• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กดจุดแก้เป็นลม

แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

“เห่อ…แย่จัง หกสลึงเข้าไปแล้ว ก็ยังแน่นฉิบห….”

“ก็ (เล่น) ไม่ยาก หาซื้อรถเงินผ่อนใช้สักคัน จะได้สบายหน่อย”

“ถ้าคิดอย่างนั้น รถก็คงติดมากกว่านี้อีก”

“ช่างหัวเผือกมันเป็นไรไป เดี๋ยวนี้ยุคตัวใครตัวมันทั้งนั้น”

“เฮ้อ…คิดอย่างนั้นได้อย่างไร ผลเสียก็ตกอยู่ที่เราเหมือนกัน รถมาก ควันไอเสียก็มาก อากาศก็เสีย และที่น่าเป็นห่วงก็ไอ้แก๊สที่เขาว่าเป็นความหวังอันโชติช่วงชัชวาลของชาวเรา ถ้าหลวงสนับสนุนให้รถใช้แก๊สกันมากขึ้น มีหวังไอ้กลิ่นแก๊สจะร้ายกว่าไอเสียน้ำมันเสียอีก”
 

“อย่าไปพูดเลย แกเองก็รู้ มีใครเขาสนใจเรื่องอากาศพิษกันบ้าง ดูคนขับแท็กซี่ที่ใช้แก๊ส ร่างกายเสื่อมโทรมหน้าตาซีดเซียวกันไม่น้อย บางคนไปหาหมอ หมอก็ยังไม่รู้จะรักษาและแก้ไขปัญหาได้อย่างไร เพราะยังคงตะบันใช้แก๊สกันอยู่อย่างนี้”
 

“แกน่าจะเข้าใจ มันเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจและสังคม คนเข้ามาแออัดกันในเมือง งานอะไรๆ ก็แย่งกันทำทุกวันนี้ คนขับรถแท็กซี่ก็เหมือนกัน ต้องเข่ารถเขามา และบางคนก็ขับทั้งกลางวันและกลางคืน (2 กะ) ถ้าใช้น้ำมันก็จะกำไรน้อยหรืออาจขาดทุนก็ได้ แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนไปเลี้ยงครอบครัวล่ะ มันตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีทางเลือกจริงๆ (บังคับกันชัดๆ)”
 

“เห่อ…คิดไปก็ปวดหัวเปล่า”
 

“ว่าแต่แกตอนนี้เป็นไง หน้าซีดจัง”
 

“ก็เบียดรถมา คนก็แน่น รถก็ติด ควันก็เหม็น อากาศก็ร้อน ชักจะไม่ค่อยดี หน้าจะมืดๆ แล้วละเพื่อน”
 

“อย่าเพิ่ง เดี๋ยวๆ จะกดจุดแก้เป็นลมให้”

 

 

การกดจุดแก้อาการเป็นลม
1.กดจุดเหยินจง
ตำแหน่ง อยู่ตรงร่องใต้จมูก แบ่งร่องนี้ออกเป็น 3 ส่วน จุดเหยินจงจะอยู่ห่างลงมาจากจมูก 1/3 หรืออยู่เหนือริมฝีปาก 2/3 ส่วน (รูปที่ 1)

วิธีปฏิบัติ :
ใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือกดลงบนจุดเหยินจง อีก 4 นิ้วที่เหลือจับคางไว้ (ถ้าใส่ฟันปลอมให้เอาฟันปลอมออก) ค่อยๆ กดหัวแม่มือแล้วคลึงเบาๆ (ถ้ากดหนักเกินไป จะทำให้ซ้ำและเจ็บ) กดและคลึงสักพักผู้ป่วยจะค่อยๆ รู้สึกตัว

2.กดจุดซ่าวซาง
ตำแหน่ง อยู่ห่างจากโคนเล็บด้านนอก 0.5 ซม. (รูปที่ 2)
วิธีปฏิบัติ ให้ใช้เล็บกดตรงมุมโคนเล็บ (ทำมุมประมาณ 135 องศากับโคนเล็บ) กดจนกระทั่งผู้ป่วยรู้สึกตัวจึงหยุดกด

หมายเหตุ :
 ในการปฏิบัติ จะเลือกใช้วิธีที่ 1 หรือจะใช้ทั้ง 2 วิธีรวมก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก ในกรณีที่สามารถหาขิงได้ ให้ใช้ขิงสดทุบให้แตกแล้วต้ม (หรือจะใช้น้ำร้อนชงสัก 1/2 แก้วก็ได้) ให้ผู้ป่วยดื่มขณะอุ่นๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้น กลับสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น
 

ข้อมูลสื่อ

34-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 34
กุมภาพันธ์ 2525
สารคดีแพทย์
วิทิต วัณนาวิบูล