• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคผิวหนัง จากอาชีพ


โรคผิวหนังจากอาชีพ คือ โรคผิวหนังที่เกิดขึ้นกับคน เนื่องจากสาเหตุในขณะทำงาน ในปัจจุบันเราเรียกหมวดหมู่ความรู้ทางการแพทย์ในด้านนี้ว่า อาชีวเวชศาสตร์ (Occupational Medicine) โรคผิวหนังซึ่งเกิดจากสิ่งแวดล้อมก็รวมอยู่ในหมวดหมู่ความรู้ประเภทเดียวกัน
กฎหมายทางแรงงานและสาธารณสุข บ่งไว้ชัดเจนว่า หากลูกจ้างเป็นโรคผิวหนังอันเกิดจากการสัมผัสกับสาร เนื่องจากการทำงาน หรือผลจากความร้อนหรือแสง นายจ้างต้องจ่ายเงินทดแทนคือเงินตอบแทนหรือค่ารักษาพยาบาลให้ลูกจ้างที่เจ็บป่วยหรือถึงกับทุพพลภาพหรือตายด้วยโรคเนื่องจากการทำงานเหล่านี้

 

ในปัจจุบัน โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กตั้งแต่อุตสาหกรรมภายในครอบครัวจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงงานปูนซีเมนต์ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตรถยนต์ ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นจำนวนมากและขยายตัวออกอย่างรวดเร็วจากผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติ เราหันมาใช้เคมีภัณฑ์และอุปกรณ์ทุ่นแรงทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นวัตถุดิบ จนทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ตามต้องการ นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้พบว่าสารต่างๆ ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่สารที่ใช้เพื่อทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ตามต้องการ หรือแม้แต่ส่วนประกอบที่ใช้กับเครื่องจักร (เช่น น้ำมันหล่อลื่น) ต่างทำให้เกิดโรคผิวหนังได้เกือบทั้งสิ้น โรคที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะจากการระคายเคืองหรือจากการแพ้ ในต่างประเทศได้มีการสนใจและควบคุมกันอย่างจริงจัง แต่ในประเทศไทยการควบคุมป้องกันและการให้การสนใจในเรื่องนี้อยู่ในเกณฑ์น้อย ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลที่รับฟังได้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบุคลากรยังไม่อำนวยให้ เราพบว่า โรงงาน หลายแห่งซึ่งใช้วัสดุที่ระคายเคืองต่อผิวหนังอย่างมาก ยังไม่เคยหาทางป้องกันให้คนงานเลย นายแพทย์สร เมติยะวงศ์ ศาสตราจารย์ทางโรคผิวหนัง ได้เขียนเอกสารแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในแพทย์สภาสาร กระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงานอาชีวอนามัย เป็นผู้ดำเนินงานทางด้านนี้ สำหรับทางกรุงเทพมหานครก็กำลังดำเนินงานด้านนี้อยู่เช่นกัน
 

    


ซีเมนต์เป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังกับคนงานก่อสร้างเป็นจำนวนมาก โดยมากเกิดกับคนผสมปูน หรือโบกปูนในการก่อสร้าง อาการมีทั้งแสบแดง เกิดเพราะการระคายเคืองและอาการแพ้ ตัวที่ทำให้เกิดอาการคือ โครเมี่ยมและโคบอลท์ที่ผสมอยู่ในซีเมนต์ ตำแหน่งที่เกิดขึ้นมักจะเป็นที่หลังมือ อาการส่วนใหญ่คือ แดง บวม ต่อไปเกิดเป็นเม็ดน้ำเล็กๆ หรือเม็ดน้ำพองขนาดใหญ่ ต่อไปอาจจะเกิดเน่าเฟอะทางผิวหนัง หรือเกิดเม็ดหนอง และที่รำคาญคือ คันมาก หากเป็นในขนาดน้อยๆ คือ มีแต่ผื่นแดง หรือผื่นคัน และยังถูกซีเมนต์ต่อไป หนังจะเริ่มแห้ง แข็ง แตก ตกสะเก็ด และเกิดหนังหนาเป็นผื่น หากหยุดไม่ถูกซีเมนต์ต่อไป อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องด้วย ก็จะหายเร็วกว่าเดิมแต่พอไปถูกซีเมนต์เข้าอีกก็จะเป็นใหม่นักบริหารในโรงงานปูนซีเมนต์ไม่เคยถูกซีเมนต์โดยตรง อาจเกิดอาการแพ้ เป็นผื่นคันทั้งตัวจากละอองของซีเมนต์ก็ได้
 

  

ที่โรงงานผลิตเครื่องสำอางแห่งหนึ่งและคนงานหญิง 2 คน ทำงานในโรงงานนี้มาแล้วเกินกว่า 5 ปี ต่อมาเกิดอาการผื่น แดง คันและเป็นเม็ดน้ำพองที่มือ ผื่นแดงนี้ปรากฎที่หน้า จมูก และหูด้วยพอลาหยุดพักงานก็หายไปและเมื่อไปทำงานก็เป็นอีก เมื่อไปพบแพทย์ทางผิวหนัง จึงได้รู้ว่าเป็นเพราะแพ้น้ำมันตะไคร้ (CITRONELLA)ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำเครื่องสำอาง ผื่นคันที่หน้า ใบหู และจมูก เป็นเพราะมือที่มีน้ำมันตะไคร้ติดอยู่ไปสัมผัสเข้า หลังรักษาแล้ว เมื่อให้เปลี่ยนหน้าที่ทำงานอาการต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้นอีก สำหรับทำงานมาแล้วตั้ง 5 ปี จึงเกิดอาการแพ้นั้น ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรอาการแพ้อาจจะเกิดเมื่อใดก็ได้ บางคนใช้เครื่องสำอางมาแล้วถึง 20 ปีค่อยเกิดอาการแพ้ขึ้นก็มี

  


ที่เชียงใหม่มีโรงงานอุตสาหกรรมในครอบครัว ทำผลิตภัณฑ์ผ้าส่งออกจำหน่าย สีที่ใช้ผสมผ้าในครั้งแรกๆ ตกง่ายและซีดเร็วเจ้าของจึงเปลี่ยนเป็นสีชนิดใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่า คนงานหญิงคนหนึ่งถูกสีนี้เข้าไปครั้งใด ก็เกิดลมพิษทุกครั้ง เจ้าของจึง เปลี่ยนให้ไปทำหน้าที่ตัดผ้าดิบ อาการก็ไม่เกิดขึ้นอีกเมื่อได้ทำการทดสอบการแพ้ของผิวหนังโดย วิธีแพทช์เทสต์ (Patch Test) ดู ก็พบว่า คนงานนี้แพ้สีชนิดใหม่ อาการแพ้นี้ไม่ว่าจะเป็นสีหรืออะไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับทุกคน ในที่ทำงานเดียวกัน อาการจากการแพ้ก็มีได้หลายชนิด ลมพิษเป็นอาการอย่างหนึ่ง

 

  


คนงานชายคนหนึ่ง ทำงานหน้าที่คุมเครื่องจักรในโรงงานทำผ้า ปรากฎว่าเป็นสิวตุ่มที่หน้าและหน้าแข็ง หลังจากการตรวจสอบดู เข้าใจว่าเกิดจากไอน้ำมันมาอุดรุขุมขน จึงเกิดเป็นสิวขึ้น เรียกว่า “สิวน้ำมัน” (OIL ACNE) พวกทำงานเกี่ยวกับน้ำมัน เครื่องยนต์ ช่างแก้เครื่องยนต์ มือเปื้อนน้ำมันเครื่อง จาระบีเวลาล้างมักจะมักง่ายเอาเบนซินล้างเพราะออกง่ายดีผลเสียแรงๆมีอยู่ เช่น เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ง่าย ผลเสียส่วนตัว คือ พอเอาเบนซินล้างมือนานๆ มือก็แตก บางทีก็ด้านแตกเป็นรอย ต่อมาพอถูกน้ำ
ก็แสบ เพราะผิวหนังหมดสภาพคุ้มกันอันตรายจากภายนอก


คนงานหญิงทำงานในโรงงานเกี่ยวกับปลาสด เช่น คัดปลา แกะเหงือกปลาทูออกสำหรับทำปลาทูนึ่งแล้วเอาเหงือกปลา ไส้ปลามาทำอาหารไตปลา พวกนี้มือถูกน้ำตลอดเวลา นานๆ เข้าหนังจะบาง เปื่อย มือย่น แดง แตก แห้ง ทีหลังถูกน้ำไม่ได้เลยต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานาน

ยังมีเรื่องต่างๆ อีกหลายอย่างสำหรับโรคทางอาชีพและอุตสาหกรรมโรงงาน ซึ่งจะได้เสนอต่อไปในฉบับหน้าครับ
 

(อ่านต่อฉบับหน้า

ข้อมูลสื่อ

25-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 25
พฤษภาคม 2524
โรคผิวหนัง
นพ.วิชนารถ เพรชบุตร