• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลมบ้าหมู

 
ลมบ้าหมู หมายถึง โรคลมชักชนิดหนึ่งที่มีอาการเป็นลมหมดสติ และชักกระตุกทั้งตัว ซึ่งจะเป็นอยู่นานไม่กี่นาที แล้วฟื้นคืนสติได้เอง มักจะมีอาการเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ผู้ที่มีอาการของโรคนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่อง ผู้ป่วยก็จะสามารถดำเนินชีวิตเช่นคนปกติทั่วไป แต่ถ้าขาดการรักษา ปล่อยปละให้เกิดอาการชักบ่อยๆ ก็อาจได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุขณะเกิดอาการ เช่น ตกจากที่สูง จมน้ำ รถชน เป็นต้น

*ชื่อภาษาไทย : ลมบ้าหมู ลมชัก
 

* ชื่อภาษาอังกฤษ  : Epilepsy, Grand mal
 

* สาเหตุ :
ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจน เชื่อว่ามีความ พร่องของสารเคมีบางอย่างในการควบคุมกระแสไฟฟ้าในสมอง (โดยที่โครงสร้างของสมองเป็นปกติดี) ทำให้การทำหน้าที่ของสมองเสียความสมดุล มีการปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างผิดปกติของเซลล์สมอง กระตุ้นให้เกิดอาการชัก และหมดสติชั่วขณะ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการครั้งแรกในช่วงอายุ 5-20 ปี และอาจมีประวัติว่ามีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย

ส่วนน้อยอาจเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างสมอง (เช่น สมองพิการแต่กำเนิด สมองได้รับกระทบกระเทือนระหว่างคลอด สมองพิการภายหลังการติดเชื้อ แผลเป็นในสมองหลังผ่าตัด ฝีในสมอง เนื้องอกในสมอง โรคพยาธิในสมอง เลือดออกในสมอง) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ โรคพิษสุรา ยาเสพติด (เช่น การเสพยาบ้าเกินขนาด) พิษจากการใช้ยาบางชนิดที่ใช้เกินขนาด เป็นต้น มักพบว่ามีอาการชักครั้งแรกในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และมีคนอายุมากกว่า25 ปี

 

* อาการ :
ผู้ป่วยอยู่ๆ ก็มีอาการหมดสติ เป็นลมล้มพับกับพื้นทันทีทันใด พร้อมกับมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งทั้งตัว หายใจลำบาก หน้าเขียว ซึ่งจะเป็นอยู่นานไม่กี่วินาทีถึง 20  วินาที ต่อมาจะมีอาการชักกระตุกของกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเป็นระยะๆ และมีอาการตาค้าง ตาเหลือก ในระยะแรกมักจะชักถี่แล้วค่อยๆ ลดลงตามลำดับ จนกระทั่งหยุดกระตุก ในช่วงนี้จะมีอาการน้ำลาย ฟูมปาก และอาจมีเลือดออกจากการกัดถูกริมฝีปาก หรือลิ้นตัวเอง อาจมีอาการปัสสาวะหรืออุจจาระราดร่วมด้วย

อาการชักจะเป็นอยู่นานประมาณ 1-3 นาที (บางรายอาจนาน 5-15 นาที) แล้วฟื้นสติตื่นขึ้นด้วยความรู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย บางรายอาจม่อยหลับไปนานเป็นชั่วโมงๆ

ผู้ป่วยมักจะจำไม่ได้ว่าตัวเองล้มลง
หลังจากม่อยหลับและตื่นขึ้นมาแล้ว อาจมีอาการ ปวดศีรษะ มึนงง สับสน อ่อนเปลี้ยเพลียแรง หาวนอน ลืมตัว และอาจทำอะไรที่ตัวเองจำไม่ได้ในภายหลัง
บางรายอาจมีอาการเตือนหรือออรา (aura) นำมาก่อนจะหมดสติ เช่น แขนหรือขาชาหรือกระตุกเพียงข้าง หนึ่ง หรืออาจเห็นแสงวาบ ได้กลิ่น รส หรือได้ยินเสียงดังๆ หรือมีความรู้สึกกลัวอย่างไม่มีเหตุผล เป็นต้นผู้ป่วยอาจเกิดอาการชักในเวลากลางวันหรือ หลังเข้านอนตอนกลางคืนก็ได้ บางรายเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุกระตุ้น บางครั้งก็พบสาเหตุที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยชัก เช่น อดนอน หิวข้าว กินอาหารมากเกินไป ทำงานเหนื่อย เกินไป คิดมาก ดื่มสุรา กินยากระตุ้นประสาท ท้องผูก มีประจำเดือน มีไข้สูง อยู่ในสถานที่ที่มีเสียงอึกทึกหรือมีแสงจ้าหรือแสงวอบแวบ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ การหายใจเข้าออกเร็วๆ เป็นต้น 
  

* การแยกโรค :
อาการเป็นลมหมดสติ และชักกระตุก อาจมีสาเหตุอื่น เช่น

♦โรคติดเชื้อของสมอง (เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน ซึม ต่อมาจะไม่ค่อยรู้สึกตัว และชักกระตุก

♦ ชักจากไข้ พบในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ขวบ เด็กจะมีไข้ และชักกระตุกนาน 2-3 นาที (ไม่เกิน 5-15 นาที) แล้วฟื้นสติ เป็นปกติได้อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติและชัก กระตุก ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดๆ ควรจะรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุ

 
 
* การวินิจฉัย :
แพทย์มักจะส่งตรวจพิเศษเพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัด เช่น การตรวจคลื่นสมอง หรืออีอีจี (electroencephalogram หรือ EEG) การเจาะหลัง (lumbar puncture) การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

  

* การดูแลตนเอง :
1. เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการหมดสติและชักกระตุก ควรให้การปฐมพยาบาลก่อนส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ดังนี้
(1.) ป้องกันอันตราย หรือการบาดเจ็บ โดยให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในพื้นที่โล่งและปลอดภัย ไม่มีสิ่งกีดขวางหรือระเกะระกะอยู่ข้างกาย (ถ้ามีข้าวของที่อยู่รอบบริเวณ ผู้ป่วยควรเคลื่อนย้ายออกไป) ระวังการตกจากที่สูง และให้อยู่ห่างจากน้ำและไฟ

(2.) ปลดเสื้อผ้า เข็มขัด เครื่องแต่งกายให้หลวม

(3.) จับผู้ป่วยนอนในท่าตะแคง เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง (โดยการผลักลำตัวผู้ป่วย ไม่ใช่การดึงแขนผู้ป่วย อาจทำให้ไหล่หลุดได้) ให้ผู้ป่วยหนุนหมอนหรือผ้าห่ม

(4.) ถ้ามีเศษอาหาร เสมหะ หรือฟันปลอม ให้นำออกจากปาก ถ้าผู้ป่วยใส่แว่นตาควรถอดออก

(5.) อย่าใช้วัตถุ (เช่น ไม้ ด้ามช้อน ปากกา ดินสอ) สอดใส่ปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้กัดลิ้น เพราะนอกจากไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจทำให้ปากและฟันได้รับบาดเจ็บได้

(6.) อย่าผูกหรือมัดตัวผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บได้

(7.) อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพัง จนกว่าจะหายเป็นปกติ

(8.) อย่าให้ผู้ป่วยกินอะไรระหว่างชัก หรือหลังชักใหม่ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยสำลักได้

 

2. เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคลมบ้าหมู ผู้ป่วยควร รู้จักดูแลตนเอง ดังนี้

(1.) การใช้ยา ควรปฏิบัติดังนี้

♦ กินยากันชักทุกวัน ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ ควรทำบันทึกการกินยาและการนัดของแพทย์เพื่อกันลืม

♦ อย่าหยุดยาหรือปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือซื้อยากินเอง

♦ ถ้าลืมกินยาไปเพียงมื้อเดียวหรือวันเดียว ให้เริ่มกินในมื้อต่อไปตามปกติ

♦ หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดอื่นร่วมกับยากันชัก โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะยาบางชนิดอาจต้านฤทธิ์ยากันชัก ทำให้อาการชักกำเริบได้ บางชนิดอาจเสริมฤทธิ์ยากันชัก ทำให้เกิดพิษขึ้นได้

♦ ควรสังเกตผลข้างเคียงที่เกิดจากยากันชัก เช่น อาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ ผื่นคัน ผิวหนังพุพอง เหงือกบวม ดีซ่าน มีไข้ เป็นต้น ถ้าพบ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม บางกรณีแพทย์อาจต้องทำการตรวจเลือดประเมินผลข้างเคียงต่อตับ ไต เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เป็นระยะ

♦ ยากันชักบางชนิดอาจต้านฤทธิ์ยาเม็ดคุมกำเนิด ทำให้คุมกำเนิดไม่ได้ผลบาง ชนิดอาจมีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการ หรือแท้งได้ ผู้ป่วยที่กินยาคุมกำเนิดหรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การดูแลที่เหมาะสมต่อไป เช่น ในรายที่กินยาโซเดียมวาลโพรเอต หรือคาร์บามาซีพีน แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดกรดโฟลิก (folic acid) ขนาด 1 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ระยะก่อน ตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการทางระบบประสาท (neural tube defect)

♦ หากตั้งครรภ์ หรือเจ็บป่วยอย่างอื่น ควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาทราบ และนำยาที่กินอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย

♦ ในกรณีที่เปลี่ยนสถานที่รักษา ควรนำประวัติและยาที่กินอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย


(2.) เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจนควบคุม โรคได้แล้ว ผู้ป่วยสามารถทำงาน เรียนหนังสือ เล่นกีฬา หรือออกสังคมได้ตามปกติ รวมทั้งสามารถแต่งงานได้

(3.) ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการชัก ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน อย่าทำงานเหนื่อยเกินไป อย่าใช้ความคิดมาก หลีกเลี่ยง การกระทบกระเทือนทางจิตใจ อย่าอดอาหาร ระวังอย่าให้ท้องผูก ห้ามดื่มแอลกอฮอล์หรือกินยากระตุ้นประสาท อย่าเข้าไปในที่ที่มีเสียงอึกทึก หรือมีแสงจ้า แสงวอบแวบ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกระทำและสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย เช่น ว่ายน้ำ ปีนขึ้นที่สูง อยู่ใกล้ไฟ ใกล้น้ำ ทำงานกับเครื่องจักร ขับรถ ขับเรือ เดินข้ามถนนตามลำพัง เป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องว่ายน้ำ ควรมีคนอื่นอยู่ด้วยตลอดเวลา

ในบางประเทศจะอนุญาตให้ผู้ป่วยมีใบขับขี่ได้ เมื่อปลอดจากอาการชักแล้วอย่างน้อย 1 ปี

(4.) ผู้ป่วยควรเปิดเผยให้เพื่อนที่ทำงานหรือที่โรงเรียนทราบถึงโรคที่เป็น เพื่อว่าเมื่อเกิดอาการชักจะได้ไม่ตกใจ และหาทางช่วยเหลือให้ปลอดภัย พ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงควรมีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของโรคและวิธีช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่ควรแสดงความรังเกียจ ควรให้กำลังใจผู้ป่วย และให้เข้าร่วมกิจกรรมในชีวิตประจำวันเช่นคนอื่นๆ

 

* การรักษา  :
แพทย์จะให้การรักษา ดังนี้

1. เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคลมบ้าหมูชนิดที่มีสาเหตุ (เช่น เนื้องอกสมอง เลือดออกในสมอง) ก็จะให้การแก้ไขตามสาเหตุ (เช่น ผ่าตัด) และอาจจำเป็นต้องให้ ผู้ป่วยกินยากันชักร่วมด้วย

2. ส่วนในรายที่เป็นลมบ้าหมูชนิดที่ตรวจไม่พบสาเหตุ หากเคยชักมาเพียง 1 ครั้ง มักจะแนะนำให้ ผู้ป่วยปฏิบัติตัว หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ และเฝ้าดูอาการต่อไป โดยยังไม่ให้ยารักษา เนื่องเพราะผู้ป่วย กลุ่มนี้อาจไม่มีอาการชักอีกตลอดไป (โอกาสชักซ้ำพบได้ประมาณร้อยละ 30-60) ซึ่งไม่คุ้มกับผลข้างเคียงจากยา

แพทย์จะพิจารณาให้ยากันชักแก่ผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบซ้ำครั้งที่ 2 โดยเริ่มจากยากันชักขั้นพื้นฐาน (ได้แก่ ฟีโนบาร์บิทาล และเฟนิโทอิน) โดยจะเลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งก่อน ซึ่งจะค่อยๆ ปรับขนาดยา ทีละน้อยจนสามารถควบคุมอาการได้ ถ้าไม่ได้ผลก็จะเปลี่ยนไปใช้ยาพื้นฐานอีกชนิดหนึ่งแทน ถ้ายังไม่ได้ผล ก็อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยากันชักขั้นสูง เช่น โซเดียมวาลโพรเอต (sodium valproate) คาร์บามาซีพีน (carbama-zepine) โทพิราเมต (topiramate) เป็นต้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดอาการ กำเริบด้วยยาเพียงชนิดเดียว มีน้อยรายที่อาจต้องให้ยาควบกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เมื่อปรับยาจนสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ผู้ป่วย จะต้องกินยาในขนาดนั้นไปเรื่อยๆ เป็นเวลาหลายปีจนปลอดจากอาการชักแล้ว 2-3 ปี (สำหรับเด็ก) และ 5 ปี (สำหรับผู้ใหญ่) จึงเริ่มหยุดยา โดยค่อยๆ ลดลงทีละน้อย ห้ามหยุดยาทันที อาจทำให้เกิดโรคลมชักต่อเนื่องเป็นอันตรายได้

เมื่อลดยาหรือหยุดยาแล้ว กลับมีอาการชักใหม่ (พบได้ประมาณร้อยละ 25 ในเด็ก และร้อยละ 40-50 ในผู้ใหญ่) ก็จะกลับไปใช้ยาตามขนาดเดิมใหม่ ส่วนในรายที่เคยควบคุมอาการได้ดี แต่ต่อมา กลับมีอาการชัก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ปรับลดยาลง แพทย์ก็อาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาหรือปรับเปลี่ยนยาใหม่ จนกว่าจะควบคุมอาการได้

3. ในรายที่ใช้ยารักษาไม่ได้ผล หรือทนต่อผลข้าง-เคียงไม่ได้ อาจต้องส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำ การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีที่ซับซ้อนขึ้น และอาจต้องรักษา ด้วยการผ่าตัดสมอง หรือใช้เครื่องกระตุ้นประสาทสมอง


 
* ภาวะแทรกซ้อน  :
อาการหมดสติ ล้มฟุบ และชัก อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ เช่น บาดแผลตามร่างกาย แผลจากการกัดลิ้นตัวเอง กระดูกหัก ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เป็นต้นข้อสำคัญคือ อาจทำให้ได้รับอุบัติเหตุขณะขับรถ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ขณะเล่นน้ำหรือว่ายน้ำ ปีนป่ายหรืออยู่ในที่สูง อยู่ใกล้เตาไฟ น้ำร้อนหรือของร้อน ซึ่งอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บร้ายแรงถึงตายได้อาจทำให้เกิดการสำลักเศษอาหารลงปอด เกิดปอดอักเสบได้ผู้ที่มีอาการชักบ่อย อาจทำให้มีอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การเรียนหนังสือ และการทำงานได้ในรายที่เป็นโรคลมชักต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ก็อาจตายหรือพิการได้ ภาวะนี้มีอัตราตายถึงร้อยละ ๑๐-๒๐ผู้ที่เป็นโรคลมชักรุนแรงบางรายอาจเกิดภาวะเสียชีวิตกะทันหัน (sudden unexpected death in epilepsy) ขณะมีอาการกำเริบ แม้แต่เกิดอาการขณะอยู่ในที่ที่ปลอดภัย (เช่น บนเตียงนอน) ก็ตาม สันนิษฐานว่าเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) และภาวะขาดอากาศหายใจ (suffocation) ขณะชัก มักเกิดกับผู้ที่ยังควบคุมอาการชักไม่ได้ผลดีและมีการขาดยารักษาส่วนความบกพร่องทางอารมณ์และสติปัญญาที่พบในผู้ป่วยโรคลมชักบางรายนั้น มักไม่ได้เป็นผลจากโรคลมชักโดยตรง แต่เกิดจากสาเหตุหรือความผิดปกติทางสมองที่พบร่วมกับโรคลมชัก

  

* การดำเนินโรค  :
ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องตามระยะที่แพทย์แนะนำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถควบคุม อาการได้ดี และดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องรับยานานอย่างน้อย 2-3 ปี (สำหรับเด็ก) หรือ 5 ปี (สำหรับผู้ใหญ่) บางรายอาจต้องกินยาควบคุมอาการไปตลอดชีวิตส่วนผู้ป่วยที่เคยกินยาแล้วได้ผล แต่ขาดยา (หยุดยากิน) ทันที ก็อาจเกิดอาการชักติดต่อกันนาน 20-30 นาที หรือชักซ้ำๆ หลายครั้งติดๆ กัน เรียกว่า โรคลมชักต่อเนื่อง (status epilepticus) ซึ่งจัดว่าเป็นภาวะร้ายแรงชนิดหนึ่ง

  

* การป้องกัน  :
โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อมีอาการชักเกิดขึ้นแล้ว ควรหาทางป้องกันไม่ให้อาการกำเริบขึ้น ด้วยการกินยากันชักตามขนาดที่แพทย์แนะนำ และผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ

 

 * ความชุก  :
โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 0.5-1  ของประชากร ทั่วไป พบได้ในคนทุกอายุ แต่มักจะพบเป็นครั้งแรกในช่วงอายุ 5-20  ปี

 

 

ข้อมูลสื่อ

363-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 363
กรกฎาคม 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ