• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แนวทางใหม่ในการรักษามาลาเรียฟาลซิปารัมที่ดื้อยา

   


ในการปราบโรคมาลาเรียมีปัญหาที่น่าวิตกคือ เชื้อมาลาเรียฟาลซิปารัมดื้อยาหลายตัวที่เคยใช้รักษาได้ผล เช่น ควินีน คลอโรควีน และแฟนสิดาร์ 

ในวารสาร Lancet เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่ทำในประเทศไทยโดยคณะผู้วิจัย 2 คณะ ซึ่งเสนอแนวทางใหม่ในการรักษามาลาเรียฟาลซิปารัมที่ดื้อยา

ผู้วิจัยคณะแรกได้รับการศึกษาในศูนย์อพยพเขมรใกล้ชายแดนไทย-เขมร เปรียบเทียบผลการรักษา 3 แบบ คือ การใช้ควินีนอย่างเดียว การใช้ควินีนร่วมกับแฟนสิดาร์ และควินีนร่วมกับเตตร้าซัยคลีน ปรากฏว่าวิธีการรักษาที่ทำให้หายขาดคือ การให้ควินีน 300 มิลลิกรัม กินวันละ 3 เวลา นาน 3 วัน หรือ 7 วัน ร่วมกับเตตร้าซัยคลีน 250 มิลลิกรัม กินวันละ 4 เวลานาน 10 วัน ส่วนอีก 2 วิธีนั้นได้ผลหายขาดในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

สำหรับผู้วิจัยอีกคณะหนึ่ง ได้ทดลองรักษาโดยใช้ควินิดีนซัลเฟต (quinidine sulphate) ซึ่งมีโครงสร้างใกล้เคียงกับควินีนที่ใช้กันอยู่เดิม (ควินิดีนนี โดยทั่วไปใช้รักษาการเต้นผิดจังหวะบางชนิดของหัวใจ) โดยให้กินควินิดีน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน ปรากฏว่าในผู้ป่วยที่ทำการศึกษา 14 ราย ไม่มีรายใดกลับเป็นไข้ซ้ำอีก ทั้งไม่มีผลแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อหัวใจด้วย

ผู้เชี่ยวชาญเสนอว่าในอนาคตเชื้อมาลาเรียอาจจะดื้อยาตัวใหม่ๆ ที่นำมาใช้อีก การรักษามาลาเรียด้วยยาเพียงขนานเดียวอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป ทั้งยังเร่งให้เชื้อดื้อยาเร็วขึ้นด้วย ดังนั้นอาจจำเป็นต้องใช้ยารักษามาลาเรียร่วมกันหลายขนาน เช่นเดียวกับการใช้ยารักษาวัณโรค ยาตัวใหม่อีกตัวหนึ่งที่ได้ผลดีมากต่อมาลาเรียที่ดื้อยา คือ เมโฟลควีน (mafloquine) ในขนาด 1.5 กรัม กินครั้งเดียว แต่การใช้ยานี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง (The Lancet,November 14,1981)
 

ข้อมูลสื่อ

36-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 36
เมษายน 2525