• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาปฏิชีวนะ ใช้อย่างไรไม่ให้เชื้อดื้อยา

ยาที่คนไทยใช้มากที่สุดคือยาแก้อักเสบ หรือยาปฏิชีวนะ

ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพ คนทั่วไปนิยมเรียกกันติดปากว่ายาแก้อักเสบ หมายถึง ยาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อจุลชีพชนิดอื่นๆ เป็นกลุ่มยาที่มีอัตราการใช้มากที่สุด เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย แต่ละปีมีมูลค่าของการใช้เป็นจำนวนมหาศาล ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลและร้านขายยา

มียาปฏิชีวนะหลายยี่ห้อที่ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ตัวอย่างเช่น ทีซีมัยซิน ออริโอมัยซิน กานามัยซิน เป็นต้น
        


ทําไมเชื้อดื้อยามากขึ้นหรือลดลง
ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่พบทั้งระดับประเทศไทยและระดับโลก ก็คือการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งนับวันจะมีอัตราการดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่มีการดื้อยาเก่าๆ ทำให้ใช้ยาชนิดเดิมบางชนิดไม่ได้ผล จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ๆ ที่มักมีราคาแพงยิ่งขึ้น ผลการรักษาอาจไม่ดีเท่าเดิม และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้มากขึ้นหรือรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อมีความเสี่ยงหรือมีโอกาสเกิดอันตรายจากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดใหม่มากยิ่งขึ้น


        
ยิ่งใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้เชื้อดื้อยามากขึ้น
เหตุผลหลักที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยามากขึ้น ก็เนื่องจากมีการใช้ยาปริมาณมากขึ้น
มีรายงานวิจัยยืนยันว่าอัตราการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียจะแปรผันตรงตามอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะ
ถ้ามีการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดไหนมากขึ้น ก็จะชักนำให้เกิดการดื้อยาชนิดนั้นมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกครั้งที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ยาจะไปออกฤทธิ์ที่ตัวแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียถูกยับยั้งการเจริญเติบโตหรือตายไป แต่ตามธรรมชาติมักมีการผ่าเหล่า ทำให้มีเชื้อแบคทีเรียบางตัวทนต่อยา ดื้อกับยา และรอดชีวิต ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ 1 ในล้านตัว แล้วเชื้อแบคทีเรียที่รอดตายก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน ขยายเผ่าพันธุ์การดื้อยาให้มีเป็นเท่า ทวีคูณ และทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่ดื้อต่อยา เป็นปัญหาใหญ่ทางการแพทย์ได้


        
โรคไข้หวัดไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ
อีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นตัวเสริมให้เกิดการดื้อยา ก็คือการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม ที่พบบ่อยๆ ได้แก่ การใช้ยาปฏิชีวนะของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส เช่น โรคไข้หวัด (รวมถึงไข้หวัดใหญ่ด้วย)
ไข้หวัดเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยไข้หวัดจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

เพราะยาปฏิชีวนะหรือยาแก้อักเสบที่มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่มีผลต่อเชื้อไวรัสโรคไข้หวัด ดังนั้น ยาปฏิชีวนะจึงไม่ได้ผลกับผู้ป่วยไข้หวัด 


        
การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ครบตามกำหนด อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้
โดยปกติแล้วยาปฏิชีวนะเมื่อเริ่มใช้แล้ว จะต้องใช้ยาติดต่อกันจนครบตามจำนวนที่แพทย์สั่งจ่าย ทั้งนี้เพื่อให้มีฤทธิ์อยู่จนสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคให้หมดไปจากร่างกายของเรา

ในทางปฏิบัติพบว่ามีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่หยุดใช้ยาปฏิชีวนะทันทีเมื่ออาการเริ่มดีขึ้น เพราะคิดว่าไม่มีอาการแล้ว และหายดีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะขณะนั้นยังมีเชื้อแบคทีเรียอยู่ แต่อาจมีปริมาณน้อยกว่าที่จะแสดงอาการได้จริงๆ

ดังนั้น ถ้ามีการหยุดยาขณะที่ยังใช้ยาไม่ครบ และมีเชื้อแบคทีเรียหลงเหลืออยู่ ก็อาจทำให้เชื้อที่หลงเหลืออยู่เพิ่มจำนวนมากขึ้น และกลับมามีอาการใหม่ได้ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันจนครบตามที่แพทย์สั่งเป็นการดีที่สุด


        
ถ้าซื้อยาปฏิชีวนะใช้เอง จะต้องใช้ติดต่อกันจนครบตามกำหนด
บางกรณีจะพบผู้ป่วยไปหาซื้อยาปฏิชีวนะจากร้านขายยามาใช้รักษาโรคติดเชื้อด้วยตนเอง เช่น เจ็บคอ แผล ฝี หนอง เป็นต้น

กรณีนี้จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบตามกำหนดเช่นกัน ซึ่งอาจปรึกษาหารือเรื่องระยะเวลาการใช้ยานี้ได้กับเภสัชกรที่อยู่ประจำร้านยาได้ว่าจะใช้ยาปฏิชีวนะรักษาติดต่อกันนานเท่าใดจึงจะได้ผลดี และไม่เกิดการดื้อยา

 

การวิจัยและพัฒนายาปฏิชีวนะชนิดใหม่ลดน้อยลง
ท่ามกลางกระแสการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียที่มากขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้น กลับพบว่าจำนวนยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ๆ ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนากลับมีจำนวนลดน้อยลง ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยา
กลุ่มอื่นๆ เช่น ยาลดไขมันในเลือด ยาลดความดันโลหิตสูง ยาลดน้ำตาลในเลือด เป็นต้น

ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ลงทุนวิจัยและพัฒนายาใหม่ส่วนใหญ่ต้องการผลตอบแทนที่สูง คุ้มค่าการลงทุน จึงทุ่มเทงบประมาณและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องไปกับการพัฒนายาใหม่ที่ใช้รักษาโรคเรื้อรังมากกว่าโรคติดเชื้อ

ผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะต้องใช้ยาเพื่อควบคุมอาการตลอดชีวิต จึงต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เมื่อคิดโดยรวมแล้ว ตลอดชีวิตของผู้ป่วยจะต้องใช้ยาเป็นจำนวนมากมายมหาศาล มากกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อที่จะใช้ก็ต่อเมื่อมีการติดเชื้อเท่านั้น มิหนำซ้ำเมื่อใช้ครบตามจำนวนและผู้ป่วยหายดีแล้วก็ต้องหยุดการใช้ยา

นอกจากนี้ เมื่อเริ่มใช้ยาปฏิชีวนะไประยะหนึ่งก็เริ่ม มีรายงานการดื้อยาเกิดขึ้น ก็จะมีการใช้ยาปฏิชีวนะชนิด นั้นน้อยลง ไม่เหมือนกับยารักษาของกลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่มีการดื้อยา บริษัทต่างๆ จึงจัดสรรงบประมาณไปวิจัยและพัฒนายารักษาโรคเรื้อรังมากกว่าโรคติดเชื้อ ทำให้ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ๆ มีน้อยลงมาก ไม่ทันต่อการดื้อยาที่มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ


        
ถ้าเชื้อดื้อยามากขึ้นและไม่มียาปฏิชีวนะใช้ ผู้ป่วยจะเป็นอย่างไร
สถานการณ์การดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียนับวันจะเป็นปัญหาปวดหัวของแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุข จากเดิมที่มีเชื้อแบคทีเรียดื้อเฉพาะยาปฏิชีวนะเก่าๆ บางชนิด
ปัจจุบันเชื้อแบคทีเรียมีวิวัฒนาการให้เกิดการดื้อยามากขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้น มีการดื้อยาหลายชนิด ดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีการแพร่กระจายส่งทอดการดื้อยาไปยังเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ด้วย นับว่าเป็นปัญหาท้าทายมันสมองของผู้ให้การรักษาทั้งในและนอกโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ที่มักมีการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมากและใช้อย่างฟุ่มเฟือย ก็จะมีโอกาสเกิดการดื้อยามากขึ้น เป็นเงาตามตัว

ขณะนี้พบว่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล๑ ซึ่งจะเหลือยาที่ใช้ได้ผลดีเพียง 1-2  ชนิดเท่านั้น และอนาคตอันใกล้ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เชื้อชนิดนี้จะดื้อยาเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น   ผู้ป่วยที่ติดเชื้อชนิดรุนแรงนี้ขณะที่นอนพักรักษาใน โรงพยาบาลก็มักจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อชนิดนี้ในที่สุด


        
การที่เชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องแน่วแน่แก้ไข
จะเห็นได้ว่าการดื้อยาเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบ ถึงมนุษยชาติทุกคน ถ้าคนใดคนหนึ่งโชคร้ายไปรับเชื้อและเกิดการติดเชื้อโรคเหล่านี้ขึ้น จะต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดใด? จะหายาปฏิชีวนะที่ได้ผลดีได้ยาก ยาที่จะนำมาใช้ก็อาจต้องใช้ยาที่มีพิษสูง บ้างก็เป็นยาเก่าซึ่งแต่เดิมไม่เคยมีการนำมาใช้ แต่ในช่วงวิกฤติก็ต้องนำมาใช้ เพื่อความอยู่รอดของผู้ป่วย อันตรายและค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น และสุดท้ายผู้ป่วยก็ยังไม่อาจรอดชีวิตได้

ดังนั้น เรื่องการดื้อยาจึงเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องช่วยกัน ทุกฝ่ายในที่นี้รวมถึงประชาชนทั่วไป ผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับยา จะต้องร่วมมือร่วมใจกัน และที่สำคัญสูงสุด คือหน่วยงานของรัฐที่เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งชาติจะต้องแสดงความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบ ในการผลักดันนโยบายและรณรงค์ให้สังคมไทย ลด ละ เลิก การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างฉลาด ใช้อย่างรู้ทัน ใช้เท่าที่จำเป็น ถ้าเริ่มใช้ก็ควรใช้ติดต่อกันให้ครบตามกำหนด จะได้ฆ่าเชื้อได้เกลี้ยงๆ เชื้อดื้อยาก็จะลดน้อยลงหรือไม่มีเลย ซึ่งมีหลายประเทศรณรงค์เรื่องนี้และได้ผลดีเป็นที่หน้าพอใจยิ่ง ทำให้เชื้อดื้อยาลดลง การรักษาก็ได้ผลดี ประชาชนมีความสุขกันถ้วนหน้า


        
ลดการดื้อยา...ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ
ขั้นแรกและวิธีง่ายๆ ที่ช่วยป้องกันการดื้อยา ก็คือป้องกันการติดเชื้อ ด้วยการรักษาสุขอนามัยที่ดี ด้วยการออกกำลังกาย อาหาร และอารมณ์ ตลอดจนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ภูมิต้านทานของร่างกายทำงานเป็นปกติ ช่วยปกป้องคุ้มกันการติดเชื้อได้ดี
นอกจากนี้ จะต้องช่วยรักษาความสะอาด เช่น ใช้หน้ากากอนามัยปิดปาก ปิดจมูก ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เป็นต้น
        


ลดการดื้อยาด้วยการป้องกันการกระจายเชื้อ
อีกวิธีหนึ่งที่ง่ายๆ เช่นกัน และได้ผลดีคือ ลดการกระจายเชื้อ
เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้ว มีวิธีลดการกระจายเชื้อง่ายๆ เช่น ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ใช้ผ้าปิดจมูก ใช้ผ้าเช็ดหน้า เวลาไอหรือจาม เป็นต้น รวมถึงเสื้อผ้า และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ของผู้ป่วยด้วย


        
ลดการดื้อยาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างฉลาด
กรณีที่ต้องการเริ่มใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องแน่ใจว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียจริงๆ และได้รับยาที่ได้ผลดีต่อเชื้อแบคทีเรียชนิดนั้น ด้วยขนาดและจำนวนยาที่เหมาะสม และวิธีใช้ยาที่ถูกต้อง ซึ่งต้องใช้ติดต่อกันจนหมด ย่อมจะเกิดผลดี ทั้งช่วยให้ได้ผลดีในการรักษาโรคติดเชื้อ ช่วยลดการดื้อยา ช่วยลดโอกาสของการแพ้ยา ช่วยลดอาการ อันไม่พึงประสงค์ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น

 

 

ข้อมูลสื่อ

364-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 364
สิงหาคม 2552
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด