• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อ้วน

ที่เรียกว่าอ้วนๆ นั้น อย่างไรจึงเรียกว่าอ้วนครับ !

 อ้วนในทางการแพทย์เราถือว่า การที่มีร่างกายสมบูรณ์เกินไป มีไขมันพอกพูนในใต้ผิวหนังและในอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายมากกว่าที่ควรจะเป็น โดยปกติคนเราต้องมีไขมันอยู่บ้างแต่หากมากเกินไป เกินความต้องการก็ทำให้ร่างกายอ้วน มีบางรายมองด้วยตาไม่ชัดเจน ต้องมีการตรวจสอบทดสอบด้วยการวัด การชั่งน้ำหนัก วัดความหนาของไขมัน ก็ปรากฎผลออกมาชัดเจน แต่โดยทั่วๆ ไปแล้วอาการ “อ้วน” น่าสังเกตด้วยตาเปล่าได้ไม่ยาก ไม่ต้องเป็นหมอก็สังเกตได้

 

จะตัดสินอย่างไรว่าอ้วนตรับ

ทางการแพทย์มีหลายวิธี เราใช้ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูง น้ำหนัก และโครงสร้าง ผมขอยกตัวอย่างในการวัดแบบง่ายๆ ไม่ยุงยากนักที่คนทั่วๆ ไปสามารถนำไปใช้ได้เลย สัก 2 วิธี

วิธีที่ 1 เราใช้ส่วนสูง วัดเป็นเซนติเมตร และน้ำหนักเป็นกิโลกรัม
ถ้าผู้ชาย ใช้ส่วนสูง ลบ ด้วย 100
ตัวอย่าง เช่น ผู้ชายคนหนึ่งสูง 160 เซนติเมตร น้ำหนักตัวของเขาก็ควรจะเป็นประมาณ (160-100) 60 กิโลกรัม
ถ้าเป็นผู้หญิง ใช้ส่วนสูง ลบ ด้วย 110
ตัวอย่าง เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งสูง 155 เซนติเมตร น้ำหนักตัวของเขาก็ควรจะเป็นประมาณ (155-110) 45 กิโลกรัม
แบบนี้ใช้กับคนที่มีอายุเกิน 25 ปีขึ้นไป และความสูงไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตรทั้งหญิงและชาย

วิธีที่ 2 วัดเส้นรอบอกและวัดรอบเอว
โดยปกติทั่วไป ชายหรือหญิงก็ตามเส้นรอบอกต้องใหญ่กว่าเอว ใครเอวเสมอเท่าอก หรือเอวใหญ่กว่าอกมากเท่าใดนักแสดงว่าอ้วนมากเท่านั้น
อันนี้เว้นหญิงมีครรภ์ หรือคนที่เป็นโรคบางโรคนะครับเช่น โรคท้องมาน
วิธีนี้คงง่ายดี เพราะจะใช้ผ้าขาวม้าวัดก็ยังได้

 

ยังมีวิธีวัดแบบอื่นไหมครับ

ก็มีการใช้มือขยุ้มเนื้อหน้าท้อง วัดไขมันใต้ผิวหนังที่บริเวณกล้ามเนื้อและวัดแถวกระดูกสะบัก และอื่นๆ อันนี้ซับซ้อนเกินไป ให้หมอทำดีกว่า

 

อะไรเป็นสาเหตุให้อ้วนครับ

อ้วนนี่ ถ้าพูดคร่าวๆ ก็พอจะพูดได้ว่า
1.เกิดจากการกินไม่ถูก
คุณจะเห็นว่า อ้วนนี่เป็นได้ทั้งคนรวยคนจน ไม่ใช่ว่าต้องคนมีสตางค์ถึงอ้วน แม่ค้าแม่ขายเยอะแยะไปอ้วนๆ ที่อ้วนก็เพราะกินพวกแป้ง น้ำตาล ข้าวมาก ซึ่งอาหารเหล่านี้มีสิทธิ์ทำให้อ้วนยิ่งกินแล้วใช้พลังงานน้อยยิ่งอ้วน แต่อ้วนแบบไม่แข็งแรง อ้วนแบบนี้โดยมากจะเกิดโรคแทรกคือโรคเบาหวาน
สำหรับพวกคนที่มีอันจะกิน ก็อ้วนเหมือนกันแต่อ้วนฉุ คือกินไขมันมากไป พวกนี้ก็มักจะมีโรคแทรกเกี่ยวกับพวกโฆเลสเตอรอลในเลือดสูง
จะเห็นว่าเรื่องการกินให้ถูกเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

2.เกิดจากการขาดการออกกำลังกาย
อันนี้คนกรุงเทพฯ หรือคนที่ทำงานนั่งโต๊ะ ขาดการออกกำลังกายกันมาก เพราะส่วนใหญ่ใช้แต่ความคิด เมื่อกินอาหารซึ่งให้พลังงานเข้าไปในร่างกายมาก แต่ไม่ได้เอาไปใช้ มันก็เข้าไปพอกเพิ่มเป็นไขมันในร่างกายทำให้เกิดอ้วนขึ้น

3.เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ โรคภัยไข้เจ็บ การกินยาบางอย่างที่จำเป็นต้องกิน แต่จะไม่พูดถึงในที่นี้

 

อ้วนแล้วเป็นปัญหาอย่างไรบ้างครับ

ปัญหาที่เห็นชัดๆ ก็คงพอจะแยกออกได้ คือ

-ปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ที่อ้วนเพราะสังคมสมัยนี้ไม่ยอมรับเหมือนสมัยก่อน ถูกผู้คล้อเลียนทำให้เกิดโรคประสาทอ่อนๆ ได้

-ปัญหาทางครอบครัว ทางด้านเพศสัมพันธ์ถ้าผู้หญิงก็มีลูกยากเพราะมีการผิดปกติในการสร้างฮอร์โมนเพศได้ ไขมันจะไปเกาะยึดในรังไข่เต็มไปหมด ทำให้ประจำเดือนบางครั้งไม่มี

-ทำให้เกิดโรคแทรก ที่จริงปัญหาอ้วนที่ทำอันตรายต่อร่างกายโดยตรงมีไม่มาก แต่จะเกิดโรคแทรกมากมายเช่น โรคหัวใจ โรคความดันเลือด โรคเบาหวาน โรคเก๊าท์หรือโรคข้ออักเสบที่เข่า เท้า เป็นต้น แต่โรคแทรกที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นโรคหัวใจ

 

อ้วนนี่ส่วนใหญ่เกิดกับคนอายุเท่าไรครับ

ที่จริง เกิดได้ตั้งแต่เด็กทารกแล้วครับ หากให้อาหารเด็กมากเกินไป แต่ที่ถามว่าส่วนใหญ่นั้น คงหมายถึงเด็กโตหรือผู้ใหญ่ซึ่งกำลังเดือดร้อนกันอยู่

โดยปกติแล้วคนเราอายุเริ่ม 25 ขึ้นไป ความอ้วนจะเริ่มคืบคลานเข้ามา เนื่องจากร่างกายใช้พลังงานในอัตราลดน้อยลง แต่การกินยังเหมือนเดิมบางครั้งมากกว่าเสียด้วยซ้ำ เลยเกิดการขาดดุลย์ระหว่างการใช้กับการได้รับพลังงานในวัยเด็กมีการเจริญเติบโต พลังงานส่วนหนึ่งใช้ในการเติบโต พลังงานอีกส่วนต้องใช้ในการเคลื่อนไหวซึ่งค่อนข้างรวดเร็ว พออายุมากขึ้นการเคลื่อนไหวช้าลง การทำงานมักเป็นการนั่งโต๊ะเพราะฉะนั้นการใช้พลังงานน้อยลงอย่างนี้ ก็ทำให้พลังงานจากอาหารเหลือ ก็สะสมเป็นไขมัน อ้วนแบบนี่พบอยู่เสมอ เกิดจากการกินอาหารมากเกินไป และร่างกายลดการใช้พลังงานลงมาก

 

ทำไมเห็นผู้หญิงอ้วนมากกว่าผู้ชายครับ

อันนี้อาจเป็นเพราะว่า ผู้หญิงมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่าชาย มีการกินจุบกินจิบมากกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า มีการตั้งครรภ์ มีการกินยาคุมกำเนิด โดยมากผู้หญิงเวลาอ้วนจะเห็นว่าอ้วนทั้งตัว แต่ผู้ชายจะอ้วนแบบลงพุง

 

จะป้องกันและรักษาไม่ให้อ้วนได้อย่างไรครับ

การป้องกันและรักษาก็คงเหมือนๆ กันละครับคือ
1.กินให้ถูก
เราควรจะรู้ว่าเราควรกินอะไรบ้าง กินให้มันพอดีไม่มากเกินไป วันหนึ่งๆ เราทำงานอะไรบ้าง หนักเบาเพียงใดไม่ใช่เห็นแก่กิน อร่อย จนลืมสุขภาพ

2.การออกกำลังกาย
มีคนเป็นจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่า การออกกำลังกายต้องเล่นกีฬา ต้องเข้าสถานบริการร่างกายเท่านั้น นั่นเป็นการเข้าใจผิด เราสามารถออกกำลังได้ในการดำเนินชีวิตประจำวันตลอดเวลา การเพิ่มการทำงานจากปกติก็เป็นการออกกำลังกายแล้ว เช่น ปกติเราขึ้นลิฟท์ก็เปลี่ยนเป็นการขึ้นบันได ปกติเดินขึ้นบันไดช้าๆ ก็อาจเปลี่ยนเป็นเดินเร็วขึ้น ไม่จำเป็นต้องตื่นแต่เช้าแล้วออกวิ่ง กระโดดเชือก หรือทำอะไรๆ ให้ยุ่งยากหรอกครับ บางคนว่าต้องว่ายน้ำลดความอ้วน ก็เลยต้องเสาะหาสระว่ายน้ำ เราไม่จำเป็นต้องยุงยากครับ ใช้ท่าว่ายน้ำมาปฏิบัติเป็นว่ายบกก็ได้

ถ้าเรานั่งโต๊ะทำงานก็สามารถออกกำลังได้เช่น จะลุกก็ท้าวโต๊ะ หรือท้าวแขนเก้าอี้ แล้วเกร็งตัวแบบเล่นบาร์คู่ เวลาพิมพ์ดีดก็พิมพ์เร็วขึ้น ก็เป็นการออกกำลังกายแล้ว

3.โดยการใช้ยาลดความอ้วน
เรื่องนี้สุดแต่แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป เช่นว่า
- น้ำหนักตัวมากเกินร้อยละ 15 และจิตใจไม่เข้มแข็งเพียงพอ
- ต้องการลดน้ำหนักในระยะเวลาอันสั้น เพื่อความประสงค์สำคัญบางอย่างเช่น เกี่ยวกับอาชีพ เป็นต้น
- มีโรคบางอย่างที่จำเป็นจะต้องลดน้ำหนักโดยรวดเร็วกว่าการควบคุมอาหาร
ไม่สามารถจะออกกำลังกายได้เลย เพราะความพิการหรืออุปสรรคในการเคลื่อนไหวร่างกาย

 

คุณหมอมีอะไรจะฝากเพิ่มเติมบ้างครับ

ครับ……เนื่องจากผมเป็นนักการสาธารณสุขคนหนึ่ง จึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ให้ความสนใจเรื่องอ้วนนี้ด้วย เพราะนักบริหารซึ่งเป็นมันสมองของชาติ ตายด้วยโรคหัวใจมาก ซึ่งเป็นผลมาจากความอ้วนไม่น้อย พร้อมกันนั้นผู้ใช้แรงงานต่างๆ ก็น่าจะทำงานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหากไม่อ้วน

จึงอยากเสนอให้ช่วยกันรณรงค์กันจริงๆ จังๆ 3 เรื่อง คือ
1.เรื่องโภชนาการ ให้รู้ว่าควรกินอย่างไรให้ถูกหลัก
- ถูกหลักอาหาร 5 หมู่
- ได้พลังงานเพียงพอแต่ละคน แต่ละสภาพ
- กินอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัย

2.เรื่องการออกกำลังกาย ควรช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้รู้จักการออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันจริงๆ จัดสถานที่ออกกำลังกายกระจายให้ทั่วประเทศ อาศัยลานวัดนี้แหละครับ

3.ควรมีการควบคุมเรื่องการโฆษณาเรื่องยา สถานที่รักษา หรือบริหารเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยเพื่อให้ได้ประโยชน์แก่ผู้ดำเนินกิจการและประชาชนผู้รับบริการยิ่งขึ้น

 

 

ข้อมูลสื่อ

31-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 31
พฤศจิกายน 2524
โรคน่ารู้
นพ.โอภาส ธรรมวานิช