• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไขมัน


ไขมัน
ไขมันในร่างกายเป็นสารอินทรีย์เคมีที่ได้จากสิ่งมีชีวิตที่เรากินเป็นอาหาร เพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรงจำเป็นต้องมีไขมันเก็บไว้พอสมควร
 

 

ไขมันมีหน้าที่สำคัญคือ
1.สะสมไว้ใช้เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย
2.เป็นโครงสร้างของเนื้อเยื่อ
3.เป็นนวมสำหรับป้องกันอวัยวะภายใน
4.เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผิวหนังและระบบประสาท
เมื่อเรากินอาหารเข้าไป ไขมันในอาหารจะถูกย่อยและดูดซึมผ่านผนังลำไส้ แล้วเข้ามาในกระแสเลือด ดังนั้น ไขมันจึงสามารถขนส่งโดยผ่านทางวงจรเลือดไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเก็บไว้ในเนื้อเยื่อไขมัน (Adipose tissue)


เนื้อเยื่อไขมันมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
1.แบบที่อยู่กันเป็นกลุ่มซึ่งพบในร่างกายเป็นส่วนใหญ่ จะพบอยู่ตามบริเวณสะโพก ใต้ผิวหนังที่บริเวณหน้าท้อง ที่ต้นแขน และต้นขา

2.แบบที่แทรกอยู่ตมช่องว่างของอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ตามหลอดเลือดในช่องอกที่หัวใจ ผนังลำไส้ในช่องท้อง และรอบๆ ขั้วไต เป็นต้น

ไขมันที่ปรากฎในเลือดเป็นไขมันที่อยู่นอกเหนือจากอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทางการแพทย์เรียกว่า สารไขมัน ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “โฆเลสเตอรอล” นั่นเอง


โฆเลสเตอรอล มักจะเกี่ยวข้องกับโรคที่ทำให้เส้นเลือดแข็งตัว พบว่ามาจากการกินไขมันสัตว์มากเกินไป ซึ่งจะไปพอกที่ด้านในของผนังเส้นเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบลง เสี่ยงต่อการแข็งตัวของเลือด หรือไปพอกที่ด้านนอกของเส้นเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัวไม่ได้เท่าที่ควร เลือดจึงผ่านไปไม่สะดวกและไม่เพียงพอ จึงทำให้หัวใจต้องทำงานอย่างหนัก

ในประเทศที่เจริญทางด้านอุตสาหกรรมแล้วมีอาหารอุดมสมบูรณ์ จะมีประชาชนที่เป็นโรคหลอดเลือดแข็งตัวมากเช่น ในประเทศอเมริกาละยุโรปบางประเทศ ซึ่งกินอาหารมีไขมันถึงร้อยละ 40 ในขณะที่
ประเทศแถบเอเชียพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดแข็งตัวน้อย กินอาหารมีไขมันประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น

จากการสำรวจพบว่า ผู้ที่กินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรท เป็นต้นว่า เค้ก ขนมหวาน น้ำหวาน และอื่นๆ ที่มีน้ำตาลมาก และยังดื่มเหล้าจัด ก็เพิ่มโฆเลสเตอรอลในเลือดให้สูงขึ้นได้เช่นกัน

นอกจากนี้คนที่มีไขมันมากๆ มักจะเป็นโรคไขข้ออักเสบง่าย โดยเฉพาะในวัยกลางคนและคนสูงอายุ แต่ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโตจะไม่ค่อยพบเนื่องจากวัยนี้ใช้พลังงานที่ได้จากไขมันเป็นส่วนใหญ่

จึงแนะนำว่า คนเราจำเป็นต้องกินอาหารได้สัดส่วน มีไขมันตามความต้องการของร่างกาย พอสมควรแก่วัยและการเจริญเติบโตของร่างกาย

 


 

ข้อมูลสื่อ

31-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 31
พฤศจิกายน 2524
ดร.นที คัคนานตดิลก