• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เล็บบอกโรค (ตอนที่ 1) เล็บรูปช้อน อาการของคนขาดธาตุเหล็ก


คุณผู้อ่านเชื่อไหมครับว่าเล็บมือของคนเราก็เป็นตัวช่วยบอกโรคได้
บอกได้อย่างไรหรือครับ ?
ก็ลองสังเกตเล็บมือของตัวเองดูซิครับ เล็บที่เป็นปกติ จะมีผิวเรียบมัน นูนตรงกลางเล็กน้อยและมีสีชมพูอ่อน (รูปที่ 3)ทีนี้ ถ้าหากบังเอิญพบคนที่มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้าตาซีดเซียว ริมฝีปากซีด เล็บซีด แหวกดูเปลือกตาล่างก็มีสีซีดขาวกว่าคนปกติ อาการแบบนี้ คุณผู้อ่านก็คงเดาได้แล้วใช่ไหมว่า เป็นโรคโลหิตจางแหงๆ

โรคนี้พบได้บ่อยในคนไทย
เพราะโรคโลหิตจางนั้น เกี่ยวข้องกับ “โรคทรัพย์จาง” อย่างมากเสียด้วยซิครับ
เฉลี่ยแล้วในคนไทย 100 คน จะมีคนเป็นโรคโลหิตจางเสีย 30-40 คน คนที่ไม่ค่อยได้กินอาหารพวก เนื้อ นม ไข่ ตับหมู ตับวัว เพราะทรัพย์จาง (ยากจน) หรือเพราะเหตุอื่นใดก็แล้วแต่ มักจะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งร่างกายคนเราจะนำไปสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้มีเรี่ยวแรงทำงานได้


เมื่อขาดธาตุเหล็ก ร่างกายก็สร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อย ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง อ่อนเพลีย ทำงานไม่ไหวความจริงโรคโลหิตจางนั้นมีสาเหตุได้หลายๆ อย่างด้วยกัน และสาเหตุที่พบได้มากที่สุดในบ้านเราก็คือ การขาดธาตุเหล็ก ถ้าอยากจะรู้ว่า คนที่ขาวซีดโลหิตจางนั้นมีสาเหตุจากการขาดธาตุเหล็กหรือไม่ ก็ขอให้ตรวจดูที่เล็บมือของเขา


 


เล็บมือของคนที่ขาดธาตุเหล็กมักจะมีลักษณะอ่อนและแบนราบถ้าเป็นมากๆ เล็บจะช้อนขึ้น (เป็นแอ่งตรงกลาง) คล้ายรูปช้อน (รูปที่ 1) ซึ่งสามารถรองรับหยดน้ำได้ (รูปที่ 2)
คุณผู้อ่านครับ ถ้าพบคนที่เป็นโรคโลหิตจาง และมีเล็บเป็นรูปช้อนหรือเล็บแบนราบ ก็ขอแนะนำให้กินยาเข้าเหล็กใช้บำรุงโลหิตได้แก่ ยาเม็ดเฟอร์รัสซัลเฟต(เม็ดละ 10 สตางค์) 1 เม็ด วันละ 2-3 ครั้งหลังอาหาร สัก 7-10 วัน ก็จะช่วยให้มีเลือดฝาดดีขึ้น และมีเรี่ยวแรงมากขึ้น ควรให้กินยาต่อไปสัก 1-2 เดือน


คนที่ขาดธาตุเหล็ก บางคนอาจไม่มีความผิดปกติของเล็บในลักษณะที่กล่าวมาแล้วก็ได้
ถ้ามีอาการของโลหิตจางชัดเจน ก็คงให้การรักษาด้วยยาบำรุงโลหิตแบบเดียวกันได้ ยกเว้นคนที่มีอาการตัวร้อนมีพรายย้ำขึ้นตามตัว มีเลือดออกตามที่ต่างๆ หรือตับโต ม้ามโต อย่างหนึ่งอย่างใดร่วมด้วย ก็ควรจะไปหาหมอดีกว่า


เรื่อง “เล็บบอกโรค” ยังไม่จบ ในฉบับหน้า คอยอ่านตอนที่ 2 ก็แล้วกันครับ


(อ่านต่อฉบับหน้า)


 

ข้อมูลสื่อ

26-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 26
มิถุนายน 2524
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ