• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถุงลมปอดโป่งพอง

วันที่ 31 พฤษภาคม เป็น "วันงดสูบบุหรี่โลก" ฉบับนี้จึงขอเขียนถึงโรคถุงลมปอดโป่งพอง ซึ่งเกิดจากพิษภัยของบุหรี่ สร้างความทุกข์ทรมานอย่างเรื้อรังแก่ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้

บุหรี่ยังเป็นสาเหตุของโรคร้ายอีกหลายๆ ชนิดที่สำคัญ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็งต่างๆ (เช่น มะเร็งปอด ช่องปาก กล่องเสียง ผิวหนัง เต้านม กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น)

♦ ชื่อภาษาไทย
ถุงลมปอดโป่งพอง ถุงลมพอง ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง

♦ ชื่อภาษาอังกฤษ

Emphysema, Chronic obstructive pulmonary disease (COPD)

♦ สาเหตุ
ผู้ที่เป็นโรคนี้ มักมีประวัติสูบบุหรี่จัด (มากกว่าวันละ 20 มวน) นาน 10-20 ปีขึ้นไป
สารพิษในบุหรี่จะค่อยๆ บ่อนทำลายเยื่อบุหลอดลมและ ถุงลมในปอด (ถุงลมปอด) ทีละน้อย ใช้เวลานานนับสิบๆ ปี จนในที่สุดถุงลมปอดพิการ คือสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ (นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นอากาศเสียออกจากร่างกาย และนำออกซิเจนซึ่งเป็นอากาศดีเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านทางระบบทางเดินหายใจ) เกิดอาการหอบเหนื่อยง่าย และเกิดโรคติดเชื้อของปอดซ้ำซาก

นอกจากบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคนี้แล้ว ผู้ป่วยส่วนน้อยยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น มลพิษในอากาศ (ฝุ่น สารเคมี) ควันจากฟืนหุงต้มหรือก่อไฟภายในบ้านที่ขาดการถ่ายเทอากาศ (พบในพื้นที่เขตเขาทางภาคเหนือ) เป็นต้น

♦ อาการ
ผู้สูบบุหรี่จัดมานานหลายปี ระยะแรกจะมีอาการของหลอดลมอักเสบเรื้อรัง กล่าวคือจะมีอาการไอมีเสมหะเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี ผู้ป่วยมักจะไอหรือขากเสมหะในคอหลังจากตื่นนอนตอนเช้าเป็นประจำ จนนึกว่าเป็นเรื่องปกติและไม่ได้ใส่ใจดูแลรักษา ต่อมาจะเริ่มไอถี่ขึ้นตลอดทั้งวัน และมีเสมหะจำนวนมาก ในช่วงแรกเสมหะมีสีขาว ต่อมาอาจจะกลายเป็นสีเหลืองหรือเขียว มีไข้ หรือหอบเหนื่อยเป็นครั้งคราวจากโรคติดเชื้อแทรกซ้อน

หากผู้ป่วยยังขืนสูบบุหรี่ต่อไป นอกจากอาการไอเรื้อรังดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรงมาก (เช่น วิ่ง เดินขึ้นบันได ยกของหนัก) อาการหอบเหนื่อยจะค่อยๆ เป็นมากขึ้น แม้แต่เวลาเดินตามปกติ เวลาพูดหรือทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย

                      

หากผู้ป่วยยังสูบบุหรี่ต่อไป ในที่สุดอาการจะรุนแรง จนแม้แต่อยู่เฉยๆ ก็รู้สึกหอบเหนื่อย ทั้งนี้เนื่องจากถุงลมปอดพิการอย่างรุนแรง ไม่สามารถทำหน้าที่แลกเปลี่ยนอากาศ นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้เกิดพลังงาน

ในระยะหลัง ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบหนักเป็นครั้งคราว เนื่องจากมีการติดเชื้อ (หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ) แทรกซ้อน ทำให้มีไข้ ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียว หายใจหอบ หายใจมีเสียงดังวี้ดๆ ตัวเขียว จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

เมื่อเป็นถึงขั้นระยะรุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด รูปร่างผ่ายผอม มีอาการหอบเหนื่อย อยู่ตลอดเวลา มีอาการทุกข์ทรมานและรู้สึกท้อแท้

                                        



♦ การแยกโรค
อาการไอเรื้อรังหรือหอบเหนื่อย อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

- หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากสาเหตุเดียวกับถุงลมปอดโป่งพอง ผู้ป่วยมักจะมีอาการไอ มีเสมหะอย่างเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี แต่ยังไม่มีอาการหอบเหนื่อยง่าย

- โรคหืด ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ป่วยมักจะมีอาการหอบหืด (หายใจมีเสียงดังวี้ด) เป็นครั้งคราว ขณะไม่จับหืดก็จะรู้สึกสบายดี มักพบตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว

- ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มักมีหัวใจบกพร่องในการทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต (เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว) จะมีอาการหอบเหนื่อยง่าย และเท้าบวมทั้ง 2 ข้าง เวลานอนราบ (หนุนหมอนต่ำ) ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรัง หรือหอบเหนื่อยง่าย ก็ควรจะรีบไปปรึกษาแพทย์

♦ การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากประวัติและอาการแสดงของผู้ป่วย (ไอเรื้อรัง หอบเหนื่อยง่าย มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน 10-20 ปี) และยืนยันการวินิจฉัย ด้วยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ ทดสอบสมรรถภาพของปอด ตรวจเลือด (วัดระดับออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด) ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น

♦ การดูแลตนเอง
ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง หรือหอบเหนื่อยง่าย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
หากตรวจพบว่าเป็นโรคถุงลมปอดโป่งพองก็ควรปฏิบัติดังนี้

- ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอและใช้ยารักษาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด
- เลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษ เช่น ฝุ่น ควัน
- ดื่มน้ำมากๆ วันละ 10-15 แก้ว เพื่อช่วยขับเสมหะ
- ในรายที่เป็นระยะรุนแรง มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรหาทางบำรุงอาหารให้ร่างกายแข็งแรง
- หากจำเป็นควรมีถังออกซิเจนไว้ประจำบ้าน เพื่อใช้ช่วยหายใจ บรรเทาอาการหอบเหนื่อย
- หากมีอาการแทรกซ้อน เช่น เป็นไข้ หายใจหอบ ก็ควรรีบพาไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที

♦ การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค
โดยทั่วไปจะให้ยาขยายหลอดลมชนิดสูดพ่น เวลามีอาการหายใจเหนื่อยหรือมีเสียงดังวี้ด ในรายที่เป็นมากอาจให้ยาสตีรอยด์ชนิดสูดพ่นร่วมด้วย

ในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น มีไข้ ไอ มีเสมหะเหลืองหรือเขียว ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน) นาน 7-10 วัน

ในรายที่มีอาการหอบรุนแรง ปอดอักเสบ หรือภาวะแทรกซ้อน (เช่น ปอดทะลุ หัวใจล้มเหลว) แพทย์ก็จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล อาจต้องให้ออกซิเจน ใส่ท่อหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจ

ในระยะรุนแรง ผู้ป่วยมักมีภาวะการหายใจล้มเหลวเรื้อรังร่วมด้วย และอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลวแทรกซ้อน (มีอาการหอบเหนื่อย เท้าบวม)

นอกจากนี้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปอดทะลุ (จากการที่ถุงลมแตก) ไอออกเป็นเลือด (จากการอักเสบของหลอดลม) ไส้เลื่อนกำเริบ (เนื่องจากอาการไอเรื้อรัง) เป็นต้น

♦ การดำเนินโรค
โรคนี้จะเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต และจำเป็นต้องพบแพทย์และใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่อง

ในระยะที่เริ่มเป็น หากเลิกบุหรี่ได้เด็ดขาดก็มักจะได้ผลดี โรคจะไม่ลุกลามมากขึ้น แต่ถ้ายังสูบบุหรี่ต่อไป ก็จะลุกลามจนถึงระยะรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังกล่าว

ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตจากภาวะการหายใจล้มเหลว ปอดอักเสบ หรือปอดทะลุ
โดยเฉลี่ย ผู้ป่วยมีอัตราตายมากกว่าร้อยละ 50 ใน 10 ปี หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัย

♦ การป้องกัน
ที่สำคัญคือ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษในอากาศ

♦ ความชุก
โรคนี้พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบมากในช่วงอายุ 45-65 ปี ส่วนใหญ่จะมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน
 

ข้อมูลสื่อ

361-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 361
พฤษภาคม 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ