกได้สะดวกขึ้น เครื่องแต่งกายจึงควรเป็นแบบเปิด คือ เปิดแขนขาให้มากที่สุด ซึ่งทำให้แขนขาเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วว่องไว ช่วยลดอุบัติเหตุได้
การใส่ชุดวอร์มมาทำการวิ่ง ถ้าไม่ใช่เข้าใจผิดว่าจะทำให้เหงื่อออกเพื่อลดน้ำหนัก ก็อาจจะเลียนแบบเมืองนอกโดยไม่คำนึงถึงสภาพดิน ฟ้า อากาศที่ แตกต่างกัน

ชุดวอร์ม หมายถึง ชุดทำให้ร่างกายอบอุ่น เนื่องจากอากาศกลางแจ้งหนาวเย็นมาก การใส่ชุดวอร์มมาวิ่งจึงไม่เพียงแต่ไม่เหมาะสม แต่เกิดข้อเสียขึ้นดังที่กล่าวมาแล้ว
นักเรียนจึงควรเรียนพลศึกษาในตอนเช้าก่อนเข้าห้องเรียน และไม่ควรให้ใส่กางเกงวอร์ม เสื้อมีแขนปิดคออย่างเช่นทุกวันนี้ เพราะเข้าใจว่าจะป้องกันผิวหนังกร้านจากแสงแดด ถ้าเป็นเช่นนั้น ควรใส่ชุดสีขาว หมวกขาว และอยู่นิ่ง ๆ อย่างเช่นชาวอาหรับ ไม่ใช่สีแดงเข้ม สีเขียวเขียวเข้ม ซึ่งจะดูดซึมความร้อนมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น

ผู้ที่น่าสงสารที่สุดคงจะเป็นชาวนากระดูกสันหลังของประเทศ ซึ่งต้องตรากตรำทำงานกลางแดดจ้าในไร่ในนาแล้วยังต้องใส่ชุดสีดำ เนื่องจากต้องเปรอะเปื้อนจากดินโคลนในนา ซึ่งตามหลักแล้วควรจะแต่งชุดขาวจะเหมาะสมกว่า และผลที่ได้คือ ชาวนาต้องล้มเจ็บลงจากโรความดันต่ำเนื่องจากความร้อนทำให้เส้นเลือดขยายตัวมาก และจากการยืนทั้งวัน ทำให้เลือดถูกบีบไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

ในสภาพหนาวจัด ซึ่งไม่พบในบ้านเรานั้น การเผาผลาญจะเกิดขึ้นไม่ดีเนื่องจากเอ็นไซม์ต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนน้ำย่อย จะทำงานไม่ดี พลังงานเกิดขึ้นน้อย ความร้อนจึงเกิดขึ้นน้อยและที่สำคัญที่สุดคือร่างกายต้องสูญเสียความร้อนให้กับสภาพแวดล้อม ร่างกายจึงต้องสงวนความร้อนไว้ โดยทำให้เส้นเลือดที่บริเวณผิวหนังหดตัวไม่ให้เกิดการระเหย หรือกระจายความร้อนออกจากร่างกาย การออกกำลังกายจึงต้องจำกัดอยู่ในห้องซึ่งมีอุณหภูมิปรับให้อุ่น และถ้าจะเล่นกีฬากลางแจ้งก็จำเป็นต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาเทอะทะพอสมควร การชกมวยในเวทีมวยในหอประชุมที่ปรับอากาศให้อุ่น ครั้งที่คุณสด อยู่ที่ประเทศอังกฤษ จึงไม่ทำให้สมรรถภาพของร่างกายลงลงในทางตรงกันข้าม สภาพอากาศที่เย็นกว่าประเทศไทย อาจทำให้ผลการชกดีกว่าขณะอยู่ในเมืองไทยเสียอีก และผลก็พิสูจน์ออกมาว่า สด จิตรลดา สามารถคว้าแชมเปี้ยนมาสมความปรารถนาของทุกคน


 

ข้อมูลสื่อ

72-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 72
เมษายน 2528
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข