• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้อาเจียน


โดยทั่วไป อาการอาเจียนเป็นกลไกหนึ่งของร่างกายที่ใช้ขจัดสารที่เป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวเราออกมา นอกจากนี้ยังเป็นอาการที่ร่างกายแสดงออกมาเวลารู้สึกไม่สบายหรือ ปรับตัวไม่ทันต่อสภาวะแวดล้อม

อาการอาเจียน เป็นอาการร่วมของโรคหลายชนิด ทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง มีสาเหตุทีที่พบได้บ่อยๆ คือ

1. เป็นผลข้างเคียงของยาหลายชนิด เช่น เตตร้าซัยคลีน อีริโธรมัยซิน ยาพวกฮอร์โมน ยาเสพติดต่างๆ ฯลฯ

2. เกิดจากพิษของยาและสารเคมีบางชนิด เช่น การกินยารักษาโรคหัวใจพวกดิจิทาลิสเกินขนาดอาการพิษจากตะกั่วหรือ ปรอท ฯลฯ

3. เกิดจากโรคบางชนิด เช่น ไส้ติ่งอักเสบชนิดฉับพลัน ถุงน้ำดีอักเสบ โรคไมเกรน(ลมตะกัง) อาหารเป็นพิษ กระเพาะลำไส้ตีบตัน หรือหลังจากการฉายรังสีเพื่อรักษาโรค ฯลฯ

4. เมารถเมาเรือ ขณะเดินทาง

5. แพ้ท้อง

6. โรคกระเพาะ

7. อาการจุกเสียดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย

อาการคลื่นไส้อาเจียนที่รุนแรง จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียอย่างรวดเร็วได้ เพราะนอกจากร่างกายจะต้องออกแรงในการอาเจียนแล้ว ร่างกายยังสูญเสียน้ำ เกลือแร่และอาหารต่างๆ ไปอีกด้วย ยิ่งถ้าอาเจียนในระยะใกล้ๆ กันติดต่อกันหลายๆ ครั้งจะพาให้หมดแรงได้เลยทีเดียว ยิ่งในเด็กเล็กๆ หรือเด็กทารก ก็จะยิ่งมีอันตรายมากขึ้นเพราะเกิดการขาดน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย



เมื่อใดต้องไปพบหมอ
1. อาการคลื่นไส้อาเจียนในเด็กเล็ก หรือทารก

2. อาการคลื่นไส้อาเจียน หลังการใช้ยา ต้องหยุดยานั้นทันที แล้วรีบกลับไปหาหมอ

3. อาการคลื่นไส้อาเจียนติดต่อกันหลายๆครั้ง ในระยะเวลาใกล้ๆ กัน หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนติดต่อกันนาน 2-3 วัน

4. อาเจียนออกมาเป็นเลือด

5. อาเจียนร่วมกับมีอาการปวดท้องมาก หรือมีอาการอาเจียนอย่างแรงจนพุ่งเป็นสาย หรือมีอาการปวดหัว มีไข้ร่วมด้วย

 


ยาแก้อาเจียน
ยาแก้อาเจียนเป็นเพียงยาที่ช่วยระงับอาการคลื่นไส้อาเจียนเท่านั้น มันก็เหมือนกับยารักษาอาการอื่นๆ ทั่วๆ ไป คือไม่ได้กำจัดสาเหตุหรือต้นตอของโรคเขาจึงต้องใช้ยาอื่นหรือวิธีรักษาอื่นที่จะขจัดต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการอาเจียนออกไปพร้อมๆกับการใช้ยาแก้อาเจียน

ยาที่จำหน่ายตามท้องตลาดหลายชนิด มีฤทธิ์แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนได้ แต่ในทางปฏิบัติเราใช้กันเพียงไม่กี่ชนิด เพราะยาเหล่านี้หลายตัว แม้จะสามารถแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนได้ดี แต่ก็ไม่เหมาะที่จะใช้เพราะมีฤทธิ์ข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น อาจทำให้คนไข้มีอาการความดันเลือดลดต่ำลงเวลาเปลี่ยนอิริยาบท ซึ่งบางทีก็พาให้รู้สึกหน้ามืดเวียนหัวคล้ายจะเป็นลม บางอย่างก็ทำให้ตาพร่ามัว ปากแห้ง ง่วงมาก หลายตัวทำให้มีอาการตัวแข็ง กล้ามเนื้อเกร็ง เคลื่อนไหวลำบาก ฯลฯ อย่างไรก็ตามยาแก้อาเจียนที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ใช่ว่าจะไม่มีผลข้างเคียงรบกวนเลย เพียงแต่เกิดขึ้นไม่มากนัก คนไข้พอทนได้

 


ยาแก้อาเจียนที่ควรรู้จัก
1. ไดเมนฮัยดริเนต (Dimenhydrinate) เช่น ดรามามีน (Dramamine) (ราคาเม็ดละ 50 สต.)ความจริงยาตัวนี้เป็นยาแก้แพ้แต่มีฤทธิ์ระงับอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ใช้แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนต่างๆ นอกจากนี้ยังนิยมนำมาใช้ในการป้องกันอาการเมารถ เมาเรือ

ผู้ใหญ่ กินครั้งละ 1 เม็ด ก่อนเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง ถ้าจำเป็นต้องกินซ้ำ ให้กินได้วันละ 3-4ครั้ง ห่างกัน 6-8 ชม.

เด็ก กินครั้งละ 1/2 เม็ด เด็ก 2-5 ขวบ กินครั้งละ 1/4-1/2 เม็ด อาจกินซ้ำได้ถึงวันละ 3 ครั้ง

ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงเช่น เดียวกับยาแก้แพ้ทั่วๆไปคือ ทำให้ง่วงนอน ดังนั้น เมื่อกินยานี้แล้ว ต้องไม่ขับรถ ขับเรือ หรือควบคุมเครื่องจักรเองเด็ดขาด นอกจากนี้ บางคนอาจรู้สึกว่า มีอาการปากแห้งได้ นอกจากนี้ระหว่างที่กินยานี้ ต้องงดเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด

2. เมโตโคลปราไมด์ (Metoclopramide)เช่น ปลาสิ้ล (Plasil) พริมเพอแรน (Primperan) ซึ่งมีทั้งชนิดเม็ด(ราคาเม็ดละประมาณ 1.25 บาท) และชนิดน้ำเชื่อมขนาด 5 มก. ใน 1ช้อนชา (ราคาขวดละ 2.50 บาท) ใช้แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนต่างๆ

ผู้ใหญ่ ให้กินครั้งละ 1 เม็ด (10 มก.) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง บางคนที่ตัวเล็ก น้ำหนักน้อย อาจกินครั้งละ 1/2เม็ด (5 มก.) ก็ได้ผลแล้ว เด็ก 7-12 ปี กินครั้งละ ครึ่งเม็ด หรือ 1 ช้อนชา เด็ก 4-7 ปี กินชนิดน้ำเชื่อม 1/2-1ช้อนชา

เด็ก 1-4 ปี กินครั้งละ 1/2 ช้อนชา เด็กต่ำกว่า 1 ปี กินครั้งละ 1/4 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง ยาตัวนี้ ทำให้ง่วงนอนเช่นกัน นอกจากนี้ ยังอาจทำให้มีอาการคอแข็ง ลิ้นแข็ง ขากรรไกรแข็ง (อ้าปากไม่ได้) ซึ่งจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อหยุดยา

3. วิตามิน บี 6
แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่แพ้ท้องก็ลองกินวิตามิน บี 6 เองได้ก่อน โดยกิน ครั้งละ 1-2 เม็ดวันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง


4. ดีเบนด๊อกซ์ (Debendox) (ราคาเม็ดละ 1.50 บาท) เป็นยาที่ใช้แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนในรายที่แพ้ท้องที่ใช้มากในปัจจุบันนี้ โดยให้กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง เช้า เย็น และก่อนนอน

แต่ถ้ารู้สึกว่าแพ้ท้องมาก คลื่นไส้อาเจียนจนกินไม่ได้เลยก็ควรจะไปหาหมอดีกว่าค่ะ

 

ข้อมูลสื่อ

25-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 25
พฤษภาคม 2524
ยาน่าใช้
ภก.พนิดา จารุศิลาวงศ์