• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กลิ่นบอกโรค


คำพระท่านสอนเอาไว้ อายตนะหรือความรับรู้ของคนเรามี 5 ประการได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
รูป           ใช้ประสาทตา
รส           ใช้ลิ้น
กลิ่น        ใช้จมูก
เสียง       ใช้หู
สัมผัส     ใช้มือ

ครั้งมาพิจารณาดูในด้านการแพทย์ เราถูกสั่งสอนกันจนขึ้นใจว่าเวลาตรวจคนไข้ให้ใช้ “ดู คลำ เคาะ ฟัง”
ดู                     ใช้ ตา
คลำกับเคาะ    ใช้ มือ และหู
ฟัง                   ใช้ หู

พึ่งพาประสาทเพียง 3 อย่างเท่านั้น เอาลิ้นกับจมูกเก็บไว้เฉย ๆ

เรื่องของลิ้นจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ นอกจาก เรื่องที่ได้ยินมาว่า ท่านอายุรแพทย์เรืองนามผู้ล่วงลับไปแล้ว คืออาจารย์นายแพทย์ประเสริฐ กังสดาล เวลาพานักเรียนแพทย์กลุ่มใหม่ขึ้นราวน์วอร์ด (เยี่ยมผู้ป่วย) ท่านจะลองให้ชิมปัสสาวะคนไข้ดูก่อนเสมอ วิธีของท่านคือ เอานิ้วชี้จุ่มลงในน้ำปัสสาวะ แล้วเอานิ้วกลางแตะที่ลิ้นนักเรียนคนไหนไม่มีความสังเกต ก็จะหลงชิมปัสสาวะเข้าไปเต็มที่ ผู้เล่าไม่ได้เล่าต่อว่า ที่ท่านทำอย่างนี้เพื่อฝีกความสังเกต หรือมีจุดประสงค์อื่นใด

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของกลิ่นเป็นสิ่งที่ช่วยบอกโรคได้ และใช้กันมาแต่โบราณ ในยุคก่อนที่จะมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์มาช่วยในการวินิจฉัยโรคนั้น แพทย์รู้จักใช้จมูกให้เป็นประโยชน์เป็นอย่างดี และแพทย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่านมีความภาคภูมิใจในสมรรถนะการดมกลิ่นของตัวมาก

โรคที่ได้รับการบันทึกไว้ในวารสารทางการแพทย์ ว่าสามารถให้การวินิจฉัยโดยการดมกลิ่นได้ เช่น
โรคไข้เหลือง กลิ่นเหมือนโรงฆ่าสัตว์
ไข้รากสาดน้อย กลิ่นขนมปังสีน้ำตาลอบใหม่
หัดเยอรมัน กลิ่นขนนกที่ถอนใหม่ ๆ
ภาวะโคม่าจากเบาหวาน กลิ่นผลไม้
ไข้ทรพิษ กลิ่นโรงเลี้ยงสัตว์
โรคคอตีบ กลิ่นหวานเอียน
ไข้เลือดออกตามไรฟัน (จากการขาดวิตามินซี) กลิ่นเหม็นเน่า
เพลลากรา (โรคขาดไนอาซีนและวิตามินบี 6) กลิ่นขนมปังบูด

กลิ่นที่กล่าวมาทั้งหมด ดูจะหลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียงอย่างเดียว คือภาวะโคม่าจากเบาหวานยังมีการสอนให้รู้จักดมกลิ่นหอมแบบผลไม้จากลมหายใจของผู้ป่วยอยู่ แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจจะดมเท่าไรแล้ว สู้ดูผลน้ำตาลและคีโตนส์ในเลือดเอาดีกว่า
ถ้าเรานึกถึงสภาพหมอสมัยก่อนที่อาจให้การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ยังไม่เห็นตัวคนไข้ เพียงแต่ได้กลิ่นที่ลมโชยออกมาจากห้อง ก็ต้องยอมรับว่าความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ได้ทำให้เราสูญเสียสิ่งซึ่งสวรรค์ประทานให้เรามาตั้งแต่อ้อนแต่ออก พูดง่าย ๆ เรามีของดีติดตัวอยู่กับตัวแล้ว แต่ไม่รู้จักนำออกมาใช้

การที่จะพัฒนาความสามารถในการดมกลิ่นโรคขึ้นมาอีก ไม่ใช่ของง่ายปัญหาที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นการขาดผู้สอน ระยะเวลาร่วมศตวรรษที่ศาสตร์แห่งการดมกลิ่นถูกละเลยทำให้ขาดการสืบทอด ตัวผู้รู้ก็ล้มหายตายจากไปหมดเหลืออยู่แต่ตัวหนังสือ ที่ผู้อ่านต้องมาตีความเอาเองว่า ไอ้คำ “เหม็น” ,“เน่า” , “ฉุน” มันแตกต่างกันอย่างไร
ถ้างั้นก็ปล่อยให้มันปรากฏเป็นตัวหนังสืออยู่อย่างนั้นแหละ
ยังก่อน มีเหตุผลดี ๆ อยู่หลายข้อที่คัดค้านว่าไม่ควรทำเช่นนั้น
อย่างแรกการดมกลิ่นยังใช้บอกโรคกันอยู่ทั่วไป นอกไปจากกลิ่นผลไม้ในคนไข้เบาหวานที่ได้กล่าวแล้ว กลิ่นเหมือนปัสสาวะในคนไข้ยูรีเมียและกลิ่นเหม็นสาบในคนไข้ที่การทำงานของตับล้มเหลว ล้วนเป็นที่รู้จักกันดี.

อย่างที่สอง การดมกลิ่นอาจช่วยใจการวินิจฉัยได้ก่อนเครื่องมือทันสมัยต่างๆ กลิ่นต่างๆ ในข้อแรกเป็นตัวอย่างอันดี คนไข้ทั้งสามอาจมาหาเราด้วยอาการอย่างเดียวกัน คือ โคม่า ถ้าเรามีความรู้เรื่องกลิ่นอยู่ซักหน่อยจะวินิจฉัยโรคได้ก่อนที่จะถามประวัติเสียอีก
ตัวอย่างที่ดีอีกอันคือ ในผู้ป่วยที่มีเสมหะเหม็นเน่า ช่วยให้เราคิดถึงเชื้ออะแนโรบิค และวางยาได้ถูกต้อง ในขณะที่รอผลการเพาะเชื้อ ซึ่งกว่าจะได้ก็กินเวลาหลายวัน

เหตุผลข้อที่สาม มีโรคบางอย่างที่การตรวจทางห้องทดลองทำได้ยาก แต่สามารถบอกได้โดยการดมกลิ่นพวกนี้ได้แก่สารพิษต่าง ๆ ที่กิน หรือดมเข้าไป กว่าที่คนไข้จะมาถึงเรา ก็อาการหนักเกินกว่าจะบอกเราได้แล้วว่าได้อะไรเข้าไป บ่อยครั้งที่ผู้พามาก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ เป็นหน้าที่ของจมูกของเราต้องฟุดฟิดดู
ถ้าได้กลิ่นแก๊ส นึกถึง คาร์บอนมอนอกไซด์
กลิ่นฝรั่งสุก นึกถึง พวกฟอสฟอรัส อาร์เซนิค ยาหัวกระโหลกไขว้
กลิ่นหญ้าไหม้ นึกถึง กัญชา เป็นต้น
โรคอีกกลุ่มที่พบน้อย วินิจฉัยยาก แต่เผอิญมีกลิ่นแตะจมูกคือ กลุ่มความผิดปกติของขบวนการเมตาบอลิซึ่มที่มีมาแต่กำเนิด โรคชื่อยา ๆ ยาวๆ เหล่านี้มักให้กลิ่นพิเศษทางปัสสาวะเช่น
TYROSINOSIS                          ให้        กลิ่นคาวปลา
PHENYLKETONURIA              ให้        กลิ่นสาบ
ISOVALERIC ACIDURIA          ให้        กลิ่นถุงเท้าค้างปี
OASTHOUSE SYNDROME     ให้        กลิ่นใบคึ่นช่าย เป็นต้น
การทำความคุ้นเคยกับกลิ่นบางอย่างก็ให้ประโยชน์ได้ อย่างเช่น ในกรณีของเด็กแรกเกิดคนหนึ่งที่มีปัสสาวะกลิ่นประหลาด ทำเอาแพทย์ประจำบ้านหัวหมุนไปพักใหญ่ กว่าที่จะรู้ว่ากลิ่นนั้นมาจากยาแอมพิซิลลินที่แม่ได้รับก่อนคลอด
 

เราจะฟื้นฟูการดมกลิ่นโรคขึ้นมาได้อย่างไร?
เห็นจะต้องร่วมแรงใจกันละ เพราะดังที่กล่าวแล้ว ศาสตร์นี้ถูกละเลยไปนามนมกาเล ถ้ายังมีคนเห็นความสำคัญอยู่ ก็ต้องมาเริ่มต้นกันเหมือนใหม่ทีเดียวแหละ
เราฝึกการใช้ประสาทตา หู สัมผัส มามากเท่าไร เห็นจะต้องใช้เวลาเท่ากันหรือมากกว่าในการฝึกจมูก
เราคงจำได้ว่า ไม่ใช่ของง่ายที่จะฝึกการเคาะปอดเพื่อหาระดับน้ำหรือฝึกหูให้ได้ยินเสียงการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจ ฝึกตาให้รู้จักแยกแยะเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ไม่มีอะไรเกินความสามารถ ถึงแม้จมูกคนเราอาจไม่ดีเท่าจมูกสัตว์บางอย่าง แต่ก็สามารถแยกแยะกลิ่นหอมชนิดต่างๆ ออกได้กว่า 100 ชนิด แม้ว่าความสามารถในการถ่ายทอดกลิ่นออกมาเป็นคำพูดจะทำได้จำกัด ทำให้กลิ่นโรคเดียวกันถูกสาธยายว่าเป็น กลิ่น “สุนัขป่า”,“สาบ”, “อับ”,“หนู” , “ม้า”, “เหงื่อ” แต่เราอาจสร้างกลิ่นเทียมขึ้นมาใช้ฝึกนักเรียนแพทย์และแพทย์ ให้คุ้นเคยกับกลิ่นที่พบน้อยหรือไม่อาจหาของจริงมาสอนได้

ถ้าเรากลับมาให้ความสนใจกับเรื่องของกลิ่นอีกครั้งหนึ่ง เรื่องต่อไปนี้คงไม่ใช่เป็นเพียงตำนานที่เล่ากันจากปากหนึ่งไปสู่ปากหนึ่ง
(กาลครั้งหนึ่ง ยังมี ...) อาจารย์ (ชื่อ).......ท่านสามารถดมกลิ่นอุจจาระแล้วบอกได้ว่า เด็กคนนี้ท้องเสียจากเชื้ออะไร


หมายเหตุท้ายเรื่อง ผู้ที่สนใจจะดมกลิ่นโรคให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก ขอเชิญหารายละเอียดอ่านได้จากหนังสือ POSTGRADUATE MEDICINE เดือนเมษายน 2523 หน้า 110

 

ข้อมูลสื่อ

70-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 70
กุมภาพันธ์ 2528
โรคน่ารู้
นพ.กฤษฎา บานชื่น