• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลักษณะของเด็กสิบเอ็ดเดือนถึงหนึ่งขวบ

                             

 

 

  สภาพผิดปกติ

 243. ไอ
มีคนในครอบครัวเป็นหวัดและติดต่อไปยังเด็กทำให้น้ำมูกไหล ไอจาม คุณแม่คงไม่รู้สึกเดือนร้อนกับอาการไอของลูกนัก เพราะรู้ว่าเป็นไอหวัด เมื่อรักษาโรคหวัดหาย อาการไอมักจะหายไปด้วย แต่ทว่ามีบางกรณีที่อาการหวัดหายไปนานแล้ว แต่เด็กยังไออยู่ หนึ่งอาทิตย์ก็แล้ว สองอาทิตย์ก็แล้ว ยังไม่หายไอสักที คุณแม่ให้กินยาตามที่หมอสั่งก็ยังไม่ยอมหาย คราวนี้คุณแม่คงกังวลกับอาการไอของลูกมาก เริ่มสงสัยว่าเด็กอาจเป็นวัณโรค ถ้าหากเด็กได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจีเอาไว้แล้ว คุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วงและถึงแม้เด็กจะยังไม่ได้ฉีควัคซีนบีซีจี แต่ไม่มีใครในบ้านเป็นวัคโรค อาการไอเรื้อรังของเด็กคงไม่ใช่เพราะวัคโรค ถ้าหากคุณแม่ยังกลัวอยู่ ก็พาลูกไปทดสอบวัณโรค (Tuberculin Test) ถ้าให้ผลลบก็แปลว่าไม่ได้เป็น

มีเด็กจำนวนมากที่ไออยู่นานหลังจากหายหวัดแล้ว อาจเป็นเพราะมีหลอดลมที่ไว้เป็นพิเศษ ถ้าเด็กไม่มีไข้ ร่าเริงดี กินอาหารได้ อย่าดูแลแบบเด็กป่วย วันไหนอากาศดีก็พาไปเล่นนอกบ้าน อาบน้ำได้ในช่วงอากาศไม่เย็น อย่าพาลูกไปหาหมอบ่อยๆ ด้วยสาเหตุนี้เพียงอย่างเดียว เพราะเด็กอาจติดเอาสารพัดโรคจากห้องคอยคนไข้ในร้านหมอ ถ้าคุณแม่ดูด้วยตาแล้วมั่นใจว่าลูกแข็งแรงดีเหมือนปกติก็อย่าไปกังวลนักกับอาหารไอของลูก คอยให้ลูกดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ และมาก ๆ ก็พอแล้ว

เด็กมีเสมหะมากและมีเสียงครืดคราดในอกบ่อยๆ เมื่ออากาศเปลี่ยน มักจะไอในช่วงก่อนนอนและหลังตื่นนอนตอนเช้า บางครั้งไอมากตอนก่อนนอนจนอาเจียนเอาอาหารมื้อเย็นออกมา ถ้าคุณย่าคุณยายอยู่ด้วยคงบอกว่าสงสัยจะเป็นไอกรน แต่เด็กสมัยนี้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไอกรนกันแล้ว ไม่ค่อยมีใครเป็นโรคนี้

แต่ถ้าหากลูกคนที่กำลังเป็นไอกรนหรือเด็กข้างบ้านที่เล่นด้วยกันบ่อย ๆ กำลังเป็น คุณแม่จะวางใจไม่ได้ ต้องพาลูกไปหาหมอให้ช่วยฟังเสียงไอของลูกว่าเป็นไอกรนหรือไม่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้าย สมัยนี้หมอที่ฟังเสียงไอได้เก่งยากขึ้นทุกที เพราะไม่ค่อยมีเด็กเป็นไอกรน ในกรณีที่น่าสงสัย ควรตรวจด้วยวิธีเพาะเชื้อ หรือตรวจเลือด

 

 224.อาเจียน
เวลาลูกอาเจียน คุณพ่อคุณแม่มักตกใจ แต่ถ้าคุณแม่เลี้ยงลูกเองและรู้จักสุขภาพของลูกดี ก็ไม่มีอะไรน่าตกใจนัก เด็กที่ปกติมีเสมหะมาก มีเสียงครืดคราดในอก หลังอาหารเย็น กำลังจะเข้านอนเกิดไอขึ้นมาเป็นชุดจนอาเจียนออกมา แปลว่าเด็กอาเจียนเพราะไอ ถ้าไม่ได้ไอก็ไม่อาเจียน หลังอาเจียนแล้วก็ไม่มีอาการผิดแปลก ไม่มีไข้ได้แต่ไอ ในบางครั้งและนอนหลับไปเลย รุ่งเช้าถ้าเด็กยังไอมากค่อยพาไปให้หมอดูอาการก็ได้

โรคร้ายแรงที่เด็กอาเจียนพร้อมกับอาการไอ คือโรคไอกรน แต่ถ้าเด็กฉีดวัคซีนเอาไว้ครบถ้วนแล้ว คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวล บางครั้ง พ่อแม่ลูกร่วมวงรับประทานอาหารมื้อเย็นกันอย่างเอร็ออร่อย ลูกกินข้าวเข้าไปตั้ง 2 ชาม กินขาหมูมัน ๆไปหลายชิ้นจนเด็กพุงกาง ตกดึกเด็กลุกขึ้นมาอาเจียน คุณแม่จะรู้ทันทีว่าเป็นเพราะกินมากเกินไป เมื่ออาเจียนแล้วเด็กก็สบาย นอนหลับดี ไม่มีไข้ มีอาการอาเจียนทั้ง ๆที่เด็กไม่มีไข้แต่น่ากลัวอยู่อย่างหนึ่งคือ โรคลำไส้กลืนกัน ความจริงถ้าเด็กเป็นโรคนี้จะไม่อาเจียนแต่อย่างเดียว จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงด้วย เด็กคงร้องไห้จ้าแสดงว่าทุรนทุรายอยู่หลายนาทีแล้วก็สงบไป พอนึกว่าหายกลับเริ่มร้องอย่างเจ็บปวดอีกสลับกันเป็นช่วง ๆ เช่นนี้ ต่อมาก็อาเจียนเด็กบางคนอาจอาเจียนก่อนที่จะร้องอย่างทรมาน ในกรณีเช่นนี้คุณแม่มักรู้ทันทีว่าเด็กมีอาการผิดปกติและรีบพาไปหาหมอ ในช่วงย่างเข้าฤดูร้อนถ้าเด็กมีไข้สูงกว่า 38 องศาและอาเจียนมักเป็นโรคตุ่มเม็ดพองในปาก (ดูหัวข้อ 185 หมอชาวบ้าน ฉบับ 48 ) เด็กจะไม่ค่อยยอมกินอาหาร

นอกจากนั้น ถ้าเด็กเป็นหวัด และมีไข้สูง บ่อยครั้งที่เด็กอาเจียนด้วย เราก็รู้ว่าเด็กอาเจียนเพราะไข้ เนื่องจากเชื้อไวรัสต้นเหตุของไข้หวัดทำให้ท้องของเด็กปั่นป่วนจึงอาเจียนออกมา กรณีเช่นนี้เราก็รักษาโรคหวัด ตามปกติอาการอาเจียนมักไม่เป็นอยู่นานนัก ช่วงที่เด็กอาเจียนควรให้น้ำผลไม้หรือน้ำชาเย็น ๆ ทีละน้อย

 

 245.ไม่ค่อยอยากอาหาร
เด็กที่ตามปกติเคยกินข้าวมากกว่านม แล้วจู่ ๆ เกิดไม่ยอมกินอาหารแข็ง จะดื่มแต่นมหรือของเหลวกรณีเช่นนี้เด็กอาจเป็นโรคตุ่มเม็ดพองในปาก จึงเจ็บคอกลืนอาหารไม่ได้ คุณแม่ลองวัดปรอทดู ถ้ามีไข้สูงกว่า 37.5 องศา ให้เด็กอ้าปากกว้างๆ ดูบริเวณใกล้โคนลิ้นไก่ ถ้าเห็นตุ่มเล็ก ๆ ขนาดเมล็ดข้าวฟ่าง 2-3 ตุ่ม ก็แสดงว่าใช่โรคนี้แน่
บางครั้งเด็กมีไข้สูงกว่า 38 องศา ก่อนหน้าที่จะเบื่ออาหารหนึ่งวัน แต่วันนี้ไม่มีไข้ ตุ่มเม็ดพองเกิดขึ้นหลังจากไข้ลดลงแล้ว โรคนี้มักเป็นมากช่วงต้นฤดูร้อน เด็กที่ไม่เคยมีน้ำลายยืด เวลาเป็นโรคนี้อาจมีน้ำลายมากและมีกลิ่นเหม็นด้วย

โรคนี้มีเชื้อไวรัสเป็นต้นเหตุ จึงไม่มียารักษาโดยเฉพาะแต่ก็ไม่มีอาการรุนแรงอะไร และจะหายไปภายใน 5-6 วัน ระหว่างนั้นเด็กกินอาหารแข็ง ๆ ไม่ได้ ของเปรี้ยว ของเค็มจัดจะทำให้เด็กรู้สึกเจ็บแสบในปาก คุณแม่คงต้องให้เด็กดื่มนมไปพลางก่อนรอจนกว่าจะหาย
เด็กบางคนไม่ชอบดื่มนมเลย คุณแม่ลองให้ไอศกรีมดูก็ได้หรือจะให้ ไข่ตุ๋น เต้าฮวย ขนมคัสตาร์ดพุดดิ้ง สังขยา ขนมหม้อแกง รสอ่อน ๆไปก่อนก็ได้

ถ้าเป็นเด็กที่เคยกินเก่งมาก่อนแล้วต้องมาอดอาหารเช่นนี้จะผอมลงอย่างรวดเร็ว แขนขาไม่มีแรง คุณย่าคุณยายคงตกใจคิดว่าเป็นโรคอะไรร้ายแรง แต่โรคนี้จะหายแน่นอนภายในไม่กี่วัน ในช่วงนี้คอยระวังอย่าให้เด็กขาดน้ำเท่านั้น ให้เด็กดื่มนม น้ำ น้ำชา หรือน้ำผลไม้ (ที่ไม่เปรี้ยว) อย่างพอเพียง และปล่อยให้เขาลุกขึ้นเล่นได้ ไม่ควรอาบน้ำให้ในช่วงที่เด็กยังไม่กินอาหาร ใช้วิธีเช็ดตัวเอาเพื่อถนอมพลังงาน
ในช่วงฤดูร้อนซึ่งอากาศร้อนจัด เด็กบางคนจะมีอาการเบื่ออาหารทั้ง ๆ ที่ไม่มีไข้ และอารมณ์ดีเป็นปกติ

 

 246.ไส้เลื่อน
เด็กที่เคยเป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบตั้งแต่ตอนอายุ 2-3 เดือน ถ้าเป็นเด็กผู้ชายอาจทำให้ลูกอัณฑะบวมโตไปด้วย จนกระทั่งอายุใกล้ 1 ขวบแล้ว บางคนยังไม่หาย บางคนหมอแนะนำให้ผ่าตัด แต่คุณพ่อคุณแม่เห็นลูกยังเล็กไม่กล้าให้หมอผ่าตัดตอนนั้นจึงรอมาจนถึงป่านนี้ บางคนเพิ่งเป็นไส้เลื่อนเมื่ออายุเกิน 6 เดือนแล้วก็มี คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาหมอผ่าตัดว่าจะทำอย่างไรดีกับไส้เลื่อนของลูก หมอสมัยสไตล์อเมริกันจะแนะนำให้ผ่าตัดทันที การทำผ่าตัดในโรงพยาบาลใหญ่ ๆซึ่งวางยาสลบได้ทั้งตัวนั้น จะทำเร็วหรือช้าไส้เลื่อนก็หายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นควรทำเร็วเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาไส้เลื่อนติดค้างให้คุณพ่อคุณแม่ตกอกตกใจ

แต่หมอรุ่นเก่าและหมอที่อยู่โรงพยาบาลเล็ก ๆ ไม่สามารถวางยาสลบทั้งตัวได้ ต้องใช้ยาชาเฉพาะที่เวลาผ่าตัด คงแนะนำให้รอจนเด็กโตพอพูดรู้เรื่องค่อยผ่าตัด คุณแม่จะทำตามวิธีไหนก็ได้ การผ่าตัดไส้เลื่อนนั้นทำเมื่อไรก็ได้ไม่อันตราย ควรทำตามความถนัดของคุณหมอแต่ละคน แต่ถ้าเด็กเคยเป็นไส้เลื่อนติดค้างมาแล้ว 2-3 หนล่ะก็ รีบผ่าตัดจะดีกว่า

อาการไส้เลื่อนติดค้าง (incarcerated hernia) คือลำไส้เลื่อนลงไปตามช่องแล้วเกิดไปปิดหรือกดทับกันในช่องนั้น ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวไม่ได้ เลือดเดินไม่สะดวก ปล่อยทิ้งไว้ไม่กี่ชั่วโมงลำไส้จะเน่า เด็กคงร้องงอหายเพราะความเจ็บปวดที่ลำไส้อุดตัน คุณแม่ที่มีลูกเป็นไส้เลื่อน เมื่อลูกร้องไห้จ้า ก่อนอื่นจะต้องดูที่บริเวณขาหนีบทุกครั้ง ถ้ากดแล้วไส้ไม่กลับขึ้นไปและเด็กแสดงอาการเจ็บ แสดงว่าเกิดการติดค้างขึ้นแล้ว

อาการไส้เลื่อนติดค้างนี้ บางครั้งก็หายไปเองได้ตามธรรมชาติ แต่ควรพาลูกไปให้หมอช่วยจัดการจะปลอดภัยกว่า เพราะถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ต้องผ่าตัดทันที เด็กที่เป็นไส้เลื่อนชนิดที่ลูกอัณฑะบวมโตจนขัดขวางการหัดเดิน ควรได้รับการผ่าตัดโดยเร็ว


จบตอน 1 : อายุหนึ่งขวบ

ข้อมูลสื่อ

68-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 68
ธันวาคม 2527