• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกระเพาะอาหาร

 

“คน 100 คน 10 คน จะเป็นโรคกระเพาะ”
………………….............................................................
(ก็หมายความว่า ถ้าคน 1 ล้านคน จะเป็นโรคกระเพาะ 1 แสนคน โอ้โฮ !)


“และใครที่มักมีอารมณ์ค่อนข้างเครียด ขี้วิตกกังวล หรือคนที่มีความรับผิดชอบต่อการงานสูง ก็มักจะเป็นโรคกระเพาะกันมาก”
…………………...........................................................


“โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่”
แต่ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง”
………………...............................................................


และผู้ใหญ่เป็นมากกว่าเด็ก”
………………..............................................................

 


“ใครมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการงานที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง หมกมุ่นกับการงานมากๆ ครุ่นคิดและวิตกกังวลเก่ง ให้ระวังโรคนี้เอาไว้”

“คนที่กินยาแก้ปวดชนิดซอง ยาแก้ปวดที่เข้าแอสไพริน ยาชุดแก้หวัด ยาแก้ปวดข้อ ฯลฯ มักเป็นโรคนี้กันมาก บางคนเลือดตกใน (ก็มี)”


ครับ วันนี้เรามาสำรวจกันดูทีว่า โรคกระเพาะ โรคที่ว่าเป็นกันมากนั้น อะไรเป็นสาเหตุ และเราจะป้อง
กันได้ไหม

บางคนเป็นแล้ว เป็นอีก ไปหาหมอ หมอให้ยามากิน เลิกกินยาแล้ว เป็นอีก อย่างนี้ก็มี­ อาการปวด มักจะเป็นบริเวณเหนือสะดือขึ้นไป บางคนอาจค่อนไปทางขวาหรือซ้าย แต่ส่วนมากปวดใต้ลิ้นปี่ สำหรับคนที่ปวดใต้ลิ้นปี่นั้น อาจจะเป็นโรคตับหรือตับอ่อนก็ได้ แตกต่างกันที่ว่า มันไม่สัมพันธ์กับการกินอาหาร


­­®­รคกระเพาะเกิดจากอะไร ?
โรคกระเพาะเกินกว่าครึ่ง ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ อาจเป็นเพราะมีความวิตกกังวลมาก ครุ่นคิดมาก กระตุ้นให้มีการหลั่งของน้ำกรดออกมาในกระเพาะมากขึ้น

ทางการแพทย์เคยทดลองว่า เจ้าความเครียดนี่มันจะทำให้น้ำกรดในกระเพาะออกมาในกระเพาะมากขึ้น และยังทำให้ความดันเลือดสูงได้อีกด้วย แต่อย่าไปคิดเอาเองล่ะว่า ถ้ากรดออกมากจะเป็นโรคกระเพาะทุกคน บางคนอาจไม่เป็นอะไรเลยก็ได้ แต่บ้านเรานี่แน่ๆ คือเป็นโรคกระเพาะจากการ

กินยาแก้หวัด แก้ปวด แก้อักเสบ ที่เข้าแอสไพริน เพร็ดนิโซโลน (หรือยาที่ลงท้ายด้วยโซน, โลน ทั้งหลาย) หรือบิวตาโซลิดีน โดยไม่ถูกต้อง

เหล้า ก็เป็นสาเหตุได้ เพราะเหล้าทำให้เยื่อบุผนังกระเพาะด้านในอักเสบ

ยาสเตียรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) นี่ก็เหมือนกัน ใครที่กินยานี้ เพราะหลงไปซื้อยาชุดกิน ทางการแพทย์เราเชื่อว่า มันจะส่งผลให้เกิดแผล ถึงกับทำให้กระเพาะทะลุ หรือไม่ก็ทำให้เลือดออกในกระเพาะได้

บุหรี่หรือกาแฟ ยังไม่มีใครสรุปได้ว่า เป็นสาเหตุหรือไม่ แต่ถ้าหากว่ารักษาอย่างอื่นแล้วไม่ดีขึ้น ก็น่าจะอดบุหรี่หรือกาแฟเสียดีกว่า

อาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด นี่ก็ดีนัก พวกนี้ไปกระตุ้นให้กระเพาะสร้างกรดมากขึ้น และกรดจะทำให้อาการดังกล่าวเป็นมากขึ้น

 




®หมอจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นโรคนี้จริงๆ ไม่ใช่โรคอื่นๆ ?
จะว่าไปแล้ว อาการของโรคกระเพาะ หรือประวัติที่ได้จากคนไข้ตอนมาหาหมอ เพราะอยากรู้ว่าตนเองเป็นโรคกระเพาะไหม หมอที่เคยตรวจโรคอย่างนี้ มักจะวินิจฉัยได้ไม่ค่อยพลาด มั่นใจได้ 80-90% เลยทีเดียว ส่วนอีก 10-20% อาจต้องอาศัยการตรวจด้วยวิธีเอ็กซเรย์ หรือส่องดูภายในกระเพาะอาหารด้วยเครื่องมือพิเศษ


®ที่ว่าต้องเจาะเลือด ตรวจเอ็กซเรย์นั้น จะได้ผลไหม ?
ตรวจเลือดในผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะไม่บอกอะไร ไม่จำเป็น นอกจากคนที่เลือดออกในกระเพาะ ตรวจเลือดก็จะรู้ว่าเสียเลือดไปเท่าไรแล้ว หรือในกรณีที่หมอไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคของตับหรือตับอ่อน การเจาะเลือดตรวจอาจจะต้องทำ

เอ็กซเรย์นั้น อย่าเพิ่งไปหลงว่า มันเป็นของวิเศษ บอกได้ทุกอย่าง เพราะคนเป็นโรคกระเพาะระยะแรกๆ หรือแผลตื้น ไม่ว่าจะฉาย จะส่องดูอย่างไรก็ไม่เห็น เอ็กซเรย์ไม่ช่วยได้เลยในกรณีนี้ และหมอเองเขาก็รู้ว่า ถ้าเป็นเริ่มแรกและสงสัยว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะธรรมดา ไม่ใช่โรคอื่น จะไม่สั่งให้คนไข้ไปฉายเอ็กซเรย์แน่

ถ้าจะถามว่า บางคนหมอตรวจเอ็กซเรย์ให้ หมายความว่าอย่างไร
คืออย่างนี้ ตอนแรกถ้าคนๆ นั้น มีอาการอะไรๆ ทุกอย่างเหมือนคนเป็นโรคกระเพาะหมด หมอก็รักษาอย่างคนที่เป็นโรคกระเพาะ แต่รักษาขนาดไหนก็แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น อย่างนี้เขาจับไปเอ็กซเรย์แน่ เพื่อดูว่าเป็นโรคอื่นหรือเปล่า และโดยเฉพาะคนที่อายุมากๆ อาจเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งก็ได้


®เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์กับโรคกระเพาะ
อันนี้ซิยิ่งร้ายใหญ่ ถ้าเป็นโรคกระเพาะ กระเพาะอาหารอักเสบ หรือมีเลือดออกในกระเพาะแล้ว เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ขอแนะนำว่า ถ้าจะเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีราคาแพงมาก เอ็กซเรย์ธรรมดายังดีเสียกว่าเป็นไหนๆ

 




®เครื่องส่องดูกระเพาะสอดผ่านลำคอ และหลอดอาหาร
แพทย์อาจมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องส่องผ่านลำคอและหลอดอาหาร เพื่อวินิจฉัยโรคกระเพาะ เครื่องที่นี้อาจจะดีกว่าเอ็กซเรย์ตรงที่ ในผู้ป่วยที่มีกระเพาะอักเสบ หรือมีแผลก็จริง แต่เป็นแผลตื้นๆ การตรวจด้วยเอ็กซเรย์จะมองไม่เห็น แต่เครื่องส่องดูกรเพาะสามารถมองเห็นได้ เครื่องมือนี้ถ้าหากแพทย์จะใช้กับท่าน ก็ขอให้เข้าใจด้วยว่า มันมีความสามารถพิเศษ เพราะจะช่วยตัดชิ้นเนื้อในกระเพาะ เอามาตรวจดูว่าเป็นเนื้องอกไหม ได้ด้วย

ใช้เวลาตรวจประมาณ ½ ชั่วโมง หมอจะแนะนำให้คนไข้อดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ใช้ยาชาพ่นที่คอ ให้คอชา คนไข้จะรู้ตัวตลอดเวลา แต่จะสะลืมสะลือเพราะยาฉีดและรู้สึกอึดอัดนิดหน่อย อันตรายของเครื่องมือนี้ ขนาดที่ว่าทำให้ตายน่ะไม่มี จะมีเพียงแต่อาจทำให้คอเจ็บและคอแสบได้ แต่ข้อเสียของการตรวจด้วยวิธีนี้คือ ทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น

 




®เป็นโรคกระเพาะแล้วปฏิบัติตัวอย่างไรดี กินยาอย่างไร ?
ให้ลองปฏิบัติรักษาตัวเองดังนี้

1. อย่าให้ท้องหิว กินอาหารให้ตรงเวลา ถ้าหิวก่อนเวลา ให้กินยาลดกรด หรือนม หรือน้ำข้าว จนหายหิว

2. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และอาหารหรือยาที่ระคายกระเพาะ เช่น สุรา เบียร์ กาแฟ น้ำอัดลมทุกชนิด ยาแก้ปวด ที่เข้าเพร็ดนิโซโลน เป็นต้น

3. กินยาลดกรดดังนี้ กินยา 1-2 ช้อนโต๊ะ หรือ 1-2 เม็ด (เคี้ยวก่อนกลืน) หลังอาหาร 1 ชั่วโมง 3 มื้อ ก่อนนอนอีก 1 ครั้ง และเวลาปวดท้อง
ถ้ามีอาการมากให้กินยา 1 ชั่วโมง หลังอาหาร และอีก 3 ชั่วโมงต่อมากินอีกครั้ง

4. ถ้าเครียดมาก ให้ใช้ยาไดอะซีแพม (ขนาด 2 หรือ 5มิลลิกรัม) ½ เม็ด หลังอาหารเช้า-เย็น และ 1 เม็ด ก่อนนอน และให้ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น

ถ้าปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ไม่ดีขึ้นควรไปหาหมอ
บุหรี่ ก็แล้วแต่ ถ้าให้เลิกเดี๋ยวก็กลุ้มใจ หงุดหงิด เครียดขึ้นมาอีกครั้ง เอาเป็นว่าเลิกได้ก็เลิก ถ้าเลิกไม่ได้ก็ปล่อยไปก่อน


®ระหว่างเป็นโรคกระเพาะยาหมดพอดี ทำอย่างไรดีล่ะ ? ไกลหมอไกลยามากเสียด้วย
ยาหมดและอาจเกิดอาการปวดท้องได้ เมื่อก่อนนั้น ก็แนะนำกันว่า ให้กินอาหารบ่อยๆ ซึ่งถ้าคิดดีๆ แล้ว ไม่แนะนำให้ทำอย่างนี้ เพราะกินอาหารบ่อยๆ ทำให้อ้วน และอาจทำให้กรดหลั่งออกมามาก แผลหายช้า

ถ้าไม่มียาลดกรด (ยาหมด) มีนมหรือเปล่าล่ะ ถ้ามี ก็ใช้ได้ ถ้าถามว่าเอานมอะไรดี ตอบว่า นมเลี้ยงเด็กก็ได้ นมจะช่วยลดกรดได้ แต่แพงหน่อยและบางคนดื่มมากอาจเกิดอาการท้องเดินขึ้นมาได้

ถ้าสมมุติว่านมไม่มี ให้ไปซื้อผงขนมฟู หรือเบ็คกิ้งโซดา หรือโซดาทำขนมนั่นแหละ เอามากินได้ชั่วครั้งชั่วคราว ยานี้เป็นด่างช่วยลดกรดได้

เป็นยาลดกรดอย่างดีทีเดียว
แต่ว่า ถ้ากินมากๆจะซึมเข้าเลือดหลเวียนทั่วร่างกาย อาจทำให้เลือดในร่างกายผิดปกติได้
ก็แนะนำว่าใช้ได้ แต่อย่าใช้นานก็แล้วกัน


®แพทย์มีวิธีรักษาโรคกระเพาะอย่างไร ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลไหม ?
ถ้าเป็นโรคกระเพาะอย่างแน่ชัดและไม่มีอาการแทรกซ้อน หมอจะแนะนำให้คนไข้พักผ่อน ระวังเรื่องอาหารการกิน และให้ยาลดกรดไปลองกินดูแล้วนัดมาพบอีกราว 1 สัปดาห์ และอีกครั้งก็ราว 1 เดือน - 2 เดือนครึ่ง ถ้าอาการดีขึ้น แต่ถ้ารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือคนไข้อยู่ในวัยสูงอายุ รักษาแล้ว อะไรก็แล้ว ยังไม่ดีขึ้น อย่างนี้หมอจะต้องเอ็กซเรย์ เพื่อดูว่าเป็นโรคกระเพาะจริงหรือ ถ้าเป็นแผลอยู่ในกระเพาะก็ต้องคิดต่อไปว่า เป็นมะเร็งหรือเป็นเนื้องอกได้ไหม
ก็อาจตรวจต่อไปโดยการใส่เครื่องมือเข้าไปในกระเพาะ พร้อมกับตัดชิ้นเนื้อจากขอบแผลออกมาตรวจ
แต่ถ้าแพทย์เห็นว่า แผลอยู่ในลำไส้เล็ก ก็จะแน่ใจว่า ไม่มีทางเป็นมะเร็งเกือบ 100% จึงไม่ต้องทำการตรวจต่อโดยวิธีส่องกระเพาะดังกล่าว


®จะรู้ได้ไหมว่า แผลหายแล้ว ?
มีอยู่สองวิธีคือ ตรวจดูด้วยเอ็กซเรย์หรือใช้เครื่องมือส่องเข้าไปดูในกระเพาะโดยตรง แต่ไม่จำเป็นต้องทำทุกราย เพราะถ้าเป็นผลจริงไม่ใช่โรคอื่น และได้รักษาอย่างถูกต้อง อาการปวดหายไป ปกติแผลจะหายใน 6 อาทิตย์ หรือ ไม่เกิน 3 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของแผล


®ขณะกินยา จะหยุดยาอย่างไร ?
ซึ่งแรกกินยาวันละ 4 ครั้ง ถ้าอาการหายไป ก็ให้กินยาอีกประมาณ 4-6 อาทิตย์
แต่ถ้ากินแล้วไม่ดีขึ้น ก็ต้องเพิ่มเป็นวันละ 6-7 ครั้ง ถ้ายังไม่ดีขึ้นหมออาจจะต้องสั่งยาชนิดที่ไปด้านไม่ให้กระเพาะสร้างกรด (ทางแพทย์เรียกว่า Anticholinergic drugs)
หมออาจใช้ยาที่ป้องกันไม่ให้กระเพาะบีบตัว ซึ่งมีอยู่มากชนิด
ยานี้มีอันตรายมาก ถ้ามีต้นหิน กระเพาะหรือลำไส้อุดตันจากแผล ต่อมลูกหมากโต ห้ามกิน
เพราะว่ายานี้ทำให้มีความดันในลูกตาสูงขึ้น และกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับอาหารจากกระเพาะหรือเบ่งปัสสาวะบีบตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดผลร้ายต่อผู้ป่วย

 




®โรคกระเพาะหายขาดได้หรือไม่ ?
ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่า เป็นกระเพาะอักเสบหรือแผลในกระเพาะ ถ้าเป็นแผลในกระเพาะนั้น อาจมีได้ 2 อย่าง คือ ชนิดเฉียบพลันหรือชนิดเรื้องรัง

ถ้าเป็นกระเพาะอักเสบหรือเป็นแผลในกระเพาะอย่างเฉียบพลัน พวกนั้นเป็นแล้วอาจหายขาดได้
แผลชนิดเรื้อรัง มักมีอาการเป็นๆ หายๆ อาจเป็นอยู่นานเป็นเดือนๆ หรือหลายๆ ปี โดยเฉพาะถ้าไม่รู้จักรักษาเนื้อรักษาตัว ระยะเวลาที่เป็นก็จะยิ่งนานขึ้น
โรคนี้ไม่เป็นกรรมพันธุ์และไม่ติดต่อกัน


®ยาลดกรดที่ควรใช้
เนื่องจากยาลดกรดที่มีขายในท้องตลาดมีอยู่หลายสิบชนิด ราคาแตกต่างกันมาก แต่การที่จะบอกว่ายานี้ดีกว่ายานั้น ก็บอกไม่ได้อีก เพราะลางเนื้อชอบลางยา เพราะฉะนั้นในผู้ป่วยแต่ละคน ยาที่ดีที่สุดคือ ยาที่กินแล้วอาการปวดทุเลา แผลหาย ไม่กลับเป็นอีก แต่ขณะเดียวกัน ควรจะเป็นยาที่ราคาถูกหรือค่อนข้างถูก

นอกจากนี้ยังมีข้อควรทราบอื่นๆ อีกคือ ยาบางตัวมีอลูมิเนียมฮัยดรอกไซด์มาก ทำให้ท้องผูก บางตัวมีแมกนีเซียมมาก ทำให้ท้องเดิน เพราะฉะนั้นใครที่ธาตุอ่อนหรือธาตุแข็งต้องเลือกยาให้ถูกกัน
และประการสุดท้ายคือ พวกยาน้ำมีประสิทธิภาพดีกว่ายาเม็ด
ยาลดกรดที่มีแมกนีเซียม ไม่ควรใช้ในคนที่เป็นภาวะไตวาย (ไตไม่ค่อยทำงาน)

 


 

 

ข้อห้ามและข้อควรทราบสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะหรือกำลังมีอาการของโรคกระเพาะอยู่

1. อาหาร
อย่า ! กินอาหารบ่อยๆ หรือพร่ำเพรื่อ ไม่เป็นเวลา พยายามกินให้ตรงเวลา ถ้าเกิดหิวก่อนเวลาอาหาร
ขอแนะนำให้กินยาลดกรด เพราะถ้ากินอาหาร ก็ยิ่งมีกรดออกมากขึ้น เลยไม่หายสักที

อย่า ! กินอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด รวมทั้งอาหารหมักดอง เพราะมักจะกระตุ้นให้หลั่งกรดมากขึ้น

อย่า ! กินอาหารภายใน 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน โดยเฉพาะคนที่มีอาการปวดท้องตอนดึกบ่อยๆ เพราะอาหารจะไปกระตุ้นให้มีกรดออกมา เป็นเหตุให้มีอาการปวด ถ้าตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะปวดท้อง ให้กินยาลดกรด ซึ่งควรมีไว้ข้างเตียง
 

2. ยา

อย่า ! กินยาอื่นๆ ในระหว่างการรักษา เช่น ยาแก้ปวด ยาชุด ยาที่เข้าสเตียรอยด์ (บางคนเรียกสเตอรอยด์ เช่น ยาเพร็ดนิโซโลน ยาบูตาโซน ฯลฯ) เอาเป็นว่าไม่ควรกินยาอื่นๆ นอกเหนือจากยารักษาโรคกระเพาะ หรือยาอื่นๆ ที่แพทย์สั่งให้กินเป็นประจำ เช่น รักษาเบาหวาน โรคหัวใจ หรือความดันสูง เป็นต้น
 

3. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์

อย่า ! กินเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีแอลกอฮอร์ปนอยู่ด้วย

อย่า ! ดื่มกาแฟ หรือน้ำชา ถ้าอดไม่ได้ ควรกินกาแฟที่เขาสกัดเอาเนื้อยาเสพติดคาเฟอีนออก ที่เรียกว่ากาแฟ “ดีคาเฟอีเนท” (De-Cafeinated coffee)
อย่า ! ดื่มน้ำอัดลมทุกชนิด
 

4. บุหรี่
อย่า ! สูบบุหรี่ ถ้าไม่สูบแล้วหงุดหงิด ก็สูบให้น้อยที่สุด
 

5. การพักผ่อน
อย่า ! คร่ำเคร่งกับการงานหรือครุ่นคิดอยู่กับปัญหาที่แก้ไม่ได้ แก้ไม่ตก ควรหาทางออกอื่นๆ เช่น ปรึกษาญาติผู้ใหญ่ หรือจิตแพทย์
อย่า ! นอนดึก ควรนอนให้ได้คืนละ 8-10 ชั่วโมง แพทย์อาจให้ยานอนหลับมากิน

6. การออกกำลังกาย
อย่า ! ขาดการออกกำลังกาย ถ้าทำให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลินก็มีประโยชน์ แต่ถ้ารู้สึกเหนื่อย ไม่ควรฝืน


®คนที่เป็นเรื้อรัง จะปฏิบัติตัวเช่นที่ว่านี้ หรือว่าต้องมีเคล็ดลับพิเศษอีก ?
คนที่เป็นเรื้อรัง ต้องปฏิบัติตัวดังที่กล่าวมาแล้วและต้องระวังอย่างอื่นๆ อีก เช่น
1. อาหารกินได้ตามใจชอบ แต่อย่ากินอาหารรสจัดมากเกินไป ถ้ามีอาการของโรคกระเพาะใหม่ ควรงดอาหารรสจัด

2. ยาลดกรดต้องกินให้สม่ำเสมอ จนแผลหาย เมื่อไหร่มีอาการขึ้นมาใหม่ ก็ต้องกินยาอีก

3. เครื่องดื่มของมึนเมา กาแฟ ไม่ควรกินเป็นประจำ และควรกินพอประมาณ ถ้าจำเป็น พวกเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่เข้าแอลกอฮอล์ ควรดื่มหลังอาหาร หรือพร้อมอาหาร

4. ถ้าเป็นโรคอื่นขึ้นมา อย่าลืมบอกแพทย์ที่รักษาด้วยว่า กำลังเป็นหรือเคยเป็นโรคกระเพาะ เขาจะเลือกยาให้ถูกต้อง

5. อย่ากินยาแก้ปวด ที่เข้าแอสไพรินหรือสเตียรอยด์ ยาหลายขนาดที่โฆษณาว่า แก้ปวด มักมีตัวยาพวกนี้อยู่เสมอ ระวังให้มาก

6. อย่าอดนอน

 

ข้อมูลสื่อ

34-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 34
กุมภาพันธ์ 2525
โรคน่ารู้
รศ.นพ.สุชา คูระทอง