• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คู่ครองในฝัน

กล่าวกันว่าคนเรานั้นเกิดมาเพื่อที่จะแสวงหาความรัก และหาใครสักคนมาให้ความรัก ความอบอุ่น ที่มั่นคงและจริงใจ เพื่อที่จะเป็นคู่ครอง คู่คิด และคู่ชีวิต

ความรัก...มีหลายรูปแบบ
1. ความรักในรูปแบบที่ต้องการสัมผัส
เป็นความรักของหนุ่มสาวที่โหยหาการสัมผัสทางกายต่อกัน และสานสร้างสัมพันธ์จากการมีสัมพันธ์สวาททางกายเพื่อที่จะสุขสมร่วมกัน อยากที่จะอยู่ด้วยกันตลอดเวลา อยากจะสัมผัสร่างกายของกันและกัน ด้วยความคิดว่าจะสามารถถ่ายทอดความรักให้แก่กันได้จากการร่วมรัก...กามารมณ์จึงเป็นรากฐานของชีวิตคู่ในระยะแรกของความสัมพันธ์

กามารมณ์จึงเป็นสัมผัสรักที่จับต้องได้ เป็นสีสันแห่งความรักของหนุ่มสาวที่แรกรักกัน
แต่ชีวิตคู่ที่ยืนยาวนั้น จะต้องมีการพัฒนาความรักไปให้มากกว่านั้น

2. ความรักแบบโรแมนติก กล่าวกันว่าความรักของผู้หญิงนั้น เป็นแบบ "โรแมนติก" แต่ความรักของผู้ชายกลับเป็นแบบ "อีโรติก" ในการมีความสัมพันธ์กันนั้น ผู้หญิงจะคิดถึงการแสดงความรักด้วยกัน เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ผู้ชายจะคิดถึงบทพิศวาสในรูปแบบของอีโรติกมากกว่า

ผู้หญิงจึงต้องมีความรักเป็น รากฐานก่อนแล้วจึงมีอารมณ์พิศวาส และสุขสมจากบทพิศวาสที่มอบให้แก่กัน

ส่วนผู้ชายนั้นจะระบาย ความรักออกไปผ่านการร่วมรักที่อบอุ่นและสุขสม ด้วยความอยากจะระบายความรักออกไป นี่แหละที่ทำให้ท่วงท่าลีลาของพวกเขาเร่าร้อน ดุดัน และหลั่งเร็ว
หลั่งเร็วจึงเป็นปัญหาของผู้ชายเกือบทุกคน

จึงทำให้การไปไม่ถึงจุดสุดยอดจึงเป็นปัญหาของผู้หญิงหลายคนเช่นกัน
เมื่อผ่านความรักแบบโรแมนติก...และอีโรติกไปแล้ว
ความรักในแบบต้องการใช้ชีวิตร่วมกันก็มาเยือน

3. ความรักแบบต้องการคู่ การอยู่ร่วมกันนั้นเป็นความปรารถนาอย่างยิ่งยวดของชายและหญิงที่รักกัน และอยากจะสร้างครอบครัวร่วมกัน อยากใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ทำอะไรร่วมกัน มีพันธะผูกพันกัน อยากเห็นกันตลอดเวลาที่มีโอกาส

...แต่หลายต่อหลายคู่กลายเป็นความรักที่พึ่งพาไป และรู้สึกเหมือนจะขาดกันไม่ได้
ซึ่งก็จำเป็นจะต้องปรับปรุง เพราะในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันนั้น ความต้องการที่จะอยู่ร่วมกันตลอดเวลานั้น...เป็นไปไม่ได้

จึงต้องมีการพัฒนาความรักต่อไปเป็นความรักในรูปแบบที่ผูกพันแต่ไม่พึ่งพา

4. ความรักแบบสัญญาใจ เป็นความรักที่เข้าใจกัน ไว้ใจกัน ผูกพันกัน โดยไม่ต้องพึ่งพากัน แม้ว่าจะไม่มีคนรักอยู่ข้างกายก็เหมือนมี ไม่มีความรู้สึกอ้างว้าง ว้าเหว่ เดียวดาย หรือถูกทอดทิ้ง เพราะมีอีกคนอยู่เสมอในใจที่แสนจะเป็นสุข เพราะมีชีวิตคู่ที่มีสัญญาใจต่อกัน

สัญญาว่า...เราจะครองคู่กันไปตราบจนลมหายใจสุดท้ายแห่งกาลเวลา

คู่ครองในฝัน
ชายหญิงใดที่สามารถแสดงความรักออกมาด้วยวิธีการต่างๆ ตามความเหมาะสมโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และวัยที่เปลี่ยนแปลงย่อมมีชีวิตคู่ที่เป็นสุข เพราะตามธรรมชาติแล้วถ้าจะเปรียบชีวิตคู่เหมือนดอกกุหลาบ...

ชีวิตคู่ในระยะแรกก็ร้อนแรงเช่นเดียวกับกุหลาบแดง...ที่แจ้งรักนั่นเอง ต่อเมื่อได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันไป สักระยะหนึ่งแล้ว ความรักในรูปแบบของความสัมพันธ์แบบฉันเพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจก็เกิดขึ้น ชีวิตคู่ในระยะกลางๆ จึงเหมือนดอกกุหลาบสีชมพูที่งามสดใส มองแล้วมีความสุข ซึ่งถ้าอยากให้ชีวิตคู่ราบรื่นต่อไปแล้วก็จะต้องพัฒนาต่อไปให้เป็นดอกกุหลาบสีขาว...ตัวแทนของความบริสุทธิ์

...มีแต่ความบริสุทธิ์ใจที่มอบให้แก่กัน
และจำไว้เสมอๆ ว่า

ผู้หญิงเกิดมานั้น...ชายในฝันของเธอน่าจะมีคุณสมบัติดังนี้
1. เป็นพ่อของลูก เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว เป็นแฟมิลี่แมนที่ดูแลครอบครัว และทำทุกสิ่งเพื่อครอบครัวของเขา
2. เป็นคนที่มอบความรัก ความอบอุ่น ความมั่นคงอย่างจริงใจต่อเธออย่างสม่ำเสมอไม่เปลี่ยนแปลง แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป
3. เลี้ยงดูอุปการะเธอ ดูแลเธอยามเจ็บไข้ได้ป่วย ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเธอ

ส่วนผู้หญิงในฝันที่ผู้ชายอยากจะได้มาเป็น คู่ชีวิตนั้นมีคุณสมบัติต่อไปนี้
1. เป็นแม่ของลูก เป็นผู้หญิงที่เขาสามารถพาไปไหนต่อไหนได้ สามารถยืนเคียงข้างกับเขา ทั้งในยามสุขและยามทุกข์
2. เป็นคนที่คอยปลอบอกปลอบใจเขายามผิดหวัง ให้กำลังใจเขาในยามที่จะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต
3. เป็นคนที่สามารถร่วมรักกับเขาได้อย่างสุขสม เพราะเขาบอกรักผ่านการมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งทางกายนั้นกับผู้หญิงคนที่เขารักและรักเขาเสมอ เมื่อเกิดความสุขสมแล้วความรักของเขาก็จะเพิ่มพูนขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

เมื่อลองพิจารณาดูการแสดงความรักต่อกันและพยายามเป็นคู่ครองในฝันของกันและกันให้ได้ เพราะชีวิตคู่ที่สุขสมนั้นมักจะ...ยืนยาวและสุขภาพดี เริ่มต้นด้วยการมองหาคู่ชีวิตในฝันที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้ ถ้าทำได้ถึงแม้พรหมลิขิตจะดลบันดาลให้มาพบกันตามวาสนา แต่เราก็มีสิทธิที่จะรับหรือไม่เช่นกัน
 

ข้อมูลสื่อ

362-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 362
มิถุนายน 2552
นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์