• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสี่เดือนถึงห้าเดือน (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

 

                                
 

 

 

 

สภาพผิดปกติ

 

 

132.โรคลำไส้กลืนกัน (intussusception)
โรคลำไส้กลืนกัน คือ อาหารที่ลำไส้ส่วนหนึ่งถูกกลืนไปอยู่ในลำไส้อีกส่วนหนึ่ง ส่วนที่เกิดบ่อย คือ ลำไส้เล็กตอนปลายถูกกลืนเขาไปอยู่ในลำไส้ใหญ่ตอนบน ถ้าปล่อยเอาไว้ลำไส้ส่วนนั้นจะเน่าเป็นรู เพราะไม่มีเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบถึงแก่ชีวิต

โรคนี้จะเป็นในเด็กอายุตั้งแต่ 4 เดือน (แต่จะว่าเด็กอายุ 3 เดือนไม่เป็นเลยก็ไม่ได้) จนกระทั่งเด็กอายุเกินขวบขึ้นไป อัตราการเป็นจะน้อยลงถ้าเด็กอยู่ดีๆ ร้องไห้จ้าขึ้นมากะทันหัน และแสดงอาการปวดท้อง (เด็กจะงอขาขึ้นมาติดกับท้อง) ทุรนทุรายประมาณ 3-4 นาที จึงหายปวดท้องหยุดร้องประมาณ 5-6 นาที แล้วกลับร้องปวดท้องอีกเหมือนเดิม ซ้ำๆ กันเช่นนี้ เป็นลักษณะพิเศษของอาการของโรคลำไส้กลืนกันในระยะเริ่ม ถ้าสังเกตเห็นอาการนี้แต่แรก จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นโรคนี้ แต่ถ้าปล่อยไว้จนเกิน 12 ชั่วโมงแล้วแต่เด็กจะหมดแรง ไม่ร้องแสดงลักษณะพิเศษของโรคอีก

คุณแม่ (ที่เลี้ยงลูกเอง) จะเป็นคนแรกที่สังเกตเห็นอาการผิดปกติของลูก ถ้าคุณแม่สงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคลำไส้กลืนกันได้ทันการ เด็กจะรอด มีคุณแม่มากรายที่ช่วยให้ลูกหายจากโรคนี้ได้โดยไม่ต้อผ่าตัด เพราะรู้จักโรคนี้จากหนังสือคู่มือเลี้ยงเด็ก จึงรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทำการรักษาโดยเร็ว แต่มีคุณแม่อีกหลายรายที่ไม่รู้ นึกว่าลูกปวดท้อง เพราะท้องอืดท้องเฟ้อ พาไปหาหมอคลีนิคธรรมดา (ไม่ใช่หมอผ่าตัด) หมอก็ให้กินยาฉีดยารักษาโรคปวดท้องตามปกติ กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคลำไส้กลืนกันต้องพาไปหาหมอผ่าตัด บางรายก็ทัน บางรายก็สายไปเสียแล้ว


ถ้าเรารู้ว่าเด็กเป็นโรคนี้ภายใน 6 ชั่วโมงแรก (ที่จริงอยากจะพูดว่าภายใน 2 ชั่วโมงแรกมากกว่า) หมอจะฉีดแบเรี่ยมเข้าไปทางก้น พร้อมกับฉายเอ๊กซเรย์ดูลำไส้ ซึ่งมีโอกาสอยู่มากที่ลำไส้จะกลับคืนสู่สภาพปกติในระหว่างนี้ ถ้าเลย 12 ชั่วโมงไปแล้ว จะต้องผ่าตัดรักษา แต่ถ้าเกิน 24 ชั่วโมงขึ้นไป ถึงแม้จะผ่าตัด โอกาสที่เด็กจะตายมีมาก

ในบรรดาโรคเด็กทั้งหลาย โรคลำไส้กลืนกันนี่แหละที่เป็นความตายของลูกแขวนอยู่กับความเอาใจใส่ของคุณแม่อย่างยิ่ง และการตรวจพบโรคโดยเร็วเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

หนังสือบางเล่มจะเขียนไว้ว่า ถ้าเด็กเป็นโรคนี้ เลือดจะออกเมื่อสวนทวารให้ แต่อาการนี้จะปรากฏเมื่อเวลาล่วงเลยไประยะหนึ่งแล้ว ถ้าสวนทวารทันทีเมื่อเห็นเด็กมีอาการปวดท้องรุนแรง ส่วนใหญ่อึที่ออกมาจะปกติ แต่ถ้าสวนทวารให้อีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้นสัก 3-4 ชั่วโมง เด็กจะถ่ายมีแต่มูกเลือด อย่างไรก็ตาม เราควรตรวจพบโรคให้ได้ก่อนที่อาการเด็กจะถึงขั้นนี้

คู่มือบางเล่มจะบอกว่าเด็กจะอาเจียนเมื่อเป็นโรคลำไส้กลืนกัน แต่ส่วนใหญ่ อาการอาเจียนจะไม่ปรากฏในระยะเริ่มปวดท้องในช่วงแรก เด็กอาจอาเจียนเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 20-30 นาที ส่วนที่ว่าเด็กจะอาเจียนมีกลิ่นเหม็นเน่านั้น เป็นอาการในช่วงหลัง


ในช่วงแรก เด็กจะไม่มีไข้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสัก 2-3 ชั่วโมง เด็กจะเริ่มมีไข้ประมาณ 37.5-37.6 องศาเซลเซียสขอย้ำอีกทีว่า เมื่อเด็กร้องจ้าเพราะปวดท้อง ผู้ที่เห็นอาการคนแรกจะต้องรู้ให้ได้ภายในครึ่งชั่วโมงว่าเด็กเป็นโรคลำไส้กลืนกันหรือเปล่า โดยสังเกตจากลักษณะการร้องของเด็กสำหรับรายที่โชคไม่ดี เมื่อลูกร้องปวดท้อง แม่รีบพาไปหาหมอที่คลีนิคใกล้บ้าน ทั้งหมอทั้งแม่ไม่รู้ว่าเป็นโรคลำไส้กลืนกัน กระทั่งเป็นมากขึ้นจนเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ต้องรีบพาไปให้หมอผ่าตัด


เมื่อเด็กอายุ 5-6 เดือนร้องจ้าขึ้นมากะทันหัน คุณแม่บางคนอาจทำงานง่วนอยู่ไม่ได้สังเกตลักษณะการร้องจนกระทั่งเด็กอาเจียน คุณแม่จึงตกใจรีบพาไปหาหมอ ถ้าเป็นเด็กที่เคยถูกฉีดยาบ่อย เด็กจะร้องขัดขืนเมื่อถึงคลีนิคเพราะกลัวถูกฉีดยาอีก ทางฝ่ายหมอก็คิดว่าเด็กร้องตามปกติ ไม่ได้เอะใจว่าอาการร้องของเด็กผิดกว่าปกติ เมื่อเด็กร้องมาก หมอคลำท้องดู ก็ไม่รู้สภาพลำไส้ คิดว่าเด็กอาเจียนเพราะอาหารไม่ย่อย ท้องอืด จึงฉีดกลูโค้ส หรือน้ำเกลือให้ เด็กยิ่งร้องลั่น เพราะเจ็บที่ถูกฉีดยาเมื่อกลับบ้าน เด็กยังร้องไม่ยอมหยุด แม่คิดว่าเจ็บตรงแผลฉีดยา เด็กอาจอาเจียนหลายครั้ง แม่ก็คิดว่าฉีดยาไว้แล้วเดี๋ยวคงหาย จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นเด็กอึออกมามีเลือดปน ตัวเด็กเองก็หมดแรงพับไป แม่จึงพาไปหาหมออีกครั้ง ในใจคิดว่าลูกท้องอืดจึงไม่ได้รีบขอบัตร เข้าคิวรอตามปกติ จนกระทั่งหมอตรวจ จึงพบว่า เยื่อบุช่องท้องอักเสบให้รีบพาไปโรงพยาบาลแผนกศัลยกรรม (ผ่าตัด) โดยด่วน


เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ดังนั้น ถ้าเด็กร้องจ้าขึ้นมากะทันหัน และร้องหยุดร้องหยุด เป็นช่วงๆ แสดงอาการปวดท้อง คุณต้องรีบพาไปโรงพยาบาลที่มีแผนกศัลยกรรม เพื่อให้หมอตรวจดูทันที ถ้าเป็นอาการในระยะ 2-3 ชั่วโมงแรก หมอจะฉีดแบเรี่ยมเข้าไปทางก้นและสวนทวารด้วยแรงดันสูง พร้อมกับเอ๊กซเรย์ดูว่าลำไส้กลับคืนสู่สภาพปกติหรือไม่ ระหว่างการสวนทวาร ด้วยแรงดันสูงนี้ อาจทำให้ผนังลำไส้ทะลุ แบเรี่ยมที่อยู่เต็มลำไส้ทะลักเข้าสู่ช่องท้อง ต้องส่งเด็กเข้าห้องผ่าตัดทันที ดังนั้น เราจึงต้องพาเด็กไปโรงพยาบาลที่ผ่าตัดได้

ถึงแม้คุณแม่จะรู้ว่าลูกอาจหายได้ด้วยการสวนทวารด้วยแรงดันสูงโดยไม่ต้องผ่าตัด คุณไม่ควรขอให้หมอสวนทวารแทนการผ่าตัด เพราะการตัดสินใจว่าจะรักษาด้วยวิธีใด จึงจะดีนั้นเป็นเรื่องของหมอ ถ้าเวลาล่วงเลยไปมากแล้ว การรักษาด้วยวิธีสวนทวารจะทำให้ผนังลำไส้ฉีกขาด ทำให้การผ่าตัดยุ่งยากขึ้นไปอีก ในกรณีที่เลือดออกมาก หรือมีอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบหมอจะไม่ใช้วิธีสวนทวาร


สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณจะต้องำเมื่อลูกร้องแสดงอาการปวดท้องเป็นช่วงๆ ตามลักษณะของโรคลำไส้กลืนกัน คือ รีบพาเด็กไปโรงพยาบาลที่ผ่าตัดได้โดยเร็วที่สุด มีหลายรายที่ในระหว่างเดินทาง รถกระเทือนไปมาทำให้ลำไส้กลับสู่สภาพปกติ เด็กเลย หายปวดท้องก็มี

ในกรณีที่เด็กหายจากโรคลำไส้กลืนกันโดยไม่ต้องผ่าตัด วันรุ่งขึ้นจะให้กินอาหารตามปกติได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าอาการที่เป็นมากน้อยเพียงไร หมอจะต้องแนะนำเป็นรายๆ ไปเด็กที่เคยเป็นโรคลำไส้กลืนกันครั้งหนึ่งแล้ว ในบางกรณีอาจกลับเป็นขึ้นมาอีกครั้งก็ได้

 

 

 

 


133.ตาผิดปกติ
เด็กบางคนซึ่งดูแล้วเคยสงสัยว่าตาเข เมื่ออายุ 4-5 เดือนอาจเห็นได้ชัดว่าตาเขมากขึ้น (ดู 116 ตาเข)
เด็กที่เป็นโรคผิวหนังพุพอง (pemphigus) ทั้งที่หน้าและหัว อาจเป็นเม็ดที่เปลือกตาที่เรียกว่า ตากุ้งยิง ถ้าทำการรักษาโรคผิวหนัง ตากุ้งยิงจะหายไปพร้อมกัน

ถ้าในตาเด็กมีน้ำเยิ้มอยู่เสมอ ดูให้ดีๆ ขนตาล่างอาจแยงลูกตาอยู่ก็ได้ (ดู 114 มีขี้ตา)
เวลาเด็กตื่นเช้าขึ้นมา มีขี้ตาเต็มตาจนลืมตาไม่ขึ้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคตาแดง (เยื่อตาอักเสบเฉียบพลัน) ต้องพาไปหาหมอตา (จักษุแพทย์) เวลาพาไปหาหมอตา คุณแม่ต้องระวังการติดโรคให้ดี เพราะโรคตาติดกันได้ง่ายมาก โดยเฉพาะที่ลูกบิดประตูมักมีเชื้อติดอยู่ กลับบ้านแล้วต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด มิฉะนั้น จะติดเอาเชื้อโรคตาตัวอื่นมาอีก คุณแม่จะตาเจ็บไปอีกคน

เด็กอายุ 4-5 เดือนถึงแม้จะเป็นตาแดง อาการจะไม่หนัก ส่วนใหญ่หยอดตา 3-4 วันก็หาย ถ้าไม่มีขี้ตาแล้ว อย่าพาไปหาหมอตาทุกวัน เพราะมีโอกาสรับเชื้อจากร้านหมอได้ง่ายมาก

 

 

 

 


134.เป็นหวัด
เด็กอายุ 4-5 เดือน บางครั้งจะแสดงอาการเป็นหวัด มีน้ำมูกบ้างจามบ้าง ถ้าพ่อหรือแม่เป็นหวัดอยู่ก็รู้ทันทีว่าคงเป็นหวัดเพราะรับเชื้อมาจากพ่อแม่

เด็กอายุก่อน 6 เดือน ถ้าเป็นหวัดจะไม่มีไข้สูง ถึงมีไข้ก็อยู่ในระดับ 37 องศาเศษๆ เด็กอาจรู้สึกเบื่อนม แต่ไม่ถึงกับไม่ยอมกินนมเลย น้ำมูกระยะแรกจะใส สัก 3-4 วัน น้ำมูกจะข้นเขียวแล้วหวัดก็หาย

เด็กที่ร่างกายอ่อนแอ ขาดอาหาร เมื่อเป็นหวัดอาจลุกลามเป็นโรคปอดอักเสบได้ ถ้าเด็กขาดวิตามินเอ เนื้อเยื่อของหลอดลมจะขาดความต้านทานโรค ทำให้เชื้อโรคบุกรุกเข้าไปได้ง่าย โรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งยังไม่มียาฆ่าเชื้อนี้ได้ แต่เมื่อเป็นหวัด หมออาจให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบ ซึ่งเกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส (pneumococcus) รวมทั้งป้องกันโรคหูอักเสบด้วย

ถ้าพ่อแม่เป็นหวัดได้สักวันสองวัน ลูกแสดงอาการหวัดขึ้นมา อย่างนี้รู้ได้ทันทีว่าเป็นหวัด ถ้าเด็กร่าเริงดี กินนมดี ท้องไม่เสีย คุณแม่สวมเสื้อผ้าให้อุ่นๆ ไม่กี่วันก็หาย ถ้าเด็กไม่อยากนม ให้น้ำผลไม้แทน ระหว่างที่น้ำมูกไหล ไม่ควรอาบน้ำให้ เช็ดตัวให้แทน เด็กที่เริ่มอาหารเสริมแล้ว ถ้าเด็กไม่ปฏิเสธก็ให้กินต่อไปได้ตามปกติ


(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

31-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 31
พฤศจิกายน 2524