• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษา (6) อาการปวดหัว (ต่อ)

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้” 

   


ฉบับที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึงอาการปวดหัวของคนไข้แบบฉุกเฉิน หรือหนัก คือคนไข้ปวดหัวที่มีอาการอื่นร่วมด้วยเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด คือ
1.อาการเจ็บหนักและการรักษา
2.เพิ่งปวดหัวเป็นครั้งแรก และปวดรุนแรง (ปวดมาก ) และการรักษา

 

3.อาเจียนพุ่งและการรักษา
และได้กล่าวถึงข้อ 4.ปวดหัวร่วมด้วยกับตาผิดปกติ โดยแยกอาการตาแดงออกเป็นตารางที่ 1 “ตาแดงแบบธรรมดา และแบบอันตราย” พร้อมกับการรักษาที่ให้ไปหาหมอตา สำหรับในกรณีที่ไม่มีหมอหรือไม่สามารถไปหาหมอได้ทันทีก็ให้แยกอาการตามตารางที่ 2 “อาการตาแดงเป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน หรือเป็นการอักเสบในลูกตาแบบเฉียบพลัน”
เมื่อแยกได้แล้วว่าเป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน หรือเป็นการอักเสบในลูกตาแบบเฉียบพลัน ให้การรักษาดังนี้

การรักษาต้อหินแบบเฉียบพลัน
1.หยอดตาด้วย 1% พีโลคาร์ปีน (1% pilocarpine eye-drop)หรือ 1% อีซีรีนในน้ำมัน (1% eserine salicylate in oil eye -drop) เพื่อให้รูม่านตาเล็กลง
ในชั่วโมงแรกให้หยอดตานี้ 1 หยดในตาแต่ละข้าง (หยอดทั้ง 2 ตา เพราะตาข้างที่ยังไม่มีอาการมักจะเกิดอาการตามมาด้วย) ทุก 5 นาที
ในชั่วโมงที่ 2 ถึง ชั่วโมงที่ 5 ให้หยอดยานี้ 1 หยด ในตาแต่ละข้างทุก 1 ชั่วโมง
ในชั่วโมงต่อ ๆไป ในหยอดยานี้ทุก 4 ชั่วโมง

2.ประคบตาข้างที่ปวดด้วยความร้อนเช่นเอาน้ำร้อนใส่ถุงพลาสติก ผูกปากถุงให้แน่น ใช้ผ้าหนา ๆ หุ้มหรือห่อถุงพลาสติก แล้วจึงใช้ประคบตาข้างที่ปวดนั้น จะช่วยทุเลาอาการปวดและอาการตาแดงลง

3.ให้ยาอะเซตาโซลาไมด์ (acetazolamide) หรือไดอะมอกซ์ (diamox) 2 เม็ด (เม็ดละ 250 มิลลิ
กรัม
) ทันที ต่อไปให้ซ้ำ 1 เม็ดทุก 6 ชม.

4.แล้วไปหาหมอตา เพื่อผ่าตัดม่านตา (peripheral iridectomy) จะได้ไม่เกิดอาการและป้องกันการเกิดอาการตาบอดได้ 

                                                             ตาราง

การแยกต้อหินแบบฉับพลัน หรือเฉียบพลัน (acute glaucoma)

จากการอักเสบในลูกตาแบบเฉียบพลัน (acute uveitis)

 

ต้อหิน(glaucoma)

การอักเสบในลูกตา(uveitis)

1.กลัวแสง

น้อยหรือไม่กลัว

กลัวแสงมาก

2.เห็นสีรุ้งรอบดวงไฟโดยเฉพาะในเวลาเย็น

 

เห็น

 

ไม่เห็น

3.ตาพร่ามัว(บอด)อย่างรวดเร็ว

เป็นมาก

เป็นน้อย

4.กดดูที่ลูกตา

แข็ง

ไม่แข็ง

5.รูม่านตา

โตเป็นรูปรีและไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง

เล็ก(อาจเล็กเท่ารูเข็ม)

การรักษาอาการอักเสบในลูกตาแบบเฉียบพลัน
1.ให้พัก ถ้าเป็นมากควรให้นอนพักและให้ลูกตาพักด้วย โดยการหลับตา หรือใช้ผ้าปิดตาข้างที่ปวดนั้น

2.หยอดตาหรือป้ายตาด้วย 1% อะโทรปีน (1% atropine eye-drop or ointment) วันละ 3 ครั้ง เพื่อให้รูม่านตาขยาย (รูม่านตาโตเต็มที่) เพื่อป้องกันการยึดติดของม่านตากับกระจกตา และทำให้เลือดไหลเวียนสะดวกขึ้น

3.ประคบตาข้างที่ปวดด้วยความร้อนเพื่อบรรเทาอาการปวด

4.ให้ยาสเตียรอยด์

ในกรณีที่เป็นการอักเสบในห้องหน้า (anterior uveitis) ควรหยอดตาด้วยยาหยอดตาสเตียรอยด์ ด้วย เช่น 1% ไฮโดรคอร์ติดโซน (1% hydrocortisone acetate) หยอดตา เช้า กลางวัน และเย็น และใช้
0.5%ขี้ผึ้งไฮโดรคอร์ติโซน (0.5% hydrocortisone ointment) ป้ายตาก่อนนอน

ในกรณีที่เป็นการอักเสบในห้องหลัง (posterior uveitis) ควรให้กินยาสเตียรอยด์ ด้วยเช่นกินยาเพร็ดนิโซโลน(เม็ดละ 5 มิลลิกรัม) ครั้งละ 2-3 เม็ด หลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น โดยให้ยาลดกรด 2 ช้อนโต๊ะ หรือ 2 เม็ด 1-2 ชั่วโมงหลังอาหารแต่ละมื้อควบไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ยาเพร็ดนิโซโลนกัดกระเพาะจนเป็นแผลหรือตกเลือด ให้ใช้ยานี้ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วค่อย ๆ ลดยาลงจนหยุดยาได้ภายใน 3 สัปดาห์

ในกรณีที่แยกไม่ได้ว่าเป็นการอักเสบในลูกตาห้องหน้า หรือห้องหลัง ให้ใช้ทั้งยาหยอดตาและยากินควบไปด้วยกัน

5.ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ต้องไปหาหมอตาทันที หรือถ้ามีโอกาสไปหาหมอตาได้ ควรไปหาหมอตาเพื่อการตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาสาเหตุด้วย

 

 

5.คอแข็ง (stiff neck)

คือคนไข้ก้มศีรษะไม่ได้ แต่ยังแหงนคอ (แหงนศีรษะ) และเอี้ยวคอ (หันศีรษะไปทางซ้ายทางขวา)ได้บ้าง
ตรวจได้โดยให้คนไข้นอนหงายไม่หนุนหมอน ผู้ตรวจใช้มือช้อนศีรษะของคนไข้แล้วยกขึ้น (ดูรูป) ถ้าคอของคนไข้งอได้ (ก้มได้) ก็แสดงว่าไม่มีอาการคอแข็ง แต่ถ้าคอของคนไข้งอไม่ได้ (ก้มไม่ได้) ก็แสดงว่ามีอาการคอแข็ง
อาการคอแข็ง ที่คนไข้ยังเงย (แหงน) คอและเอี้ยวคอได้และไม่มีอาการปวดเสียวลงมาที่ไหล่และแขน จะต้องนึกถึงภาวะเยื่อหุ้มสมองถูกรบกวน (meningeal irritation) เยื่อหุ้มสมองถูกกวน หรือถูกระคายเคืองในโรคหลายอย่าง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) เลือดออกในโพรงเยื่อหุ้มสมอง (subarachoid hemorrhage) เป็นต้น

อาการคอแข็งที่คนไข้ไม่สามารถเงยหรือเอี้ยวคอไปทางหนึ่งทางใด เพราะมีอาการปวดที่คอ หรือมีอาการปวดเสียวลงมาที่ไหล่และแขน ให้นึกโรคของกระดูกคอ (cervical spine disordrs) เช่นโรคกระดูกคอทับเส้น(เส้นประสาท) ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกระดูกงอกไปทับเส้น (osteoarthritis) หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปทับเส้น (prolapsed cervical disc) หรือกระดูกคอเคลื่อนไปทับเส้น (cervical spine displacement) เป็นต้น

อาการคอแข็งที่เกิดจากโรคกระดูกคอ อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ แต่ไม่ปวดหัวมาก จะปวดที่กล้ามเนื้อคอ ไหล่ และแขนมากกว่า และส่วนใหญ่แล้วไม่ใช้ภาวะฉุกเฉินนอกจากในรายที่กระดูกคอหักจนกระแทกไขสันหลัง (spinal cord injury from fracture cervical spine) ซึ่งในกรณีเช่นนั้นคนไข้ 

มักจะไม่ปวดหัว แต่ขยับเขยื้อนคอไม่ได้แขนขาทั้ง 4 อาจขยับเขยื้อนไม่ได้ และอาจจะหายใจเองไม่ได้ด้วย ต้องให้คนไข้นอนหงาย หน้าตรง ไม่หนุนหมอน แต่ใช้หมอนหรือถุงทรายประกบสองข้างของศีรษะ หน้า และคอแล้วใช้ผ้ารัดศีรษะไว้ (ดูรูป) ไม่ให้ศีรษะตะแคงหรือเคลื่อนไหวได้ กระดูกคอที่หักจะได้อยู่นิ่ง ๆ มิฉะนั้นจะทิ่มแทงหรือกระแทกไขสันหลังมากขึ้น ช่วยการหายใจ ถ้าคนไข้หยุดหายใจ แล้วรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
 

ส่วนอาการคอแข็งที่เกิดจากเยื่อหุ้มสมองถูกกวนให้การรักษา เช่นเดียวกับข้อ2 (เพิ่งปวดหัวเป็นครั้งแรกและปวดรุนแรง)

 

6.ความดันเลือดสูงมาก
คือ ความดันเลือดตัวล่างสูงกว่า 130 มิลลิเมตรปรอท ส่วนความดันเลือดตัวบนจะสูงเท่าใดก็ได้ (ดูวิธีวัดความดันเลือดในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 19,20)
คนที่ปวดหัวและมีความดันเลือดสูงมากให้การรักษาดังนี้

1.ให้นอนพักในทางหัวสูง หรือนั่งพิงหมอนหลาย ๆ ใบก็ได้

2.ใช้น้ำเย็นประคบบริเวณศีรษะ

3.ให้ยาแก้ปวด เช่นพาราเซตามอล 1-2 เม็ด

4.ให้ยาขับปัสสาวะ เช่น ฟูโรเซไมด็ (furosemide หรือชื่อการค้า เช่น Lasix, Fusid, Impugan) เม็ดละ 40 มิลลิกรัม 1-2 เม็ด

5.ให้ยาคลายเครียด เช่น ไดอะซีแพม (diazepam) เม็ดละ 5 มิลลิกรัม 2-4 เม็ด

6.ให้ยาลดความดันเลือด เช่น เมฮิลโดปา (methyl dopa หรือชื่อการค้า เช่น Aldomet , Dopamet) เม็ดละ 250 มิลลิกรัม 1-2 เม็ด

7.แล้วนำตัวไปหาหมอ

 

7.มีการกดเจ็บบริเวณกะโหลกศีรษะ
คือมีการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน และกดเจ็บ)ในบริเวณหน้าหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของศีรษะ ถ้าไม่มีอาการปวด บวม แดงและร้อนให้เห็น แต่มีอาการกดเจ็บเพียงอย่างเดียว หรือเคาะด้วยปลายนิ้วแล้วเจ็บลึกๆ อยู่ข้างใน ก็ให้อนุโลมว่ามีการอักเสบในบริเวณนั้นได้
คนไข้ที่ปวดหัวมาก และมีการกดเจ็บในบริเวณกะโหลกศีรษะ มักแสดงว่าอาจมีการลุกลามของการอักเสบในบริเวณกะโหลกศีรษะ เข้าสู่สมอง (เยื่อหุ้มสมองหลอดเลือดสมอง หรืออื่นๆ )

การรักษา
เช่นเดียวกับข้อ 2

คนไข้ปวดหัวฉุกเฉินทุกราย ควรได้รับการตรวจรักษาเพิ่มเติมจากหมอ หลังให้การปฐมพยาบาลแล้ว ยกเว้นเสียแต่ว่าหลังให้การปฐมพยาบาลดังกล่าวแล้ว คนไข้กลับเป็นปกติ ไม่มีอาการอะไรอีกเลย

 

(อ่านต่อฉบับหน้า) 

ข้อมูลสื่อ

67-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 67
พฤศจิกายน 2527
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์