• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมกาวิตามิน อเมริกาฮิตติดถึงไทยแลนด์


คำว่า เมกาวิตามิน มาจากภาษาฝรั่ง ซึ่งแปลเป็นไทยคงได้ว่า วิตามินขนาดมหึมา (เมกาแปลว่า ล้าน อย่างกระแสไฟ 1 เมกาวัตต์) เรื่องของเมกาวิตามิน เป็นเรื่องที่ฮิตในสหรัฐอเมริกาชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยปกติอะไรที่ฮิตในอเมริกา จะระบาดมาถึงเมืองไทยในระยะเวลาอันสั้น นี่ก็เริ่มกระเส็นกระสายให้เห็นได้บ้าง ดังหนังสือบางเล่มและคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ แนะนำให้ผู้อ่านกินวิตามินขนาด “มหึมา” เพื่อป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ
 

ในวันนี้ผู้เขียนจึงจะขอทบทวนดูว่า ใครบ้างที่ต้องการ หรือต้องกินวิตามินมหึมาก่อนอื่นเรามาดูกันว่าวิตามินคืออะไร ?

วิตามิน เป็นสารกลุ่มหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ กันในร่างกาย บ้างเป็นตัวช่วยเร่งปฏิกิริยา บ้างทำหน้าที่แบบฮอร์โมนส์ สารกลุ่มนี้มีคุณสมบัติตรงกันอยู่อย่างหนึ่ง คือร่างกายสร้างขึ้นมาเองไม่ได้ หรือบางชนิดที่สร้างได้ก็มีปริมาณไม่เพียงพอ จำเป็นที่เราจะต้องกินเข้าไปในชีวิตประจำวัน
วิตามินหลายชนิดจะสะสมไว้ในร่างกายไม่ได้ กล่าวคือเมื่อมีปริมาณเหลือใช้ ก็จะถูกขับถ่ายออกมาหมด นี่ก็เป็นเหตุผลอันหนึ่งว่า ทำไมเราจึงควรเลือกกินอาหารที่มีวิตามินทุก ๆ วัน

 

เราต้องกินวิตามินวันละเท่าไร ?
เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ เราลองมาหารายละเอียดว่า วิตามินทำหน้าที่อะไร
ดังที่กล่าวแล้วว่า วิตามินส่วนใหญ่ทำหน้าที่ช่วยเร่งปฏิกิริยา และบางอย่างทำหน้าที่แบบฮอร์โมนส์
ถ้าเราจะนึกทบทวนถึงวิชาเคมีที่เคยเรียนมา คงพอจะนึกออกว่า ตัวเร่งปฏิกิริยา ในสมการเคมี เป็นตัวที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสารหนึ่งไปเป็นสารหนึ่ง สมมุติว่า เปลี่ยนจากสาร ก. เป็นสาร ข. สมการจะออกมาในรูป

     

นักเคมีทราบดีว่า “ตัวเร่งปฏิกิริยา” ต้องการเป็นจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณของสารที่มันเปลี่ยน วิตามินก็เช่นกัน ร่างกายมีความต้องการเป็นจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสารอาหารที่กินเข้าไปเราอาจกินอาหารวันละเป็นกิโลกรัม แต่วิตามินที่ต้องการเป็นเพียงมิลลิกรัม (100,000 มิลลิกรัม เท่ากับ 1 กิโลกรัม) หรือไมโครกรัม (10,000 ไมโครกรัม เท่ากับ 1 มิลลิกรัม) เท่านั้น เช่นเดียวกับวิตามินที่ทำหน้าที่แบบฮอร์โมนส์ (มีตัวเดียว คือวิตามินดี) ความต้องการมีน้อยพอ ๆ กัน ความต้องการวิตามินแต่ละอย่างมีผู้ค้นคว้าหาไว้ ดังเช่นที่สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อเมริกัน)ได้ให้คำแนะนำว่า แต่ละวันร่างกายเราต้องการวิตามินเท่าไร (ดูตารางที่หนึ่ง)

อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเรากินวิตามินมากเกินไป
ดังที่กล่าวแล้วว่า ร่างกายต้องการวิตามินในขีดจำกัด เมื่อมีวิตามินมากไปร่างกายจะไม่เก็บไว้ แต่จะขับออกมาทิ้งนอกร่างกาย (ส่วนใหญ่ทางปัสสาวะ) นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดแก่วิตามินพวกหนึ่งซึ่งละลายน้ำได้ดี เช่นพวกวิตามินบี (ซึ่งรวมวิตามินบีเบอร์ต่าง ๆ เช่นบีหนึ่ง บีสอง บีหก บีสิบสอง และวิตามินที่ไม่ได้ขึ้นต้นด้วยตัวบี แต่จัดอยู่ในกลุ่มนี้เช่น ไนอาซีน,ไบโอติน, แพนโทธีนิค แอซิด , โฟลิค แอซิด) และวิตามินซี

ฉะนั้นคนที่กินวิตามินพวกนี้เข้าไปมากๆ จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นมา (ยังอาจมีโทษด้วย) สิ่งเดียวที่ดีคือ ปัสสาวะของคนพวกนี้มีค่า ถ้าเอาไปสกัดให้ดี อาจได้วิตามินไปขายได้หลายสตางค์ส่วนวิตามินอีกพวกหนึ่งที่ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ,ดี,อี,เค พวกนี้เมื่อกินมากไปจะมีการสะสมส่วนเกินไว้ในร่างกาย เมื่อสะสมมาก ๆ เข้า ก็ทำให้เกิดโทษได้

 

โทษของวิตามิน
วิตามินพวกหลังนี้มีโทษที่รู้จักกันดี อย่างเช่น
วิตามินเอ ในขนาดสูง ทำให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น เกิดอาการปวดหัว ตาพร่า ชักกระตุก หมดสติ และถึงตายได้
วิตามินดี ในขนาดสูง ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำเก่ง กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ยไม่มีแรง นิ่วในไต และไตพิการ
วิตามินอี ขนาดสูง ยังไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดโทษ
วิตามินเค ขนาดสูง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้
ในกลุ่มวิตามินที่ไม่ละลายน้ำนี้มักไม่ค่อยมีการแนะนำให้กินกันมากนัก เพราะกลัวว่าจะเกิดพิษจากยาครับ วิตามินก็ต้องนับว่าเป็นยาอย่างหนึ่งและเช่นเดียวกันกับยาทั่วไป ซึ่งเราไม่ควรกินโดยพร่ำเพรื่อ หรือเกินขนาดที่กำหนด ในเรื่องวิตามินเราก็ควรยึดหลักการเดียวกัน


วิตามินอี ซึ่งเนื่องจากยังไม่มีรายงานว่าเมื่อกินขนาดสูงทำให้เกิดโทษ เลยมีการยุยงให้ใช้กันในขนาดมหึมา ยิ่งมีข่าวลือว่าวิตามินนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพลังเพศ คนก็เลยฮือฮากันใหญ่ ครับใช้ไป ใช้ไป ไม่ใครก็ใครอาจได้แจ๊คพ็อทเข้าสักคน คือเป็นคนแรกที่มีชื่อในวารสารทางการแพทย์ว่าได้รับพิษจากวิตามินอี (เหมือนกับตัวอย่างยาออกใหม่ทั้งหลาย ตอนแรก ๆ ก็ว่าดี กว่าจะมีผู้เจอะพิษร้ายจากยา ก็อาจใช้เป็นคนที่หมื่น ที่แสน) ระหว่างที่ยังไม่มีรายงานเรื่องพิษภัย ก็มีภัยเงียบรุกรานกระเป๋าเราจนเบาเรียบอยู่แล้ว ก็วิตามินแต่ละเม็ดราคามันน้อยจ้อยอยู่เมื่อไหร่
เช่นเดียวกับวิตามินอี, วิตามินในกลุ่มที่ละลายน้ำได้ คือกลุ่มบี และซี มีการโหมโฆษณากันอย่างกว้างขวางให้กินในปริมาณมาก เพราะเชื่อว่ายังไง ยังไงไม่มีอันตราย
จริงหรือไม่ เราลองมาดูกันต่อไป

 

วิตามินซีก็ซีเถอะนะ
เอาวิตามินซีกันก่อน เห็นอมเล่นกันแพร่หลายทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เด็ก ๆบางคนติดวิตามินซี เหมือนผู้ใหญ่ติดบุหรี่ พ่อแม่ก็ตามใจ เพราะคิดว่าไง ๆ ก็เป็น “ยา “ คงมีแต่ผลดี
ที่จริงการอมวิตามินซีไม่ต่างจากการอมทอฟฟี่เท่าไรนัก ในเม็ดวิตามินส่วนใหญ่จะใส่น้ำตาลไว้ด้วยเพื่อช่วยแก้รสเปรี้ยว เด็กที่อมวิตามินซีตลอดเวลา จึงมีโอกาสฟันผุได้ง่าย
บางคนเชื่อว่ากินวิตามินซีมาก ๆ ช่วยป้องกันหวัดได้
ความเชื่อนี้มีมาอย่างสำคัญจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบิล ชื่อไลนัส เพาลิ่งก์ ผู้แนะนำให้คนกินวิตามินซีในขนาดสูง ๆ เพื่อป้องกันหวัด มะเร็ง และโรคจิต โรคประสาท

เพาลิ่งก์ได้ความคิดขึ้นมาจากไหน ?
เพาลิ่งก์บอกว่า สัตว์ส่วนใหญ่สร้างวิตามินซีขึ้นใช้เองได้ ยกเว้นคน ลิงกอริลล่า หนูตะเภา และ ค้างคาวแม่ไก่ เขาสำรวจดูอาหารที่ลิงกอริลล่ากินในแต่ละวัน แล้วคำนวณหาปริมาณวิตามินซีที่มีอยู่ในอาหาร
เหล่านั้น ผลออกมาว่า กอริลล่าหนึ่งตัว กินวิตามินซีวันละ 4,600 มิลลิกรัม เมื่อเทียบน้ำหนักลิงกอริลล่ากับคนแล้ว เขาคำนวณว่า ถ้าคนจะเอาอย่างกอริลล่า ก็ควรจะกินวิตามินซีวันละ 2,500 มิลลิกรัม
และนี่คือที่มาของคำแนะนำให้กินวิตามินซีในขนาดที่สูงกว่าธรรมดาถึงสี่ห้าสิบเท่า
คำแนะนำอันนี้ ไม่มีใครในวงการแพทย์ยอมรับ และไม่มีการทดลองใดที่สนับสนุนทฤษฏีของเพาลิ่งก์ได้อย่างน่าเชื่อถือ

ครับ ถ้าเรายึดถือพุทธวจนะเป็นที่พึ่ง ก็คงไม่หลงเชื่อตามเขาไปได้ง่าย ๆ
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า อย่าเชื่อเพราะเขาเป็นครูบาอาจารย์ มีคนนับหน้าถือตา (ถ้าสมัยนี้คงต้องต่อว่าอย่าเชื่อเพราะเขาได้รับรางวัลโนเบิล) บางทีคนที่เป็นศาสตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์ยังทำอะไร “เพี้ยน ๆ ” ได้ ดังที่เมืองไทยเราก็มีตัวอย่างให้เห็นเป็นผู้นำในลัทธินอกรีตนอกรอย คอยจะขึ้นสวรรค์กันท่าเดียว

แต่คนมากหลายที่ไม่ได้เข้าถึงพุทธวจนะพากันหลงงมงายเชื่อตาม ๆ กันไป โดยไม่ไตร่ตรอง มีทั้งไทยและเทศที่เชื่อนายเพาลิ่งก์ พากันกินวิตามินซีขนาดที่น่ากลัวอยู่ทุก ๆวัน
วิตามินซีขนาดที่เกินกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ต้องกินด้วยความระมัดระวัง ถ้าเกินกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ถือกันว่าเป็น “ยาพิษ”  โทษภัยของวิตามินซีที่กินในขนาดนี้ แม้จะเกิดไม่บ่อย แต่มีรายงานในวารสารทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น

ถ่ายท้องเป็นพิษภัยที่พบบ่อยที่สุด

นิ่วในไต พบในคนกินวิตามินซีขนาดที่สูงบ่อยกว่าคนทั่วไป

มีลูกได้ยาก วิตามินซีขนาดสูง ทำให้ปริมาณเชื้ออสุจิลดลง และมีฤทธิ์เป็นยาคุมกำเนิดอย่างอ่อน ๆ ในผู้หญิง

แท้งลูก ในกลุ่มหญิงที่กินวิตามินซีวันละ 6,000 มิลลิกรัม 20 คน เกิดการแท้งลูกหลังจากตั้งท้องได้ไม่กี่วันถึง 16 คน

ตับพิการ ในหนูที่ให้กินวิตามินซีขนาดสูง พบว่าเกิดความเสียหายต่อตับ

กระดูกหัก ลูกหนูพุกที่ให้กินวิตามินซีขนาดมหึมา พบว่าเกิดกระดูกเปราะ และหักง่าย ฯลฯ

 

กลุ่มวิตามินบี
ยากลุ่มนี้เป็นยากลุ่มใหญ่ รวมเอาไว้ทั้งวิตามินจริง ๆ และที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นวิตามินเท่าไร แต่ก็มีคนพยายามยัดเยียดให้เป็นวิตามิน (เพื่อประโยชน์ในทางโฆษณา และการขายยา)
กลุ่มนี้เรียกได้ว่าถูกนำมาใช้มากที่สุด เนื่องจากว่าเป็นกลุ่มใหญ่ไม่ใคร่มีใครรู้จักถ่องแท้นัก มีชื่อแปลก ๆ พิสดารให้นำมาโฆษณาได้ง่าย ๆ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าจำเป็นแก่นักกีฬา และไม่มีพิษภัย
ผู้ปลุกปั่นจะเริ่มต้นด้วยการบอกว่า วิตามินพวกนี้มีบทบาทในการใช้พลังงานของร่างกาย (ซึ่งเป็นความจริง วิตามินบีหลายตัวช่วยในปฏิกิริยาที่เปลี่ยนแปลงสารอาหาร และให้พลังงาน)

ผู้ที่ใช้แรงงานต้องการวิตามินพวกนี้เพิ่มขึ้น (ซึ่งเป็นความจริงอีก)
แล้วเขาจะสรุปทันทีว่า ดังนั้นนักกีฬาควรกินวิตามินบีเยอะ ๆ (ซึ่งไม่เป็นความจริง) นักกีฬาหรือผู้ใช้แรงงานต้องการวิตามินเพิ่มขึ้นก็จริงแต่ในปริมาณน้อยมาก ซึ่งอาจทดแทนได้โดยการกินอาหารที่ได้สัดส่วนซึ่งในคนพวกนี้จะมีการกินมากกว่าธรรมดาอยู่แล้ว

วิตามินบีไม่มีโทษจริงหรือ ?
นี่เป็นข้ออ้างที่ผู้สนับสนุนการกินวิตามินบีขนาดสูงชอบยกมาเพื่อปลอบใจ(คนกิน) ว่า ถึงอย่างไรสิ่งที่กินเข้าไปก็ไม่มีพิษภัย (แต่อาจช่วยคุณได้)

พิษภัยเกิดได้ครับ ตัวอย่างเช่นไนอาซีน,ไพริด๊อกซีน (บีหก) และโฟลิค แอซิด 

ไนอาซีน ปกติแนะนำให้กินวันละ 15-20 มิลลิกรัม แต่ถ้ากินนิโคตินิค แอซิด (สารเคมีที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับไนอาซีน) ในขนาด 500 มิลลิกรัมหรือราว 30 เท่าของขนาดที่แนะนำจะเกิดโทษได้ เช่นเดียวกับการกินนิโคตินาไมด์ (สารประเภทเดียวกันอีกตัวหนึ่ง) ในขนาด 3,000 มิลลิกรัม หรือ 200 เท่าของขนาดที่แนะนำ ก็จะเกิดโทษ
โทษที่ว่านี้ มีตั้งแต่ออกผื่นคลื่นไส้ หนาวสั่น ไปจนถึงเบาหวาน และตับพิการ

ไพรีด๊อกซีน (บีหก) ปกติแนะนำให้กินวันละ 3 มิลลิกรัม ถ้าได้เข้าไปในขนาด 3,000 มิลลิกรัม
หรือพันเท่าขนาดที่แนะนำ (ผู้อ่านอาจนึกว่าบ้าใครจะมานั่งแนะนำให้กินกันในขนาดเป็นหลาย ๆ เท่าได้ ปัจจุบันมีแล้วครับ) จะเกิดประสาทพิการ ถึงขนาดว่าขาเดินไม่ได้
ถ้าหากว่าท่านมีภาวะพร่อง (คือขาด) วิตามินบี 12 อยู่แล้ว เกิดกินโฟลิค แอซิด (วิตามินบีอีกตัวหนึ่ง) เข้าไป จะทำให้เกิดอันตรายต่อประสาทความเสียหายนี้จะคงอยู่แม้ว่าท่านจะได้รับวิตามินบี 12 จนเพียงพอ และหยุดกินโฟลิค แอซิด แล้วก็ตาม

นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าเรายังมีเรื่องไม่รู้เกี่ยวกับวิตามินอีกมากเพียงไร โดยเฉพาะในด้านการกินมาก ๆ ซึ่งพึ่งระบาดให้เห็นได้ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เชื่อแน่ว่าถ้าแฟชั่นการกินวิตามินขนาดสูงยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ วิตามินอย่างเช่น โคบาลามีน (บีสิบสอง) ไบโอติน, แพนโทธีนิค แอซิด, ไทอามีน (บีหนึ่ง) และไรโบฟลา
วิน (บีสอง )ซึ่งยังไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดโทษ ก็อาจหนีไม่พ้นความจริงที่ว่า “สิ่งใดมีคุณอนันต์ สิ่งนั้นมีโทษมหันต์” (เมื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด)

 

มีใครไหมที่ต้องการวิตามินในขนาดสูง
ในเรื่องของนักกีฬา เราได้พูดกันไปแล้ว
บางคนอาจคิดว่า เด็กมีความต้องการวิตามินมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะร่างกายกำลังเจริญเติบโตนี่ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ขนาดของวิตามินที่แนะนำให้เด็กกิน มีปริมาณน้อยกว่าผู้ใหญ่ทุกอย่าง
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า วิตามินเป็นเพียงสารช่วยเร่งปฏิกิริยา เปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงานในเมื่อเด็กกินอาหารน้อยกว่าผู้ใหญ่ ใช้พลังงานในแต่ละวันก็น้อยกว่าจึงเป็นของธรรมดาที่ความต้องการวิตามินจะน้อยตามไปด้วย

คนชรา ต้องการวิตามินมากกว่าธรรมดาไหม ?
คำตอบ คือ ไม่ ต้องการน้อยลงด้วยซ้ำไป เพราะคนชราน้ำหนักมักจะลดลง จึงต้องการวิตามินน้อยตาม
น้ำหนักไปด้วย

คนป่วยล่ะ ต้องการมากกว่าธรรมดาไหม ?
คำตอบ คือ ไม่ ยกเว้นแต่ว่าเวลามีไข้ ซึ่งจะทำให้การเผาผลาญสารอาหารสูงขึ้น
แต่ทั้งในคนชราและคนป่วยปริมาณวิตามินที่ได้จากอาหารอาจไม่เป็นการเพียงพอ (เพราะกินได้น้อย จึงควรให้กินวิตามินเสริม แต่ไม่ต้องกินมากมายอะไร วิตามินรวมที่มีปริมาณวิตามินชนิดต่าง ๆ (ในขนาดที่แนะนำไว้ในตารางที่หนึ่ง) สักวันละหนึ่งเม็ด ก็เป็นการเพียงพอที่จะแน่ใจว่าไม่ขาดวิตามิน
พวกเดียวที่ต้องการวิตามินสูงกว่าธรรมดา คือ คนที่ขาดวิตามิน

ในการรักษา แพทย์อาจต้องให้วิตามินขนาดสูงในช่วงแรก เมื่อสามารถทดแทนปริมาณที่ขาดไปได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้วิตามินอีกต่อไป (แนะนำให้ได้จากอาหารการกิน) หรือถ้าให้ก็ในขนาดปกติ

 

วิตามินมิใช่ยาครอบจักรวาล
คนเราอยู่เฉย ๆ ไม่ขาดวิตามินหรอกครับ ต้องมีสาเหตุ เช่นว่า กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ขาดอาหาร หรือกินได้แต่ดูดซึมไม่ได้ เป็นต้น และเมื่อขาดวิตามินแล้ว ก็ไม่อยู่เฉยอีก ต้องมีอาการ ดังเช่น ขาดวิตามินบีหนึ่งเป็นโรคเหน็บชา ขาดวิตามินเอเป็นโรคตาบอด ขาดวิตามินซีเป็นโรคลักกะปิดลักกะเปิด เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การขาดวิตามินแต่ละอย่างทำให้เกิดโรคจำเพาะ
โรคบางอย่าง เช่นผมร่วง (ศีรษะล้าน) โรคเก๊าท์ ความดันโลหิตสูง โรคหืดหอบ หน้าตกระ มะเร็ง ฯลฯ เหล่านี้มิใช่เป็นโรคที่เกิดจากการขาดวิตามิน การจะอ้างว่ากินวิตามิน (ในขนาดสูง ๆ) แล้วป้องกันรักษาโรคเหล่านี้ได้ จึงไม่ถูกต้องถึงอย่างไร วิตามินก็ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล
ครับ เหมือนกับมีคนมาบอกว่ามีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ลงทุนไปได้กำไรมากมาย จนเอามาแบ่งให้ผู้เอาเงินมาลงขันได้คนละเจ็ดแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของเงินต้นต่อปี อย่างนี้น่าเชื่อไหม
ถ้าเราหว่านเมล็ดข้าวลงไปในนาจะให้มันงอกเป็นต้นกัญชาคงเป็นไปไม่ได้
แล้วจะให้วิตามินมันป้องกันและรักษาโรคที่มันไม่มีคุณสมบัติจะทำได้อย่างไร

 

วิธีการโฆษณาให้กินวิตามินขนาดสูง
วิธีการของผู้สนับสนุนให้กินวิตามินขนาดสูงมีอยู่หลายอย่าง
อย่างหนึ่ง เขาจะหาเหตุผลมาอ้าง ซึ่งถ้าดูเผิน ๆ ก็สมเหตุสมผลดี แต่ถ้าพิจารณาให้ถ้วนถี่จะเห็นว่ามีอะไรขาด ๆ หาย ๆ ไป หรืออ้างข้อมูลที่ผิด ๆ ดังในตัวอย่างเรื่อง วิตามินกับผู้ใช้แรงงาน หรือนักกีฬา ที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น

อีกวิธีหนึ่ง เขาจะบอกว่า วิตามินได้รับการพิสูจน์แล้วว่า รักษาโรคได้ฉะนั้นเราควรกินวิตามินในปริมาณสูงเพื่อป้องกันและรักษาโรคต่อไปนี้ หนึ่ง...สอง...สาม...สี่...ห้า...(ซึ่งไม่เกี่ยวแก่โรคที่เกิดจากการขาดวิตามินเลย) และเมื่ออ้างหลักฐาน ก็จะพูดขึ้นลอย ๆ เช่นในประเทศ...เคยมีการวิจัยว่า...หรือหนังสือบางเล่มยืนยันว่า...
เมื่อพูดถึงวงการแพทย์ที่ไม่รับรอง หรือสนับสนุนให้กินวิตามินขนาดสูง เขาจะพูดทำนองว่า การสอนโภชนาการในโรงเรียนแพทย์ยังล้าหลังบ้าง แพทย์กลัวจะเสียคนไข้ไปเพราะคนไม่เป็นโรค เนื่องจากได้รับการป้องกันจากการกินวิตามินขนาดมหึมาบ้าง คำแนะนำเรื่องปริมาณความต้องการของวิตามินในแต่ละวันที่ใช้กันอยู่ ไม่เป็นตัวแทนอันแท้จริงของกลุ่มชนทั้งหมดบ้าง ฯลฯ

นอกจากนี้ วิธีที่จะจูงใจให้คนหันมากินวิตามินขนาดสูงที่ได้ผลอีกอย่าง คือการกล่าวอ้างว่า วิตามินเป็นของดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย ฉะนั้นยิ่งได้ในปริมาณมากเท่าไหร่ ยิ่งดีขึ้นไปเท่านั้น
ข้อนี้เราท่านที่เดินสายกลางตามทางที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ คงรู้ดีแก่ใจว่า จริง ไม่จริง อย่างไร
สุดท้าย เขาจะบอกว่าในอาหารธรรมดามีวิตามินอยู่น้อยมากไม่เพียงพอต่อความต้องการในขนาดที่แนะนำให้หรือไม่ก็ว่า อาหารที่กินกันทุกวันนี้คุณภาพไม่ดี มีวิตามินน้อย สรุปความว่า ควรจะซื้อวิตามินที่อยู่ในรูปของเม็ดยามากิน เพราะเข้มข้นกว่า มีวิตามินครบ หาได้ง่าย กินก็ง่าย

 

ก่อนจาก
ขณะนี้ได้มีผู้เขียนเผยแพร่เรื่องการกินเพื่อสุขภาพและแนะนำให้คนกินวิตามินขนาด “มหึมา” เพื่อใช้ป้อง
กันและรักษาโรคต่าง ๆ และมีประชาชนจำนวนไม่น้อยซื้อหามากินกันจนกลายเป็นแฟชั่น

ก่อนจาก ขอฝากถึงหน่วยงานและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านโภชนาการทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนว่า ควรทำอย่างหนึ่งอย่างใดบ้าง ในการให้ข้อมูลแกผู้ไม่รู้ (คือประชาชน) บ้างมิใช่ ปล่อยให้คนตื่นกันจนสายเกินการณ์

 

ภาคผนวก

  

ข้อมูลสื่อ

69-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 69
มกราคม 2528
เรื่องน่ารู้
นพ.กฤษฎา บานชื่น