• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

'เต้า' สาวกรุง กับสวัสดิภาพที่พุ่งนำ

เต้านม เป็นอวัยวะผู้หญิงที่รวมกลไกอันซับซ้อน และเป็นหนึ่งในจุดอ่อนของร่างกาย แต่ปัจจุบันก็มีแนวทางป้องกันโรคร้ายที่อาจเกิดได้หลายวิธี ที่สำคัญคือการตรวจเต้านมเป็นประจำ และการตรวจด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า แมมโมแกรม

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีโครงการ "ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งเต้านม" โดยรณรงค์ให้สตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน แต่อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปี พ.ศ.2542 ผู้หญิงไทยมีอัตราการเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 19.9 ต่อประชากร 100,000 คน มากกว่าปี พ.ศ.2533 ซึ่งมีอัตรา 13.5 ต่อประชากร 100,000 คน
ข้อมูลที่น่าสนใจจากการสำรวจครั้งนี้ คือ
- ผู้หญิงไทยอายุ 15-59 ปี ประมาณร้อยละ 50 เคยตรวจเต้านมด้วยตนเอง อีกร้อยละ 23 ได้รับการตรวจจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

- กลุ่มที่ได้รับการตรวจมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มที่อายุน้อยคือ 15-29 ปี มีการตรวจเต้านมด้วยตนเองเพียงร้อยละ 35

ประเด็นที่น่าสนใจคือ พบว่าผู้หญิงในกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มที่ตรวจเต้านมด้วยตนเองมากที่สุด
ทั้งนี้การตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมจะมีโอกาสพบได้ตั้งแต่ในระยะแรก เพราะเป็นวิธีที่ละเอียดและแม่นยำกว่าการตรวจด้วยวิธีการคลำ โดยแพทย์แนะนำให้ตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรมตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป

แต่มีผู้หญิงไทยเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ที่ได้รับการตรวจเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านมด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยมากเมื่อเทียบจากทั้งประเทศ โดยผู้หญิงจากกรุงเทพฯ ได้รับการตรวจด้วยวิธีนี้มากกว่าผู้หญิงจากภาคอื่นๆ ทุกภาค

เมื่อมาดูการกระจายของเครื่องแมมโมแกรมในประเทศไทยจึงพบว่า ในปี พ.ศ.2549 กรุงเทพฯ มีเครื่องแมมโมแกรม 80 เครื่อง มากกว่าที่มีทั้งประเทศรวมกันซึ่งมีเพียง 72 เครื่อง

           

 

ข้อมูลสื่อ

366-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 366
ตุลาคม 2552
กองบรรณาธิการ