• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกรดไหลย้อน


โรคกรดไหลย้อน หมายถึง ภาวะที่มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด (ประกอบด้วย กรดเกลือ หรือกรดไฮโดรคลอลิก) ไหลย้อนขึ้นไประคายต่อหลอดอาหาร และบริเวณลำคอ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบลิ้นปี่ คล้ายเป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง ต้องคอยกินยาโรคกระเพาะบรรเทาอยู่เรื่อยๆ


โรคนี้พบได้บ่อย โดยเฉพาะในคนอายุมากกว่า 40 ปี ผู้เขียนเองก็มีโรคนี้ประจำตัวมาหลายปี มีประสบการณ์ในการดูแลรักษาตัวเองจนรู้วิธีอยู่กับโรคนี้อย่างดี จึงขอนำความรู้มาทบทวนอีกครั้งในฉบับนี้ (คอลัมน์นี้เคยนำเสนอโรคนี้มาครั้งหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า " เกิร์ด-โรคน้ำย่อยไหลกลับ " ในหมอชาวบ้าน ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ.2547)

 

¤ ชื่อภาษาไทย
โรคกรดไหลย้อน, โรคเกิร์ด, โรคน้ำย่อยไหลกลับ

 

¤ ชื่อภาษาอังกฤษ
Gastroesophageal reflux disease, GERD

 

¤ สาเหตุ
เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดที่อยู่ตรงส่วนล่างของหลอดอาหาร (lower esophageal sphincter, LES) ในคนปกติขณะกลืนอาหารหูรูดนี้จะคลายตัวเพื่อเปิดทางให้อาหารไหลผ่านลงไปในกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารผ่านลงกระเพาะอาหารจนหมดแล้วหูรูดนี้จะหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อย (ซึ่งเป็นกรดเกลือ) ที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร

แต่ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน พบว่ากล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอด อาหารนี้หย่อนสมรรถภาพ ทำให้มีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารมากกว่าปกติ (คนทั่วไปหลังกินข้าวอาจมีน้ำย่อยไหลย้อนได้ 1-4 ครั้ง ซึ่งไม่ทำให้เกิดอาการ) ทำให้เกิดอาการผิดปกติ และการอักเสบของเยื่อบุหลอด อาหารได้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้หูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกติยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าอาจเกิดจากความเสื่อมตามอายุ (โรคนี้มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี) หรือหูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ (พบในทารก) หรือมีความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด
พบว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับความอ้วน ภาวะตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน และโรคไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia) ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม



นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยกระตุ้น ให้โรคกำเริบ  ที่สำคัญ ได้แก่ 
o การกินอิ่มมากไป (กินอาหารมื้อใหญ่หรือปริมาณมาก)กระตุ้นให้มีน้ำย่อยหลั่งออกมามาก ประกอบกับการขยายตัวของกระเพาะอาหารทำให้หูรูดคลายตัวมากขึ้น

o การนอนราบ (โดยเฉพาะภายใน 2 ชั่วโมงหลังกินอาหาร) การนั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนได้ง่ายขึ้น

o การรัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงคับเอว จะเพิ่ม แรงดันในกระเพาะอาหารทำให้น้ำย่อยไหลย้อน

o การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน (เช่น กาแฟ ยาชูกำลัง) นอกจากกระตุ้นให้หลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นแล้ว ยังเสริมให้หูรูดคลายตัวอีกด้วย

o การกินอาหารที่ไขมันสูง ข้าวผัด ของทอดและอาหารผัดน้ำมัน ทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวช้าลง ทำให้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น

o การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาร์บอเนต (น้ำอัดลม) การกินอาหารเผ็ดจัด หัวหอม กระเทียม ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ น้ำองุ่น น้ำผลไม้เปรี้ยว (เช่น น้ำส้มคั้น) ผลไม้เปรี้ยว ช็อกโกแลต หรือสะระแหน่ การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ยาทางจิตประสาท ฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน เป็นต้น) จะเสริมให้หูรูดคลายตัว หรือมีกรดหลั่งมากขึ้น

o โรคหืด เชื่อว่าเป็นผลมาจากการไอและหอบ ทำให้เพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อน

o แผลเพ็ปติก และการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น ทำให้อาหารขับเคลื่อนลงสู่ลำไส้ช้าลง ทำให้มีกรดไหลย้อนได้

 

¤ อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบตรงลิ้นปี่หรือยอดอก หลังกินอาหาร 30-60 นาที หรือหลังกินอาหารแล้วล้มตัวลงนอนราบ นั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ รัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงคับเอว มักมีอาการมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์และอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แต่ละครั้งมักปวดอยู่นาน 2 ชั่วโมง

บางรายอาจมีอาการปวดแสบร้าวจากยอดอกขึ้นไปถึงคอหอย (คล้ายอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย) หรือมีอาการจุกแน่นยอดอก (คล้ายอาหารไม่ย่อย) หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ เรอบ่อย หรือมีก้อนจุกที่คอหอย

บางรายอาจมีอาการขย้อนหรือเรอเอาน้ำย่อยรสเปรี้ยว (เรอเปรี้ยว) ขึ้นไปที่คอหอย หรือรู้สึกมีรสขมของน้ำดีหรือรสเปรี้ยวของกรดในปากหรือคอ หรือหายใจมีกลิ่น

บางรายอาจไม่มีอาการแสบท้องหรือ     เรอเปรี้ยว แต่มีอาการไอแห้งๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหาร หรืออยู่ในท่านอนราบ) กลืนลำบาก หรือเจ็บหน้าอกเวลากลืน

บางรายตอนตื่นนอนอาจรู้สึกขมคอ เปรี้ยวปาก อาจมีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ แสบลิ้น หรือไอ (เนื่องจากกลางคืนนอนหมอนใบเดียว มีการไหลย้อนของน้ำย่อยไประคายที่คอหอย กล่องเสียง และหลอดลม) ซึ่งจะเป็นเรื้อรังเป็นแรมเดือน ผู้ป่วยมักจะไปปรึกษาแพทย์ทางโรคหู-คอ-จมูก ซึ่งจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน

 

¤ การแยกโรค
อาการแสบลิ้นปี่ จุกแน่นยอดอก หรือเรอเปรี้ยว
อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

o โรคแผลเพ็ปติก (แผลกระเพาะอาหารหรือแผลลำไส้เล็กส่วนต้น) ผู้ป่วยจะมีอาการแสบใต้ลิ้นปี่เวลาหิว (ก่อนมื้ออาหาร) หรือจุกแน่นหลังอาหาร อาจมีคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย

o มะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการคล้าย โรคแผลเพ็ปติก แต่ต่อมาจะมีอาการอาเจียน น้ำหนักลด หรือถ่ายอุจจาระดำ

o โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยจะมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ แล้วปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หรือต้นแขน ติดต่อกันนานเป็นชั่วโมงๆถึงเป็นวันๆ มักรู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือหน้ามืดเป็นลมร่วมด้วย
อาการเจ็บคอ เสียงแหบ ไอเรื้อรัง อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น คออักเสบ กล่องเสียงอักเสบ วัณโรคปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด เป็นต้น


 
¤ การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดง ได้แก่ อาการแสบลิ้นปี่ จุกแน่นยอดอก และเรอเปรี้ยวหลังกินอาหารที่เป็นตัวกระตุ้น หรือมีพฤติกรรมที่เป็นเหตุกำเริบ
ในรายที่ไม่แน่ชัดอาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น เอกซเรย์ทางเดินอาหารโดยการกลืนแป้งแบเรียม หรือใช้กล้องส่องตรวจหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร     ซึ่งสามารถแยกโรคกรดไหลย้อนจากโรคแผลเพ็ปติก มะเร็งกระเพาะอาหาร และสาเหตุอื่นๆ ได้


 
¤ การดูแลตนเอง
ผู้ที่มีอาการแสบลิ้นปี่ จุกแน่นยอดอก หรือเรอเปรี้ยว อาจรักษาเบื้องต้นโดยกินยาต้านกรดชนิดน้ำ     (antacid) ครั้งละ 15-30 มิลลิลิตร วันละ 4 ครั้ง และสังเกตว่ามีเหตุกำเริบจากอาหารหรือพฤติกรรมใด ก็ควรหลีกเลี่ยงเสีย

ควรพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะผิดปกติข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

มีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หรือต้นแขน

มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาเจียน ซีด ตาเหลือง ถ่ายอุจจาระดำ หรือน้ำหนักลด

o อายุมากกว่า 40 ปี

o กินยาต้านกรด 1 สัปดาห์แล้วยังไม่ทุเลาดี หรือกำเริบซ้ำหลังหยุดยา

มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจในการดูแลตนเอง

 

เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคกรดไหลย้อนก็ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

o กินยาให้ครบถ้วนและต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์

o ถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรหาทางลดน้ำหนัก

สังเกตว่าบริโภคสิ่งใดบ้างที่ทำให้อาการกำเริบ แล้วพยายามหลีกเลี่ยง เช่น อาหารมัน (รวมทั้งข้าวผัด ของทอด ของผัดที่อมน้ำมัน) อาหารเผ็ดจัด หัวหอม กระเทียม แอลกอฮอล์ บุหรี่     ชา กาแฟ เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน น้ำอัดลม     น้ำผลไม้เปรี้ยว ผลไม้เปรี้ยว ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ ช็อกโกแลต ยาบางชนิด

หลีกเลี่ยงการกินอาหารปริมาณมาก (หรืออิ่มจัด) และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ ระหว่างกินอาหาร ควรกินอาหารมื้อเย็นในปริมาณ  น้อย และทิ้งช่วงห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

หลังกินอาหารควรปลดเข็มขัดและตะขอกางเกงให้หลวม ไม่ควรนอนราบหรือนั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ ควรนั่งตัวตรง ยืน หรือให้รู้สึกสบายท้อง หลีกเลี่ยงการยกของหนักและการออกกำลังกายหลังอาหารใหม่ๆ

หมั่นออกกำลังกายและผ่อนคลายความเครียด เนื่องเพราะความเครียดมีส่วนทำให้หลั่งกรดมากขึ้น ทำให้อาการกำเริบได้

ถ้ามีอาการกำเริบตอนเข้านอน หรือตื่นนอนตอนเช้า มีอาการเจ็บคอ เจ็บลิ้น เสียงแหบ ไอ ควรหนุนศีรษะสูง 6-10 นิ้ว โดยการหนุนขาเตียงด้านศีรษะให้สูง หรือใช้อุปกรณ์พิเศษ (bed wedge pillow) สอดใต้ที่นอนให้เอียงลาดจากศีรษะลงมาถึงระดับเอว หรือใช้เตียงที่มีกลไกปรับหัวเตียงให้สูงได้ ไม่แนะนำให้ใช้วิธีหนุนหมอนหลายใบให้สูง เพราะอาจทำให้ท้องโค้งงอ ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ดันให้น้ำย่อยไหลย้อนได้

 

¤ การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาด้วยการแนะนำข้อปฏิบัติตัวดังกล่าว และให้ยารักษาซึ่งอาจเป็นขนานใดขนานหนึ่ง ดังต่อไปนี้

o ให้ยาต้านกรดชนิดน้ำ (antacid) ครั้งละ 15-30 มิลลิลิตร วันละ 4 ครั้ง ร่วมกับยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช-2 (H2 antagonist) เช่น รานิทิดีน (ranitidine) ขนาด 150 มิลลิกรัม     วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด บางกรณีแพทย์อาจให้ยาเพิ่มการขับเคลื่อนของทางเดินอาหาร เช่น เมโทโคลพราไมด์ (metoclo-pramide) ขนาด 10 มิลลิกรัม 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ร่วมด้วย

o ให้ยาลดการสร้างกรดอย่างแรง ได้แก่ กลุ่มต้านโพรตอนปั๊มป์ (proton-pump inhibitors) เช่น โอเมพราโซล (omeprazole) ขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง

โดยครั้งแรกที่เริ่มให้การรักษา จะให้ยาติดต่อกันนาน 4-8 สัปดาห์ ในรายที่เป็นมากหรือมีอาการมานานก็อาจให้นาน 3-6 เดือนหลังจากหยุดยาถ้าหากผู้ป่วยปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง เช่น มีพฤติกรรมหรือกินอาหารที่กระตุ้นให้อาการกำเริบก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยรีบกินยา (ขนานที่เคยใช้ได้ผล) ทันทีที่รู้สึกมีอาการ อย่าปล่อยให้เป็นอยู่นานหลายวัน อาจกินเพียง 3-5 วันก็พอ แต่ถ้ายังกำเริบอยู่บ่อยหรือปล่อยให้มีอาการอยู่นานหลายวัน ก็อาจจำเป็นต้องกินนานเท่าครั้งแรก


ผู้ป่วยจำเป็นต้องปฏิบัติตัวในการป้องกันไม่ให้โรคกำเริบอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ก็สามารถทำให้ปลอดจากอาการและภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าอาการกำเริบก็ต้องกินยารักษาเป็นครั้งคราวไปเรื่อยๆ
ในรายที่กินยาไม่ได้ผลหรือมีภาวะแทรกซ้อนก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมหูรูดด้วยวิธีส่องกล้องเข้าช่องท้อง (laparoscopic fundoplication) หรือวิธีอื่นๆ (ซึ่งมีการวิจัยอยู่หลายวิธี)

 

¤ ภาวะแทรกซ้อน
หากปล่อยให้เป็นเรื้อรังนานๆ บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ที่พบบ่อยก็คือ หลอดอาหารอักเสบ (esophagitis) ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกเวลากลืนอาหาร หากไม่ได้รับการรักษา ต่อมาอาจกลายเป็นแผลหลอดอาหาร (esophageal ulcer) ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำในที่สุดอาจเกิดภาวะหลอดอาหารตีบ (esophageal stricture) ผู้ป่วยจะมีอาการกลืนอาหารลำบาก อาเจียนบ่อย จำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้เครื่องมือถ่างหลอดอาหารเป็นครั้งคราว ถ้าเป็นมากอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ผู้ป่วยบางรายอาจมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารจนกลายเป็น หลอดอาหารบาร์เรตต์ (Barrettžs esophagus) ซึ่งสามารถวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องลงไปที่หลอดอาหารและนำชิ้นเนื้อไปพิสูจน์  ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งหลอดอาหารประมาณร้อยละ 2-5  ซึ่งจะมีอาการเจ็บเวลากลืนอาหาร กลืนลำบาก อาเจียนบ่อย น้ำหนักลด

ในรายที่มีกรดไหลย้อนถึงคอหอยและหลอดลมก็อาจทำให้กลายเป็นคออักเสบ หลอดลมอักเสบ (เจ็บคอ ไอเรื้อรัง) กล่องเสียงอักเสบ (เสียงแหบ ตรวจพบสายเสียงบวมแดง) โรคหืดกำเริบบ่อย เนื่องจากน้ำย่อยไหลเข้าไประคายเคืองต่อหลอดลม

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ ปอดอักเสบ จากการสำลักน้ำย่อยเข้าไปในปอด (aspiration pneumonia) ซึ่งพบบ่อยในทารกอายุ  1-4  เดือน นอกจากนี้ โรคนี้ยังเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง และผิวฟันกร่อนจากการกัดของน้ำย่อยเป็นเวลานาน 

 

¤ การดำเนินโรค
ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ และอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องก็จะช่วยให้โรคทุเลาหรือหายดี แต่หลังหยุดยาอาจกำเริบได้เป็นครั้งคราวก็ต้องคอยกินยาเป็นครั้งคราวตามอาการที่กำเริบ (สำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์ หลังคลอดอาการก็อาจหายไปได้เอง)
แต่ถ้าปล่อยปละละเลย ไม่กินยา ไม่ยอมปฏิบัติตัวก็มักจะเป็นรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

 

¤ การป้องกัน
ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน จำเป็นต้องคอยป้องกันไม่ให้โรคกำเริบด้วยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องอย่างจริงจังและต่อเนื่อง (ดูหัวข้อ "การดูแลตนเอง")

 

¤ ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อย นับเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของผู้ที่มีอาการแสบลิ้นปี่ จุกแน่นยอดอก พบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ที่มีอาการดังกล่าว พบมากใน     คนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบในเด็กเล็กและคนหนุ่มสาวได้ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า

 

ข้อมูลสื่อ

365-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 365
กันยายน 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ