• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการปวดหัว (ต่อ)

ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”

  

 


การวินิจฉัยและการตรวจรักษาภาวะปวดหัวแบบฉุกเฉินได้กล่าวไว้แล้วในฉบับก่อน การวินิจฉัยและการรักษาภาวะปวดหัวแบบไม่ฉุกเฉินอาจแยกออกเป็น 2 ประเภทได้ดังรูปที่ 1 คือ
 

                                                                         ปวดหัว

             ฉุกเฉิน

               ไม่ฉุกเฉิน

 

-          ปวดหัวเป็นอาการสำคัญอาการเดียว

        -     ปวดหัวเกิดร่วมกับอาการอื่น

คนไข้มีอาการปวดหัว (ปวดศีรษะ) เป็นอาการสำคัญอาการเดียว หรืออาการปวดหัว (ปวดศีรษะ) นั้นเกิดร่วมกับอาการอื่น

ถ้าคนไข้มีอาการปวดหัว (ปวดศีรษะ) เป็นอาการสำคัญอาการเดียว
อาจใช้ลักษณะการปวด แยกวิธีการตรวจรักษาออกเป็น 4 ประเภท ได้ดังรูปที่ 2 คือ อาการปวดนั้น

                               

 1. ถ้าปวดหัวปวดเต็มที่ทันที นั่นคืออาการปวดหัวจะรุนแรงถึงที่สุดภายในพริบตาเดียว แล้วค่อยๆ ทุเลาลง อาการปวดศีรษะนี้อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1.1 ประเภทที่เพิ่งเป็น เช่นเป็นครั้งแรก หรือถ้าเป็นครั้งที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 หรืออื่น ๆ ก็เป็นในวันเดียวกัน หรือวันที่ติดต่อกันโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาการแบบนี้ให้ถือว่าเป็นอาการปวดศีรษะแบบฉุกเฉิน เพราะอาจเกิดจากเส้นเลือดในสมองแตก หรือการติดเชื้อในสมอง จึงต้องให้การรักษาแบบรักษาอาการปวดศีรษะแบบฉุกเฉิน (ดูใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 66)

1.2 ประเภทที่เป็น ๆ หาย ๆ มานาน ไม่ใช่เพิ่งเป็น ประเภทนี้ควรจะซักประวัติว่าอาการที่เกิดขึ้น เกิดหลังเหตุการณ์อะไรแล้วให้คนไข้หลีกเลี่ยงเหตุการณ์นั้น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลหรือแอสไพริน กินครั้งละ 1-2 เม็ด เวลาปวด
ที่พบลักษณะการปวดหัวเต็มที่ทันทีและเป็น ๆ หาย ๆมานาน มักเกิดหลังการร่วมเพศ เรียกว่าปวดหัวหลังร่วมเพศ (benign sex headache) ไม่มีอันตรายอะไร ให้การรักษาแบบข้างต้นเวลาปวด ต่อไปอาจหายเองได้

 

2. ถ้าอาการปวดหัวค่อย ๆ ปวดมากขึ้น ๆ แล้วค่อย ๆ หาย นั่นคืออาการปวดหัวจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นทีละน้อย ๆ จนรุนแรงที่สุดแล้วค่อยๆ ลดลง อาจแยกการปวดออกเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 ประเภทที่เพิ่งเป็น (เป็นครั้งแรก)2

2.2 ประเภทที่เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งอาจแยกออกเป็น
2.2.1 อาการทรง ๆ อยู่ คือไม่ดีขึ้นและไม่เลวลง
2.2.2 อาการทรุดลง ๆ คืออาการเลวลงเรื่อย ๆซึ่งควรจะไปหาหมอทันที
ส่วนประเภทที่เพิ่งเป็น (เป็นครั้งแรก) และประเภทที่เป็น ๆ หาย แต่อาการทรง ๆ อยู่ควรจะตรวจร่างกาย

การตรวจร่างกาย ให้ตรวจหาภาวะอาการเจ็บหนัก (ดูหมอชาวบ้านฉบับที่ 66) อาการตาผิดปกติ อาการคอแข็ง อาการความดันเลือดสูงมาก และการกดเจ็บบริเวณศีรษะ ดังที่ได้กล่าวได้แล้วในฉบับก่อน ถ้าพบลักษณะดังกล่าว แต่พบว่าคนไข้มีความดันเลือดสูง (แต่สูงไม่มาก) เช่นต่ำกว่า 180/120 มิลลิเมตรปรอท ในท่านั่งหรือท่ายืนหลังจากนั่งพักหรือนอนพักแล้ว ควรให้คนไข้ลดอาหารเค็ม (ให้จืดเค็ม แต่เปรี้ยวหรือเผ็ดได้) ให้ลดน้ำหนักถ้าอ้วน และให้ผ่อนคลายอารมณ์ (ไม่ให้หงุดหงิด กังวลหรือเครียด) ถ้าไม่ดีขึ้น อาจให้ยาลดความดันเลือด

ถ้าการตรวจร่างกายแล้วพบว่าร่างกายคนไข้ปกติ คนไข้มักจะปวดศีรษะแบบหนึ่งแบบใด ดังต่อไปนี้
1.ปวดไมเกรน (ลมตะกัง) มักปวดศีรษะข้างเดียว (ข้างซ้ายหรือข้างขวา) มักมีอาการตาพร่ามัวก่อนหรือขณะปวดศีรษะมักเกิดอาการหลังจากเครียดมาก ๆ อยู่นาน ๆ พอเริ่มหายเครียดก็เริ่มมีอาการปวดศีรษะ (ดูรายละเอียดในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 4)

2. ปวดเครียด (tension headache) มักปวดศีรษะหรือที่ท้ายทอย ที่ขมับ หรือบริเวณคอด้านหลังที่ต่อกับท้ายทอยก็ได้ มักเกิดอาการในขณะเครียด หรือคิดอะไรอยู่นาน ๆ โดยเฉพาะถ้าคิดไม่ออก
ให้รักษาแบบอาการปวดไม่เกรน หรือปวดเครียด (ดูเรื่องการรักษาอาการปวดไมเกรน และปวดเครียด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 4 ) ถ้าดีขึ้น ให้รักษาแบบเดิมต่อ ถ้าไม่ดีขึ้น ควรไปหาหมอเพื่อการตรวจรักษาต่อไป

3.ถ้าอาการปวดหัว ปวดเพิ่มขึ้น ๆ ให้แยกออกเป็น 2 ประเภท โดยใช้อายุคือ
3.1 ถ้าอายุน้อยกว่า 50 ปี ซึ่งอาจแยกออกเป็น
3.1.1 อาการที่ปวดเพิ่มขึ้น ๆ มีลักษณะทรง ๆอยู่ (ไม่เลวลง) หรือบางครั้งมีช่วงที่หายปวดเป็นเวลานาน ๆ (หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน) ให้ลองรักษาแบบอาการปวดเครียด หรือแบบอาการปวดไมเกรน ถ้าไม่ดีขึ้น ควรไปหาหมอ
3.1.2 อาการที่ปวดเพิ่มขึ้น ๆ มีลักษณะทรุดลง ๆ หรือไม่มีเวลาสร่าง ควรไปหาหมอ
3.2 ถ้าอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจดูเส้นเลือดแดง บริเวณขมับ (ดูรูปที่ 2) เพื่อดูว่าเส้นเลือดแดงที่เต้นตุบ ๆ ตรงขมับแข็งและกดเจ็บหรือไม่ หรือถ้าไม่แน่ใจ ให้ตรวจการตกของเม็ดเลือดแดง (erythrocyte sedimentation rate ,ESR) 

ถ้าเส้นเลือดแดงที่ขมับแข็งและกดเจ็บหรือเม็ดเลือดแดงตกเร็ว (ESR สูง) ให้ลองกินยาเพร็ดนิโซโลน ครั้งละ 3 เม็ด หลังอาหาร 3 มื้อ (ต้องกินยาลดกรดครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ หลังอาหาร
1-2 ชั่วโมง และก่อนนอนและเวลาปวดหรือแสบท้องด้วย เพื่อป้องกันโรคกระเพาะ)
ถ้ากินยาเพร็ดนิโซโลน แล้วดีขึ้น น่าจะเป็นโรคหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ (temporal arteritis) การให้ยาเพร็ดนิโซโลน ในกรณีนี้มีความจำเป็นเพราะจะป้องกันไม่ให้ตาบอดได้ (ดูรายละเอียดในฉบับต่อไป)ถ้ากินยาเพร็ดนิโซโลน 1 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น ควรไปหาหมอ

 

 

4. ปวดเป็นกลุ่มเป็นช่วง (cluster headache) คืออาการปวดหัวเป็นทันที ปวดมาก มักปวดหัวข้างเดียว โดยเริ่มปวดในบริเวณจมูก แล้วลามมาที่ตา หน้าผาก และขมับ ร่วมด้วยอาการน้ำมูกและน้ำตาไหล มักมีอาการอยู่ประมาณ 1-2 ชั่วโมงแล้วจะหายทันที อาการนี้มักเกิดวันละหลายครั้งและอาจเกิดเวลากลางคืน (ขณะที่กำลังหลับอยู่) จนทำให้ตื่นพร้อมกับอาการปวดหัวอย่างมากให้การรักษาแบบไมแกรน (ดูรายละเอียดในฉบับต่อไป) ถ้าดีขึ้นคงการรักษาให้ประมาณ 1 เดือน ถ้าไม่ดีขึ้นควรไปหาหมอ


ถ้าคนไข้มีอาการปวดหัว (ปวดศีรษะ) ร่วมกับอาการอื่น เช่น
- อาการไข้ (ตัวร้อน)ให้เช็คตัวหรือเอาน้ำแข็ง (น้ำเย็น) โปะบริเวณศีรษะ และถ้าจำเป็นให้กินยาลดไข้บรรเทาปวด เช่น พาราเซตามอล หรือแอสไพริน ครั้งละ 1-2 เม็ด

- อาการปวดฟัน ให้รักษาเหงือกและฟัน ควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่นเพ็นวี (Pen-V) เม็ดละ 250 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอน เป็นเวลา 5-7 วัน อาจให้ยาแก้ปวด เช่นพาราเซตามอล หรือแอสไพรินด้วย

- อาการบาดเจ็บหรือถูกกระทบกระแทกที่ศีรษะ ถ้าไม่พบอาการผิดปกติอื่นแบบที่กล่าวไว้ในอาการปวดหัวแบบฉุกเฉิน อาจให้น้ำเย็นหรือน้ำร้อนประคบ และถ้าจำเป็นอาจให้ยาแก้ปวด เช่นพาราเซตามอล หรือแอสไพริน

- หลังกินยา หรือของเมา เช่นอาการปวดหัวหลังกินยาบางชนิดหรือหลังดื่มสุรายาเมา หรืออื่น ๆ ให้หยุดยาหรือของเมานั้น ถ้าปวดหัวมาก อาจให้ยาแก้ปวดและดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อขับยาและของเมานั้นออกจากร่างกาย

- การมีประจำเดือน (Mentrual headache) คืออาการปวดศีรษะที่เกิดก่อนขณะมี
หรือกำลังมีประจำเดือน ถ้าเป็นมาก ให้ใช้ยาแก้ปวด ถ้าไม่ดีขึ้น อาจใช้ยาแก้ซึมเศร้า เช่น อะมีทริบตีลิน (amytryptiline) ด้วย

- อาการปวดต้นคอ ไหล่ สะบัก หรือแขน โดยเฉพาะเมื่อก้ม เงย หรือเอี้ยวคอ ให้นึกถึงโรค
กระดูกคอกดเส้นประสาท (cervial spondylosis) ซึ่งนอกจากจะให้ยาแก้ปวด ต้องให้คออยู่นิ่ง ๆ อย่าสะบัดคอหรือศีรษะแรง ๆ อย่าเอี้ยวคอ ก้มคอ หรือเงยคอมากเกินไป อย่าหนุนหมอนสูง และอื่น ๆ (ดูรายละเอียด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 57,58)

- อาการคัดจมูกเรื้อรัง โดยเฉพาะถ้ามีน้ำมูกเป็นหนอง หรือมีไข้ (ตัวร้อน) หรือเคาะเจ็บ
บริเวณระหว่างหัวคิ้วหรือโหนกแก้ม ให้นึกถึงโรคไซนัสอักเสบ (sinusitis)ซึ่งนอกจากจะให้ยาแก้ปวดแล้ว อาจต้องให้ยาปฏิชีวนะหรือเจาะเอาหนองออก (ดูหมอชาวบ้านฉบับที่ 24 )
อาการปวดศีรษะที่มีลักษณะเฉพาะจนทำให้วินิจฉัยจากประวัติได้ จะได้กล่าวถึงเพิ่มเติมในฉบับหน้า

 

(อ่านต่อฉบับหน้า) 

ข้อมูลสื่อ

68-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 68
ธันวาคม 2527
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์