• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกระเพาะอาหาร

 ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 68

ในการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินในเช้าวันหนึ่ง หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่บนเตียงเข็นด้วยหน้าตายู่ยี่ มีอาการเครียด กังวลอย่างชัดเจน

แพทย์ประจำบ้าน :  "ผู้ป่วยรายนี้ เป็นหญิงไทยคู่ อายุ 54 ปี มาโรงพยาบาลเมื่อประมาณตี 3 ของวันนี้ด้วยอาการแน่นหน้าอก  ผู้ป่วยกลัวว่าหลอดเลือดหัวใจจะตีบตันอีก เพราะเมื่อ 2 เดือนก่อน ผู้ป่วยเพิ่งได้รับการ"บอลลูน " (ลูกโป่ง) ขยายหลอดเลือดหัวใจไป 2 เส้นที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง
เมื่อมาถึงห้องฉุกเฉิน ผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว ผมตรวจร่างกาย ไม่พบความผิดปกติ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็ปกติดี ตรวจเลือดดูผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ก็ปกติ จึงให้ผู้ป่วยนอนรอดูอาการ เพื่อตรวจคลื่น     ไฟฟ้าหัวใจ และตรวจเลือดซ้ำใหม่ใน 6 ชั่วโมงครับ

อาจารย์ :  ตกลงหมอคิดว่า ผู้ป่วยเป็น " โรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน " (acute coronary syndrome, ACS) หรือ

แพทย์ประจำบ้าน : ครับ ก็ผู้ป่วยเพิ่งบอลลูนหลอดเลือดหัวใจไป 2 เส้น แล้วเมื่อคืนก็เกิดอาการแน่นหน้าอกขึ้นมาอีกในขณะนอนหลับอยู่ ทำให้คิดถึงโรคนี้ครับ

อาจารย์จึงหันไปถามผู้ป่วย

อาจารย์ :  สวัสดีครับ เช้านี้รู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง อาการดีขึ้น เลวลง หรือคงเดิมครับ

ผู้ป่วย : ดีขึ้นค่ะ แต่ยังรู้สึกแน่นๆ แถวนี้ (ผู้ป่วยชี้นิ้วไปที่ตรงกลางอกและยอดอก) อยู่บ้าง โรคหัวใจของ อิชั้นกำเริบอีกแล้ว ใช่มั้ยคะ

อาจารย์ : ผมยังไม่แน่ใจครับ ไหนคุณลองเล่าอาการไม่สบายของคุณให้ผมฟังหน่อยซิครับ

ผู้ป่วย : เมื่อคืนนี้ อิชั้นก็นอนหลับอยู่ดีๆ ประมาณตี 3  ก็รู้สึกแน่นขึ้นมากลางหน้าอก กลัวว่าโรคหัวใจที่เคยเป็น อยู่ จะกำเริบอีก จึงรีบปลุกสามีให้พามาส่งโรงพยาบาล ค่ะ

อาจารย์ : แล้วทำไมคุณไม่กลับไปโรงพยาบาลเก่าที่คุณเพิ่งขยายหลอดเลือดหัวใจไว้ หมอที่เคยดูแลคุณจะได้บอกได้ดีกว่าว่า อาการและผลการตรวจต่างๆ เปลี่ยน แปลงไปจากเดิมหรือไม่ การเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลในภาวะฉุกเฉิน ทำให้เราไม่มีผลการตรวจร่างกายเดิม ผลเลือดและผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าเดิม มาเปรียบเทียบกับของใหม่ จึงไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ทำให้ต้องมาเริ่มต้นใหม่ ลองผิดลองถูกใหม่ เป็นอันตรายต่อตัวคุณเองนะครับ

ผู้ป่วย : ก็ครั้งที่แล้ว เสียเงินไป 2 แสนกว่า และก็เบิกไม่ได้ด้วย จึงขอมาตรวจรักษาที่นี่ค่ะ
อาจารย์ : ครับ เมื่อคุณมาแล้ว เราก็ตรวจรักษาให้ แต่คงต้องให้สามีของคุณไปเอาประวัติการตรวจรักษาต่างๆ จากโรงพยาบาลเดิมมาให้ดูด้วย เมื่อคืนคุณนอนหลับสนิทมั้ยครับ

ผู้ป่วย : หลับสนิทดีค่ะ

อาจารย์ : แล้วมันเกิดอะไรขึ้น จึงตื่นขึ้นมากลางดึก

ผู้ป่วย : ก็ไม่ทราบค่ะ อยู่ดีๆ ก็รู้สึกแน่นหน้าอกขึ้นมา จนตกใจตื่น กลัวว่าโรคหัวใจกำเริบ จึงรีบปลุกสามี และเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วก็มาโรงพยาบาลเลยค่ะ

อาจารย์ : ตอนคุณเจ็บแน่นหน้าอก คุณช่วยตนเองให้หายเจ็บอย่างไรบ้างครับ

ผู้ป่วย : ไม่ได้ทำอะไรค่ะ รีบแต่งตัวมาโรงพยาบาลทันทีค่ะ
อาจารย์ :คุณไม่อมยาใต้ลิ้นก่อนหรือครับ
ผู้ป่วย : ไม่เคยอมยาใต้ลิ้นเลยค่ะ เพราะหมอไม่เคยให้ เพิ่งมาได้อมยาเมื่อมาถึงห้องฉุกเฉินที่นี่แหละค่ะ แต่อมไปแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร

อาจารย์ : แล้วขณะที่คุณมีอาการแน่นหน้าอก คุณมีอาการอื่นมั้ยครับ

ผู้ป่วย : ไม่มีค่ะ

อาจารย์ : ไม่มีเลยหรือครับ เช่น อาการหน้ามืด  เป็นลม เหงื่อแตก หายใจไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน     ปวดท้องถ่าย หรืออื่นๆ

ผู้ป่วย : อ้อ ตอนนั่งมาในรถอาเจียนค่ะ

อาจารย์ :อาเจียนอะไรออกมาครับ

ผู้ป่วย :  อาเจียนเป็นอาหารที่ทานเข้าไปออกมาค่ะ

อาจารย์ : ทานอาหารครั้งสุดท้ายกี่โมง และเป็นอาหารอะไรบ้าง

ผู้ป่วย : ทานข้าวกับเป็ดพะโล้ ผัดผัก แล้วตามด้วยเงาะค่ะ ทานมื้อเย็นเมื่อประมาณบ่าย 4 โมงครึ่งค่ะ แล้วก็ไม่ได้ทานอะไรอีก

อาจารย์ : ถ้าอย่างนั้น แสดงว่าอาหารที่คุณทานเข้าไปไม่ย่อย ค้างอยู่ในกระเพาะคุณเกือบ 10 ชั่วโมง จึงทำให้คุณแน่นหน้าอก และอาเจียนออกมา ไม่น่าจะใช่โรคหัวใจหรอกครับ

ผู้ป่วย : ก็อาการคราวนี้ก็เหมือนกับคราวก่อนที่หมอเอาอิชั้นไปบอลลูนหัวใจ เพียงแต่คราวก่อนไม่ได้อาเจียน เท่านั้น

อาจารย์ : หมอไม่ทราบว่าครั้งก่อนคุณหมอเดิมตรวจพบอะไรบ้าง จึงเอาคุณไปบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ แต่คราวนี้ประวัติของคุณทำให้คิดถึงโรคกระเพาะ ลำไส้ที่ทำให้การย่อยอาหารของคุณผิดปกติ อีกทั้งการตรวจร่างกายและคลื่นไฟฟ้าหัวใจของคุณก็ปกติดี ไหนๆ คุณก็นอนมา 4 ชั่วโมงแล้ว ประเดี๋ยวจะให้คุณหมอเค้าตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและตรวจเลือดคุณ ซ้ำใหม่ ให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด แล้วจะให้ยาแก้โรคกระเพาะลำไส้คุณไปลองใช้ดูก่อน ถ้าดีขึ้นก็น่าจะใช่โรคกระเพาะลำไส้ ถ้าไม่ดีขึ้นค่อยทำการตรวจเพิ่มเติมนะครับ

ผู้ป่วย :  โล่งอกไปที คิดว่าโรคหัวใจกำเริบอีก


อาจารย์พาแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ฝึกหัดไปคุยกันในห้องอื่น ไกลจากผู้ป่วย
อาจารย์ : หมอซักประวัติไม่ละเอียด พอรู้ว่าผู้ป่วยเคยบอลลูนหัวใจก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจไว้ก่อน ทำให้การรักษาผิดพลาด ผู้ป่วยต้องเสียเวลานอนรอการตรวจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจและตรวจเลือดซ้ำใน 6 ชั่วโมง และเกิดความกังวลโดยไม่จำเป็น ถ้าประวัติที่ผู้ป่วยเล่ามาถูกต้อง ผมก็ไม่แน่ใจว่าครั้งแรกที่ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอกและถูกบอลลูนหัวใจนั้นเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันหรือเปล่า
บางครั้ง หมอบางคนในโรงพยาบาลเอกชนมักวินิจฉัยและตรวจรักษาแบบ "เว่อร์ๆ " (over-investigation and over-treatment) ไว้ก่อน เพื่อการดำรงอยู่

บางครั้ง หลอดเลือดหัวใจตีบไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งไม่ทำให้มีอาการหรืออันตรายอะไร) ก็แนะนำให้ผู้ป่วย บอลลูนแล้ว โดยอ้างว่าเป็นการ " ป้องกัน " แต่การทำเช่นนั้น กลับทำให้หลอดเลือดดังกล่าวบอบช้ำและจะอุดตันเร็วขึ้น เป็นอันตรายมากขึ้น

อนึ่ง ถ้าผู้ป่วยรายนี้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดตีบจริง การไม่ให้ยาอมใต้ลิ้นเพื่อยุติอาการเจ็บแน่นอกแก่ผู้ป่วย ทำให้เวลาอาการกำเริบ ผู้ป่วยไม่มียาที่จะยุติอาการกำเริบนั้นในทันที เมื่อหัวใจขาดเลือดอยู่นาน กล้ามเนื้อหัวใจจะตายเพิ่มขึ้นๆ ทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นๆ
ดังนั้น การเป็นหมอที่ดีและเก่ง จะต้องซักประวัติเป็น และ " คิดถึงอกเขาอกเรา " เสมอ "
 

ข้อมูลสื่อ

364-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 364
สิงหาคม 2552
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์