• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษา (3)

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”

   

 


โรคที่พบบ่อยที่สุด (ต่อ)

ตัวอย่างคนไข้ 2 คนที่เกิดเป็นโรคจากความเครียดความกังวล โดยคนหนึ่งเกิดอาการเน้นหนักไปทางด้านการหายใจ ส่วนอีกคนหนึ่งเน้นหนักไปทางอาการเวียนศีรษะหน้ามืด ได้กล่าวไว้แล้วในฉบับก่อน
ฉบับนี้จะยกตัวอย่างคนไข้ที่เกิดเป็นโรคจากความเครียดความกังวล ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในสังคมปัจจุบันอีกสักคน เพื่อแสดงให้เห็นว่าความเครียดความกังวล อาจจำทำให้เกิดอาการในระบบหนึ่งระบบใดของร่างกาย หรือในหลาย ๆ ระบบของร่างกายก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบหายใจ ระบบหัวใจ ระบบทางเดินอาหาร(กระเพาะลำไส้)หรือระบบอื่นใดก็ตาม

                

ตัวอย่างที่ 3
ชาวไทยโสดอายุ 20 ปี มีอาการปวดท้องในบริเวณยอกอกและเหนือสะดือเป็นประจำมา 2-3 เดือน

หมอ : คุณปวดท้องเวลาหิว หรือเวลาอิ่ม หรือ เวลาไหนบ้างครับ

คนไข้: เวลาหิวก็ปวดครับ บางครั้งกินข้าวเข้าไปก็หาย แต่บางครั้งกินข้าวเข้าไปแล้วก็ปวด บางที
ปวดเวลาอื่นครับ

หมอ : เวลาอื่นที่ปวดเป็นเวลาเช้า กลางวัน เย็น หรือกลางคืนครับ

คนไข้ : เป็นเวลาไหนก็ได้ครับ บางครั้งก็เป็นเวลาเช้า บางครั้งก็เป็นเวลากลางวัน บางครั้งก็เป็นเวลากลางคืน โดยมากมักเป็นเวลาหิว หรือเมื่อกินอาหารผิดเวลาครับ

หมอ : อุจจาระ ปัสสาวะเป็นอย่างไรบ้างครับ

คนไข้ : อุจจาระมักจะเหลว วันหนึ่ง 2-4 ครั้ง ส่วนปัสสาวะปกติครับ

หมอ : อุจจาระมีมูกมีเลือด หรือมีอะไรผิดปกติบ้างไหมครับ

คนไข้ : ไม่มีครับ เป็นแต่ค่อนข้างเหลว หรือบางครั้งก็เหลวเป็นน้ำ แต่ครั้งละไม่มากก แล้วก็หายเองครับ

หมอ : ในระยะเดือนสองเดือนนี้ คุณอ้วนขึ้นหรือผอมลงครับ

คนไข้ : เท่า ๆ เดิมครับ หมอครับ บางครั้งก็มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องอืดแน่นและเรอเปรี้ยวด้วย
ครับ

จากประวัติจะเห็นว่าอาการปวดท้องนี้สัมพันธ์กับอาหาร คือมักจะเป็นเวลาท้องว่าง (เวลาหิว) บางครั้งเมื่อกินอาหารเข้าไปแล้ว ก็หายปวดท้อง แต่บางครั้ง (โดยเฉพาะเมื่อปล่อยให้ปวดท้องมาก ๆ แล้ว จึงไปกินอาหาร) แทนที่จะหายปวด กลับปวดมากขึ้น

อาการเช่นนี้ เป็นอาการของโรคที่ชาวบ้านเรียกว่า “โรคกระเพาะ” นั่นคือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือเป็นแผลทั้งนี้อาจหมายความรวมไปถึงลำไส้ส่วนที่ติดต่อกับกระเพาะ หรือลำไส้เล็กส่วนแรก(duodenum) ด้วย ส่วนอาการอุจจาระเหลวเป็นอาการหนึ่งของ “โรคกระเพาะ” นี้ แต่ในบางคนอุจจาระอาจจะปกติก็ได้ อย่างไรก็ตามถ้าคนไข้มีประวัติอุจจาระเหลว จะต้องถามถึงน้ำหนักร่างกายว่าเป็นอย่างไร ถ้าผอมลงชัดเจนจะต้องหาสาเหตุอื่นด้วย

การตรวจร่างกายมักจะไม่พบอะไรผิดปกติ นอกจากการกดเจ็บที่ท้องส่วนบน ส่วนยอดอก (ลิ้นปี่) หรือชายโครงทั้ง 2 ข้าง แต่ถ้าคนไข้มีอุจจาระดำเหมือนเฉาก๊วยหรือยางมะตอยเป็นครั้งคราว ซึ่งแสดงว่ามีเลือดออกในกระเพาะลำไส้ส่วนบน อาจจะตรวจอาการซีดได้
“โรคกระเพาะ” ส่วนมากเกิดจากความเครียดความกังวล ทำให้กระเพาะลำไส้ทำงานมากผิดปกติ มีกรดและน้ำย่อยออกมาในกระเพาะมาก ซึ่งจะไปกัด(ระคาย) เยื่อบุกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนแรกทำให้อักเสบ ถ้าอักเสบมากก็จะเกิดเป็นแผล ถ้าเป็นแผลมากก็อาจจะทำให้กระเพาะลำไส้ทะลุหรือตกเลือดได้ อาการเรอเปรี้ยวก็เกิดจากการเรอหรือสำรอกเอากรดในกระเพาะขึ้นมาถูกลิ้น จึงรู้สึกเปรี้ยว

“โรคกระเพาะ” มักจะเกิดในคนที่มีความมานะมาก ชอบทำอะไรอย่างเร่งรีบหรือชอบทำอะไรให้เสร็จอย่างรวดเร็วหรือก่อนกำหนด ทำให้เกิดการกินอาหารผิดเวลา ทำให้กรดและน้ำย่อยที่ออกมากัดกระเพาะที่ว่าง
อยู่ เกิดเป็น “โรคกระเพาะ” ขึ้น


 

วิธีรักษา
1.ให้กินอาหารหรืออย่างน้อยน้ำหวาน น้ำนม หรือแม้แต่น้ำเปล่าทันทีที่หิว อย่าปล่อยให้หิวจัด จะทำให้ปวดท้องมาก และทำให้กระเพาะอาหารอักเสบเป็นแผลมากขึ้น

2.อย่ากินอาหารที่เสาะท้อง เช่นอาหารที่เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด น้ำส้มสายชู เหล้า เบียร์ หรือของหมักดองต่างๆ เพราะอาหารเหล่านี้จะระคายเยื่อยุกระเพาะที่อักเสบอยู่และทำให้อักเสบมากขึ้น

3.ทำจิตใจให้สงบอย่าเร่งรีบหรือมุจนเกินไป อย่าห่วงกังวลจนเกินไป อย่าโกรธจนเกินไป อย่าเกลียดจนเกินไป ให้สวดมนต์ภาวนาตามศาสนาของตน

4.ออกกำลังกายเพิ่มขึ้นทีละน้อย ๆ เช่นการเดิน วิ่งเหยาะ ๆ เดินสลับวิ่ง หรืออื่น ๆ

5.กินยาลดกรด (ที่ถูกต้องและได้มาตรฐาน เช่นยาลดกรดขององค์การเภสัชกรรม) ถ้าอุจจาระเหลวหรือบ่อย ควรใช้ยาลดกรดที่ไม่มีแมกนีเซียมผสมอยู่ เช่น ยาอะลูมีเนียมไฮดรอกไซด์ จะเป็นอย่างน้ำหรืออย่างเม็ดก็ได้ ถ้าท้องผูกควรใช้ยาลดกรดที่มีแมกนีเซียม ผสมอยู่เช่น ยาอัลมาเจล (ขององค์การเภสัชกรรม) ที่ขายในท้องตลาดที่ไม่ใช่ขององค์การเภสัชกรรมก็มีมากมาย เช่น อะลั่มมิลค์ เกลูซิล มาลอกซ์ เป็นต้น ให้กินครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ หรือครั้งละ 1-2 เม็ด (ยาเม็ดต้องเคี้ยวก่อนกลืน) 1-2 ชั่วโมงหลังอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอนและทุกครั้งที่ปวดท้อง ถ้าอาการปวดท้องยังเป็นบ่อย ๆ หรือมีอุจจาระดำเหมือนเฉาก๊วยหรือยางมะตอย อาจกินครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะทุก 1-2 ชั่วโมง ตลอดวันคลอดคืน หรือยกเว้นเวลาหลับ จนอาการดีขึ้นแล้วจึงกินน้อยครั้งลง

6.ถ้าชอบเครียดชอบกังวล หรือหงุดหวิดง่าย ควรกินยาไดอะซีแพม (ขนาด 2 หรือ 5 มิลลิกรัม) ครั้งละครึ่งเม็ด หลังอาหารเช้า-เย็น และ 1 เม็ดก่อนนอน
ถ้ารู้สึกหงอยเหงา เศร้า หรือเซ็ง อาจกินยาอะมีทริบทีลีน (amitryptyline 10 มิลลิกรัม)ครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารเย็น ถ้ายังไม่ดีขึ้นอาจเพิ่มอีก 1 เม็ดก่อนนอนด้วย
ยาไดอะซีแพม และอะมีทริบทีลีน กินแล้วจะง่วง ถ้ากินยาอะไร (ไม่แต่เฉพาะยา 2 ตัวนี้) แล้วง่วง จะต้องงดเว้นจากการขับรถหรือจากการทำในสิ่งที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย


วิธีป้องกัน
เช่นเดียวกับวิธีรักษา โดยเฉพาะข้อ 1-4

ตัวอย่างคนไข้ 3 คนที่กล่าวถึงในฉบับนี้และฉบับก่อน คงจะพอทำให้เห็นว่าความเครียดความกังวล สามารถทำให้เกิดโรคหรืออาการในระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ทุกระบบ หรือเกือบทุกระบบ ไม่ใช่แต่จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ มึนเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย สมรรถภาพทางเพศลดลง “เซ็ง” ความจำเสื่อม หลง เลอะ และอาการทางจิตทางประสาทเท่านั้น

ความเครียดความกังวล จึงเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดและพบบ่อยที่สุดในในบรรดาสาเหตุทั้งหลายที่ทำให้เกิดโรคในปัจจุบัน จึงนับได้ว่า “โรคเครียด” นี้เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด
ผู้ที่จะเป็นหมอ จึงต้องรู้จักโรคนี้ให้ดี เพราะโรคนี้อาจจะแสดงออกเป็นอาการต่าง ๆ โดยไม่เกี่ยวกับอาการทางจิต หรือทางประสาทก็ได้


หมายเหตุ

อาการปวดท้องด้านบน (ครึ่งบน หรือเหนือสะดือขึ้นมา) ที่ไม่มีอาการไข้ (ตัวร้อน) และตัวเหลือง ตาเหลือง ส่วนใหญ่จะเกิดจาก “โรคกระเพาะ” ดังกล่าว แม้ว่าประวัติของอาการปวดเวลาหิวจะไม่ชัดเจน ให้ลองรักษาแบบ “โรคกระเพาะ” ไปก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นจึงหาสาเหตุอื่น ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในวิธีการตรวจรักษาเรื่อง “ปวดท้อง”


การตรวจรักษา
การตรวจรักษา ต้องอาศัยการซักประวัติ เป็นขั้นเป็นตอนโดยในครั้งแรก ๆ (ในวันแรกที่คนไข้มาหา หรือในช่วงแรก ๆ ของการซักประวัติ) ควรหลีกเลี่ยงการซักไซ้ไล่เรียงอาการเจ็บป่วยและสาเหตุที่คนไข้คิดว่าจะเกี่ยวข้องกับอาการนั้น

เมื่อคุ้นกับคนไข้มากขึ้นแล้ว หรือเมื่อตรวจร่างกายคนไข้แล้ว ไม่พบความผิดปกติที่สืบเนื่องมาจากสาเหตุทางกายเป็นสำคัญ จึงค่อยๆ ซักถามเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว เรื่องการงาน หรืออื่นๆ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาไปตามที่เห็นว่าเหมาะสมสาเหตุแห่งความเครียดความกังวลของคนไข้ ส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาชีวิต (ปัญหาครอบครัว ปัญหาคู่รัก ฯลฯ) และปัญหาการงานเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นปัญหาที่หมอเข้าไปแก้ไขให้แก่คนไข้โดยตรงไม่ได้ ได้แต่แนะนำวิธีแก้ไขหรือวิธีทำใจให้ยอมรับสภาพนั้นๆ ได้

นอกจากนั้นการสามารถทำให้คนไข้ไว้เนื้อเชื่อใจ จนยอมเล่าสาเหตุของความทุกข์ร้อนของเขา เป็นการช่วยแบ่งเบาความเครียด (เป็นที่ระบายความทุกข์ร้อนทางใจ) ของคนไข้ได้ไม่น้อย การแนะนำวิธีทำใจให้แก่คนไข้ เพื่อผ่อนคลายความเครียดความกังวล ทำได้หลายอย่างหลายประการ เช่น

1.การออกกำลังกาย และให้เพ่งจิตเพ่งใจอยู่กับทุกอิริยาบทของการออกกำลังกายนั้น เช่นเวลาเดินก็ให้รู้ว่ากำลังหายใจเข้า...ย่างเท้าซ้าย...เหยียบเท้าซ้ายลง...ย่างเท้าขวา...เหยียบเท้าขวาลง...หายใจออก...สลับกันไปเรื่อย ๆ โดยรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในแต่ละขั้นตอน เป็นต้น

              

2. การสวดมนต์ภาวนาตามศาสนาแห่งตน

3.การระลึกถึงอยู่เสมอว่า เราเกิดมาก็มือเปล่าตัวเปล่า เวลาจากไปก็ไปมือเปล่าตัวเปล่าอีกเช่นเดียวกันดังนั้น จะไปห่วงกังวลอะไร เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิดว่าเป็นของเรา และทำให้ห่วงกังวลนั้น ที่จริงก็ไม่ใช่ของเรา เพราะเรามาก็มือเปล่า และเมื่อเราไปก็ไปมือเปล่าตัวเปล่าเช่นกัน

 

                

4.สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ การใช้ความจริงตามธรรมชาติ 3 ประการ (ไตรลักษณ์ธรรม) ในการชี้แจงแนะนำ ก็อาจทำให้คนไข้เข้าใจความจริงของชีวิตและความจริงของธรรมชาติเพิ่มขึ้น นั่นคือ

1. สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงจะต้องเปลี่ยนแปลงไป (อนิจจัง) การเปลี่ยนแปลงนี้มักจะเป็นไปตามเหตุที่นำมาก่อน เช่น ถ้าในขณะนี้เป็นเด็ก ต่อไปก็จะต้องเป็นผู้ใหญ่ ถ้าได้อาหารสมบูรณ์ ก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ ถ้าได้อาหารไม่สมบูรณ์ก็จะอ่อนแอและแคระแกร็น เป็นต้น

การเกิดแก่เจ็บตาย ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งซึ่งบ้างก็คาดคะเนได้ บ้างก็คาดคะเนไม่ได้ เพราะเรายังไม่รู้ซึ่งถึงสาเหตุต่าง ๆ ครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งแน่นอน ไม่มีผู้ใดจะรอดพ้นจากการเปลี่ยนแปลงได้ วันนี้เราอาจสบายดี พรุ่งนี้เราอาจล้มเจ็บ มะรืนนี้เราอาจหาย ปีนี้เรายากจน ปีหน้าเราอาจรวย โดยเฉพาะถ้าเรามีความมานะอดทนและบากบั่นในการงาน ปีโน้นเราอาจยากจนใหม่ โดยเฉพาะถ้าเราหมกมุ่นอยู่กับการพนัน รวมทั้งการเล่นลอตเตอรี่ เป็นต้น

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งแน่นอนจึงจำต้องทำใจให้ยอมรับสภาพการเปลี่ยนแปลงนั้น และพยายามแก้ไขสาเหตุเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในด้านที่ดีขึ้น
 

2.สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงจะต้องมีปัญหามีทุกข์ (ทุกขัง) ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะรอดพ้นจากปัญหาหรือความทุกข์ไปได้

อย่างไรก็ตาม ความทุกข์หรือปัญหาต่าง ๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามกฏหรือหลักความจริง ข้อที่ 1 ดังนั้นแม้ว่าวันนี้เราจะมีความทุกข์มาก แต่พรุ่งนี้ความทุกข์นี้อาจดีขึ้นและหายไป โดยเฉพาะถ้าเราพยายามแก้ไข้สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์หรือเกิดปัญหา

เมื่อเรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็มีทุกข์ เช่นเดียวกับเราและทุกข์ของเราอาจจะน้อยกว่าทุกข์ของเขาอื่นอีกมากมาย จึงไม่ควรท้อถอยหรือหมดอาลัยตายอยาก แต่จะต้องสู้และสู้ต่อไป จะได้พ้นจากความทุกข์นั้น
สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งปวง เป็นเพียงสิ่งสมมติ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น(อนัตตา) เช่นเพชรนิลจินดาที่ถือกันว่ามีค่ามากนั้น ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงเศษหินที่เอามากินแก้หิวไม่ได้ ผิดกับข้าว เป็นต้น


5.สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอื่น เช่น อิสลาม คริสต์ เป็นต้น ก็อาจจะแนะนำตามหลักของศาสนานั้น ซึ่งถือว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้กำหนดและสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้นความทุกข์ ความสุข ความเจ็บป่วย ความไม่เจ็บป่วยฯลฯ จึงล้วนแต่เป็นพระประสงค์ของพระองค์ และพยายามปฏิบัติตนเป็นคนดี เพื่อจะได้เป็นสาวกที่ดีของพระองค์ และประสบกับความสุขในที่สุด


สำหรับผู้ที่มีอาการเครียดกังวลมากและไม่อาจทำใจได้โดยเฉพาะในระยะแรกอาจให้ยา เช่น
1.ไดอะซีแพม (ขนาดเม็ดละ 2 หรือ 5 มิลลิกรัม) กินครั้งละ ครึ่งเม็ดหลังอาหารเช้า-เย็น และ 1 เม็ดก่อนนอน ผู้ที่ไม่เคยกินยาแก้เครียดแก้กังวลหรือยานอนหลับมาก่อนควรเริ่มใช้ขนาดเม็ดละ 2 มิลลิกรัมก่อน ถ้ายังไม่ดีขึ้นอาจลองให้ยาในข้อ 2

2.อะมีทริบทีลีน (amitryptyline ขนาดเม็ดละ 10 มิลลิกรัม ) กินครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเย็นและถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจให้ 1 เม็ดหลังอาหารเย็นและก่อนนอนด้วย ถ้ายังไม่ง่วงหรืองงและอาการก็ยังไม่ดีขึ้น อาจให้ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า-เย็นและก่อนนอน เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ เมื่อจิตใจดีขึ้นแล้วจากการใช้ยา จะต้องพยายามหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดกังวลและแก้สาเหตุเสียด้วยมิฉะนั้นก็จะต้องใช้ยาตลอดไป และทำให้ติดยาได้

 

ข้อมูลสื่อ

63-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 63
กรกฎาคม 2527
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์