• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กล้วย

                                 
 

 

กล้วยที่นิยมกินกันมีหลายชนิด ได้แก่ กล้วยไข่ (Sucrier), กล้วยหอม, กล้วยหอมเขียว (Lacantan), กล้วยหอมทอง (Martinigue Banana), กล้วยน้ำว้า, กล้วยเล็บมือนาง, กล้วยหักมุก, กล้วยน้ำ, กล้วยน้ำไท, กล้วยนาก (Red Fig Banana) ฯลฯทุกชนิดมีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกัน

 

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Musa sapientum L. MUSACEAE (M. paradisiacal L. var. sapientum O. Ktzl)

 

⇒ ลักษณะต้น
เป็นพืชล้มลุกขนาดใหญ่ สูง 2-5 เมตร ที่เห็นเป็นลำต้นเกิดจากก้านใบหุ้มซ้อนกันขึ้น เหนือก้านใบเป็นแผ่นใบ ยาว 1.5-3 เมตร กว้าง 40-60 ซม. แกนใบเห็นได้ชัดเจน เส้นใบขนานกัน ก้านใบยาวกว่า 30 ซม. ดอกเป็นช่อเรียก หัวปลี ห้อลงมา 60-130 ซม. มีกาบหุ้มช่อดอกสีแดงปนม่วงกลมรี ยาว 15-30 ซม. ดอกย่อยออกติดกันเป็นแผง ดอกที่ฐานเป็นดอกตัวเมีย ส่วนบนเป็นดอกตัวผู้ ดอกตัวผู้จะหลุดหล่นไป ช่อดอกเจริญไปเป็นเครือกล้วย ซึ่งประกอบด้วยหวีกล้วย เครือละ 7-8 หวี แต่ละหวีมีผลกล้วยประมาณสิบกว่าผล เนื้อกล้วยสีเหลือง ผลรูปกลมยาว ขนาดและรูปร่างขึ้นอยู่กับชนิดกล้วย เวลาสุกเปลือกเป็นสีเหลือง แต่ละต้นให้ผลครั้งเดียว ขยายพันธุ์โดยวิธีแตกหน่อ

 

⇒ ส่วนที่ใช้
ผลสุก ผลดิบ หัวปลี (ทุกชนิด)

 

⇒ สรรพคุณ
ผลสุก เป็นอาหาร ยาระบายสำหรับผู้ที่มีอุจจาระแข็ง หรือเป็นริดสีดวงทวารขั้นเริ่มแรก จนกระทั่งถ่านเป็นเลือด

ผลดิบ เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเสีย บำบัดอาการแผลในกระเพาะอาหารและอาหารไม่ย่อย

หัวปลี แก้โรคโลหิตจาง ลดน้ำตาลในเลือด และแก้โรคเกี่ยวกับลำไส้

 

⇒ ตำรับยาและวิธีการใช้
1.ยาระบาย สำหรับริดสีดวง ใช้กล้วยสุก 2 ลูก ปิ้งอย่าให้เปลือกไหม้ กินทั้งเปลือก
2.ท้องเสีย เป็นแผลในกระเพาะอาหารและอาหารไม่ย่อย ใช้กล้วยดิบทั้งลูก บดปั่นกับน้ำเล็กน้อย เติมน้ำตาล(ชนิดใดก็ได้)กิน (อาจใช้กล้วยดิบ แห้ง บดเป็นผงเก็บในภาชนะที่ปิดแน่น ไว้ใช้ยามจำเป็น โดยผสมกับน้ำอุ่นหรือน้ำผึ้งกิน)

 

ผลทางเภสัชวิทยา
เซอโรโทนิน (Serotonin) และ นอร์แอดรีนาลีน (Noradrenaline) พบในเนื้อและเปลือกกล้วยที่กินทุกชนิด แต่ปริมาณเซอโรโทนินจะแตกต่างกันไปตามชนิดของกล้วย กล้วยไข่มีปริมาณมากที่สุด คือ 47 ไมโครกรัมต่อกรัม กล้วยหอม 2.8 ไมโครกรัมต่อกรัม และกล้วยน้ำว้า 0.1 ไมโครกรัมต่อกรัม นอกจากนี้ ยังพบว่าปริมาณเซอโรโทนินเพิ่มขึ้นตามความสุกของกล้วยจนถึงระยะที่งอมจัดจนเปลือกสีดำจึงจะมีปริมาณลดลง

เซอโรโทนินมีผลยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยของกระเพาะอาหารและกระตุ้นลำไส้เล็กให้บีบตัวมากขึ้น (จึงใช้บำบัดอาการแผลในกระเพาะอาหารและทำให้ระบายได้) ให้กินเซอโรโทนินเกินกว่า 20 มิลลิกรัม ก็ยังไม่พบอาการที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามมีบางราย (โดยเฉพาะหญิงท้อง) เมื่อกินกล้วยหอมจะรู้สึกจุกแน่นบริเวณยอดอก บางรายมีอาการคล้ายจะเป็นลมและ


บางรายมีอาการท้องอืดแต่ไม่มีอาการเมื่อกินกล้วยน้ำว้า ทั้งนี้อาจเนื่องจากบางคนที่มีระบบการย่อยอาหารไม่ดี มีอาการแน่นท้องและไม่เจริญอาหาร (แพทย์จีนเรียกว่าอาการม้ามพร่อง จะมีฝ้าสีขาวบนลิ้นและอุจจาระหยาบร่วมด้วย) สารในกล้วยหอมจะมีผลต่อกระเพาะอาหารทำให้จุกแน่นมากขึ้น (จีนถือว่ากล้วยหอมมีฤทธิ์เย็นจะทำให้ม้ามพร่องมากขึ้น) จึงทำให้เกิดอาการไม่สบายดังกล่าว

 

ข้อมูลสื่อ

29-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 29
สิงหาคม 2524
อาหารสมุนไพร
ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล