• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคเรื้อน ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

 

“นี่เธอ หลบไปเร็ว มาข้างหน้าโน้นแล้ว”

“อย่าผ่านทางโน้น เห็นไหมนั่น”

“เดินผ่านเร็ว ๆ อย่าไปเข้าใกล้ อย่าไปมอง”

คงจะไม่ต้องพูดใช่ไหมครับว่า ถ้าใครพูดหรือแสดงกิริยาท่าทางดังกล่าวข้างต้นกับเรา เราจะมีความรู้สึกอย่างไร

ครับ...ถึงแม้เราไม่ได้เป็นอะไรหรือปกติอยู่ ก็คงรู้สึกไม่พอใจ
แต่สำหรับคนเป็นโรคเรื้อนแล้วเขาเจ็บป่วยทางร่างกายแล้วยังต้องมาโดนซ้ำเติมด้านจิตใจอีก เขาจะเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเพียงไร ในการมีชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมปัจจุบัน และเขาจะหวั่นวิตกเพียงไรต่ออนาคตของตนเองและครอบครัวของเขา คนเป็นจำนวนมาก พอพูดถึงโรคเรื้อนคงกลังจนไม่กล้าอ่านหรือศึกษาโรคนี้ด้วยซ้ำ

เรื่องนี้เป็นความจริงครับ ขนาดเจ้าที่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งนักวิจัยเองยังกลัวเลย ในสมัยก่อนมีนักวิจัยหรือหมอไม่กี่คนเท่านั้นที่จะมาทำงานศึกษาด้านนี้ เพราะกลัวติดโรคเช่นกัน โรคนี้เป็นโรคคู่เวรคู่กรรมกับมนุษย์มานมนาน จะพบว่ามีการพูดถึงตั้งแต่ครั้งพุทธกาลและคริสตกาลแล้วโรคเรื้อนนี้มีผู้เรียกชื่อหลายอย่าง เช่น ขี้ทูต กุฏฐัง ไทกอ หูหนาตาเร่อ โรคใหญ่ โรคพยาธิเนื้อตาย โรคผิดเนื้อ และอื่น ๆ

ทำไมคนกลัวโรคนี้กันนักกันหนา
ก็คงเห็นแล้วน่ารังเกียจและก็เพราะความไม่รู้หรือพระท่านว่าอวิชชา (ว่าเข้านั่น) ทุกครั้งที่พูดถึงโรคเรื้อน คนส่วนใหญ่มักมองไปที่พวกขอทานหรือคนยากไร้ ทำให้คนทั่วไปเกิดความประมาท อันที่จริงแล้วโรคนี้ก็เหมือนโรคทั่วๆ ไป ที่คนทั่วไปมีสิทธิ์เป็นได้เช่นกัน เพื่อความกระจ่างของโรคนี้และเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง นิตยสาร “หมอชาวบ้าน” จึงขอพาท่านมาพบกับผู้เชี่ยวชาญ คือ น.พ.ธีระ รามสูตร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ในเรื่อง “โรคเรื้อน โรคที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด” ดังต่อไปนี้
 

 


⇒ โรคเรื้อนคืออะไร

โรคเรื้อน เป็นโรคติดต่อเรื้อรังซึ่งเกิดและแพร่ติดต่อได้ เฉพาะในคนไม่เกิดในสัตว์ โรคเรื้อนนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง คือ ไมโคแบคทีเรียเลเปร (Mycobacterium - Leprae) ซึ่งมักชอบฝังตัวและทำให้เกิดอาการตามอวัยวะต่าง ๆ คืออาการทางผิวหนัง เส้นประสาทส่วนปลาย และเยื่อบุท่อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก ปาก คอ เป็นต้น โรคเรื้อนเป็นโรคเก่าแก่ในสมัยพุทธกาลแล้ว ในศาสนาคริสต์ก็มีเอ่ยถึง แต่มนุษย์เราเพิ่งจะพบเชื้อโรคเรื้อนเมื่อ 100 กว่าปีนี้เอง โดยนายแพทย์ชาวนอรเวย์ชื่อ แฮนเซน (G. Armaner Hansen) เมื่อปี พ.ศ.2416

ถึงแม้มนุษย์จะค้นพบมา 100 กว่าปี แต่ก็ยังเพาะเชื้อไม่ขึ้นในน้ำเลี้ยงเชื้อใด ๆ ทั้งสิ้น เพิ่งจะเพาะขึ้นสัตว์ทดลองเมื่อ 20 กว่าปีมานี้เอง โดยพบว่าสามารถเพาะเชื้อขึ้นในอุ้งเท้าหนูถีบจักร และตัวนิ่มแปดลาย ทำให้มีประโยชน์ในการศึกษาด้านหาทางป้องกันและรักษาโรคเรื้อนนี้มากขึ้น โรคเรื้อนนี้ไม่เป็นกรรมพันธุ์ แต่ติดโดยการสัมผัสและขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของร่างกายของผู้ป่วยด้วยถ้าภูมิต้านทานปกติแล้ว แม้จะติดเชื้อโรคเรื้อนแล้วก็มีโอกาสหายเองได้ หรือมีอาการอย่างอ่อนไม่ร้ายแรง

 

 
⇒ เมื่อไรควรสงสัยว่าเป็นโรคเรื้อน
เมื่อ
มีอาการที่แสดงออกให้เห็นดังนี้

ระยะแรก
“ผิวหนังเป็นวงด่างสีขาว ชาหยิกไม่เจ็บ เหงื่อไม่ออก ผิวหนังแห้ง ขนร่วง”
พอพูดถึงวงด่างสีขาว หลายท่านคงชักกลัว ๆ ขึ้นมา “เอ...เราก็มีวงด่างขาวอยู่หลายแห่งจะเข้าพวกโรคเรื้อนรึเปล่าละนี่” ยังไม่ใช่ครับ บริเวณนั้นต้องมีอาการเฉพาะที่คือ ชาหยิกไม่เจ็บ เหงื่อไม่ออก ผิวหนังแห้ง ขนร่วงด้วย นี่เป็นโรคเรื้อนระยะแรก อาการเริ่มต้นในระยะนี้พบประมาณร้อยละ 60 ถ้ารีบตรวจรักษาจะหายได้ง่าย ระยะนี้ไม่ติดต่อ

ระยะสอง
ผิวหนังนูนแดง หนาเป็นตุ่มแผ่นและผื่นไม่คัน และผิวมักแดงเป็นมันเลื่อม ไม่เจ็บ บางแห่งอาจชาบ้าง พบบ่อยตามใบหู ใบหน้า แขนขา และลำตัว ใช้ยากินยาทาเป็นแรมเดือนแล้วไม่ดีขึ้น อาการผิวหนัง นูน แดง หนาที่แสดงออกช่วงนี้จะชัดเจน และพบประมาณร้อยละ 30 ระยะนี้เป็นระยะที่ติดต่อ ซึ่งพบในผู้ป่วยที่ไม่ภูมิต้านทานเชื้อโรคเรื้อนจึงเจริญและแพร่ไปทั้งผิวหนังของร่างกาย จึงมักตรวจพบเชื้อเสมอในระยะแรกก่อนรักษา ฉะนั้นจึงควรรีบตรวจรักษาก่อนที่จะเกิดความพิการและที่จะติดต่อผู้อื่น ถ้ารีบรักษาภายใน 1-3 เดือน เชื้อก็จะตายหมด ไม่ติดต่อบุคคลในบ้านและผู้อื่นอีกต่อไป

ระยะที่สาม
มือเท้าชา กล้ามเนื้อมือเท้าอ่อนกำลัง เมื่อยล้าง่าย กล้ามเนื้อบริเวณหลังมือและฝ่ามือจะลีบแบนราบ ไม่มีกำลัง นิ้วงอเป็นอัมพาต ข้อมือตก เดินเท้าตก หลังตาไม่ลง อาการทางประสาทนี้พบได้ในผู้ป่วยประมาณร้อยละ 15-30 ที่ไม่สนใจและไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคเรื้อน ไม่รีบตรวจรักษาหรือไม่ระวังดูแลมือเท้าที่เริ่มชาก็อาจพิการมากขึ้นภายหลังได้ อาการนี้ควรสงสัยเป็นโรคเรื้อนที่ลุกลามเข้าเส้นประสาทใต้ผิวหนังและเกิดความพิการแล้ว ควรรีบมาตรวจรักษาก่อนจะกำเริบและพิการมากขึ้น
ทั้งสามระยะที่กล่าวถึงข้างต้นคืออาการของโรคเรื้อนที่เห็นได้ชัดเจนที่ประชาชนควรจะสนใจและรู้ไว้ เพื่อจะได้รีบไปตรวจรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ ถ้ามีอาการน่าสงสัยดังกล่าว

 


⇒ รู้ได้อย่างไรว่าเป็นหรือไม่เป็นโรคเรื้อน
อาการ
ที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยของแพทย์ ได้นี้ ก็อย่างที่ว่า ในระยะต้นเป็นวงด่างสีขาว ชา เราก็จับจุดนี้ ถ้าชาก็สงสัยได้ก่อนเลยว่าโรคเรื้อน ทีนี้วิธีตรวจ โดยปกติผิวหนังคนเราจะมีความรู้สึก 4 อย่างคือ ความรู้สึกร้อน เย็น ความรู้สึกสัมผัส ความรู้เจ็บปวด ความรู้สึกหนักเบา
ถ้าเป็นโรคเรื้อนความรู้สึกเหล่านี้จะเสียตามลำดับ
เริ่มที่ความรู้สึกร้อนเย็นก่อน การทดสอบโดยเอาแก้วน้ำเย็นมาแตะหรือใช้วิธีเอาสำลีชุบแอลกอฮอล์ เช็ดผิวหนังที่ด่างแล้วใช้ปากเป่าลม แล้วก็เช็ดผิวหนังที่ปกติแล้วเป่าเช่นกัน เปรียบเทียบความรู้สึกทั้ง 2 ดู ถ้าเป็นจะไม่รู้สึกเย็น ต่อมาก็ความรู้สึกสัมผัส เราก็ใช้สำลีแตะเบา ๆ ระหว่างหนังที่ดีกับหนังที่ด่าง ต่อมาก็ความรู้สึกเจ็บปวด เราก็ใช้เข็มหมุดทิ่มดู ระหว่างหนังดีกับหนังด่าง

ในสมัยที่ผมอยู่ท้องที่ เวลาเข้าไปตรวจในหมู่บ้าน เราก็ใช้วิธีพูดแนะนำ 3 ประโยคว่า

ใครมีวงด่างสีขาว ชาหยิกไม่เจ็บ เหงื่อไม่ออกมีไหม ถ้ามีก็น่าจะสงสัยว่าอาจเป็นโรคเรื้อนระยะแรกแล้ว รีบมาตรวจเสียก่อนจะพิการ หรือถ้าไม่รักษาอาจจะติดลูกติดเมียนะ”

ต่อมาก็เน้นว่า “ใครมีผิวหนังบวมแดง หนาเป็นตุ่ม เป็นผื่น ซึ่งไม่คัน ไม่ชา ผิวแดงเป็นมันเลื่อมซึ่งใช้ขี้ผึ้งทาและกินยานาน ๆ แล้วไม่หาย ไม่ดีขึ้นอาจเป็นโรคเรื้อน ระยะติดต่อ เดี๋ยวจะติดคนอื่นและจะพิการถ้าไม่รับมารักษาเสียแต่ต้น”

ประโยคสุดท้ายก็ตบท้ายด้วยคำว่า “ใครมีมือเท้าชา กล้ามเนื้อลีบ นิ้วงอข้อมือตก เดินเท้าตก หลับตาไม่ลงมีไหม ถ้ามีอาจเป็นความพิการเป็นโรคเรื้อนแล้วรีบมาตรวจเสีย เดี๋ยวจะพิการมากขึ้นได้”

ระหว่างเดินในหมู่บ้าน ผมก็ใช้ปากให้เป็นประโยชน์ ก็พูดไปตาม 3 ประโยคดังกล่าว ซึ่งมันสั้นแต่เข้าใจง่าย ถ้าใครมีอาการสงสัยตามนี้รีบมาตรวจเสีย เขาสงสัยหรือกลัวโรคเรื้อนเขาก็รีบมาตรวจครับ โดยเราใช้ความกลัวโรคเรื้อนให้เป็นประโยชน์ เมื่อผู้มีอาการสงสัยมาหาให้ผมตรวจในหมู่บ้าน ผมก็ไม่ต้องไปใช้เครื่องไม้เครื่องมือพิเศษอะไรเลย

เราก็เดินไปหยิบขนไก่หรือขนนกตามหมู่บ้าน แล้วก็เด็ดปลายให้เป็นพู่กันปลายแหลมเหน็บใส่กระเป๋า พวกที่มีวงด่างขาวมาก็ตรวจง่าย โดยเอาปลายขนนกเขี่ยความรู้สึกสัมผัส แล้วก็เขี่ยบริเวณที่ดีๆเปรียบเทียบกันแล้วก็เอาปลายแหลมขนไก่จิ้มให้ที่วงด่าง และผิวหนังปกติรอบ ๆ ถามว่าเจ็บไหม เราใช้วิธีนี้ร้อยละ 60 วินิจฉัยโรคเรื้อนได้ ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีอันยุ่งยากเลย  หมอชาวบ้าน อสม.ผสส. ทำได้หมด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พระ ช่วยตรวจได้หมด เพราะไม่ต้องใช้เครื่องมือเหมือนโรคอื่น ๆ ใช้ปากกับใช้มือก็วินิจฉัยได้ราวร้อยละ 71-80 แล้วครับ  

สำหรับพวกพิการนี่มาถึงก็รู้แล้วดูมือลีบ นิ้วไม่มีแล้ว เรียบร้อย ไม่ต้องไปวินิจฉัยแล้ว เห็นเดินขากระดกขึ้นไม่ได้ ขาลากมาแต่ปลายหมู่บ้านก็แทบจะวินิจฉัยโรคเรื้อนได้แล้ว หรือหลับตาไม่ลง ปากเบี้ยว เป็นโรคเรื้อนแน่ แต่จะให้แน่เราก็ต้องใช้มือคลำเส้นประสาทที่ใต้ผิวหนังตามข้อศอก หัวเข่า ตาตุ่มดู ถ้าโตคลำได้ก็เป็นโรคเรื้อนแน่ครับ
พวกที่ยุ่งยากก็พวกผิวหนัง นูน แดง หนา เพราะมักไม่ชา ไม่พิการ จะให้แน่ใจว่าเป็นโรคเรื้อนแน่ ๆ ต้องใช้ใบมีโกนหนวดนี่แหละขูดผิวหนังตรงที่นูนแดง หนามาก ๆ เอาเชื้อโรคเรื้อนไปป้ายบนแผ่นกระจกสไลด์แล้วนำไปย้อนส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเชื้อโรคเรื้อน แต่ว่ามันก็จะมีอาการหลงเหลืออยู่บ้างเช่น อาจจะมีชาอยู่บ้าง แต่ถ้าไม่มีก็ยุ่ง เพราะอาจเป็นโรคผิวหนังอื่นก็ได้ แต่ก็มีจุดที่พอจะวินิจฉัยได้คือ ในระยะหลังดังกล่าวแล้วเส้นประสาทที่ถูกทำลายโดยเชื้อโรคเรื้อนนาน ๆเข้า มักจะมีเยื่อพังผืดเข้ามาแทนที่เส้นประสาทก็จะโตเป็นเส้นคลำได้ที่ข้อมือ ข้อศอก ที่คอ ข้อหัวเข่าด้านนอก ที่ใต้ตาตุ่ม จะมีเส้นประสาทโต ถ้าจับจุดนี้ได้ ก็จะวินิจฉัยโรคได้ว่า โรคเรื้อนไม่มีโรคอะไร

วิธีวินิจฉัยที่ว่าต้องขูดผิวหนังตรวจทำเชื้อนั้นก็ใช้วิธีดังกล่าวแล้วคือ ขูดหาเชื้อดูโดยใช้นิ้วมือบีบผิวหนังที่จะขูดให้แน่นป้องกันมิให้เลือดออก เพราะถ้าเลือดติดไปด้วยจะบดบังเชื้อหมด ระหว่างบีบเราก็เอามีดขูดน้ำเนื้อขาว ๆ ติดที่ปลายมีดขึ้นมา แล้วละเลงลงใส่สไลด์แผ่นกระจกเชื้อน้ำเหลืองก็ติดอยู่ในสไลด์ แล้วเอาไปย้อมสีแบบย้อมเชื้อทีบี (วัณโรค) ส่องกล้องดูหรือว่าถ้ามีแผลที่จมูก มีน้ำเหลืองออกมา เราก็ให้สั่งน้ำมูกลงแผ่นพลาสติก เอาขดลวดแตะน้ำมูกละเลงลงสไลด์ส่องกล้องดูก็จะพบว่าเป็นเชื้อโรคเรื้อนหรือไม่

สำหรับในกรุงเทพ ฯ เราคงจะใช้วิธีแบบไปตรวจท้องที่อย่างชนบทไม่ได้ ดังนั้น ขั้นแรกก็ต้องให้ ช่วยเหลือตนเองและกันเองก่อน ถ้าสงสัยหรือมีอาการอย่างที่ว่าข้างต้นก็ให้รีบมารักษาเสีย

 

⇒ ทำไมถึงต้องเป็นเรา
โรคเรื้อนนั้นไม่ใช่เป็นโรคที่เมื่อสัมผัสเชื้อโรคเรื้อนแล้วต้องเป็นทุกคน คนที่เป็นจะต้องมีความผิดปกติทางระบบภูมิต้านทานของร่างกายร่วมด้วย ปกติภูมิต้านทานของคนมี 2 ระบบอย่างที่รู้กัน ระบบที่ 1 ใช้เม็ดเลือดขาวต่อสู้กับเชื้อโรค อีกระบบก็ระบบสร้างแอนติบอดี หรือสารต่อต้านทำลายเชื้อโรคเมื่อ
เชื้อโรคเข้าไปทางผิวหนังหรือบาดแผล ระบบภูมิต้านทานก็จะส่งเม็ดเลือดขาวเล็ก ซึ่งเปรียบเสมือนตำรวจออกมาจากต่อมน้ำเหลือง ที่เป็นเหมือนกองบัญชาการตำรวจ ในขณะเดียวกันก็สร้างสารต่อต้านทำลายเชื้อโรค

เมื่อเม็ดเลือดขาวเล็กพบเชื้อโรคก็จะกินเข้าไป ปล่อยน้ำย่อยออกมาทำลายเชื้อโรคก็หมด แต่ถ้าเม็ดเลือดขาวเล็กสู้ไม่ได้ก็จะหลั่งน้ำย่อยชนิดหนึ่งออกมาล้อมไว้ เป็นน้ำย่อยชนิดพิเศษ มีฤทธิ์ในการกระตุ้นเม็ดเลือดขาวขนาดใหญ่ให้มาช่วย คล้ายส่งสัญญาณเรียกเม็ดเลือดขาวใหญ่ ซึ่งเปรียบเสมือนตำรวจตระเวนชายแดน และกองทหารซึ่งก็จะเคลื่อนตัวเข้ามาและมาช่วยกินและทำลายเชื้อโรคให้หมด

แต่สำหรับ คนที่มีภูมิต้านทานผิดปกตินี้
เม็ดเลือดขาวใหญ่ของเขา เมื่อกินเชื้อเข้าไปแล้ว กลับย่อยไม่ได้ทีนี้เมื่อย่อยไม่ได้ เชื้อโรคเรื้อนก็ยิ้มซ่อนตัวอยู่ภายใจเม็ดเลือดขาวใหญ่แทน เม็ดเลือดขาวก็เลยกลายเป็นบ้านและเป็นตัวปกป้องเจ้าเชื้อโรคนี้จากความร้อนปกป้องจากการต่อสู้ของสารต่อต้านทำลายเชื้อโรค

เชื้อโรคเรื้อนเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 15-20 วันแบ่งตัวเมื่อ 15-20 วันแล้วเม็ดเลือดขาวใหญ่กำจัดไม่ได้ ก็เริ่มแบ่งตัวและอาศัยเม็ดเลือดขาวใหญ่เป็นบ้านอยู่ในเซลล์ เจริญเติบโตแตกจากเม็ดเลือดขาวตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง จนเป็นล้าน ๆตัว ทีนี้เม็ดเลือดขาวดังกล่าวมันไม่อยู่นิ่งมันก็เคลื่อนเข้าสู่กระแสเลือด พอถึงตอนนี้เม็ดเลือดขาวก็พาเอาเชื้อโรคเรื้อนแพร่กระจายไปทั่วตัวแล้ว แทนที่จะเป็นวงด่างขาวเฉพาะที่ก็เกิดวงด่างขาวหรือตุ่ม แผ่นผื่นแดงหนาทั่วร่างกาย

เชื้อโรคเรื้อนนั้นชอบอุณหภูมิเย็น ๆ ต่ำกว่า 33 องศาเซลเซียส ตามใต้ผิวหนังตื้น ๆ เช่น ใบหู ใบหน้า ตามก้น ตามเส้นประสาท มักจะไม่เข้าไปลึกสังเกตว่า จะเข้าไปในจมูก แต่ไม่ลงเลยกล่องเสียงไป เม็ดเลือดขาวใหญ่ก็กลายเป็นตัวนำเชื้อโรคเรื้อนเป็นล้าน ๆ ไป พอกอยู่ใต้ผิวหนัง ลองคิดดูซิว่า อาการที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร เมื่อมีอะไรมาแทรกอยู่ข้างใต้ผิวหนัง ผิวหนังก็เริ่มมีการนูน แดง หนา ซึ่งระยะนี้เป็นระยะติดต่อ ในช่วงนี้ถ้าขูดเข้าไปที่ไหนก็จะพบเชื้อที่นั่น (ในผิวหนัง 1 กรัม จะมีเชื้อถึงเจ็ดพันล้านตัวทีเดียว ) เชื้อโรคเรื้อนก็จะค่อยๆ ทำลายประสาทความรู้สึกของคน เป็นลำดับที่กล่าวมาแล้ว

 
 

⇒ เขารักษากันอย่างไร
การรักษามีทั้งรักษาด้วยยากินและร่วมกับการฉีดยา
ยากินที่ใช้รักษาโรคเรื้อนมีอยู่ 3 ตัว คือ ยาแด็ปโซน (Dapsone) ไรแฟนพิซิน (Rifampicin) และแล็มพรีน (Lamprene) เรามักจะใช้ทั้งสามตัวผสมกันตั้งแต่การรักษาในระยะแรก เพื่อทำลายเชื้ออย่างรวดเร็วไม่ให้เชื้อปรับตัว ซึ่งจะดื้อต่อยา

และเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา หมอที่เวเนซูเอล่า ได้ทดลองทำวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกันเพื่อใช้ป้องกันโรคเรื้อนและสามารถรักษาโรคเรื้อนได้ ประเทศไทยเรากำลังทดลองอยู่
ผู้ป่วยโรคเรื้อนซึ่งไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ เม็ดเลือดขาวไม่ทำลายเชื้อตัวนี้ วัคซีนก็จะไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวทำลายเชื้อโรคเชื้อโรคเรื้อนได้ ขณะเดียวกันวัคซีนนี้ก็ใช้ร่วมกับตัวยาอื่นที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลเร็วขึ้น ก่อนนี้เคยใช้เวลารักษาโดยเฉลี่ยประมาณ 6 ปี ก็สามารถลดลงเหลือ 2 ปี ในผู้ป่วยระยะติดต่อ และ 6 เดือนในผู้ป่วยระยะไม่พบเชื้อ

เพื่อให้การรักษาได้ผลดี ผู้ป่วยจำเป็นต้องปฏิบัติตัวดังนี้
1.รีบมารับการตรวจรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นหรือเริ่มมีอาการสงสัยจะเป็นโรคเรื้อน

2.กินยาอย่างสม่ำเสมอตามขนาดที่หมอสั่งจนกว่าหมอจะบอกให้เลิก

3.ถ้ามีอาการแทรกซ้อนผิดปกติเช่น เป็นไข้ ปวดเมื่อย มีตุ่มตามร่างกายบวม อักเสบร้อน ปวดเส้นประสาท มือเท้าชา พิการเพิ่มมากขึ้น มีแผลลึกที่เท้า ตามัว และอาการผิดปกติอื่น ๆให้รีบมาหาหมอ

4.รักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้าเครื่องนอนหมั่นเอาออกตากแดดและทำความสะอาดบ้านเรือน

5.กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงจะได้มีภูมิต้านทานโรค

6.หมั่นตรวจมือเท้าที่ชา ระวังไม่ถูกของร้อน ของมีคม ถ้ามีแผลรีบรักษาทันที ก่อนจะพิการมากขึ้น

7.หมั่นตรวจอาการสงสัยแก่บุตรหลานในครอบครัว และแนะนำผู้มีอาการสงสัยไปตรวจที่โรงพยาบาล สถานีอนามัย ปีละครั้ง

 

⇒ ป้องกันมิให้เป็นโรคเรื้อนได้อย่างไร
การป้องกันก็เป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพอนามัยทั่วไป เช่น อาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาดเป็นประจำ รักษาเสื้อผ้าของใช้และที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ไม่อยู่ใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยในระยะติดต่อ ถ้ามีอาการสงสัยทางผิวหนังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ก็ควรไปตรวจรักษา
สำหรับครอบครัวที่ในบ้านมีผู้ป่วยโรคเรื้อนในระยะติดต่อ ก็ควรแยกห้องไม่ใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่มร่วมกันระยะหนึ่ง จนพ้นระยะติดต่อ
ถ้าในบ้านมีเด็กไม่ควรให้เด็กคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยจนกว่าจะพ้นระยะอันตรายเช่นกัน

 

⇒ ของฝากก่อนจาก
เนื่องจากโรคเรื้อนเป็นโรคที่สังคมรังเกียจและกลัวมาก จึงอยากขอให้เราอย่ามองผู้ป่วยเสมือนสิ่งที่น่ารังเกียจหรือโยนภาระรับผิดชอบให้แก่วงการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคเรื้อนเพียงฝ่ายเดียว แต่ควรมองผู้ป่วยโรคเรื้อนแบบลักษณะเป็นมนุษย์หรือเป็นคน หรือเป็นคนป่วยด้วยโรคชนิดหนึ่งเหมือนคนป่วยด้วยโรคอื่น ๆ และเป็นผู้น่าสงสารที่มีปัญหาทางสังคมและจิตวิทยา ขอฝากคำกลอนสั้น ๆไว้ว่า

โรคเรื้อน ไม่ร้าย อย่างที่คิด หายสนิท หากรีบรักษา ถ้าผิวหนังมีวงด่างขาว แห้งและชา รีบตรวจรักษา ให้หาย ไม่พิการ”

-ถ้าบังเอิญกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคเรื้อนอยู่จะเป็นอย่างไร
อันนี้ไม่ทำให้เราเป็นโรคเรื้อนได้ เพราะน้ำลายและน้ำย่อยจะทำลายได้หมด

-เมื่อเชื้อโรคเรื้อนชอบที่เย็น ถ้าถูกความร้อนก็ตายใช่ไหม
ครับ ถ้าถูกความร้อนจะอยู่ไม่ได้ ถ้าอยู่ในที่ร่มจะอยู่ได้ 4 วัน เชื้อโรคเรื้อนชอบอยู่ในอุณหภูมิต่ำกว่า 33 องศาเซลเซียส ในร่างกายของคน 37 องศาเซลเซียส เชื้อโรคเรื้อนจึงมักจะอยู่ส่วนปลาย ๆของร่างกายที่มีอุณหภูมิต่ำ

-ที่ว่าโรคเรื้อนเป็นในคนเท่านั้น แล้วสุนัขขี้เรื้อนทำไมเป็น
สุนัขขี้เรื้อนไม่ใช่เชื้อโรคเรื้อนอย่างที่คนเป็น

-ทำไมจึงว่าเด็กมีโอกาสติดเชื้อโรคเรื้อนได้ง่าย ถ้าคลุกคลีกับผู้ป่วย
เพราะว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีนั้น เม็ดเลือดขาวยังไม่พัฒนาเต็มที่ ยังไม่แข็งแรงเพราะฉะนั้นโอกาสติดเชื้อโรคเรื้อนจึงมีง่าย เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่เองถ้าร่วมคลุกคลีในระยะติดต่อเป็นเวลานานก็เป็นได้

-ทำไมคนเป็นโรคเรื้อนถึงระยะหนึ่งจมูกบี้
ที่บริเวณจมูกเป็นกระดูกอ่อนและมีเยื่อบุ เชื้อโรคเรื้อนชอบที่เย็นและบริเวณเยื้อบุจมูกก็เป็นที่มีอุณหภูมิต่ำ มันก็ไปอยู่ ไปทำลายจนเยื่อบุกระดูกอ่อนเสีย จมูกก็เลยบี้

-ที่เห็นนิ้วมือของพวกโรคเรื้อนกุดไปนั้น เกิดจากมีเชื้อโรคกัดกินหรือ
ไม่ใช่ เกิดจากเส้นประสาทที่มาเลี้ยงเส้นเลือดถูกทำลาย เมื่อเส้นประสาทเสียไปเส้นเลือดก็ตีบ พอตีบก็เหมือนต้นไม้ขาดน้ำนั่นแหละ ใบก็เหี่ยว ผิวหนังตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก็เริ่มเหี่ยว เมื่อไม่มีเลือดเลี้ยง ผลสุดท้ายเนื้อก็แห้งตายค่อย ๆ กุดลง ๆ จากเล็บ จากผิวหนังไปกระดูก ผู้ป่วยจะไม่ปวดเพราะการตายของเนื้อนั้นเป็นไปทีละน้อย ไม่ได้ตายทันที จะเห็นว่า ถ้าผู้ป่วยสูบบุหรี่ไหม้นิ้วมือจนเป็นแผล แต่ก็ไม่รู้สึกเพราะเส้นประสาทความรู้สึกเสียไป

 

ถ้าท่านมีอาการหรือสงสัย ไม่ต้องกลัว โรคนี้รักษาหายได้ ขอให้ไปปรึกษาหรือรับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานบริการสาธารณสุข ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดได้ดังต่อไปนี้:-

เขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง
1.โรงพยาบาลพระประแดง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
2.สถาบันราชประชาสมาลัย อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
3.สถานบำบัดโรคผิวหนัง กรมควบคุมโรคติดต่อ ถนนประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร
4.ศูนย์โรคเรื้อนเขตนครหลวง ถนนประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร
5.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
6.ศูนย์การแพทย์และอนามัย สถานีอนามัย และสำนักงานผดุงครรภ์
7.ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัยเทศบาล กรุงเทพมหานครทุกแห่ง
8.โรงพยาบาลบำราศนราดูร นนทบุรี
9.สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร
10.โรงพยาบาลต่าง ๆ

จังหวัดต่าง ๆในส่วนภูมิภาค
1.สถานพยาบาลโนนสมบูรณ์ ขอนแก่น
2.หน่วยควบคุมโรคเรื้อนจังหวัดต่าง ๆ
3.ศูนย์โรคเรื้อนเขต รวม 9 เขต (สระบุรี ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ลำปาง พิษณุโลก ราชบุรี นคร
ศรีธรรมราช และสงขลา )
4. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ
5.ศูนย์การแพทย์และอนามัย สถานีอนามัย และสำนักงานผดุงครรภ์ทุกแห่ง
6.โรงพยาบาลอำเภอและโรงพยาบาลจังหวัดต่าง ๆ
7.นิคมโรคเรื้อนต่าง ๆ คือ นิคมดงทับ นิคมแพร่งขาหยั่ง(จันทบุรี) นิคมห้วยคลี่ (แม่ฮ่องสอน)นิคมฝายแก้ว(น่าน) นิคมบ้านกร่าง (พิษณุโลก)นิคมแม่ลาว (เชียงราย) นิคมแม่ทะ (ลำปาง) นิคมบ้านหัน
(มหาสารคาม) นิคมปราสาท (สุรินทร์) นิคมเสลภูมิ (ร้อยเอ็ด) นิคมอำนาจเจริญ (อุบลราชธานี)
นิคมพุดหง (นครศรีธรรมราช)
8.หน่วยงานอาสาสมัครโรคเรื้อนทุกแห่ง


ภาพแสดงผิวหนังของผู้ป่วยโรคเรื้อนชนิดต่างๆ
     

   

 

                            

 

                                      

 

                                      

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

63-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 63
กรกฎาคม 2527
บทความพิเศษ
กองบรรณาธิการ