• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งปอด

 

 

äโรคมะเร็ง มีความสำคัญต่อคนไทยปัจจุบันหรือไม่ ?
น่าจะถือว่าโรคมะเร็งมีความสำคัญในระดับชาติสำหรับคนไทยปัจจุบัน เพราะจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขครั้งสุดท้าย ประจำปี 2522 ปรากฏว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการตายอันดับ 3 ของคนไทยทั้งประเทศ


äมะเร็งปอดพบได้บ่อยหรือไม่ ?
ถ้าแบ่งผู้ป่วยตามเพศ ปรากฏว่าโรคมะเร็งปอดพบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้ชายไทย (รองจากมะเร็งตับ) และเป็นอันดับ 8 ในผู้หญิงไทย


äผู้หญิงไทย มีอัตราการเป็นมะเร็งปอดมากน้อยเพียงใด ? เมื่อเทียบกับชาย
อัตราการเป็นมะเร็งปอด จำแนกตามเพศในคนไทย ถ้าคิดรวมๆ อัตราเฉลี่ยชาย ต่อ หญิง ประมาณ 5.5 ต่อ 1 เนื่องจากทางการแพทย์ เชื่อว่าการสูบบุหรี่จัดเป็นเวลานานๆ มีส่วนสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งปอด ถ้าคิดเทียบตามการสูบบุหรี่หรือไม่ ปรากฏว่าอัตราเทียบการเป็นมะเร็งปอดดังกล่าวเปลี่ยนไปเป็นในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ อัตราชายต่อหญิงที่เป็นมะเร็งปอด เป็น 15 : 1

ในกลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่ อัตราชายต่อหญิงที่เป็นมะเร็งปอด เป็น 0.8 : 1 ทั้งนี้อัตราการสูบบุหรี่ในหญิงไทยปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับชาย


äนอกจากการสูบบุหรี่แล้ว มีสาเหตุอื่นที่เสริมให้เกิดมะเร็งปอดอีกไหม ?
สาเหตุอื่นที่เชื่อว่าเป็นเหตุเสริมให้เกิดมะเร็งปอดได้คือ

1) ความสกปรกของอากาศในเมืองใหญ่ๆ เมืองอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เช่น แอสเบสตอส นิกเกล สารกัมมันตภาพรังสี ฯลฯ

2) แผลเป็นในปอด อันเป็นผลจากการเป็นโรคเรื้อรังมานาน เช่น วัณโรคปอด ฝีในปอด ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นจุดก่อให้เกิดมะเร็งได้ แต่พบน้อยมาก (เพียง 1-2% เท่านั้น)
ปัญหาสองประการนี้ยังไม่น่ากลัวสำหรับบ้านเรา เรื่องบุหรี่เป็นที่น่าสนใจ และน่ากลัวมากกว่า

เหตุอื่นๆ เช่นความสกปรกของอากาศในเมืองใหญ่ ดังกล่าวมา เราจำเป็นต้องอยู่ หรือผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบางอย่างดังกล่าว ซึ่งเข้าใจว่ายังไม่มีในเมืองไทย เป็นเรื่องต่อการจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตที่ไม่อาจหนีได้ แต่เมือพิจารณากันแล้วพิษภัยจากสาเหตุอื่นดังกล่าวนั้นยังน้อยกว่าการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นอันตรายกว่าและเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงได้ จึงน่าจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ


äสูบบุหรี่นานแค่ไหน จึงจะเป็นมะเร็งปอด ?
เรื่องนี้ไม่มีข้อพิสูจน์โดยตรงที่แน่นอน แต่จากการศึกษาสถิติจากผู้ป่วยพบว่า คนไทยที่เป็นมะเร็งปอดมีอัตราการสูบบุหรี่ค่อนข้างมาก กล่าวคือ 80% ของผู้เป็นมะเร็งปอด มีประวัติสูบบุหรี่ และ 75% ของผู้ที่เป็นมะเร็งปอด สูบบุหรี่จัด

ถ้าแยกตามเพศ ปรากฏว่า ผู้ป่วยชายที่เป็นมะเร็งปอด สูบบุหรี่ถึงร้อยละ 90.5 สูบจัดร้อยละ 84.3 ในผู้ป่วยหญิงมีประวัติสูบบุหรี่เพียงร้อยละ 28.5 แต่ทั้งหมดเป็นผู้สูบบุหรี่จัดมะเร็งปอดชนิดที่ผู้หญิงเป็นมักต่างกับของผู้ชาย และมักจะไม่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ (ชนิด adenocarcinoma)

ถ้าจะให้ประมาณว่าสูบบุหรี่นานแค่ไหน จึงจะเป็นมะเร็งปอด พอจะยืนยันโดยอ้อมได้จากผลการศึกษาของเราว่า อย่างน้อยประมาณ 20-30 ปีขึ้นไป เพราะผลการศึกษาจากคนไทยที่เป็นมะเร็งปอดแล้ว ส่วนมากเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุน้อยๆ ตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่น หรือเมื่อเริ่มเป็นหนุ่ม ช่วงอายุที่คนไทยเป็นมะเร็งปอดมากคือ

อันดับ 1 (ประมาณ 40% ) เป็นระหว่าง อายุ 51-60 ปี

อันดับ 2 (ประมาณ 30% ) เป็นระหว่าง อายุ 61-70 ปี

อันดับ 3 (ประมาณ 15% ) เป็นระหว่าง อายุ 41-50 ปี


ä
อย่างไรจึงจะเรียกว่า สูบบุหรี่จัด ?
โดยทั่วไปใช้เกณฑ์ว่า สูบวันละ 20 มวนขึ้นไป ติดต่อกันอย่างน้อย 20 ปีขึ้นไป หรือวันละ 10 มวนขึ้นไป สูบติดต่อกันประมาณ 30 ปีขึ้นไป เป็นสูบจัด
ผู้สูบบุหรี่ แล้วเป็นมะเร็งปอดมักเป็นชนิดร้ายแรง


äมะเร็งปอดที่เป็นกัน แพทย์แบ่งเป็นกี่ชนิด ?
อาจจะกล่าวได้อย่างกว้างๆ เพื่อความเข้าใจว่า แบ่งเป็น 3 ชนิด ตามลักษณะที่ปรากฏทางพยาธิวิทยา และความรุนแรงทางอาการคือ

1) ชนิดร้าย เป็นชนิดที่ทางพยาธิวิทยา จำแนกประเภทลักษณะเซลล์ไม่ได้ ภาษาแพทย์เรียก undifferentiated cell carcinoma

2) ชนิดร้ายปลานกลาง ทางแพทย์เรียก adenocarcinoma ตามลักษณะที่ปรากฏทางพยาธิวิทยา

3) ชนิดร้ายน้อย ทางแพทย์เรียก squamous cell carcinoma
แต่ละชนิดที่กล่าว ทางแพทย์อาจจำแนกละเอียดลงไปอีก
ผู้ที่สูบบุหรี่ที่เป็นมะเร็งปอด เป็นชนิดร้าย ชนิดที่ 1 ถึง 50%
ผู้ไม่สูบบุหรี่ เป็นชนิดร้ายเพียง 30%
ผู้ไม่สูบบุหรี่ มักเป็นชนิดไม่ร้ายนัก ชนิดที่ 2 ถึง 49%
ขณะที่ผู้สูบบุหรี่เป็นชนิดนี้เพียง 16%


äอาการที่พบเป็นอย่างไรบ้าง ? ผู้ป่วยสามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเองหรือไม่ เมื่อไร จะสังเกตอาการอะไรได้บ้าง
อาการเริ่มแรกของมะเร็งปอดไม่สามารถจะแยกได้โดยตรงจากอาการของโรคปอดอื่นๆ เพราะว่าโรคปอดแทบทุกชนิด อาการเบื้องต้นจะคล้ายคลึงกัน ดังนั้นผู้ที่เป็นมะเร็งปอด ระยะแรกจะถืออาการเป็นเกณฑ์ไม่ได้ จะต้องถือความตื่นตัว นึกถึงความเป็นไปได้ จากเครื่องช่วยวินิจฉัยอย่างอื่น เช่น ภาพเอ็กซเรย์ปอด ฯลฯ เป็นเกณฑ์สำคัญมากกว่า

ผู้ที่มาพบแพทย์ในปัจจุบัน ส่วนมากอยู่ในเกณฑ์ที่สายเสียแล้ว การรักษามะเร็งปอดเวลานี้ทั่วโลกยังถือว่า การผ่าตัดเป็นวิธีมาตรฐาน ถ้าเป็นแล้วตัดออกได้ โอกาสที่ผู้ป่วยจะหายจากโรคมีอยู่มาก ตามสถิติผู้ป่วยของเรา ปรากฏว่าที่มาพบแพทย์แต่ระยะแรก แพทย์สามารถตัดมะเร็งออกได้เพียง 6% เท่านั้น

 

อาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมะเร็งปอดของไทยเรามาพบแพทย์ คือ

ไอเรื้อรัง ประมาณ 80%

ไอเป็นเลือด (มักเป็นเลือดสายๆ ปนเสมหะ) ประมาณ 40%

คล้ายเป็นหวัด แต่เป็นนานผิดธรรมดา ประมาณ 10%

อาการอื่นของโรคมะเร็งโดยทั่วไป เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ผอมลงซีดเซียว อ่อนเพลีย
ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และสูบบุหรี่จัดมานาน ซึ่งมีอันตรายเสี่ยงสูง ถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้น จะต้องการการตรวจหามะเร็งปอดเป็นพิษ ส่วนผู้ที่มีอัตราเสี่ยงน้อยมาก เช่น เด็กๆ อาจจะต้องหาสาเหตุอื่น
 

นอกจากนี้ก็มีอาการอื่นๆ ซึ่งเมื่อปรากฏก็เป็นอันแน่นอนว่าเป็นมากแล้ว หรือเป็นระยะสุดท้ายของโรค คือ

1) เสียงแหบ เพราะมะเร็งลุกลามไปยังประสาทเลี้ยงกล่องเสียง มักเกิดในรายที่เป็นมะเร็งที่ขั้วปอดซ้าย

2) บวมหน้า, คอ, แขน, และอกส่วนบน เนื่องจากเลือดคั่ง เพราะเส้นเลือดดำใหญ่ที่นำเลือดดำจาก
ร่างกายส่วนเข้าสู่หัวใจซีกขวาถูกกดทำให้เลือดจากหน้าและศีรษะไหลกลับเข้าสู่หัวใจไม่สะดวก

3) หายใจลำบาก และหอบเหนื่อยเกิดเมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้นจนอุดหลอดลม หรือเนื่องจากมะเร็งลุกลามไปเนื้อปอด หรือเพราะเกิดน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ทำให้เนื้อที่ปอดสำหรับการหายใจเหลือน้อยลงไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยจะเกิดอาการหายใจลำบากหอบเหนื่อย

4) กลืนลำบาก เนื่องจากมะเร็งลุกลามไปทำให้หลอดอาหารตีบแคบลง

5) เจ็บปวด เนื่องจากมะเร็งลุกลามแพร่กระจายไปกระดูก, ผนังอก ฯลฯ

6) อัมพาต เนื่องจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังสมอง หรือไขสันหลัง


äควรเอ็กซเรย์ปอดปีละกี่ครั้งดี ?
การตรวจเอ็กซเรย์ปอดมีประโยชน์ ถ้าเราเลือกผู้รับการตรวจและเลือกจังหวะให้เหมาะ คือผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง เช่น อายุ 40-50 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่จัด แม้ไม่มีอาการก็น่าจะได้รับการตรวจเอ็กซเรย์ปอดสักปีละ 2 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น


äผ่าตัดมะเร็งปอดออกไปแล้ว จะเป็นได้อีกไหม ?
เป็นได้ แต่น้อย ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรคเมื่อรับการผ่าตัด คือ ขนาด ชนิด ความรุนแรง และการแผ่กระจายของมะเร็ง ถ้าได้รับการผ่าตัดแต่ระยะแรก ขนาดเล็ก ชนิดไม่รุนแรง ยังไม่มีการแพร่กระจาย โอกาสที่จะเป็นอีกก็น้อยมาก เวลานี้เรามีการรักษาเสริม เพื่อช่วยให้การผ่าตัดได้ผลดีขึ้น โดยการให้การรักษาร่วมทางยาหรือรังสีตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย


äโรคมะเร็ง จะรักษาให้หายได้ไหม ?
ผมขอตอบว่า “ได้” แต่ไม่ทุกรายและไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ของผู้เป็นโรคมะเร็งมักจะมาถึงมือแพทย์สายเกินกว่าที่จะรักษาให้หายได้ ตัวอย่าง เช่น การรักษามะเร็งปอด วิธีมาตรฐานในปัจจุบันที่ถือว่ารักษามะเร็งปอดให้หายขาดได้คือการผ่าตัด ผู้ป่วยไทยเรามาถึงแพทย์ในระยะแรกที่ยังทำการผ่าตัดมะเร็งออกได้เพียง 6% จำนวนผู้ป่วยที่หายจึงน้อยกว่าที่ไม่หายเป็นอย่างมาก ผู้พบเห็นทั่วไปเห็นแต่ที่ไม่หายเป็นส่วนใหญ่ จึงเกิดความรู้สึกว่าถ้าเป็นมะเร็ง ก็ไม่มีโอกาสที่จะหายขาดได้

อย่างไรก็ตาม คำว่า “หาย” ของโรคมะเร็งต่างกับ “หาย” ของโรคอื่นๆ อยู่คือ โรคอื่นๆ มักหมายถึงไม่มีเชื้อหรือร่องรอยของโรคเดิมอยู่อีก


äในกรณีของมะเร็ง คำว่า “หาย” หมายถึง

1) แพทย์ทำการผ่าตัด ตัดมะเร็งออก หรือทำลายโดยรังสีบำบัด หรือเคมีบำบัด ฯลฯ ให้ผู้ป่วยหายจากอาการเดือนร้อนอันเนื่องแต่มะเร็ง สามารถทำงานปกติ ดำเนินชีวิตเป็นปกติ สุขได้ตามสมควร บางทีส่วนของมะเร็งอาจยังหลงเหลืออยู่ก็ได้ แต่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ป่วย ถ้าแพทย์สามารถทำให้เขาอยู่ไปได้อย่างน้อย 5 ปีขึ้นไปแล้วก็ถือว่าหาย

2) ข้อนี้ดูคล้ายๆ กับว่าเราทำให้ผู้ป่วยสบายใจ คือ ถ้าแพทย์สามารถรักษาให้ผู้ป่วยยืดชีวิตไปจนถึงแก่กรรมด้วยเหตุอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับมะเร็ง ให้เขามีชีวิตและถึงแก่กรรมในเวลาตามอายุขัย หรืออายุเฉลี่ยของประชากรในประเทศนั้นๆ อย่างประเทศไทย อายุเฉลี่ยของผู้ชายประมาณ 60 ปี ผู้หญิงประมาณ 62 ปี ถ้ารักษาผู้ป่วยแล้วให้เขามีชีวิตอยู่ถึง 61 ปีได้ในผู้ชาย หรือ 63 ปีในผู้หญิง ก็ถือว่าหายแล้วได้ตามเกณฑ์ การนับของผู้ป่วยมะเร็ง วิธีนี้ คิดดูรู้สึกไม่งดงามนัก แต่ก็ยอมรับเป็นสากลที่ว่าการนับแบบนี้ ไม่ค่อยงดงามหรือยุติธรรม เพราะถ้าเวลานี้ผู้ป่วยชายอายุ 59 ปีแล้ว แพทย์ช่วยยืดชีวิตเขาตามหลักการที่กล่าวมาอีกเพียงปีเดียวก็ถือว่าหายได้ ควรนับ 5 ปีเป็นเกณฑ์จึงน่าจะเหมาะกว่า


äมะเร็งปอดเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ไหม ?
ยังไม่กล่าวยืนยันว่าเกี่ยวกับกรรมพันธุ์ทีเดียว เพราะยังไม่มีการพิสูจน์โดยตรงได้ แต่เป็นที่น่าสังเกตอยู่คือ บางชนิด (ทางแพทย์เรียก แอดดีโนคาร์ซิโนมา) ชอบเป็นในผู้ป่วยหญิง ชนิดของมะเร็งกับเพศของผู้ป่วย ดูจะมีส่วนสัมพันธ์กัน


äภายหลังจากรักษาแล้ว จะต้องมาหาแพทย์อย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ?
ปัญหานี้ขึ้นกับสภาพของผู้ป่วยระยะของโรค ชนิดของมะเร็ง และวิธีการรักษาผู้ป่วยในแต่ละราย ถ้ารักษาด้วยผ่าตัดอย่างเดียว ก็คงจะไม่ต้องยุ่งยากลำบากนัก แต่ควรมาพบกับแพทย์ตามระยะที่แพทย์แนะนำ

ถ้าผ่าตัดได้ในระยะเริ่มแรกที่มะเร็งยังมีขนาดเล็ก และเป็นชนิดที่ไม่ร้าย ถ้าผ่าตัดแล้วไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในทรวงอกหรือที่ขั้วปอด หรือที่อื่นๆ ฯลฯ ถือว่ารายนี้อยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงน้อย อาจไม่จำเป็นต้องให้การรักษาเสริม แต่ต้องนัดมาตรวจเป็นครั้งคราว ถ้าไม่มีอาการผิดปกติ ในระยะแรกอาจจะ 2-3 เดือน หรือ 3-4 เดือน มาเอ็กซเรย์ปอดสักครั้งหนึ่ง ถ้าเรียบร้อยดี ต่อไปอาจค่อยๆ นัดห่างออก แม้จะเรียบร้อยดีนานๆ หลายปีไปแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ควรขาดการติดต่อกับแพทย์

ถ้าเป็นชนิดที่ร้ายแรง หรือขนาดโต หรือมีการแพร่กระจายแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเป็นซ้ำได้ แพทย์ผู้ผ่าตัดคงนัดมาตรวจบ่อยขึ้น แล้วอาจจะพิจารณาให้การรักษาเสริมด้วย ถ้าให้ยาสำหรับมะเร็งที่เรียกว่า เคมีบำบัด อาจให้มาอยู่โรงพยาบาลครั้งละ 10-14 วัน เมื่อเรียบร้อยดีก็ให้กลับบ้านได้ ระยะ 2-3 เดือนต้องกลับมารักษาซ้ำอีก ระหว่าง 2-3 เดือน นี้เราก็ต้องนัดมาตรวจเป็นครั้งคราว ตรวจเลือด ตรวจสภาพร่างกายทั่วไป ปีต่อไปการรักษาจะค่อยๆ ห่างออกได้ จะให้ยาสำหรับมะเร็งนี้อย่างน้อย 2 ปี อย่างมาก 3 ปี เมื่อเกินกำหนดดังกล่าวและสามารถคุมมะเร็งได้ว่าไม่มีการแพร่กระจายมาอีก ก็จะหยุดการรักษาด้วยยานั้นได้ แต่ผู้ป่วยยังต้องมาหาเพื่อตรวจต่อไป ตามแต่ที่แพทย์จะเห็นสมควรเฉพาะผู้ป่วยแต่ละราย
 


วิธีการให้ยาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งมีหลายวิธี มะเร็งบางชนิด การใช้ยาบางอย่าง บางวิธี ถ้าสภาพผู้ป่วยเหมาะแพทย์บางท่านเห็นว่าไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลก็ได้ ถ้าผู้ป่วยข้องใจในวิธีการรักษาใดๆ อาจไต่ถามจากแพทย์ผู้ให้การรักษาโดยตรงได้ ผมแน่ใจว่าคงไม่มีแพทย์ผู้ใดที่รับผิดชอบชีวิตของผู้ป่วยผู้นั้นอยู่จะปฏิเสธ ถ้าผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้เกิน 5 ปีไปแล้วมักจะไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรอีกแล้ว แต่ก็ยังไม่น่าจะตัดขาดจากแพทย์ไป แต่อาจพบกันนานๆ ครั้ง เป็นต้นว่า อาจจะ 5-6 เดือนมาเอ็กซเรย์ดูสักครั้ง เวลานี้ผู้ป่วยที่รักษาแล้วอยู่ได้เกิน 10 ปียังไปมาหาสู่กันอยู่หลายราย

ปัจจุบันมีความรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการแพทย์มากขึ้น บางทีมีการตรวจพิเศษเพื่อหาว่าเวลานี้สภาพของมะเร็งที่เราคิดว่าหมดไปนั้น ยังมีเชื้ออยู่ในร่างกายโดยไม่ปรากฏอาการ หรือตรวจพบทางรังสีธรรมดาได้ การตรวจหาสารบางชนิดในเลือดอาจช่วยได้บ้าง แพทย์อาจจะนัดมาตรวจเลือดเป็นครั้งคราวได้ ถ้าตรวจพบก็จะได้ให้การรักษาใหม่ต่อไป


äมีคนไข้จำนวนเท่าไร ที่อยู่ได้เกิน 5 ปี ?
ถ้าแยกเอาเฉพาะผู้ที่เป็นในระยะแรก ที่ทำการผ่าตัดเอามะเร็งออกได้ คิดถัวเฉลี่ยจะอยู่เกิน 5 ปีได้ประมาณ 30%

แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นชนิดไม่ร้ายแรง และตัดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มะเร็งยังไม่แพร่กระจาย ก็อาจได้ผลดีกว่านั้น คือระยะคงชีพ 5 ปี อาจถึงหรือเกิน 50%

แต่ถ้าเป็นชนิดที่ค่อนข้างร้ายหรือมีการแพร่กระจายไปแล้วเมื่อตอนผ่าตัดก็จะมีอัตราระยะคงชีพ 5 ปีต่ำลง

สำหรับผู้ที่เป็นมากเลยระยะผ่าตัดได้ มีโอกาสมีชีวิตอยู่ถึง 5 ปีน้อยมาก หรืออาจพูดได้ว่าไม่มี ผู้ที่เป็นมากเลยระยะผ่าตัดและไมได้รับการรักษาอย่างอื่นอีก ก็มักจะมีชีวิตไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้สุดแต่ชนิดความรุนแรงของมะเร็ง สภาพร่างกาย และสภาพการแพร่กระจายของมะเร็ง


äก่อนจากขอเรียนย้ำว่า มะเร็งปอดเป็นโรคร้ายที่พอจะรักษาได้
ถ้าท่านมาพบแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เสียแต่ระยะแรก 


äมะเร็งปอดเป็นโรคร้ายที่พอจะป้องกันได้
ถ้าท่านไม่ทำลายสุขภาพ และเติมสารก่อมะเร็งให้แก่ตัวท่านเองด้วยการสูบบุหรี่


äการไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่
จะช่วยให้ท่านประหยัดเงินได้อย่างมหาศาลอย่างที่ท่านไม่เคยคาดคิด จะช่วยให้ท่านมีสุขภาพสมบูรณ์ และอาจพ้นจากโรคร้ายนานาชนิด รวมทั้งมะเร็งปอดด้วย


äการสูบหรือไม่สูบบุหรี่
เป็นการท้าทาย ความเข็มแข็งทางจิตใจของท่านเอง ถ้าท่านจะไม่สูบ โรงงานยาสูบ หรือรัฐบาลก็จะบังคับท่านไม่ได้


äถ้าท่านเป็นมะเร็งปอด หรือเป็นโรคร้ายอื่นๆ อันเนื่องแต่การสูบบุหรี่
แม้ท่านที่เคยบอกแพทย์ว่าไม่กลัวความตาย ท่านก็จะหนีความทรมานอย่างมากมายไม่พ้น


äถ้าท่านเจ็บปวดด้วยมะเร็งปอด หรือโรคอื่นใดก็ตาม
ทั้งท่านและรัฐบาลต้องสูญเสียเงินในการรักษาพยาบาลอย่างมหาศาล
ทั้งท่านและรัฐบาลจะต้องสูญเสียพลังงาน อย่างที่ท่านไม่เคยคาดคิด
ทั้งท่านและครอบครัวจะต้องจากกันก่อนกาลเวลาอันสมควร


äท่านที่ไม่สูบบุหรี่ก็อาจเป็นมะเร็งปอดได้
แต่จำนวนน้อยมาก (ร้อยละ 19.5) และมักจะเป็นผู้หญิง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงถือว่าเป็นผู้โชคร้ายอย่างแท้จริงได้ ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่แล้วเป็นมะเร็งปอด ถือได้ว่าท่านทำตัวท่านเอง

แพทย์ไทยยังมีไม่พอกับความต้องการของประเทศ ถ้าท่านช่วยกันประหยัดการใช้แพทย์ จากการไม่ช่วยให้เกิดโรคอันพึงหลีกเลี่ยงโดยตัวท่านเองได้ จะถือได้ว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมือง และเพื่อร่วมชาติอื่นๆ ของท่าน
สุขภาพ หรือมะเร็งปอด บุหรี่ และการเผาเงินโดยไร้ประโยชน์ ฯลฯ ท่านเป็นผู้เลือกสำหรับตัวท่านเอง


ข้อมูลสื่อ

34-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 34
กุมภาพันธ์ 2525
โรคน่ารู้
พญ.วารุณี สดเจริญ